453 วันพิพิธภัณฑ์สากลที่เดลี:ความรู้นอกห้องเรียนที่ต้องพัฒนา


พิพิธภัณฑ์มีชีวิต

 

 

วันพิพิธภัณฑ์สากล
วันที่ 18 พค. ของทุกปี เป็นวันพิพิธภัณฑ์สากล   International Museum Day    ในเดลีมีการจัดงานฉลองวันดังกล่าวโดยพิพิธภัณฑ์ Sanskriti Museums ได้จัดพิธีฉลองในตอนค่ำของวันที่ 18 พค. 2554 ที่พิพิธภัณฑ์ ซึ่งผมบังเอิญได้มีโอกาสไปร่วมงานด้วย จึงขอนำสิ่งน่ารู้มาเล่าสู่กัน ดังนี้
Sanskriti Museums แห่งนี้เป็นของ  Sanskriti Foundation เป็นมูลนิธิเอกชนที่ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1978 เพื่ออนุรักษ์วัตถุโบราณและศิลปะของอินเดีย พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ตั้งอยู่ที่  Anandagram, Mehrauli Gurgaon Road, New Delhi ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1993 โดยนาย     O.P.   Jain     ประธานมูลนิธิ Sanskriti Foundation      เป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านขนาดเล็กในสวน มีอาคารแสดง 3 ด้านหลักๆ คือ อาคารแสดงเครื่องปั้นดินเผา อาคารแสดงศิลปะวัตถุในชีวิตประจำวันของคนอินเดียและอาคารแสดงหัตถกรรมผ้าทอ ที่โดดเด่นและน่าสนใจก็คืออาคารต่างๆ ในพิพิธภัณฑ์นี้ล้วนสร้างด้วยดิน เป็นแบบบ้านดินชั้นเดียว มุงหลังคาด้วยกระเบื้องและยกเสาหลังคาสูงเพื่อให้มีช่องลมทำให้อากาศถ่ายเท หน้าร้อนก็ไม่ร้อนมาก หน้าหนาวก็เย็นสบาย การดูแลพิพิธภัณฑ์ทำได้ดี สะอาดสะอ้าน ลงตัวและมีสวนหย่อมที่มีต้นไม้น้อยใหญ่มากมายทำให้มีความรู้สึกว่าอยู่ในสวน
การจัดแสดงสิ่งของต้องถือว่าจัดได้ดีมาก มีทั้งของเก่าและของใหม่ จัดไว้เป็นหมวดหมู่ เป็นระเบียบเรียบร้อย มีคำบรรยายที่เหมาะสม แม้จะไม่มีเทคนิคนำเสนอที่พิเศษแต่ก็ถือว่าน่าสนใจโดยเฉพาะคนที่ชอบหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผา ที่ผมเห็นว่าดีก็คือมีการนำตัวอย่างดินในรัฐต่างๆ มาแสดงให้ดูด้วยทำให้เข้าใจว่าเพราะดินที่ต่างกันด้วยสีและคุณลักษณะต่างๆ ทำให้ศิลปะวัตถุที่สร้างขึ้นมีความต่างกันไปแต่ก็สวยกันไปคนละแบบ เครื่องปั้นดินเผาบางชนิดทำออกมาแล้วดูเหมือนโลหะ ดูไม่รู้เลยว่าเป็นดินเพราะสีดำและมีความมันจากการเผา

(ผู้แนะนำให้ไปชม คุณแจ่มใส เมนะเศวต)


ผมเดินชมเครื่องปั้นดินเผาทั้งหมดแล้ว ทำให้รู้สึกถึงความเชื่อมโยงของคนในสมัยหนึ่งที่มีความต้องการใช้ของคล้ายๆ กันและอาจจะมีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างกันจนเกิดอุปกรณ์ต่างในบ้านที่มีประโยชน์ใช้สอยที่คล้ายกันหรือเหมือนกัน เช่นกระต่ายขูดมะพร้าว เหมือนของบ้านเราที่เมืองไทยเลย ในส่วนของอาคารผ้าทอ ซึ่งเพิ่งเปิดแสดงมาไม่นาน ได้นำผ้าทอผ้าปักของพื้นเมืองที่สวยงามด้วยลวดลายต่างๆ ซึ่งทางพิพิธภัณฑ์มีโครงการที่จะจัดรวบรวมลายผ้าพื้นเมืองต่างๆ ในรูปของคิจิตัลเพื่อเป็นคลังข้อมูลสำหรับการค้นคว้าต่อไปในอนาคต กล่าวกันว่าคำว่า   Textile นั้น มีคนคิดไปถึงลายบนผ้าเหล่านี้ว่าอาจไม่ใช่เพียงเพื่อความสวยงามแต่อาจมีภาษาหรือข้อมูลของวัฒนธรรมแต่ละท้องถิ่นที่สื่อเอาไว้บนผืนผ้าด้วย   จึงเป็นเรื่องที่ต้องสืบค้นเพื่อจะอ่านกันต่อไป

ของที่แสดงในพิพิธภัณฑ์มีทั้งที่อยู่ในอาคารและกลางแจ้งซึ่งต้องชมคนจัดว่ารู้จักนำเอาสิ่งของน่ารักมาประดับตามที่ต่างๆ ของพิพิธภัณฑ์ ทำให้ไม่น่าเบื่อ

งานฉลองครั้งนี้ มีการเชิญคนสำคัญในวงการมาร่วมงานคือรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมของอินเดียรวมทั้งปลัดกระทรวงวัฒนธรรมซึ่งดูแลเรื่องของพิพิธภัณฑ์โดยตรง พิธีจัดในสนามง่ายๆ ตามเป็นธรรมชาติสไตล์อินเดีย ได้มีการกล่าวสุนทรพจน์ของบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องซึ่งผมเห็นว่าน่าสนใจและนำมาเล่าต่อดังนี้
อินเดียเป็นประเทศที่มีพิพิธภัณฑ์มากประมาณ  500 แห่ง แต่ถือว่ายังไม่ได้รับการพัฒนาและสนับสนุนจากฝ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชนและประชาชน สาเหตุน่าจะมาจากการขาดคนที่จะเข้ามาดูแลงานนี้อย่างจริงจัง ข้อมูลที่ผมได้ฟังจากหลายคนในเย็นนั้นก็คือ การบริหารจัดการก็เป็นองค์ประกอบใหญ่ทำให้เรื่องของพิพิธภัณฑ์ไม่ได้รับการจัดการที่ดี ทั้งนี้อินเดียมีโบราณวัตถุมากมาย แต่ขาดการเก็บรักษาที่ดี ขาดการสนับสนุนที่ดีจากประชาชน และการจัดการที่ดี
ผมเคยเขียนเรื่องพิพิธภัณฑ์มาแล้ว http://www.gotoknow.org/blog/poldejw/84930    และยังคงยกให้ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เป็นแชมป์ของการสร้างพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน
คำว่าพิพิธภัณฑ์สำหรับคนทั่วไป มีความหมายแคบมาก คือเป็นที่รโหฐานใหญ่โตเพื่อแสดงสิ่งของวัตถุโบราณในอดีต แค่นั้นจริงๆ คนทั่วไป คนรุ่นใหม่จึงไม่เคยคิดที่จะไปพิพิธภัณฑ์เพราะมันห่างไกลกับวิถีชีวิตในปัจจุบัน ถ้าภาครัฐคิดแบบนี้ด้วย ก็ยิ่งไปกันใหญ่เพราะจะไม่สามารถสร้างพิพิธภัณฑ์ที่ทำให้คนทั่วไปสนใจได้เลย เพราะมักจะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ไม่มีชีวิต
ไม่มีชีวิตอย่างไร ก็คือเป็นเพียงสถานที่ตั้งวัตถุโบราณเท่านั้น ไม่มีเทคนิคในการนำเสนอโดยใช้องค์ประกอบต่างๆที่ทันสมัยมาช่วยเสริมเลย ยกตัวอย่างในอินเดีย พิพิธภัณพ์มหาตมะคานธี ที่รัฐสภาของอินเดีย ผู้ชมสามารถเดินไปกับมหาตมะคานธีได้ ได้ยินเสียงพูดจริงๆ ของมหาตมะคานธีด้วย ทำให้น่าสนใจมาก นี่คือการทำให้พิพิธภัณฑ์มีชีวิต และจริงๆ พิพิธภัณฑ์ก็ไม่ใช่จะเน้นแสดงแต่เรื่องของโบราณ ประวติศาสตร์หรือวัตถุโบราณ แต่ควรจะแสดงเรื่องที่เกี่ยวกับยุคปัจจุบันด้วย ที่คนกำลังอยู่ในกระแสด้วย เช่น อินเดียชอบกีฬาคริกเก็ตมาก ก็น่าจะมีพิพิธภัณฑ์คริกเก็ต คนไทยชอบส้มตำมาก ทำไมไม่มีพิพิธภัณฑ์อาหารพื้นเมืองบ้าง หรือคนไทยเก่งเรื่องมวยไทย ก็ควรมีพิพิธภัณฑ์มวยไทยหรือตระกร้อไทย เป็นต้น สวิคเซอร์แลนด์อีกแล้วที่เป็นแชมป์ในการนำเสนอพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านที่เกี่ยวกับทุกวิถีชีวิตของคน เช่นพิพิธภัณฑ์ของเด็กเล่น พิพิธภัณ์อาหาร พิพิธภัณฑ์รถไถนา พิพิธภัณฑ์กล้องถ่ายภาพ ในเบลเยี่ยมมีพิพิธภัณฑ์ปกหนังสือด้วย
พิพิธภัณฑ์เป็นวิชาหนี่งที่มีการสอนกันไม่กี่แห่งในโลก แต่ควรได้รับความสนใจอย่างยิ่ง ผมเห็นด้วยว่าการจัดการเรื่องพิพิธภัณฑ์นี้อยู่ที่คน ดังนั้นหากเราสร้างคนรุ่นใหม่ให้ได้มีโอกาสเรียนวิชาพิพิธภัณฑ์ศาสตร์บ้างก็จะสนับสนุนการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ได้ในอนาคต เราต้องเปลี่ยนคำว่าพิพิธภัณฑ์ให้ได้ ใครๆ ที่มีของดี มีวิชาความรู้ที่ตกทอดกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าหรือแม้แต่ของความชำนาญของตนเอง ก็ควรจะตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านได้โดยรัฐต้องให้การสนับสนุนให้มากที่สุด เพราะนี่คือห้องเรียนที่อยู่นอกโรงเรียนที่ดีที่สุด...ก็ฝากไว้ในวันพิพิธภัณฑ์สากลนะครับ อย่างน้อยแม้ไม่มีพิพิธภัณฑ์ของตัวเอง ก็ช่วยคิดก็ได้ครับ

.......................................
สนใจในรายละเอียด ไปดูได้ที่เว็บของพิพิธภัณฑ์ http://www.sanskritifoundation.org/sanskriti_home.htm

หมายเลขบันทึก: 439828เขียนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2011 13:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:43 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

พูดถึงพิพิธภัณฑ์ น้าจ้าขอคุยแบบความคิดของตัวเองหน่อยนะคะ คืออย่างเวลาเราไปท่องเที่ยวประเทศอื่นๆ เราก็จะต้องไปเที่ยวไปดูพิพิธภัณฑ์ของประเทศนั้น แต่ทำไมเวลาคนต่างชาติมาเที่ยวบ้านเรา ทำไมเราไม่เห็นมีการโฆษณาให้คนต่างชาติไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ของบ้านเราบ้างเลย โดยเฉพาะพิพิธภัณฑ์แห่งชาติบ้านเรา ซึ่งก็อยู่ติดวัดติดวัง

น้าจ้าจำได้ว่าเมื่อเด็กๆเคยไปเที่ยวอยุธยา แล้วทางบ้านพาไปดูพิพิธภัณฑ์ที่วังเก่า จำได้ว่าตื่นตาตื่นใจกับแหวนวงโตๆของคนโบราณมากเลย จากประสพการณ์ที่ประทับใจครั้งนั้นเลยทำให้เป็นคนที่ชอบไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์มากๆ

โรงเรียนที่ลูกชายน้าจ้าเรียน ก็ตั้งแต่สมัยประถมจนถึงเด็กโต เขาก็จะพาเด็กไปศึกษานอกสถานที่ แห่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ คือการพาไปพิพิธภัณฑ์ น้าจ้าว่าการที่บ้านเราไม่มีการสร้างพิพิธภัณฑ์อื่นๆ เพราะเราไม่ได้มีการปลูกฝังในเรื่องนี้ตั้งแต่เยาว์วัยด้วยหรือเปล่า?

น้าจ้าครับ

ดีใจครับที่ยังมีคนสนใจเรื่องพิพิธภัณฑ์

อย่างที่เรียนในบันทึกนะครับ การทำให้พิพิธภัณฑ์มีชีวิตเป็นสิ่งที่สำคัญและท้าทายครับ เป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้กันเป็นวิชาที่เรียกว่าพิพิธภัณฑ์ศาสตร์ สิ่งของโบราณและที่เป็นประวัติศาสตร์นั้นมีอยู่ แต่ทำอย่างไรจึงจะให้มีการนำเสนอสิ่งของนั้นให้คนสนใจและนำไปสู่ความรู้ที่กว้างไกลมากขึ้น

ความรู้จากสิ่งของนั้นสามารถขยายหรือย้อนลึกไปได้หลายระดับ ตรงนี้น่าสนใจครับ ในเมืองนอก ที่นิยมพาเด็กไปพิพิธภัณฑ์ก็ต้องการให้เด็กมีจินตนาการและได้ความรู้ทะลุสิ่งของที่เห็นนั้นไปอีกกว่าไกลมาก ซึ่งจะทำให้อยากรู้ไปเรื่อยๆ

สิ่งนี้ อย่างที่น้าจ้าให้ความเห็น ต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็กครับ

และไม่ใช่เพียงพาเด็กไปพิพิธภัณฑ์แค่นั้น แต่ต้องสอนวิธีให้เด็กคิดด้วยครับ คิดจนทะลุออกไปกว้างไกลกว่านั้น

ในเมืองไทย ผมว่ายังไม่ค่อยเห็นความสำคัญของการเรียนนอกห้องเรียน เหมือนกับว่าการเรียนต้องไปโรงเรียน อยู่ในห้องเรียนเท่านั้นซึ่งผิดครับ เช่นเว็บโกทูโนนี้ให้ความรู้นอกห้องเรียนที่ดีมากครับ

นอกจากนั้น ในวันที่ผมไปร่วมงานวันพิพิธภัณฑ์สากล รัฐมนตรีวัฒนธรรมอินเดียก็บอกว่าบางครั้งขาดการสื่อสารระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้อง ประชาชนที่มีของดีๆ ของประวัติศาสตร์ไม่กล้าที่จะติดต่อทางการ ไม่รู้ขั้นตอนว่าจะต้องทำอย่างไร ในขณะที่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้เข้าถึงประชาชน ไม่ได้เปิดโอกาสให้มีการติดต่อหรือบริจาคของของโบราณต่างๆ  เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม...ปัญหาเหล่านี้ทำให้กิจการพิพิธภัณฑ์ไม่พัฒนาและยังอยู่ในความมืด

ผมโชคดีที่ได้มีโอกาสไปอยู่ที่เจนีวาในช่วงหนึ่งของชีวิต ได้ไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์มากมายจนเห็นขุมทรัพย์ในพิพิธภัณฑ์ ความจริงโลกทั้งใบก็เป็นพิพิธภัณฑ์ชั้นยอดละครับ การได้ไปเที่ยวต่างประเทศรอบโลกคือความฝันชีวิตหลังเกษียณครับ

ขอบคุณครับที่แวะมาทักทายกัน....เช่นเคย 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท