ยุทธศาสตร์การบริหารในยุคโลกาภิวัตน์ กับการศึกษาเพื่อมวลชน(Education for all)


ยุทธศาสตร์การบริหารในยุคโลกาภิวัตน์ กับการศึกษาเพื่อมวลชน(Education for all)

ยุทธศาสตร์การบริหารในยุคโลกาภิวัตน์ กับการศึกษาเพื่อมวลชน(Education for all)

ภาณุ อดกลั้น

 

บทนำ

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ 2542 (แก้ไข ครั้งที่ 2) พ.ศ.2545 หมวด 4 มาตรา 22 กล่าวว่าการจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ และ มาตรา 23 การจัดการศึกษา ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ต้องเน้นความสำคัญทั้งความรู้ คุณธรรม กระบวนการเรียนรู้ และบูรณาการตามความเหมาะสมของแต่ละระดับการศึกษา ปัจจุบันปัญหาที่เกิดจากการศึกษาโดยตรงมีมากขึ้น ได้แก่  เรียนแล้วทุจริตเก่งมากขึ้น เอาเปรียบคนอื่นเก่งมากขึ้น มีลืมความเป็นไทย ลืมความเป็นตัวของตัวเอง ลืมภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาชาวบ้าน ลืมพื้นฐานวิถีชีวิตของชุมชน สังคมไทยมีความสับสนพร่ามัว ไม่ชัดเจน เป็นเพราะมีวิธีคิดที่ไม่ชัดเจน ความคิดถูกครอบจากความคิดและทฤษฎีจากตะวันตกจนไม่มีจุดยืนในความเป็นตัวของตัวเอง ดังนั้นการที่มีกลุ่มบุคคลรวมตัวกันเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะหรือวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน จึงจะสอดคล้องกับวิถีชีวิตตามเป็นจริง ของไทย

ยุทธศาสตร์การบริหารในยุคโลกาภิวัตน์ กับการศึกษาเพื่อมวลชน(Education for all)

การบริหารคือการหาทางทำงานให้สำเร็จ มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความสำเร็จหลายประการ ได้แก่ คน (Man)  งบประมาณ (Money)  วัสดุอุปกรณ์ (Material) การจัดการ (Management) ข้อมูลสารสนเทศ (Information) และเทคโนโลยี (Technology)  องค์ประกอบที่สำคัญมากที่สุด คือ ไหวพริบ  ประสบการณ์  และปฏิภาณในการบริหารการจัดการ และการแก้ปัญหาต่างๆ ในการทำงานของตัวผู้บริหาร โลกปัจจุบันนี้เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมาก โดยการค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาการผลิตแลการบริการทุกด้านให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  โดยลดต้นทุนด้านแรงงาน ด้านวัสดุลง นอกจากนั้น ยังสามารถแพร่สินค้า สิ่งผลิตบริการ แม้กระทั่งแนวความคิดให้เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปได้ง่าย การบริหารในยุคปัจจุบันจึงคงต้องปรับเปลี่ยนวิธีการไปต่างๆ พอสมควร  เพื่อให้องค์กรสามารถทำหน้าที่ได้ดียิ่งขึ้น ตอบสนองความต้องการของผู้เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

         ดร.อธิปัตย์ได้แสดง แนวความคิดสะท้อนใน 4 ประเด็น คือ

                1.  โลกาภิวัตน์ (Globalization) คือ ให้หมายถึง การแผ่ถึงกันทั่วโลก 

                2.  ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ที่สำคัญมี 3 องค์ประกอบ คือ 1) เทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยี (Information Technology) 2) เทคโนโลยี (Information Superhighways) และ เทคโนโลยีอื่นๆ

                3.  ยุทธศาสตร์การบริหาร มุ่งบรรลุเรื่อง 3 เรื่อง คือ 1)  ใช้คนเท่าเดิมทำงานได้มากขึ้น 2) งานเท่าเดิม แต่ใช้คนน้อยลง และ 3) คุณภาพของงานต้องดีเท่าเดิม หรือดีกว่า ซึ่งการจะบรรลุเรื่อง 3 เรื่องดังกล่าวต้องใช้ 7 องค์ประกอบ คือ 1) การใช้ระบบข้อมูลสารสนเทศ (Information Utilization)  เพื่อประกอบการตัดสินใจให้มากขึ้น 2) การบริหารทางไกล (High-Tech Administration)  3) การหาความรู้ทำงานกับระบบคอมพิวเตอร์ (Computer Literacy)  4) การมองการณ์ไกล (Introspection)  5) การใช้หน่วยงาน/องค์กรอื่นทำงาน (Decentralization) 6) การจัดรูปองค์กรที่ทำงานได้ฉับไว (Organization Development) และ 7) การพัฒนาบุคลากร (Personnel Development)

                4.  การบริหารงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จะต้องใช้ 4 องค์ประกอบ คือ 1) การใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น (Local Wisdom) 2) การถนอมใช้ทรัพยากรธรรมชาติและรักษาสภาพแวดล้อม 3) ผู้บริหารและผู้ใช้เทคโนโลยีควรต้องเป็นผู้มีจริยธรรมและคุณธรรมสูง และ 4) การรวมตัวเป็นบริษัทข้ามชาติ เป็นธุรกิจขนาดใหญ่

                องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ระบุว่าในสังคมที่การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องอาศัยความรู้เป็นสำคัญนั้นการเรียนรู้ตลอดชีวิต จะเป็นกุญแจไปสู่ความสำเร็จของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมการเรียนรู้ตลอดชีวิตประกอบด้วยการเรียนรู้ 4 ด้าน (Four Pillars of learning)ได้แก่

1.การเรียนรู้เพื่อให้รู้(Learning to know) เป็นการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความจำ จินตนาการ การให้เหตุผลรวมทั้งความสามารถในการคิดอย่างไตร่ตรองและลึกซึ้งบนหลักเหตุและผล ใช้ปัญญาแก้ปัญหาเป็นกระบวนการของการค้นพบ ซึ่งใช้เวลาและการเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อมูลข่าวสาร ความรู้ และสิ่งต่าง ๆ รอบตัวทั้งเกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับตนเอง    

2.การเรียนรู้เพื่อนำไปทำ (Learning to do) เป็นการเรียนรู้ความสามารถในการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพกับคนอื่นสร้างทักษะการทำงานเป็นหมู่คณะ ทักษะทางสังคม เช่น สร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงในการทำงานและการใช้ชีวิตและพร้อมเสี่ยงและกล้าแก้ปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ

3.การเรียนรู้เพื่อให้ใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น(Learning to live together) เป็นการเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจตนเองและผู้อื่นเรียนรู้ที่จะให้คุณค่าของความแตกต่างทางความคิดและความเป็นตัวตนของแต่ละคนการอยู่ร่วมกันด้วยความเข้าใจพึ่งพากัน สามารถเผชิญหน้ากับคนอื่นแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยการพูดคุยกันและสามารถทำงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกันขององค์กรสังคมหรือชุมชนของตน

4.   การเรียนรู้เพื่อให้เป็นคนสมบูรณ์ (Learning to be) เป็นการเรียนรู้ที่จะเป็นคนเต็มคน ผ่านการค้นคว้าหาความรู้ เป็นการเรียนรู้ที่ผ่านการขัดเกลาจากกระบวนการได้มาซึ่งความรู้ ทักษะ และความตระหนักถึงคุณค่าของความเป็นมนุษย์ การให้การเรียนรู้ลักษณะนี้ต้องมีแนวทางที่สามารถพัฒนาความคิดริเริ่มสร้างสรรค์คุณงามความดีตามแบบสากล

            การเรียนรู้ของคนเราจะต้องมีความสมดุลทั้ง 4 ด้าน หากเรียนรู้ด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป จะทำให้การดำรงชีวิตร่วมกันในสังคมมีปัญหา เช่น ในสังคมหนึ่ง คนในสังคมเรียนเพื่อให้รู้มาก แต่เรียนเพื่อใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นน้อย สังคมนั้นจะมีความวุ่นวาย เอารัดเอาเปรียบ แก่งแย่งแข่งขัน หรือถ้าเรียนเพื่อให้รู้น้อย แต่เรียนเพื่อใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นมาก สังคมนั้นจะไม่มีการพัฒนา เป็นต้น

 (อ้างอิงจาก http:// www.unesco.org/delors/fourpil.htm สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 53)

  ศาสตราจารย์ นพ.ประเวศ วะสี ได้แสดงความเห็น “ การปฏิรูปการศึกษาไทย : หนทางสู่การปฏิบัติ ในงานการประชุม ประจำปี พ.ศ. 2539 ของมูลนิธิสดศรี- สฤษดิ์วงศ์ ไว้ดังนี้

1.การศึกษาสำหรับคนทั้งมวล (Education For All) การศึกษาต้องเป็นเครื่องมือส่งเสริมการเรียนรู้ของคนทุกคนในสังคม ตั้งแต่แรกเกิดจนตายอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ในรูปแบบต่าง ๆ อย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นเด็กปฐมวัย ช่วงอายุ 0 - 6 ปี เกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน พระภิกษุ คนพิการ ข้าราชการ ผู้สูงอายุ ฯลฯ ให้หมดทุกคนในแผ่นดินจริง ๆ ให้ทุกคนให้เรียนรู้ อันนำไปสู่การมีอาชีพและพัฒนาการทุกด้าน

2.สังคมทั้งมวลเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา(All For Education) การศึกษาสำหรับคนทั้งมวล (Education For All)จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อสังคมทั้งมวลเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา (All For Education) การศึกษามิใช่เรื่องของครู โรงเรียน หรือ กระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น แต่ทุกส่วนของสังคมต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา หรือสังคมทั้งสังคมต้องเป็นไปเพื่อการศึกษา นั่นคือสังคมแห่งการเรียนรู้ (Learning Society) เช่น ครอบครัว ชุมชน วัด กองทัพ หน่วยราชการทุกกระทรวง รัฐวิสาหกิจและเอกชน องค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์ ศิลปะ การแสดง การกีฬา สื่อ และสื่อมวลชน ส่วนอื่น ๆ ของสังคม เชื่อมสถาบันการศึกษากับสถาบันทางสังคมทั้งหมด ดังกล่าวข้างต้น เพื่อให้การศึกษามีทั่วถึง ความหลากหลาย ความยืดหยุ่น ความสอดคล้อง ความเชื่อมโยง และมีประสิทธิภาพ
จะเห็นได้ว่าเมื่อใช้หลักการ “ สังคมทั้งมวลเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา “ แล้วจะเป็นพื้นที่การศึกษาขึ้นมาเต็มประเทศ และเพิ่ม “ ปริมาตรของการเรียนรู้ขึ้นมาอย่างสุด ๆ “

3. การศึกษาที่แก้ปัญหาทั้งมวล (Education For All Problems)     ต้องเปลี่ยนจินตนาการจาก “การศึกษาท่องหนังสือ” มาเป็น การศึกษา คือการเรียนรู้ที่สามารถแก้ปัญหาทั้งมวล ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความยากจน ปัญหาทางสุขภาพ ปัญหาทางสังคม ปัญหาทางสิ่งแวดล้อม ปัญหาทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณ ปัญหาทางการเมือง ฯลฯ การศึกษาไม่ควรจะเอาการท่องหนังสือหรือวิชาเป็นตัวตั้ง ซึ่งเรียนยาก น่าเบื่อหน่าย และมองไม่เห็นอนาคต แต่ควรจะประมวลปัญหาที่มีทั้งหมด แล้วจัดการศึกษาชนิดที่สามารถแก้ปัญหาทั้งมวล และทำให้เกิดความเข้มแข็งจากการคิด การทำกันจริง ๆ ปฏิรูป 3 ในการปฏิรูปการศึกษามีการปฏิรูป 3 อย่าง คือ

1. ปฏิรูประบบการศึกษา      เพื่อที่จะให้เป็นการศึกษาสำหรับคนทั้งมวล ให้สังคมทั้งมวลเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา และเป็นการศึกษาที่แก้ปัญหาทั้งมวลได้จึงควรมีการปฏิรูประบบการศึกษาให้มี
ความยืดหยุ่น ความหลากหลาย  ความทั่วถึง   ความสอดคล้อง  ประสิทธิภาพ ความเชื่อมโยง     

2. ปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้       การศึกษาทุกวันนี้เน้นการถ่ายทอดความรู้ และการท่องจำ เนื้อหาวิชาเพื่อการตอบข้อสอบ ปรนัย เป็นสำคัญ ทำให้เกิดความอ่อนแอทางปัญญา คือคิดไม่เป็น ทำไม่เป็น และไม่เกิดคุณลักษณะที่ควรมี ทั้งผู้เรียนและครู ควรมีการปฏิรูปการเรียนรู้ที่ลดการเรียนในห้องแบบเก่าลง เพื่อความหลากหลายของการเรียนจากการสัมผัสความจริง จากการทำกิจกรรม จากการทำงาน จากสื่อ จากการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมหรือกระบวนการทำงานกลุ่ม ฝึกความประณีต และความอดทนในการทำงานได้นาน ๆ โดยไม่เกิดความเบื่อ ฝึกทักษะการเผชิญและการแก้ปัญหาจากสถานการณ์กดดันรอบตัว เช่น ยาเสพติด เพศสัมพันธ์อันไม่สมควร การแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี การสร้างความเป็นชุมชน ฝึกวิธีคิดที่นำไปสู่ปัญญา ที่เข้าใจอะไรได้ลึกซึ้งและเชื่อมโยง ฝึกการค้นคว้าหาความรู้ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น จากหนังสือ จากคอมพิวเตอร์ จากคนเฒ่าคนแก่ จากปราชญ์ชาวบ้าน และจากการวิจัย เป็นต้น

3. ปฏิรูปการจัดการศึกษา        การจัดการศึกษาทุกวันนี้ใช้ระบบราชการที่เน้นการบังคับบัญชารวมศูนย์ ขาดการเปิดโอกาสให้มีการริเริ่มสร้างสรรค์ด้วยตนเอง การสนับสนุนให้เกิดความเข้มแข็งทางวิชาการ และมีความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้ ระบบบริหารจัดการที่มีความบกพร่อง เช่นนี้ เป็นต้นเหตุที่สำคัญของความอ่อนแอของการศึกษาไทย

ในการปฏิรูปการศึกษาจึงต้องปฏิรูประบบบริหารจัดการการศึกษาด้วย นี้คือ วัตถุประสงค์ 3 และการปฏิรูป 3 แห่งการปฏิรูปการศึกษาไทย และนอกจากนี้แล้ว การแสดงความคิดเห็นของคุณหมอประเวศ วะสี ท่านเคยกล่าวถึง สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา คือ  ด้านการเมือง (Politics) ผ่านนักการเมือง ส่งต่อไปสู่การบริหาร แล้วจะเกิดพลัง ด้านความรู้ (Knowledge) แสวงหาและสร้างองค์ความรู้ ให้เพียงพอ จะเกิดพลัง
 ด้านประชาชน (People) จัดตั้ง รวมกลุ่มเป็นชุมชน เป็นประชาสังคม

บทสรุป

การบริหารคือการหาทางทำงานให้สำเร็จต้องได้รับการสนับสนุนในด้านคน (Man)  งบประมาณ (Money)  วัสดุอุปกรณ์ (Material) การจัดการ (Management) ซึ่งต้องใช้   ไหวพริบ  ประสบการณ์  ปฏิภาณในการบริหารการจัดการ และการแก้ปัญหาต่างๆ ในการทำงานของตัวผู้บริหาร ข้อมูลสารสนเทศ (Information) และเทคโนโลยี (Technology)  การบริหารในยุคปัจจุบันจึงคงต้องปรับเปลี่ยนวิธีการไปต่างๆ พอสมควร  เพื่อให้องค์กรสามารถทำหน้าที่ได้ดียิ่งขึ้น และต้องมุ่งให้บรรลุเรื่อง 3 เรื่อง คือ 1)  ใช้คนเท่าเดิมทำงานได้มากขึ้น 2) งานเท่าเดิม แต่ใช้คนน้อยลง และ 3) คุณภาพของงานต้องดีเท่าเดิม หรือดีกว่า กุญแจไปสู่ความสำเร็จของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมการเรียนรู้ตลอดชีวิตประกอบด้วยการเรียนรู้ 4 ด้าน (Four Pillars of learning)ได้แก่ 1)การเรียนรู้เพื่อให้รู้(Learning to know) 2)การเรียนรู้เพื่อนำไปทำ (Learning to do 3) การเรียนรู้เพื่อให้ใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น(Learning to live together) และ 4)   การเรียนรู้เพื่อให้เป็นคนสมบูรณ์ (Learning to be)  การปฏิรูปการศึกษาไทย ต้องคำนึงถึง 1)การศึกษาสำหรับคนทั้งมวล (Education For All) 2) สังคมทั้งมวลเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา(All For Education) 3) การศึกษาที่แก้ปัญหาทั้งมวล (Education For All Problems)     แล้วต้อง ปฏิรูป 3 อย่าง คือ 1) ปฏิรูประบบการศึกษา     2) ปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้       3) ปฏิรูปการจัดการศึกษา        และการมีส่วนร่วมของ ด้านการเมือง (Politics) ด้านความรู้ (Knowledge) และ  ด้านประชาชน (People)

 

หมายเลขบันทึก: 437205เขียนเมื่อ 26 เมษายน 2011 22:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 13:08 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท