ชีวิตที่พอเพียง : ๑๒๔๘. ไปเรียนรู้วิชา โลจิสติกส์ ที่วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล


          ช่วงเช้าวันที่ ๒๑ เม.ย. ๕๔ เป็นช่วงเวลาที่สภามหาวิทยาลัยมหิดล ไปเยี่ยมชื่นชมวิทยาลัย การจัดการ (CMMU – College of management Mahidol University)   ผมออกจากบ้านตั้งแต่ ๖.๐๐ น.  แวะไปส่งสาวน้อยที่ รพ. รามาฯ แล้วตรงไปที่ "ตึกมิว" ตรงต้นถนนวิภาวดีฯ ก่อน ๗ น.  ก้าวเข้าไปที่โถงรับแขก เกิดความรู้สึกว่าสถานที่สะอาด โอ่โถง และพร้อมต้อนรับผู้มาติดต่อ   แต่ที่น่าประทับใจยิ่งกว่าคือคน   คุณผู้ชายที่คงจะเป็นเจ้าหน้าที่รักษา ความปลอดภัยมาต้อนรับที่ประตู   และชี้ว่าห้องน้ำอยู่ตรงไหนโดยไม่ต้องถาม ผมบอกว่าผมจะขอ นั่งที่ห้องโถงข้างล่างนี่ก่อน   ผมรู้สึกว่า ทางวิทยาลัยน่าจะมีการฝึกเจ้าหน้าที่เป็นอย่างดี   ทั้งสถานที่ และคน ในการ "พบครั้งแรก" ให้ความประทับใจยิ่ง

 

          ประมาณ ๗.๑๐ น. ก็มีเจ้าหน้าที่หญิงฝ่ายต้อนรับมาถึง และเชิญผมไปนั่งข้างบน   แต่ผม ยืนยันขอนั่งที่ห้องโถงรับแขกชั้นล่าง  เพราะผมอยากรู้ว่า ชีวิตของผู้คนบริเวณนี้ในยามเช้า เป็นอย่างไร   มีคนบอกผมภายหลังว่า ฝ่ายต้อนรับของ CMMU นี้ พูดได้ถึง ๓ ภาษา

 

          ห้องน้ำเป็นเสมือน “ตัวชี้วัด” การจัดการของหน่วยงาน   ผมมีข้อสังเกตว่า หน่วยราชการทั่วไปมักมีห้องน้ำที่ไม่ได้มาตรฐานความสะอาด  แต่ของ CMMU ไม่ต้องพูดถึง   ได้มาตรฐานโรงแรมชั้น ๑  และเมื่อผมเข้าไปไฟห้องน้ำยังไม่เปิด   พนักงานทำความสะอาดที่อยู่แถวนั้นรีบมาเปิดให้ด้วยท่าทางอารี
 
 
          ผมนั่งทำงานที่ห้องโถงรับแขกชั้นล่างด้วยความสดชื่น   และตั้งใจสังเกตว่ามีเหตุการณ์และผู้คนทำอะไรกันบ้างภายในตึกและรอบๆ ตึก   ผมพบว่ายามเช้าตรู่เช่นนี้ พนักงานทำความสะอาด เป็นประชากรหลักทั้งภายในอาคารและโดยรอบอาคาร   ผมมีความรู้สึกมานานแล้วว่า   งานสำคัญๆ ในบ้านเมืองมีพนักงานระดับใช้แรงงานเป็นฐานอำนวยความสะดวก   และผมสงสัยเสมอมา ว่าทำไมสังคมของเราจึงกำหนดค่าแรงให้แก่คนเหล่านี้ต่ำเกินไป   ในระดับที่มีชีวิตในระดับพอเพียงได้ยาก

 

          ผมสังเกตว่า พนักงานทำความสะอาดของที่นี่มี “รถเครื่องมือทำความสะอาด” เหมือนของโรงแรม   ทำให้ดูเป็นนักทำความสะอาด “มืออาชีพ” ที่มีเครื่องมือเครื่องใช้อย่างเหมาะสม  ไม่ใช่ทำงานไปตามความเคยชินของตนเอง  

 

          สักครู่ก็มีคนนั่งมอเตอร์ไซคล์เข้ามา   ในมือถือถุงอาหารขนาดถุงใหญ่ๆ ๔ – ๕ ถุง   แล้วขึ้นตึกไป   ผมบอกตัวเองว่า นี่คือระบบ โลจิสติกส์ อย่างหนึ่ง สำหรับการทำงานของ CMMU และบริษัทหรือหน่วยงานที่อยู่ในตึกนี้   เนื่องจากผมนั่งอยู่ไม่นานนัก จึงไม่ได้เห็นการส่ง โลจิสติกส์ อย่างอื่น เช่นหนังสือพิมพ์  ไปรษณีย์  น้ำดื่ม  ฯลฯ

 

          เรามักพูดล้อเลียนกันติดปาก ว่า ในมหาวิทยาลัยที่มีการสอนวิชาใด ภาคปฏิบัติของเรื่องนั้นมักมีปัญหา   เช่นคณะที่สอนด้านการจัดการ มักหย่อนการจัดการหน่วยงานของตนเอง   แต่มาเห็นที่ CMMU แล้วผมบอกตัวเองว่า   ทางวิทยาลัยฯ คงจะตั้งใจแสดงความสามารถด้านการจัดการสมัยใหม่ของวิทยาลัย   ว่าไม่ใช่แค่สอน แต่ปฏิบัติให้ นศ. ดูเป็นตัวอย่างด้วย

 

          ซึ่งเมื่อถึงตอนคุยกันกับท่านผู้รักษาการคณบดี คือ รศ. ดร. รัศมีดารา หุ่นสวัสดิ์ จึงทราบว่า ทางวิทยาลัยมีการจัดการที่เฉียบมาก คือมีการเตรียมหารูปและชื่อของกรรมการสภาฯ ที่จะมาเยือน ที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษ สะกดอย่างถูกต้อง   สำหรับนำมาพิมพ์ป้ายชื่อที่นั่ง   และให้ฝ่ายต้อนรับดูรูปเพื่อจะได้ต้อนรับได้ถูกคน   เรื่องที่อาจจะดูเล็กน้อยนี้ สำคัญยิ่งในการจัดการองค์กรสมัยใหม่   เพื่อสร้างความประทับใจแก่ลูกค้าหรือผู้มาติดต่อ

 

วิจารณ์ พานิช
๒๓ เม.ย. ๕๔

                   
          
หมายเลขบันทึก: 439805เขียนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2011 09:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท