ความรู้เกี่ยวกับยาต้านเศร้า


ยาต้านเศร้า

            ความรู้เกี่ยวกับการใช้ยาต้านเศร้า   

          โรคซึมเศร้าเป็นโรคทางจิตเวชที่จัดอยู่ในกลุ่มโรคความผิดปกติทางอารมณ์  ซึ่งนับว่าเป็นกลุ่มโรคทางจิตเวชที่พบบ่อยและมีความรุนแรง โดยผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะแสดงอารมณ์เศร้าเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งต่างจากความรู้สึกเศร้าของคนทั่วไปที่จะมีความเศร้าชั่วขณะเมื่อต้องเผชิญกับความสูญเสียหรือความทุกข์ใดๆ  ซึ่งเมื่อระยะเวลาผ่านไปบุคคลสามารถปรับตัวกลับคืนสู่สภาพปกติได้  แต่โรคซึมเศร้าเป็นการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ที่ผิดปกติ ส่งผลกระทบทั้งด้าน ความรู้สึก ความคิด พฤติกรรม ก่อให้เกิดความบกพร่องมากมายตามมา ที่สำคัญได้แก่เกิดความพร่องในด้านหน้าที่การงาน บทบาททางสังคมตลอดจนสัมพันธภาพกับบุคคลอื่น

                การรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในปัจจุบันนิยมใช้วิธีการรักษาทั้งทางชีวภาพและทางจิตสังคมควบคู่กันไป  ทั้งนี้การรักษาด้วยยานับเป็นการรักษาที่สำคัญในโรคซึมเศร้า โดยเฉพาะในรายที่อาการรุนแรง เนื่องจากผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างและการทำหน้าที่ของสมอง   โดยพบว่าสมองจะมีขนาดและน้ำหนักลดลง การทำงานของสารสื่อประสาทโดพามีน (dopamine) ซีโรโทนีน(Serotonine) และนอเรพิเนฟรีน(norepinephrine) ลดลง การควบคุมระบบต่างๆในร่างกายแปรปรวนไปจนเกิดอาการต่างๆตามมา ทั้งนี้ยาต้านเศร้าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆภายในเซลสมอง ปรับระบบการทำงานของสมองและเซลล์ประสาทให้ดีขึ้น ทั้งนี้พบว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้ารุนแรงร้อยละ 70-80 ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาต้านเศร้า

                               ยาต้านเศร้าในปัจจุบันแบ่งเป็นคร่าวๆออกเป็น 3 กลุ่มดังต่อไปนี้คือ  ยากลุ่มไตรไซคลิก (Tricyclic Antidepressants-TCA) ยาในกลุ่มนี้ได้แก่ amitriptyline, nortryptyline, imipramine ยากลุ่ม SSRI (selective serotonin reuptake inhibitor) ยาในกลุ่มนี้ได้แก่ fluoxetine, fluvoxamine, sertraline, paroxetine escitalopam และยากลุ่ม SNRIs เป็นยากลุ่มใหม่ที่ผลิตออกมาคือ velafaxine, mirtazepam เหล่านี้เป็นต้น ทั้งนี้ยาต้านอารมณ์เศร้ามีทั้งชื่อสามัญ และชื่อทางการค้า โดยชื่อสามัญหมายถึงชื่อทั่วไป ส่วนชื่อทางการค้านั้นเป็นชื่อที่บริษัทผลิตตั้งชื่อให้ ดังนั้นชื่อสามัญตัวเดียวกันจะมีชื่อทางการค้าต่าง ๆ กันไป ในการรักษาโรคซึมเศร้าด้วยยาต้านเศร้านั้น โดยทั่วไปแพทย์มักนิยมใช้กลุ่มไตรไซคลิก (Tricyclic Antidepressants-TCA) เนื่องจากว่าหาง่ายในท้องตลาด ราคาไม่แพง แต่มีข้อเสียเรื่องผลข้างเคียงของยาที่อาจจะมีมากกว่ายากลุ่มใหม่ที่ออกมาทีหลัง ทั้งนี้คำแนะนำการรักษาโรคซึมเศร้าสำหรับแพทย์ทั่วไปของ National Institute for Clinical Excellence (NICE) ของประเทศสหราชอาณาจักรได้แนะนำให้ใช้ยาในกลุ่ม SSRI  เป็นยาขนานแรกในเวชปฏิบัติทั่วไป โดยควรใช้ยาที่ผลิตได้ในประเทศ

ข้อเด่นอีกประการหนึ่ง ของยากลุ่ม SSRI คือ การปรับยา ง่ายกว่ายา TCA เพราะกินแค่วันละครั้ง การตอบสนองต่อยาเป็นแบบ flat-dose response curve คือขนาดสูงสุดในการรักษาอยู่ประมาณ 2-3 เม็ด ทำให้ไม่ต้องปรับยาบ่อยครั้งเพื่อหาขนาดสูงสุดที่เหมาะสมเหมือนยากลุ่ม TCA การใช้ยาควรนาน 2-3 สัปดาห์ หากผู้ป่วยไม่ตอบสนองเท่าที่ควรจึงค่อยเพิ่มขนาด ขนาดที่ได้ผลส่วนใหญ่ประมาณ 20-40 มก./วัน เนื่องจาก fluoxetine และเมตาบอไลต์ของมันมีค่าครึ่งชีวิตยาว จึงเหมาะในผู้ป่วยที่มักลืมกินยาหรือกินยาไม่ค่อยสม่ำเสมอ และการหยุดยาไม่พบอาการ withdrawal เหมือน SSRI ชนิดอื่น ผู้ป่วยที่มีโรคไตควรให้ขนาดต่ำและหากผู้ป่วยเป็นโรคตับควรลดขนาดลงครึ่งหนึ่ง

                    แต่อย่างไรก็ตามมีการศึกษา meta-analysis เปรียบเทียบ fluoxetine กับยาแก้ซึมเศร้ากลุ่ม TCA พบว่ายาทั้ง 2 ชนิดมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคซึมเศร้าไม่แตกต่างกัน แต่ fluoxetine มีผลข้างเคียงต่ำกว่ายากลุ่ม TCA มาก และจากการศึกษาการใช้ยากลุ่ม TCAและSSRIหรือทั้ง 2 ขนาน เปรียบเทียบกับยาหลอกในโรงพยาบาลชุมชน ผลพบว่าผู้ป่วยที่ได้ยาแก้ซึมเศร้าทั้ง 2 กลุ่ม ตอบสนองต่อการรักษาพอๆ กันที่ประมาณร้อยละ 60 ขณะที่ยาหลอกตอบสนองร้อยละ 40 ที่น่าสนใจคือขนาดยา TCA ที่ต่ำสุดในการศึกษาคือ 75-100 มก./วัน ซึ่งก็ยังเป็นขนาดที่แพทย์เราไม่ค่อยได้ใช้กัน

                    นอกจากนี้พบว่าปัญหาอย่างหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าไม่ได้รับยาต่อเนื่องหรือหยุดยาเองเนื่องจากผลข้างเคียงของยา  โดยยากลุ่ม TCA พบว่าผลข้างเคียงที่พบบ่อยได้แก่ อาการปากคอแห้ง ท้องผูก วิงเวียน หน้ามืดเมื่อเปลี่ยนอริยาบทจากความดันลดต่ำลง ง่วงซึม น้ำหนักเพิ่ม  ส่วนผลข้างเคียงของยากลุ่ม SSRI ที่พบบ่อยได้แก่ แน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียน กระวนกระวาย ความต้องการทางเพศลดลง หรือหลั่งช้าแต่ ข้อเด่นของยากลุ่ม SSRI คือไม่มีฤทธิ์ anticholinergic ฤทธิ์ง่วงซึมต่ำ สามารถใช้กับผู้ป่วยโรคทางร่างกาย เช่น โรคหัวใจ และผู้สูงอายุได้อย่างปลอดภัย พบการเสียชีวิตจากการกินยาเกินขนาดน้อยมาก

            จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่ายาต้านเศร้ามีมากมายหลายกลุ่มแต่ละกลุ่มมีมากมายหลายตัว การเลือกใช้ยาจะพิจารณาปัจจัยต่างๆ  ที่สำคัญได้แก่  อายุ ประวัติการตอบสนองยาในอดีตผลข้างเคียงของยา  โรคประจำตัวอื่นๆตลอดจนความคุ้นเคยของผู้รักษา นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การรักษาเกิดประสิทธิภาพสูงสุดนั้นก็คือ  ผู้ป่วยจำเป็นจะต้องให้ยาในขนาดที่พอเพียง ตลอดจนระยะเวลาที่พอเพียง  โดยทั่วไปยาต้านอารมณ์เศร้าจะออกฤทธิ์อย่างช้า ๆ โดยใช้เวลาประมาณ 14  ถึง 28 วัน ท่านจะสังเกตได้ว่าตัวท่านเองจะรู้สึกดีขึ้นเล็กน้อยในช่วงแรก ๆ  ทั้งนี้อาการที่มักพบว่าดีขึ้นในระยะแรกก็คือ นอนหลับได้ดีขึ้น นานขึ้น มีความรู้สึกอยากทำสิ่งต่าง ๆมากขึ้นกว่าเดิม รู้สึกมีกำลังดีขึ้น  สำหรับการรักษาโรคซึมเศร้าครั้งแรกควรให้ยาต่ออีกประมาณ 6 เดือน – 1 ปี หลังจากอาการหมดไป แล้วค่อยๆลดยาจนกระทั่งหยุดยาได้ ผู้ป่วยไม่ควรหยุดยาเองถึงแม้อาการจะดีขึ้น การปรับลดขนาดยาตลอดจนการหยุดใช้ยาควรเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา 

เอกสารอ้างอิง

1.The Medical Management of Depression. The New England Journal of Medicine. 2005;353(17):1819-1834. http://content.nejm.org/cgi/content/short/353/17/1819

2. นิพันท์ กาญจนธนาเลิศ.(2548). ศิลปะการใช้ยาต้านโรคซึมเศร้า. คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. กรุงเทพฯ: ทิมส์(ประเทศไทย).
3. มาโนช หล่อตระกูล รศ., วารสารคลินิก ปีที่ 22 ฉบับที่ 7 กรกฎาคม 2549 หน้า 543-546

 

 

 

                                                        บทความลงวารสาร Nursingtime ค่ะ

 

หมายเลขบันทึก: 436798เขียนเมื่อ 24 เมษายน 2011 14:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 01:54 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท