Mastery Learning การเรียนเพื่อรอบรู้


Mastery Learning เป็นวิธีการและทฤษฎีที่นำมาใช้ในการสอนทุกรายวิชาที่ได้ผลเกินคาด

Mastery Learning

การเรียนเพื่อรอบรู้

          ผมได้จัดทำโครงการอ่านเรียนเขียนคล่องโดยมีเด็ก มาสมัครเรียนแบบให้เปล่าไม่มีค่าใช้จ่าย  เป็นนักเรียนตั้งแต่ชั้น ป.2จนถึง ม. 2 ที่มีปัญหาในการอ่านภาษาไทย   ก็เลยต้องศึกษาหาความรู้เพื่อจะได้ทำการสอนให้ได้ผลตามที่วัตถุประสงค์กำหนด    เปิดอ่าพบบทความ ของนายกิตติชัย สุธาสิโนบล  ในออนไลน์และได้บันทึกไว้   เมื่อนำความรู้มาใช้สอนผลปรากฏว่าได้ผลเกินคาด  จึงมีความประสงค์จะขอบคุณเจ้าของบทความดังกล่าวและขยายวิทยาทานให้มวลสมาชิกได้เพิ่มเติมความรู้ตามไปด้วย  สาระทั้งหมดด้านล่างนี้เป็นของบทความทุกตัวอักษร  

       นายกิตติชัย สุธาสิโนบล  ได้เกริ่นนำไว้ว่า ความรอบรู้ในสิ่งต่างๆ มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตและการดำเนินชีวิตของมนุษย์ มนุษย์ทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าการจัดการเรียนรู้ต้องส่งเสริมให้มนุษย์สามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักย าพ ดังนั้น รูปแบบการสอนที่ครูทุกคนสามารถนำไปปฏิบัติได้ โดยมีความเชื่อว่าผู้เรียนทุกคนสามารถที่จะเรียนจนรอบรู้ได้ ถ้ามีเวลาที่ใช้ในการเรียนรู้ตามที่ต้องการ ซึ่งเป็นที่มาของการเรียนเพื่อรอบรู้ (Mastery Learning)

ความเป็นมาของการเรียนเพื่อรอบรู้

จอห์น คาร์รอล (John B. Carroll) ผู้มองการเรียนรู้ว่ามีความสัมพันธ์กับเวลาที่ผู้เรียนได้รับในการเรียนรู้ คาร์รอลเชื่อว่า ผู้เรียนทุกคนสามารถที่จะเรียนรู้ได้ตามวัตถุประสงค์ หากผู้เรียนได้รับเวลาที่จะเรียนรู้เรื่องนั้นๆ อย่างเพียงพอตามความต้องการของตน ซึ่งความต้องการนั้นย่อมขึ้นกับลักษณะของผู้เรียนและลักษณะของการสอน ผู้เรียนที่มีความถนัดสูงจะใช้เวลาน้อยกว่าผู้เรียนที่มีความถนัดต่ำกว่า การสอนที่มีคุณภาพสูงจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้เร็วกว่าการสอนที่มีคุณภาพต่ำ ซึ่งต่อมา บลูม (Bloom) ได้เพิ่มเติมแนวคิดว่า (Block & Anderson,1975 : 1-6 อ้างถึงใน ทิศนา แขมมณี, 2547 : 126-127) ในการเรียนรู้เรื่องใดๆ ก็ตาม ผู้เรียนที่มีความสามารถทางสติปัญญาหรือความถนัดแตกต่างกันสามารถที่จะบรรลุวัตถุประสงค์การเรียนรู้ได้เช่นเดียวกันทุกคน หากผู้เรียนได้รับโอกาสในการเรียนรู้และคุณภาพการสอนที่หลากหลายแตกต่างกันไปตามความต้องการของแต่ละบุคคล ดังนั้น การจัดการเรียนรู้เพื่อรอบรู้นี้ จึงถือได้ว่าใช้หลักการจัดการเรียนการสอนแบบเอกัตภาพ หรือการจัดการเรียนการสอนเป็นรายบุคคลเช่นกัน

ความหมายของการเรียนเพื่อรอบรู้

นักการศึกษาหลายท่านได้ให้ความหมายของการเรียนเพื่อรอบรู้ ซึ่งสามารถนิยามได้ว่า การจัดการเรียนเพื่อรอบรู้ หมายถึง กระบวนการในการดำเนินการให้ผู้เรียนทุกคน ซึ่งมีความสามารถและสติปัญญาแตกต่างกัน สามารถเกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริง ((Block & Anderson,1975 : 25-55 อ้างถึงใน ทิศนา แขมมณี, 2547 : 127) โดยสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการเรียนรู้อย่างละเอียดและเป็นไปตามลำดับขั้น และวางแผนการเรียนรู้สำหรับผู้เรียนแต่ละคน หรือแต่ละกลุ่มที่มีความต้องการเหมือนกัน

ให้สนองตอบความถนัดที่แตกต่างกันของผู้เรียน จากการแสวงหาวิธีการ สื่อ หรือนวัตกรรมต่างๆ มาช่วยจนผู้เรียนสามารถเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ครบทุกจุดประสงค์ การเรียนรู้เพื่อรอบรู้นี้ จึงมีผู้ใช้ชื่อต่างๆ กัน ซึ่งอาจเรียกว่า การเรียนแบบรู้แจ้ง การเรียนแบบรู้จริง หรือการเรียนแบบรู้รอบ ซึ่งผู้เขียน เห็นว่าในที่นี้ควรเรียกว่า “การเรียนเพื่อรอบรู้” เพราะผู้เรียนทุกคนสามารถเรียนรู้ให้รอบรู้ในเรื่องต่างๆ ได้ อย่างเท่าเทียมกัน หากผู้เรียนได้รับเวลาที่จะเรียนรู้เรื่องนั้นๆอย่างเพียงพอตามความต้องการเพื่อ ความรอบรู้ของตนเอง

รูปแบบการเรียนเพื่อรอบรู้

สำหรับรูปแบบการเรียนเพื่อรอบรู้ มีผู้เสนอแนวความคิดพื้นฐานของทฤษฎีการเรียนเพื่อรอบรู้ เรื่องรูปแบบการเรียนในโรงเรียน (Model of School Learning) ที่แตกต่างกันซึ่งสามารถนำเสนอได้ ดังนี้

Carroll (1963) ได้เสนอรูปแบบของการเรียนเพื่อรอบรู้ โดยกล่าวถึงองค์ประกอบที่สำคัญในการเรียนคือ เวลาซึ่งพบว่า การให้เวลาแก่ผู้เรียนแต่ละคนตามที่เขาต้องการในการเรียนรู้ และหากลวิธีสอนที่มีคุณภาพ เพื่อให้เหมาะสมกับความแตกต่างของผู้เรียนแต่ละคน จะส่งผลให้ผู้เรียนที่เรียนไม่ดีสามารถที่จะเรียนรู้ได้เท่าเทียมกับผู้เรียนที่เรียนดีได้

ซึ่งต่อมา บลูม (Bloom,1969 อ้างถึงใน สุภาสินี สุภธีระ,2535) ได้พัฒนารูปแบบการเรียนเพื่อรอบรู้จากรูปแบบการเรียนรู้ของ John B. Carroll โดยอธิบายว่า ถ้าความสามารถหรือความถนัดของผู้เรียนในการเรียนวิชาหนึ่งมีการกระจายเป็นโค้งปกติ หากครูให้เวลาในการเรียนเท่ากันหมดและใช้การสอนเหมือนกันหมดทุกคนแล้ว ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนจะมีค่าค่อนข้างสูง (.70) แต่ถ้าผู้เรียนใช้เวลาในการเรียนแตกต่างกันและสอนแต่ละคนให้แตกต่างกันตามความสามารถของผู้เรียน กล่าวคือ ผู้เรียนที่มีความสามารถในการเข้าใจช้า ก็ให้เวลามาก ส่วนผู้เรียนที่มีความสามารถในการเข้าใจเร็ว ก็จะใช้เวลาน้อย จะมีผู้เรียนร้อยละ 95 ทำคะแนนได้ถึงเกณฑ์ที่เรียกว่ารอบรู้  ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่เกิดจากการสอนที่เหมือนกันทั้งวิธีสอนและเวลาที่ให้แก่ผู้เรียน

      ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่เกิดจากการสอนที่แตกต่างกันทั้งวิธีสอนเวลาที่ให้แก่ผู้เรียนที่เหมาะสมกับความสามารถของแต่ละบุคคล

      นอกจากนี้ Bloom ยังได้ขยายแนวคิดว่า หากกำหนดปริมาณการเรียนรู้ไว้ระดับหนึ่ง อาจจะเป็นร้อยละ 70 หรื 80 นักเรียนต้องทำคะแนนให้ได้ตามจุดประสงค์ที่ตั้งไว้ จึงจะเรียนกว่า เรียนรู้ถึงขั้นรอบรู้ (Mastery Level) การกำหนดระดับการเรียนรู้ไว้คงที่ แล้วให้เวลาในการเรียนแตกต่างกัน คนที่เรียนเร็วจะใช้เวลาน้อยในการทำคะแนนให้ได้ถึงเกณฑ์ที่เรียกว่ารอบรู้ ส่วนคนที่เรียนได้ช้าจะใช้เวลามากกว่า แต่ก็สามารถทำคะแนนให้ได้ถึงเกณฑ์ที่เรียกว่า รอบรู้ได้เหมือนกัน ดังนั้นในระหว่างการเรียนรู้ ผู้เรียนจะต้องได้รับการช่วยเหลือ และแก้ไขข้อบกพร่องในการเรียนของเขาอย่างทันท่วงที ซึ่งการเรียนรู้ในโรงเรียน จะมีการสอนและการเรียนรู้ควบคู่กันไปอย่างเป็นกระบวนการ โรงเรียนต้องช่วยให้ผู้เรียนแต่ละคนที่มีความแตกต่างกันนั้นได้พัฒนาความสามารถในด้านที่ควรจะมี วิธีการอย่างหนึ่งก็คือ การปรับปรุงการสอนและพิจารณาหลักสูตร ด้วยเหตุนี้ Bloom จึงได้เสนอทฤษฎีการเรียนเพื่อรอบรู้ ซึ่งเป็นทฤษฎีการเรียนรู้ในโรงเรียนแบบหนึ่ง ที่คำนึงถึงคุณลักษณะของความเป็นมนุษย์ และเสนอตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีการเรียนรู้ในโรงเรียน คือ ผู้เรียนจะต้องมีความรู้พื้นฐานที่จะเรียน มีแรงจูงใจที่จะเรียนรู้ และการสอนของครูควรเป็นสิ่งที่ผู้เรียนนำไปใช้ได้ นอกจากนี้ องค์ประกอบสำคัญที่ทำให้คุณภาพของการสอนมีประสิทธิภาพนั้นต้องมีการชี้แนะ (Cue) โดยการบอกจุดมุ่งหมายของการเรียนการสอนให้ผู้เรียนทราบอย่างชัดเจน ให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอน (Participation) มีการให้สิ่งเสริมแรงแก่นักเรียนตามความแตกต่างระหว่างบุคคล และให้ผลย้อนกลับและการแก้ไขสิ่งบกพร่อง (Feedback and Correction) ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้ผู้เรียนทราบว่า ตนเองยังบกพร่องในเรื่องใด และครูจะต้องสอนซ่อมเสริมตรงไหนจึงจะบรรลุเกณฑ์ที่ตั้งไว้

         จากแนวคิดของ Carroll และ Bloom ที่ได้เสนอรูปแบบการเรียนเพื่อรอบรู้ไว้แล้วนั้น ต่อมา Hotchkis (1986 อ้างถึงใน จงจิต ตรีรัตนธำรง, 2543) อาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยแมคไคว์รี ประเทศออสเตรเลีย ได้ทำการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับการเรียนเพื่อรอบรู้ พบว่า องค์ประกอบการเรียนรู้ของ Carroll ยังขาดประเด็นที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ประสบการณ์เดิมของผู้เรียน ส่วนทฤษฎีการเรียนเพื่อรอบรู้ของ Bloom ซึ่งได้แนวคิดมาจาก Carroll แม้จะเป็นทฤษฎีการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพและทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนสูงขึ้นแต่ยังขาดปัจจัยที่สำคัญคือ เครื่องมือที่เหมาะสมกับการสอนเป็นกลุ่ม ในสภาพของห้องเรียนที่มีผู้เรียนจำนวนมาก Hotchkis จึงได้เสนอแนวทางในการจัดการเรียนรู้โดยได้เสริมปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ประสบการณ์ก่อนเรียน และได้นำแนวคิดของการพัฒนาการเรียนรู้ตามเส้นโค้งของความถี่สะสม ซึ่งมีความสอดคล้องและเหมาะสมกับหลักการเรียนเพื่อรอบรู้มาพัฒนาขั้นตอนการสอน แบ่งอกเป็น 5 ขั้น คือ

ขั้นการรับรู้ (Acquisition) ในขั้นนี้ ครูเริ่มเสนอเนื้อหาใหม่ให้แก่ผู้เรียน ผู้เรียนเริ่มเรียนรู้และจะได้รับปัจจัยสำคัญด้านต่างๆ ได้แก่ เจตคติ ความคิดรวบยอด ความรู้ ความเข้าใจ ผู้เรียนจะเริ่มลองผิดลองถูกกับสิ่งที่เรียนรู้ ความถูกต้องและความแม่นยำในการเรียนรู้จะมีน้อย ในขั้นนี้ ครูผู้สอนควรดำเนินการดังนี้ Mastery

 

• จัดเรียงเนื้อหาในหลักสูตรตามลำดับความยากง่าย ให้เนื้อหามีความสัมพันธ์กัน

• กำหนดเวลาที่เหมาะสมในการเรียนแต่ละบทเรียน

• เตรียมแบบทดสอบซึ่งประกอบด้วยแบบทดสอบย่อยและแบบทดสอบรวม

• กำหนดแผนการสอน โดยเน้นการสอนให้เกิดความคิดรวบยอดแก่ผู้เรียนเป็นสำคัญ เมื่อทำการสอน ครูควรสังเกตในเรื่องต่อไปนี้

o ความเหมาะสมของเวลาที่ให้ผู้เรียนแต่ละคน และแต่ละบทเรียน

o ความยากง่ายเหมาะสมกับทักษะพื้นฐานของผู้เรียน

o ปญหาที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการเรียนรู้ของนักเรียน 

 ขั้นเกิดความคล่องตัว (Fluency) ในขั้นนี้ ผู้เรียนจะได้รับการฝึกฝนทักษะ จนเกิดความคล่องแคล่ว

ในเนื้อหา หลังจากผู้เรียนได้เรียนรู้และเกิดความคิดรวบยอดที่ถูกต้องแล้ว การปฏิบัติของผู้เรียนจะเพิ่มความถูกต้องมากขึ้น ดังนั้น ผู้สอนต้องเตรียมกิจกรรมการสอนให้มากพอ เพื่อฝึกให้ผู้เรียนเกิดความคล่องแคล่ว แม่นยำ และรวดเร็วในบทเรียน

ขั้นเกิดความคงทน (Maintenance) ขั้นนี้สืบเนื่องมาจากความคล่องตัวในเนื้อหา อันเนื่องมาจากการฝึกปฏิบัติของผู้เรียนในขั้นที่ 2 ความคงทนของความรู้ที่ได้รับจะอยู่ได้นานและไม่ลืม เนื่องจากมีความแม่นยำในสิ่งที่เรียนจากการปฏิบัติและประสบการณ์ในการลองผิดลองถูกมาหลายครั้งแล้ว วิธีการที่จะพิจารณาว่าผู้เรียนจำได้นานและถาวรในส่วนที่มีความจำเป็นต่อการเรียนในบทเรียนต่อไป คือ การทดสอบอย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งมอบหมายงานที่ทำ เพื่อให้รู้ว่าเป็นเรื่องสำคัญ

ขั้นนำไปประยุกต์ใช้ (Application) ในขั้นนี้ เมื่อผู้เรียนมีความชำนาญในความรู้ที่เรียนมาการนำไปใช้ในที่นี้ เป็นการเพิ่มประสบการณ์ของผู้เรียน โดยเน้นที่การแก้ปัญหาจากเหตุการณ์สมมติในห้องเรียน ทั้งนี้ เป็นความจำเป็นของครูที่ต้องพิจารณาว่า การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ของผู้เรียน ถ้ามีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมเป็นประจำ ครูอาจนำเหตุการณ์ทั้งหมดมากำหนดเป็นภาพการแก้ปัญหาเพียงเล็กน้อย สำหรับเหตุการณ์ที่ไม่มีโอกาสเห็น ครูควรจัดสอนหรือให้เป็นข้อแก้ปัญหาให้มากและบ่อยครั้ง เพื่อให้ผู้เรียนได้มีโอกาสในการแก้ปัญหาให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ และเป็นการเพิ่มความชำนาญในการแก้ปัญหาให้แก่ผู้เรียนด้วย

ขั้นปรับใช้ให้ถูกกับสถานการณ์ (Adaptation) ในขั้นนี้ ผู้เรียนจะสามารถนำความรู้มาดัดแปลงหรือปรับใช้ได้ทุกๆ สถานการณ์ที่ผู้เรียนมีโอกาสในการแก้ปัญหาจริงในชีวิตประจำวัน ซึ่งอาจจัดเป็นเหตุการณ์สมมติ เพื่อให้ผู้เรียนเห็นแนวทาง โดยมีครูเป็นผู้แนะนำ ถ้าผู้เรียนไม่สามารถแก้ปัญหาเองได้ถูกต้องในชั้นเรียน ผู้เรียนต้องคิดตัดสินใจและลงมือกระทำด้วยตนเอง หากเกิดข้อผิดพลาด ผู้เรียนจะพยายามทบทวนและหาแนวทางแก้ไขต่อไปด้วยตนเองตัวบ่งชี้ของการเรียนเพื่อรอบรู้

ในการเรียนเพื่อรอบรู้ ตัวบ่งชี้ที่สำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพื่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ ให้กับผู้เรียน กล่าวคือ ผู้สอนต้องกำหนดวัตถุประสงค์อย่างละเอียดในการเรียนรู้เนื้อหาสาระ มีการจัดกลุ่มวัตถุประสงค์ที่ต้องบ่งบอกถึงสิ่งที่ผู้เรียนจะต้องกระทำให้ได้ เพื่อแสดงว่าตนเองได้เกิดการเรียนรู้จริงในสาระนั้นๆ โดยจะต้องจัดเรียงจากสิ่งที่เป็นพื้นฐานไปสู่สิ่งที่สลับซับซ้อนขึ้น มีการวางแผนการเรียนรู้สำหรับผู้เรียนแต่ละคน แต่ละกลุ่ม ให้สามารถสนองตอบความถนัดที่แตกต่างกันของผู้เรียน ซึ่งอาจเป็นการใช้สื่อการเรียน วิธีการสอน หรือให้เวลาที่แตกต่างกันเพื่อช่วยให้ผู้เรียนแต่ละคนสามารถเรียนรู้ได้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนด มีการชี้แจงให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจเกี่ยวกับจุดมุ่งหมาย วิธีการในการเรียนรู้ ระเบียบ กติกา ข้อตกลงต่างๆ เกี่ยวกับการทำงาน มีการดำเนินการเรียนรู้ตามแผนการเรียนรู้ที่ผู้สอนจัดไว้และมีการประเมินการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์แต่ละข้อ โดยคอยให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคล หากผู้เรียนบรรลุวัตถุประสงค์หนึ่งที่กำหนดไว้แล้ว จึงจะมีการดำเนินการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ข้อถัดไปได้ หากผู้เรียนยังไม่บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ ผู้สอนจะต้องมีการวินิจฉัยปัญหาและความต้องการของผู้เรียน และ จัดโปรแกรมสอนซ่อมเสริมในส่วนที่ยังไม่สัมฤทธิ์ผล แล้วจึงทำการประเมินผลอีกครั้งหนึ่ง หากผู้เรียนสามารถทำได้บรรลุวัตถุประสงค์นั้น จึงจะสามารถดำเนินการเรียนรู้ในวัตถุประสงค์ต่อไปได้ หากยังไม่บรรลุวัตถุประสงค์ ผู้สอนจะต้องมีการแสวงหาวิธีการ สื่อ แบบฝึกหัด หรือนวัตกรรมอื่นๆ มาช่วยให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจ จนกระทั่งเรียนรู้ได้ตามวัตถุประสงค์นั้น ผู้เรียนมีการดำเนินการเรียนรู้ต่อไปอย่างต่อเนื่อง ตามลำดับของวัตถุประสงค์ที่กำหนด จนกระทั่งบรรลุครบตามทุกวัตถุประสงค์ที่กำหนด ซึ่งผู้เรียนจะใช้เวลามากน้อยต่างกันตามความถนัดและความต้องการของผู้เรียนแต่ละคน และผู้สอนมีการติดตามความก้าวหน้าในการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ของผู้เรียน และเก็บข้อมูลการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นรายบุคคล และมีการใช้ข้อมูลในการวางแผนการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนต่อไป

เกณฑ์การรอบรู้ (Mastery Criterion)

การจัดการเรียนการสอนโดยอาศัยหลักการเรียนเพื่อรอบรู้นั้น มีขั้นตอนที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การกำหนดเกณฑ์ของสัมฤทธิ์ผลในการเรียนการสอนตามจุดประสงค์การเรียน ซึ่งเรียกว่า เกณฑ์การรอบรู้ นักการศึกษาหลายท่านได้ศึกษาเรื่อง ทฤษฎีการเรียนเพื่อรอบรู้ ต่างให้ความสำคัญของเกณฑ์การรอบรู้ แต่ยังไม่มีใครกล่าวถึงเกณฑ์ที่เหมาะสมไว้อย่างชัดเจน นอกจาก Bloom ซึ่งเป็นผู้ที่ศึกษาเรื่องนี้อย่างละเอียด ได้เสนอแนะเกณฑ์การรอบรู้ไว้ว่า อาจจะเป็น 80-90 % นอกจากนี้ได้มีผู้ศึกษาค้นคว้าและวิจัยเกี่ยวกับการเรียนเพื่อรอบรู้ และได้เสนอแนะเกณฑ์การรอบรู้ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับขั้นตอนการสอนเพื่อรอบรู้ 2 ขั้นตอน คือ

1. ขั้นการทดสอบ เมื่อผู้เรียนทำแบบทดสอบหลังจากเรียนจบหน่วยแล้ว คะแนนจากแบบทดสอบจะชี้ให้เห็นว่า นักเรียนเกิดการรอบรู้ในหน่วยการเรียนหรือยัง โดยเทียบกับเกณฑ์การรอบรู้ที่ได้กำหนดไว้

2. ขั้นการสอนซ่อมเสริมและการแก้ไขสิ่งที่บกพร่อง เมื่อผู้เรียนทำแบบทดสอบแล้วไม่ผ่านหรือไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด ผู้เรียนจะต้องได้รับการสอนซ่อมเสริมหรือการแก้ไขสิ่งที่บกพร่อง จนผู้เรียนเกิดการรอบรู้ในเนื้อหาที่เรียนถึงเกณฑ์การรอบรู้ที่ได้กำหนด

นอกจากนี้ การประเมินผลการเรียนเพื่อนำไปสู่การรอบรู้ มักจะกำหนดเกณฑ์การรอบรู้โดยการประเมินผลแบบอิงเกณฑ์ (criterion-referenced) มากกว่าอิงกลุ่ม (norm-referenced) การจัดหลักสูตรและการเรียนการสอนออกเป็นหน่วยๆ นอกจากจะทำให้กระบวนการเรียนในครั้งหนึ่งๆ หรือหน่วยหนึ่งๆ ชัดเจนแล้ว ยังทำให้การประเมินผลชัดเจน หากสามารถจัดแบ่งและลำดับหน่วยการเรียนได้เหมาะสม

บทสรุป

การเรียนเพื่อรอบรู้ (Mastery Learning) ถือเป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่ครูทุกท่านสามารถนำไปปฏิบัติได้ โดยมีความเชื่อว่า ผู้เรียนทุกคนสามารถที่จะเรียนจนรอบรู้ได้ ถ้ามีเวลาที่ใช้ในการเรียนรู้ตามที่ต้องการ เป็นการช่วยให้ทุกคนได้เรียนรู้และช่วยเปลี่ยนอัตมโนทัศน์ของผู้เรียนที่เรียนช้าให้มีความรู้สึกมั่นใจในตนเองเพิ่มขึ้น และมีความพยายามตั้งใจที่จะเรียนรู้ จัดเป็นการเรียนการสอนที่ให้ความสำคัญที่ความเป็นมนุษย์ ซึ่งมีความแตกต่างกัน

การสอนจะเริ่มที่การทบทวนความรู้พื้นฐานก่อน ด้วยการทดสอบความรู้พื้นฐานของผู้เรียนแต่ละคน ถ้าหากพบข้อบกพร่อง จะต้องดำเนินการแก้ไขปรับปรุงทันที เพื่อช่วยให้ผู้เรียนที่มีความแตกต่างกันนั้น มีความรู้ใกล้เคียงกัน ก่อนดำเนินกิจกรรมการสอน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เน้นคุณภาพการสอน อันประกอบด้วย การชี้แนะ การให้แรงจูงใจ การให้นักเรียนมีส่วนร่วม และการแก้ไขข้อบกพร่องในการเรียน

ดังนั้น การเรียนเพื่อรอบรู้ จะมีประสิทธิภาพสูงสุด ถ้าครูผู้สอนได้แก้ไขข้อบกพร่องโดยการซ่อมเสริมอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะเป็นการช่วยให้ผู้เรียนทุกคนได้มีโอกาสประสบความสำเร็จตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ และยังลดปัญหาความแตกต่างระหว่างบุคคล เนื่องจากไม่มีการแข่งขันกันโดยมีความเชื่อว่าผู้เรียนทุกคนสามารถที่จะเรียนจนรอบรู้ได้ ถ้ามีเวลาที่ใช้ในการเรียนรู้ตามที่ต้องการ ซึ่งเป็นที่มาของการเรียนเพื่อรอบรู้ (Mastery Learning)

เอกสารอ้างอิง

จงจิต ตรีรัตนธำรง (2543) การศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์เรื่อง ฟังก์ชัน

เอกซ์โพเนนเชียลและฟังก์ชันลอการิทึม ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ด้วยหลักการเรียน

เพื่อรอบรู้. วิทยานิพนธ์ปริญญาศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

ทิศนา แขมมณี.(2547) ศาสตร์การสอน : องค์ความรู้เพื่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ .

พิมพ์ครั้งที่ 3 กรุงเทพฯ : ด่านสุทธาการพิมพ์.

นาตยา ปิลันธนานนท์ และคณะ. (2542) การศึกษาตามมาตรฐานแนวคิดสู่การปฏิบัติ. กรุงเทพ :

จูนพับลิชชิ่ง.

สุภาสินี สุภธีระ. (2535) เอกสารประกอบการสอนวิชารูปแบบการสอน. คณะศึกษาศาสตร์

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

Bloom, Benjamin S. (1971) Mastery learning : theory and Practice. New York ; Holt,

Rinehart and Winston.

Carroll, John B. (1963) A Model of School Learning. Teachers College Record, 64 (May),

723-733.

.....................................................................................................

  แหล่งอ้างอิงที่มา:  บทความของนายกิตติชัย สุธาสิโนบล

หมายเลขบันทึก: 439975เขียนเมื่อ 20 พฤษภาคม 2011 10:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท