WHO Global Forum 2011 - Moscow (Day 1)


วันแรกในมอสโก

ในโอกาสที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุม “WHO Global Forum 2011: Addressing the challenge of noncommunicable diseases” ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกโดยองค์การอนามัยโลก ในวันที่ 27 เมษายน 2554 ณ กรุงมอสโก ประเทศสหพันธรัฐรัสเซีย ในนามตัวแทนองค์กรพระพุทธศาสนา ถือได้ว่าเป็นประสบการณ์ที่สำคัญครั้งหนึ่งในชีวิต เพราะการเดินทางแม้จะดูสะดวกสบายขณะที่อยู่ในเครื่องบินของการบินไทย เที่ยวบินที่ TG 974 บินตรงจากกรุงเทพสู่มอสโก จอด ณ สนามบินนานาชาติโดโมเดโดโว (Domodedovo) หลังพิธีการเข้าเมืองและออกสู่โถงด้านนอกก็มีแท็กซี่เรียกให้โดยสารเข้ากรุงมอสโกเป็นระยะๆ แวะแลกเงินก็เริ่มรู้สึกว่าช่างค้ากำไรมหาโหดเสียเหลือเกิน “เราซื้อ 25.40/1$ เราขาย 30.80/1$) กำไรกว่า 5 รูเบิลต่อดอลล่าร์สหรัฐ รับแลกสักร้อยดอลล่าร์ก็กำไรถึงห้าร้อยรูเบิล ทั้งๆที่ได้รับข้อมูลว่าอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ประมาณ 29 รูเบิลต่อหนึ่งเหรียญ และก็เริ่มรู้สึกว่าลำบากแน่เมื่อจะเดินทางต่อเข้ากรุงมอสโก เริ่มจากการหาป้ายบอกทางเป็นภาษาอังกฤษ ที่ค่อนข้างจะหายากมากขึ้นทุกขณะ ครั้นสอบถามเคาท์เตอร์จำหน่ายตั๋วรถไปเจ้ากรุงมอสโก พนักงานขายตั๋วที่ติดต่อก็ไม่สามารถสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษได้ ต้องใช้วิธีชี้ให้ดูแผนที่ว่าจะเดินทางไปสถานีปลายทางคือสถานีปาเวเลทสกี ซึ่งใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน คือสถานีปาเวเลทสกายา มากที่สุด เพื่อที่จะต่อรถไฟฟ้าไปยังสถานีตุลสกายา สู่ที่พักคือโรงแรมดานีลอฟสกายา การเดินทางจากสนามบินโดยรถไฟใช้เวลาประมาณ 40 นาที ไม่มีปัญหาใดๆ รถไฟก็ไม่แออัดอาจเรียกได้ว่าโล่งมากๆเสียด้วย แต่พอออกจากสถานีรถไฟก็พบความลำบากมากขึ้นอีก เพราะเห็นป้ายบอกทางไปสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินอยู่เฉพาะตอนจะออกจากสถานีรถไฟ จากนั้นก็หาไม่เจอ เดินหาอยู่พักใหญ่เมื่อเห็นว่าไม่พบแน่จึงตัดสินใจถามผู้คนเดินผ่านไปมาแต่ก็ไร้คำตอบ กระทั่งได้พนักงานรักษาความปลอดภัยที่ช่วยบอกทางให้เป็นภาษารัสเซีย ชี้ให้เดินผ่านทางลอดไป ณ สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินปาเวเลทสกายา ซึ่งเป็นสถานีใหญ่โตมาก ณ สถานีแห่งนี้เป็นที่รวมของรถไฟฟ้าใต้ดินสองสาย คือสายสีน้ำตาล เป็นสายที่วิ่งเป็นลักษณะวงเวียนรอบเมือง และสายสีเขียว ซึ่งวิ่งตัดจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือลงมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ โดยจะต้องเลือกสายสีน้ำตาลเพื่อวนซ้ายไปต่อรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีเทา ซึ่งวิ่งตัดเป็นเส้นตรงจากเหนือลงใต้ ณ สถานีถัดไปคือสถานีโดบรีนินสกายา ต้องคอยสังเกตสีที่ป้ายบอกทางไปชานชาลาที่ถูกต้อง เพราะไม่สามารถอ่านป้ายออกได้ด้วยเหตุที่มีเฉพาะภาษารัสเซีย ครั้นจะเลือกขึ้นรถชานชาลาที่ 1 หรือ 2 ก็เป็นปัญหาหนักอก แต่ก็ได้พนักงานรักษาความปลอดภัยช่วยไว้เช่นเคย ความยากลำบากประการหนึ่งของการหาชานชาลาก็คือ ณ ที่เดียวกันที่จะต่อรถไฟฟ้า สถานีของรถไฟฟ้าสีหนึ่งอาจเรียกชื่ออย่างหนึ่ง ในขณะที่สถานีรถไฟฟ้าอีกสีหนึ่งอาจเรียกชื่ออีกอย่างก็ได้ ประเด็นก็คือว่าถ้าอ่านภาษารัสเซียได้ก็ไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด แต่เมื่อต้องดูสีรถจากป้ายบอกทางเป็นหลักก็ลำบากไม่น้อย อีกประการที่สำคัญทำให้เกิดความสับสนคือ สีรถไฟทุกขบวนที่วิ่งอยู่ล้วนแต่มีสีน้ำเงิน แม้จะดูเก่าสักหน่อยแต่ก็วิ่งเร็วได้ใจทีเดียว เปลี่ยนรถที่สถานีโดบรีนินสกายาด้วยการเดินไปสถานีเซอรปูขอบสกายา ต่อไปยังสถานีตุลสกายา ด้วยวิธีการเดิม คือถามทางเรื่อยไป กระทั่งออกจากสถานีตุลสกายาก็ไม่วายต้องเร่หาคนเพื่อถามทางไปโรงแรมดานีลอฟสกายา ก็ต้องยอมรับว่าแม้จะสื่อสารภาษาอังกฤษไม่ได้ เด็กวัยรุ่นที่นี่ก็พยายามช่วยเหลืออย่างมีน้ำใจ ช่วยหาที่ตั้งโรงแรมจากโทรศัพท์มือถือที่มีจีพีอาร์เอสบอกสถานที่ได้ กระทั่งถึงที่พักได้ในที่สุด ไม่น่าเชื่อว่ามาถึงที่พักเมื่อตอนสองทุ่มกว่าแล้ว แต่ท้องฟ้ายังคงสว่างไสวด้วยพระอาทิตย์กำลังจะทกดินที่มอสโกไม่น่าเชื่อว่ามาถึงที่พักเมื่อตอนสองทุ่มกว่าแล้ว แต่ท้องฟ้ายังคงสว่างไสวด้วยพระอาทิตย์ยังไม่ตกดินที่มอสโก

คำสำคัญ (Tags): #มหาจุฬาฯ#WHO Global Forum
หมายเลขบันทึก: 437406เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2011 15:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท