ศักยภาพของมหาวิทยาลัยไทยในการตีพิมพ์ผลงานวิชาการในระดับนานาชาติ ตอนจบ


จำนวนผลงานทางวิชาการที่ได้รับการเผยแพร่ในระดับนานาชาติโดยภาพรวมนั้นสะท้อนให้เห็นเป็นอย่างดีว่ามหาวิทยาลัยในประเทศไทยจำเป็นต้องส่งเสริมให้มีการพัฒนาศักยภาพในการวิจัยของบุคลากรของมหาวิทยาลัยอีกมากครับ โดยต้องมีการสนับสนุนให้บุคลากรที่เป็นอาจารย์และนักวิจัย รวมไปถึงนักศึกษาในทุกระดับ โดยเฉพาะระดับปริญญาโทและเอกในการเพิ่มผลงานวิจัยในแต่ละปีให้มากขึ้นและมีคุณภาพมากขึ้น

 

 

 

 

 

จำนวนผลงานทางวิชาการที่ได้รับการเผยแพร่ในระดับนานาชาติโดยภาพรวมนั้นสะท้อนให้เห็นเป็นอย่างดีว่ามหาวิทยาลัยในประเทศไทยจำเป็นต้องส่งเสริมให้มีการพัฒนาศักยภาพในการวิจัยของบุคลากรของมหาวิทยาลัยอีกมากครับ โดยต้องมีการสนับสนุนให้บุคลากรที่เป็นอาจารย์และนักวิจัย รวมไปถึงนักศึกษาในทุกระดับ โดยเฉพาะระดับปริญญาโทและเอกในการเพิ่มผลงานวิจัยในแต่ละปีให้มากขึ้นและมีคุณภาพมากขึ้น โดยต้องรู้จักแสวงหาความร่วมมือในทั้งหน่วยงานเดียวกัน และนอกหน่วยงาน รวมถึงต้องรู้จักแสวงหาความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้ในการวิจัยและวิชาการกับต่างประเทศด้วย โดยเฉพาะประเทศที่มีเทคโนโลยีและเครื่องเครื่องมือในการวิจัยที่ทันสมัยและเพรียบพร้อมกว่าบ้านเราครับ เราต้องเรียนรู้จากต่างประเทศเพื่อนำมาปรับใช้อย่างเหมาะสมกับบ้านเราด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังต้องเพิ่มการวิจัยและคุณภาพในบางสาขาให้สามารถตีพิมพ์ในระดับนานาชาติมากขึ้น เพราะปัจจุบัน ผลงานวิชาการที่ได้รับการตีพิมพ์ในระดับนานาชาติของมหาวิทยาลัยไทยยังกระจุกอยู่แค่องค์ความรู้บางสาขาเท่านั้น ที่เห็นได้ชัดคือสาขาทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ รองลงมาคือสาขาวิทยาศาสตร์ สาขาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีจำนวนผลงานทางวิชาการที่ได้รับการตีพิมพ์ในระดับนานาชาติค่อนข้างมาก ส่วนสาขาทางสังคมศาสตร์ ศิลปศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์นั้น มีจำนวนที่ตีพิมพ์ในระดับนานาชาติน้อยมากในแต่ละปีครับ

ผมขอนำเอาข้อมูลผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ของมหาวิทยาลัยมหิดลและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ ศ.ดร.ม.ร.ว. ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์และรุจิเรขา อัศวิษณุได้ศึกษาไว้มาให้ท่านผู้อ่านได้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้นครับ

ผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในระดับนานาชาติซึ่งปรากฏในฐานข้อมูลของ ISI WOS ในปี พ.ศ. 2542 เปรียบเทียบกับปี 2548 แยกตามรายคณะของมหาวิทยาลัยมหิดลพบว่าคณะที่มีจำนวนผลงานที่ได้รับการตีพิมพ์มากที่สุด 5 อันดับแรกได้แก่คณะวิทยาศาสตร์ รองลงมาคือคณะเวชศาสตร์เขตร้อน คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี และสถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี โยในปี 2542 มีจำนวนผลงานที่ตีพิมพ์ในระดับนานาชาติ 95, 78, 70, 40 และ 22 เรื่องตามลำดับ และในปี 2548 คณะที่สามารถสร้างผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์สูงสุด 5 อันดันแรกก็ยังคงเป็นห้าคณะเดิมคือคณะวิทยาศาสตร์ รองลงมาคือคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาลที่แซงคณะเวชศาสตร์เขตร้อนขึ้นมาอยู่ในอันดับที่สอง อันดับที่สี่คือคณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี และสถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีครองอันดับที่ห้า โดยมีผลงานวิจัยตีพิมพ์จำนวน 225, 101, 93, 70 และ 54 เรื่องตามลำดับครับ ส่วนคณะอื่นๆยังมีผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในระดับนานาชาติน้อยมาก โดย 5 คณะแรกสามารถสร้างผลงานวิจัยที่ได้ตีพิมพ์รวมกันถึง 305 เรื่องจากจำนวนที่ตีพิมพ์ทั้งหมด 345 เรื่องในปี 2542 หรือคิดเป็น 88.41 % ของจำนวนที่ตีพิมพ์ทั้งหมดครับ ส่วนปี 2548 นั้น ผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์รวมกันของของ 5 คณะแรกมีจำนวน 543 เรื่องจากจำนวนที่ตีพิมพ์ของมหาวิทยาลัยมหิดลทั้งหมด 675 เรื่องหรือคิดเป็น 80.04 % ของจำนวนที่ตีพิมพ์ทั้งหมด ซึ่งทั้ง 5 คณะนั้นเป็นคณะในสาขาการแพทย์และวิทยาศาสตร์ทั้งหมด ส่วนคณะทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์นั้นรวมกันไม่ถึง 10 เรื่องด้วยซ้ำครับ

ทางด้านของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเองพบว่า 5 คณะแรกที่มีจำนวนผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์มากที่สุดในปี 2542 ล้วนแล้วแต่เป็นคณะทางสาขาการแพทย์และวิทยาศาสตร์ทั้งหมด คือ คณะแพทยศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะภสัชศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และคณะสัตวแพทยศาสตร์ โดยมีจำนวนผลงานตีพิมพ์ 67, 32, 14, 11 และ 8 เรื่องตามลำดับ รวม 5 คณะมีจำนวนตีพิมพ์รวมกัน 132 หรือคิดเป็น 83.30 % จากจำนวนที่ได้รับการตีพิมพ์ทั้งหมด 159 เรื่อง ในปี 2548 คณะที่มีจำนวนผลงานตีพิมพ์ 5 อันดับแรกได้แก่คณะแพทยศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี และคณะภสัชศาสตร์ ดดยมีผลงานตีพิมพ์ 156, 136, 101, 47 และ 39 เรื่องตามลำดับ ทั้งหมดรวมกัน 479 หรือคิดเป็น 82.87 % เรื่องจากจำนวนผลงานที่ตีพิมพ์ของคณะในจุฬาฯรวมกันทั้งหมด 578 เรื่อง และเช่นกันกับมหาวิทยาลัยมหิดลที่คณะทางสาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ของจุฬาฯมีผลงานตีพิมพ์ในระดับนานาชาติไม่ถึง 10 เรื่อง หากพิจารณาแล้วจะพบว่าคณะวิทยาศาสตร์และคณะทางการแพทย์ของทั้งสองสถาบันคือคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์ รามาธีบดี คณะเวชศาสตร์เขตร้อนและคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้นมีความโดดเด่นในการผลิตผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิม์ในระดับนานาชาติเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะมหาวิทยัลมหิดลนั้นมีคณะทางการแพทย์ถึง 3 คณะ คือ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์ รามาธีบดี คณะเวชศาสตร์เขตร้อนซึ่งสามารถผลิตผลงานวิจัยตีพิมพืได้รวมกันถึง 54.49 % และ 39.11% ของผลงานตีพิมพ์ทั้งหมดในปี 2542 และ 2548 ของมหาวิทยาลัยมหิดลตามลำดับ (ไม่รวมคณะทางวิทยาศาสร์การแพทย์และสาธารณสุขอื่นๆ เช่น เภสัชศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ คณะเทคนิคการแพทย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์) ซึ่งแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าสาขาทางการแพทย์ของมหาวิทยาลัยมหิดลนั้นมีความโดดเด่นกว่าสาขาอื่นอย่างมาก ส่วนสาขาทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์นั้นที่มหาวิทยาลัยมหิดลยังไม่ค่อยมีคณะทางด้านนี้มาก ซึ่งปัจจุบันถึงแม้จะมีคณะทางด้านนี้เพิ่มขึ้นมาคือคณะสิลปศาสตร์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ วิทยาลัยการจัดการ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมอาเซียน วิทยาลัยดุริยางคศิลป์  วิทยาลัยศาสนศึกษาและวิทยาลัยราชสุดา เป็นต้น แต่ผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในระดับนานาชาติของคณะเหล่านี้ยังมีน้อยมาก

ส่วนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้นแม้จะมีคณะทางการแพทย์คณะเดียวคือคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่พบว่าในปี 2548 ผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในระดับนานาชาติของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้นมีจำนวนมากกว่าคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์ รามาธีบดี คณะเวชศาสตร์เขตร้อนของมหาวิทยาลัยมหิดลอย่างเห็นได้ชัด ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ในปี 2542 นั้นคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีผลงานตีพิมพ์น้อยกว่าคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาลคณะเวชศาสตร์เขตร้อนมหาวิทยาลัยมหิดลด้วยซ้ำ  ผมกำลังชี้ให้ท่านผู้อ่านเห็นครับว่ามหาวิทยาลัยที่มีสาขาทางการแพทย์อยู่ด้วยนั้นจะค่อนข้างได้เปรียบในเรื่องของจำนวนผลงานตีพิมพ์ในภาพรวม เพราะหากพิจารณาจำนวนผลงานวิจัยที่ปีพิมพ์ในแต่ละปีของมหาวิทยาลัยที่มีสาขาทางการแพทย์หรือมีคณะแพทยศาสตร์อยู่อย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่หรือมหาวิทยาลัยขอนแก่นก็จะพบว่าผลงานวิจัยส่วนใหญ่มาจากคณะแพทยศาสตร์ค่อนข้างมากครับ นอกจากนี้มหาวิทยาลัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็จะมีแนวโน้มว่าจะมีผลงานตีพิมพ์ในระดับนานาชาติสูงกว่ามหาวิทยาลัยที่เน้นทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ครับ เห็นได้ชัดจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ก่อตั้งมานานและมีจุดกำเนิมาจากการเรียนการสอนด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์จึงค่อนข้างมีความแข็งแกร่งในด้านนี้เป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่าช่วงหลังจะเพิ่มคณะทางการแพทย์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาในช่วงหลังแต่คาดว่าคณะที่เกิดช่วงหลังดังกล่าวยังไม่มีความแข็งแกร่งทางวิชาการและการวิจัยมากพอที่จะสร้างงานวิจัยให้ได้ตีพิมพ์ในระดับนานาชาติออกมาเป็นจำนวนมากได้เหมือนอย่างมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนทางการแพทย์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาก่อน เช่น จุฬาฯ มหาวิทยาลัยมหิดล มาหวิทยาลัยเชียงใหม่หรือมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตเป็นต้น ดังนั้นด้วยลำพังเพียงแค่งานวิจัยทางด้านทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงไม่สามารถผลักดันให้มีจำนวนตีพิมพ์ที่ปรากฏในระดับนานาชาติมากพอได้ ส่วนงานวิจัยทางสาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ที่ได้ตีพิมพ์ในระดับนานาชาติในมหาวิทยาลัยอื่นๆนั้นก็มีค่อนข้างน้อย เพราะส่วนใหญ่งานวิจัยในสาขาดังกล่าวมักจะตีพิมพ์ในวารสารที่เป็นภาษาไทยในประเทศไทยมากกว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนักวิชาการส่วนใหญ่ไม่มั่นใจหรือเชี่ยวชาญในการใช้ภาษอังกฤษ จึงนิยมเผยแพร่งานวิจัยในวารสารที่เป็นภาษาไทยมากกว่า ซึ่งวารสารภาษาไทยของประเทศเรายังไม่ค่อยได้รับความเชื่อถือในระดับนานาชาติมากนัก ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงควรส่งเริมให้มีการพัฒนางานวิจัยให้ครอลคลุมทุกสาขา และเน้นให้มากในสาขาที่ยังมีผลวิจัยออกมาในระดับนานาชาติค่อนข้างน้อยครับ นอกจากนี้มหาวิทยาลัยในประเทศไทยควรพัฒนาวารสารของมหาวิทยาลัยให้มีความน่าเชื่อถือ มีระบบการตรวจสอบเรื่องที่จะตีพิมพ์ในวารสารของตน (Peer-reviewed) ให้เข้มข้นเพื่อยกระดับมาตรฐานของวารสารที่ผลิตในประเทศไทยให้มีความน่าเชื่อถือในระดับนานาชาติด้วยครับ

นอกจากนี้ทางสถาบันอุดมศึกษาของเอกชนเองยังต้องพัฒนาตนเองให้มีการทำวิจัยกันให้มากขึ้น รวมทั้งต้องผลักดันให้งานวิจัยนั้นมีคุณภาพพอที่จะสามารถตีพิมพ์ในระดับนานาชาติได้ด้วย ข้อจำกัดของมหาวิทยาลัยเอกชนคือเรื่องของทรัพยากรบุคคลและงบประมาณครับ เท่ที่ผมสำรวจ คณาจารย์ของมหาวิทยาลัยเอกชนที่จบปริญญาเอกยังมีสัดส่วค่อนข้างน้อยมาก โดยส่วนใหญ่จะมีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาโทมากว่า ทำให้ขาดประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการทำวิจัย อีกทั้งมหาวิทยาลัยเอกชนนั้นจำเป็นต้องแสวงหากำไรจากการดำเนินการอีกด้วย ทำให้คณะและสาขาที่เปิดส่วนใหญ่เป็นสาขาที่เป็นที่นิยมของผู้เรียนซึ่งส่วนใหญ่เป็นคณะทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ซึ่งอย่างที่ผมบอกไว้นะครับว่า สาขาทางด้านนี้ขนาดมหาวิทยาลัยรัฐที่มีความพร้อมและสนับสนุนให้มีการทำวิจัยอย่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังมีผลงานตีพิมพ์ในระดับนานาชาติออกมาน้อยมาก ดังนั้นมหาวิทยาลัยเอกชนยิ่งไม่ต้องพูดถึงเพราะส่วนใหญ่มีภาระงานสอนค่อนข้างมาก ผลงานวิจัยออกมาค่อนข้างน้อยและผลงานวิจัยแทบทั้งหมดก็เผยแพร่ในวารสารภาษาไทยหรือวารสารของมหาวิทยาลัยเอง ส่วนคณะทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก็จำกัดอยู่แค่บางสาขาที่เป็นที่นิยมของผู้เรียน อย่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตรและเทคโนโลยี สาขาวิยาการคอมพิวเตอร์ เป็นต้น ซึ่งก็เช่นกันคือไม่ค่อยมีผลงานวิจัยออกมาสักเท่าไรนัก ดังนั้นมหาวิทยาลัยเอกชนจึงต้องมีการปรับตัวกันอย่างมากในการสร้างผลงานวิจัยให้มีจำนวนมากและมีคุณภาพสามารถตีพิมพ์ในระดับนานาชาติได้ เพราะอย่าลืมนะครับว่าผลงานวิจัยนั้นเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญตัวหนึ่งในเรื่องคุณภาพของมหาวิทยาลัย และเป็นตัวชี้วัดที่ใช้ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในระดับโลกหรือ World-class university นั่นเองครับ

 

 

References

1.M.R. Jisnuson Svastia and Ruchareka Asavisanub, "Aspects of Quality in Academic Journals:A Consideration of the Journals Published in Thailand", ScienceAsia 33 (2007): 137-143

2.M.R. Jisnuson Svastia and Ruchareka Asavisanub, "Update on Thai Publications in ISI Databases (1999-2005)", ScienceAsia 32 (2006): 101-106

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 439079เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2011 16:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 14:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท