รัชดาวัลย์ วงษ์ชื่น(อิงจันทร์)
รัชดาวัลย์ วงษ์ชื่น(อิงจันทร์) ครูตาล วงษ์ชื่น

เก็บความมาเล่าให้ฟัง : "สภาใดไม่มีสัตบุรุษ สภานั้นใช้ไม่ได้"


   ภาพจาก : http://forum.downloadfc.com     

 จากการที่ได้ศึกษาหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา แม้จะสรุปได้ว่า จุดหมายสูงสุดคือการบรรลุพระนิพพาน  แต่ก็พบว่าพระพุทธเจ้ายังได้สอนหลักธรรมเกี่ยวกับการปกครองไว้ด้วย  เป็นหลักธรรมที่สามารถนำไปใช้ได้ในทุกระบอบการปกครอง  หลักธรรมสำหรับการปกครองดังกล่าวเรียกว่า "ราชธรรม" แปลว่า ธรรมสำหรับพระราชาหรือนักปกครอง  มีอยู่ ๑๐ ประการจึงเรียกว่า ทศพิธราชธรรม ซึ่งคิดว่าหลายท่านคงทราบดีอยู่แล้ว นอกจากทศพิธราชธรรมแล้ว พระพุทธเจ้ายังได้ตรัสว่า "ผู้ปกครอง ผู้จะได้รับสมญานามว่า พระเจ้าจักรพรรดิ์หรือนักปกครองผู้ยิ่งใหญ่ ต้องปฏิบัติตามหลัก จักรวรรดิวัตร มี ๑๒ ประการ เป็นเรื่องที่น่าเล่าสู่กันฟัง เพราะเชื่อว่าไม่ค่อยคุ้นเคยกันนัก ดังนี้

๑. สงเคราะห์คนภายใน

๒. สงเคราะห์ประเทศเมืองขึ้น

๓. สงเคราะห์ข้าราชบริพารหรือบริวาร

๔. คุ้มครองอำมาตย์ราชบัณฑิต

๕. คุ้มครองพสกนิกรหรือทวยราษฎร์

๖. คุ้มครองศาสนา

๗.คุ้มครองสัตว์

๘. ห้ามปรามไม่ให้ประพฤติผิดธรรม

๙. ให้ทรัพย์หรือปัจจัยเลี้ยงชีพแก่ผู้ยากไร้

๑๐. ปรึกษากับพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบและราชบัณฑิต

๑๑. เว้นความกำหนัดในกามโดยผิดธรรมเนียมประเพณี

๑๒. เว้นความโลภ

     สถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ มีแต่การเรียกร้องประชาธิปไตย ทั้ง ๆ ที่บางคนยังไม่เข้าใจประชาธิปไตยด้วยซ้ำ หากเป็นไปตามข่าว ว่าจะมีการยุบสภาในไม่ช้านี้ ถ้าเป็นจริงสิ่งที่ตามมาก็คือ การเลือกตั้ง  คือ เลือกผู้แทนไปใชสิทธิ์ใช้เสียงในสภาแทนประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจ เป็นหัวใจสำคัญ พระพุทธเจ้าตรัสว่า " เนสา  สภา โหติ ยตฺถ น  สนฺโต แปลว่า  สภาใดไม่มีสัตบุรุษ สภานั้นใช้ไม่ได้"  จึงเป็นหน้าที่ของเจ้าของอำนาจต้องใช้ดุลยพินิจพิเคราะห์ให้ดีว่า ผู้ที่อาสาจะเป็นผู้แทนในสภานั้น เป็น "สัตบุรุษ" หรือไม่ อย่างไร  คำว่า "สัตบุรุษ"  แปลว่า "คนดี" คือผู้ที่ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม ๗ ประการ ได้แก่

๑. ธัมมัญญุตา       ความเป็นผู้รู้จักเหตุ

๒. อัตถัญญุตา       ความเป็นผู้รู้จักผล

๓. อัตตัญญุตา       ความเป็นผู้รู้จักตน

๔. มัตตัญญุตา       ความเป็นผู้รู้จักประมาณ

๕. กาลัญญุตา        ความเป็นผู้รู้จักกาลเทศะ

๖. ปริสัญญุตา         ความเป็นผู้รู้จักชุมชน

๗. ปุคคสัญญุตา หรือ ปุคคลปโรปรัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักความแตกต่างระหว่างบุคคล

         เมื่อทราบเช่นนี้แล้ว ทำให้ฉันคิดใคร่ครวญประโยคที่ว่า "สภาใดไม่มีสัตบุรุษ สภานั้นใช้ไม่ได้" สงสัยยิ่งนักว่า สภาของไทยเรานั้น มีสัตบุรุษตามความหมายของพระพุทธเจ้าบ้างหรือเปล่านะ ????? หรือว่าไม่มีเลย และเมื่อคิดว่า อีกไม่นานจะมีการเลือกตั้ง จะมีสัตบุรุษให้ได้เลือกหรือเปล่านะ ?????  หรือว่า สภาในบ้านเมืองของเรานี้จะมีแต่ "อสัตบุรุษ"

หมายเลขบันทึก: 437125เขียนเมื่อ 26 เมษายน 2011 16:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

สวัสดีค่ะ

วันนี้ได้ดูกำเนิดเจ้าแม่กวนอิมค่ะ มีช่วงหนึ่งที่ท่านปลอมตัวมาเป็นคนแก่หิวโหยขออาหาร...เรื่องยาว.. แต่ซาบซึ้งในคำสอนที่สอนบัณทิตที่สอบจอหงวนไม่ติดในปีนั้นว่า หากท่านเป็นคนที่คิดถึงแต่ตัวเอง ไม่เห็นแก่ผู้คนที่ทุกข์ยากกว่าท่านแล้ว ท่านคิดจะไปสอบเป็นขุนนางทำไม หากท่านไม่มีคุณธรรมแล้ว ท่านจะเป็นขุนนางที่ดีได้อย่างไร

คนสมัยก่อนนี่ดีจัง จิตละเอียดอ่อนและสำนึกสูง ต่อมละอายทำงานทันที ได้ยินเพียงแค่นั้นก็คิดได้ และสำนึกทันที

สวัสดียามเช้าค่ะพี่อิงจันทร์

ขอบคุณความรู้หลักธรรมที่นำมาฝากค่ะ

เวลาเข้าสภา ถ้าลดอัตตาลง คงดีขึ้นบ้าง เคารพความแตกต่าง ให้เกียรติซึ่งกันและกัน

ได้แต่หวัง สภาไทยคงพัฒนา จะได้ไม่ล่ม สะดุดล้มบ่อยๆแบบนี้ค่ะ

สวัสดีคุณโยมอิงจันทร์ ถ้าไม่ร่วมพลักดัน สภานั้นก็ได้ใจ ธรรมะเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ ควรมีไว้ในทุก ๆ สภา

สวัสดีค่ะคุณ

Ico48

           ขอบพระคุณค่ะ ที่ช่วยเติมเต็มให้กับบันทึกนี้ ครูอิงคิดว่า นักการเมืองระดับสูงส่วนใหญ่ ยังเป็นนักปกครองแบบ อัตตาธิปไตย  โลดแล่นไปตามหลักการของตัวเองอย่างไร้สติ สร้างความเสียหายให้แก่บ้านเมือง  เราจะทำอย่างไรให้นักการเมืองหันมาใช้หลักการปกครองแบบ ธรรมาธิปไตย ใช้หลักธรรมทางศาสนา ในการตัดสินปัญหาต่าง ๆ ดูแล้วคงยากมากนะคะ สำหรับการปกครองบ้านเมืองเราในยุคปัจจุบัน  เพราะนักการเมืองจะมีสักกี่คนกัน ที่เป็นสัตบุรุษ  มักจะโดนพวกมากลากไป จนกลายเป็น อสัตบุรุษ เสียส่วนใหญ่

สวัสดีค่ะน้องอุ้ม

Ico48

ในระดับเรา ๆ ท่าน ๆ ถ้ามีอัตตามากเกินไปเพื่อนก็ไม่อยากคบ  แต่ถ้าเป็นระดับของผู้บริหารบ้านเมือง ถ้าใช้อัตตาธิปไตยมากเกินไป ก็ไม่ต่างจาก เผด็จการ แต่เท่าที่ดู ๆ เรื่องการเมืองไทย จะใช้แบบ หลักโลกาธิปไตย คือถือเสียงข้างมาก ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องที่เสียงมากเช่นกัน เพราะเสียงข้างมากนั้น อาจเป็นเสียงของคนชั่ว หรือประเภทใครมีพวกมากผู้นั้นก็ชนะ  พี่อิงไม่เห็นด้วยเลย ที่ใช้เสียงข้างมากในการจัดตั้งรัฐบาล หมายถึงว่า พรรคของคุณไม่ได้มาที่หนึ่ง  แต่คุณใช้ความสามารถ หรือ เล่นแร่แปรธาตุ หรือร้อยเลห์เพทุบาย รวบรวมพรรคเล็ก พรรคใหญ่ ให้ได้จำนวนคนได้มากกว่าฝ่ายตรงข้าม ก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แปลกดีเนอะ การเมืองไทย

สวัสดีค่ะ

สงสัยเหมือนกันค่ะ

"...หรือว่า สภาในบ้านเมืองของเรานี้จะมีแต่ "อสัตบุรุษ"

นมัสการพระคุณเจ้า 

Ico48
  • ทุกวันนี้ คนในสภายังมีคุณธรรมไม่เพียงพอค่ะ  ยังไม่มีธรรมาธิปไตย  แต่ใช้โลกาธิปไตยมากกว่าค่ะ  จึงพยายามหาพวกเอาไว้ให้มากเข้าไว้
  • ขอบพระคุณเจ้าค่ะ

สวัสดีค่ะพี่ลำดวน

Ico48
  • ถ้าไม่มีคนดี ๆ ให้เลือก  ครูอิงก็คงจะ ขอใช้สิทธิ์
  • แต่แสดงตนว่า ไม่เลือกใครเลยค่ะ
  • การเลือกตั้งไม่มีประโยชน์อะไรเลย นอกจากผลาญงบประมาณชาติ
  • ขอบพระคุณค่ะ มีความสุขเสมอ ๆ นะคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท