เมล็ดข้าวไทยพันธุ์ดี....เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าของชาวนา


"อนาคตเกษตรกรชาวนาไทยจะต้องไม่รอขายแค่ข้าวเปลือกอย่างเดียว เกษตรกรชาวนาต้องหาวิธีคิดสร้างสรรค์เพิ่มมูลค่าจากภูมิปัญญาของตนเอง"

            ข้าว (Oryza sativa L.) เป็นพืชเศรษฐกิ­จที่สำคัญที่สุดของไทยทุกยุคทุกสมัย คนไทยบริโภคข้าวเป็นอาหารหลักและผูกพันกับข้าวตั้งแต่เกิดจนตาย มีประเพณีวัฒนธรรมเกี่ยวกับข้าวมากมาย  ในอดีตเราให้ความสำคัญกับข้าวมาก เปรียบข้าวเป็นเทวดาองค์หนึ่งที่คอยคุ้มครองชีวิต จากการวิจัยของนักวิทยาศาสตร์พบว่า ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง การบริโภคข้าวก็ถือเป็นการบ่งบอกชนชั้น ในช่วงยุคสมัยทราวดีนั้นเริ่มมีการเพาะปลูกข้าวเจ้าเมล็ดยาวเรียวขึ้นแล้วสันนิษฐานว่านำมาจากอาณาจักรขอม  การหุงต้มข้าวเมล็ดยาวนี้ แตกต่างจากข้าวของชาวพื้นเมืองที่บริโภคข้าวเหนียว เมล็ดใหญ่ป้อม จึงเชื่อว่าเป็นสาเหตุให้ข้าวชนิดนี้ถูกเรียกว่า “ข้าวเจ้า” และเรียกข้าวเหนียวว่า “ข้าวนึ่ง” บ้างก็เรียกว่า “ข้าวบ่าว” หรือ “ข้าวไพร่”

การปรับปรุงพันธุ์ข้าว ได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง มาตั้งแต่อดีตกาลข้าวสายพันธุ์ดีทุกวันนี้ วิวัฒนาการจากข้าวป่า ข้าวไร่ และได้จากการปรับปรุงพันธุ์ของนักวิชาการ  การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ตามองค์ความรู้ของกรมการข้าว แบ่งชั้นของเมล็ดพันธุ์ ไว้  5 ชั้นดังนี้

         1. เมล็ดพันธุ์จากรวง (Panicle Seed)  คือ เมล็ดพันธุ์ที่เก็บรวงข้าวมาจากพันธุ์หรือสายพันธุ์ที่ได้มาจากแปลงเปรียบเทียบพันธุ์ และต้องเป็นพันธุ์ข้าวที่คณะกรรมการประกาศให้ขยายพันธุ์ได้

          2. เมล็ดพันธุ์คัด (Breeder Seed) คือ เมล็ดพันธุ์ที่ได้จากรวงคุณภาพชั้นสูงสุด ได้รับการควบคุมตรวจสอบสายพันธุ์อย่างถี่ถ้วน ผลิตโดยศูนย์วิจัยข้าว เพื่อนำไปขยายพันธุ์ต่อเป็นเป็นเมล็ดพันธุ์หลัก ไม่มีจำหน่าย

          3. เมล็ดพันธุ์หลัก (Foundation Seed) คือ เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ได้จากการปลูกด้วยเมล็ดพันธุ์คัด ผลิตโดยศูนย์วิจัยข้าว  แล้วส่งมอบให้ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว และสหกรณ์การเกษตร เพื่อนำไปขยายพันธุ์ต่อเป็นเมล็ดพันธุ์ขยาย  หรือใช้ภายใต้โครงการพิเศษคุณภาพรองจากพันธุ์คัด

          4. เมล็ดพันธุ์ขยาย (Stock Seed) คือ เมล็ดพันธุ์ที่ได้จากการ ปลูกด้วยเมล็ดพันธุ์หลัก ผลิตโดยศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว แล้วจำหน่ายให้สหกรณ์ เอกชน หรือส่งมอบให้ศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อนำไปขยายพันธุ์ต่อเป็นเมล็ดพันธุ์จำหน่าย คุณภาพรองจากพันธุ์หลัก เกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ชั้นนี้ ขยายต่อไปได้อีก 3 ฤดูกาล

           5. เมล็ดพันธุ์จำหน่าย (Multiplication Seed) คือ เมล็ดพันธุ์ที่ได้จากการปลูกด้วยเมล็ดพันธุ์ขยาย  ผลิตโดย ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว สหกรณ์การเกษตร เอกชน และศูนย์ข้าวชุมชน แล้วจำหน่ายให้แก่เกษตรกรทั่วไป คุณภาพรองจากพันธุ์ขยาย

             จะเห็นได้ว่า การปรับปรุงพันธุ์ในยุคแรกๆ จะเป็นการปรับปรุงพันธุ์ของนักวิชาการ ที่คอยควบคุมโดยรัฐบาลที่มีนโยบายส่งเสริมให้ข้าวเป็นสินค้าตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่พยายามนำพาประเทศไปสู่โลกของการค้าผลักดันให้ข้าวไทยเป็นสินค้าส่งออก

              ในยุคของการพัฒนาประเทศสู่โลกการค้า   “ข้าว”ถือได้ว่าเป็นสินค้าส่งออกที่สร้างรายได้มหาศาลให้แก่ประเทศ เกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกข้าวเพื่อขาย จากอดีตที่ผ่านมาเกษตรกรปลูกพืชแบบเชิงเดี่ยวเน้นผลิตเพื่อการค้า มุ่งเน้นขายข้าวให้โรงสี และพ่อค้าคนกลางข้าวในระบบการปลูกจึงมีแค่ไม่กี่สายพันธุ์  เช่น  ขาวดอกมะลิ105 (ที่ทุกคนรู้จักกันดีในชื่อ “ข้าวหอมมะลิ”)  กข.6   กข.15   ปทุมธานี 1  สุพรรณบุรี1  ส่วน ข้าวพื้นบ้าน เช่น เล้าแตก, สังข์หยด, หอมสกล, หอมสวรรค์, ข้าวก่ำใบดำ, ข้าวก่ำเปลือกขาว ,เขี้ยวงู, สินเหล็ก, ดอกพะยอม, หอมนครชัยศรี, นางนวล , ดอกฮี , เฉี้ยงพัทลุง,  เล็บนกปัตตานี , ป้องแอ้ว และอีกมากมายเป็นข้าวพื้นบ้านของแต่ละภูมิภาคที่มีเอกลักษณ์ทั้งด้านโภชนาการและลักษณะเฉพาะตัวค่อยๆเลือนหายไปจากวิถีชีวิตชาวนา

              ท่านรองฯวีระชัย นาควิบูลย์วงศ์ รองเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้เคยกล่าวไว้ว่า "อนาคตเกษตรกรชาวนาไทยจะต้องไม่รอขายแค่ข้าวเปลือกอย่างเดียว เกษตรกรชาวนาต้องหาวิธีคิดสร้างสรรค์เพิ่มมูลค่าจากภูมิปัญญาของตนเอง"  เริ่มต้นตั้งแต่ต้นน้ำการผลิตเมล็ดพันธุ์ที่คุณภาพไว้ใช้เองจนถึงปลายน้ำคือการสร้างผลิตภัณฑ์จากข้าวที่แตกต่างสู่ตลาด   

              ปัจจุบัน ปราชญ์และเกษตรกรพื้นบ้าน ก็มีความสามารถพัฒนาสายพันธุ์ข้าวที่ดีขึ้นมามากมายไม่แพ้นักวิชาการ การปรับปรุงพันธุ์ที่เกิดจาก ความต้องการอนุรักษ์มรดกของปู่ย่าตายายที่ตกทอดไว้ให้ลูกหลานกำลังจะสูญหาย ความเข้าใจวิถีของข้าว ความเข้าใจของวิถีชุมชน จึงเกิดข้าวสายพันธุ์ต่างๆขึ้นมากมาย

              ข้าวเจ้าหอมเวสสันตะระ และ ข้าวเจ้าหอมดำสูตะบุตร  เป็นข้าวสายพันธุ์ใหม่ที่ ปราชญ์เกษตรรุ่นเยาว์อย่างคุณแก่นคำกล้า พิลาน้อยหรือ “ตุ๊หล่าง” ได้พัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ขึ้น ตุ๊หล่าง เป็นปราชญ์เกษตรพื้นบ้าน มีอาชีพทำนาโดยแท้จริง และมีความมุ่งมั่นในการปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์ข้าวไทย โดยขณะนี้ข้าวทั้งสองสายพันธุ์กำลังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการขึ้นทะเบียนและรับรองพันธุ์

                ข้าวเจ้าหอมเวสสันตะระ

ลักษณะพิเศษ คือสามารถแตกกอได้ดีในระดับน้ำที่ลึกประมาณ 30-40 เซนติเมตร ตั้งตัวได้เร็วในระยะเวลาเพียง 7 วันหลังปักดำ หากต้นงามมากๆ จะมีความสูงประมาณ 160-170 ซม. ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวนาปีที่เหมาะกับพื้นที่ทางภาคอีสาน การเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตจะดีกว่าข้าวขาวดอกมะลิ 105 เปรียบเทียบโดยการใส่ปุ๋ยทั้งเคมีและชีวภาพ ในปริมาณที่เท่ากัน ขาวดอกมะลิ 105 จะได้ผลผลิต 300 กก./ไร่ ถ้าเป็นข้าวพันธุ์เวสสันตะระ จะได้ผลผลิต 450-500 กก./ไร่ อายุการเก็บเกี่ยว ช่วงระยะการออกรวงพอๆกับ ขาวดอกมะลิ 105 แต่จะแก่ช้ากว่าประมาณ 7-15 วัน เมล็ดใหญ่ ยาว มีน้ำหนักต่อถังมากกว่าเมื่อเทียบกับขาวดอกมะลิ 105 ประมาณ 6 ขีด/ถัง

             ข้าวเจ้าหอมดำสูตะบุตร

เป็นข้าวนาปรัง สามารถนำไปปลูกได้ทุกฤดูกาล เหมาะกับพื้นที่ ที่มีน้ำต่ำๆ(ประมาณ 2-5 เซนติเมตร) มีรสชาดคล้ายข้าวเหนียว ทั้งๆที่เป็นข้าวเจ้า อีกประการหนึ่งคือ เมื่อหุงแล้วเมล็ดจะนุ่มไม่แข็งเหมือนข้าวนาปรังทั่วไป อายุของการเก็บเกี่ยว 120 วัน (นับตั้งแต่ปักดำ) เพาะต้นกล้าอายุ 8 วัน ก็สามารถนำไปปักดำได้

         ซึ่งต่อไปปราชญ์รุ่นเยาว์ได้ให้คำรับรองว่าในอนาคตพันธุ์ข้าวทั้งสองสายพันธุ์นี้ จะกลายเป็นสมบัติของชาติ คนไทยทั้งชาติสามารถนำไปปลูกได้โดยไม่ต้องขออนุญาต..... สำหรับฤดูกาลที่จะมาถึงคุณอยากจะลองปลูกข้าวพันธุ์ดีและแตกต่างรึปล่าวล่ะครับ ????

         ถ้าสนใจติดต่อได้ที่ : คุณแก่นคำกล้า พิลาน้อย บ้านเลขที่ 153 ม.11 บ้านโนนยาง ต.กำแมด  อ.กุดชุม จ.ยโสธร หรือโทรศัพท์ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ของ ส.ป.ก.จังหวัดยโสธร กลุ่มปฏิรูปการจัดการและพัฒนาเกษตรกร โทรศัพท์:045-761044

 

หมายเลขบันทึก: 439065เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2011 13:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มาดูพันธุ์เมล็ดข้าว

เอาแบบพันธุ์ดีหน่อย

ปลูกน้อยได้ผลมากนะครับ

สนับสนุนค่ะ.....เราต้องมีพันธู์ข้าวไทยเป็นของตัวเอง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท