สุขภาพดีได้ ด้วยการไม่ผูกขาด


วันนี้ นักวิิชาการทั่วโลกเห็นตรงกันว่า รากฐานเทคโนโลยีชีวภาพไม่เพียงพอที่จะให้หลักประกันการแพทย์ที่ดีและทั่วถึงแก่ประชาชนทุกหมู่เหล่า

 

ปีคศ.1965 สังคมอเมริกัน ใช้เงินแค่ร้อยละหก เพื่อสุขภาพ ระบบบริการสุขภาพของสหรัฐอเมริกา เป็นแม่แบบที่โลกโหยหา วันคืนเช่นนั้น สังคมอเมริกันมีแรงดูดมหาศาล แพทย์ไทยจึงทะยอยไปต่อยอดความรู้อันทันสมัย จนเคยถึงขั้นเหมาลำขึ้นเครื่องบินไปก็มี จำนวนหนึ่งเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วไม่กลับบ้านเกิด

 

มูลนิธิร้อกกี้เฟลเลอร์อาศัยต้นแบบการแพทย์อเมริกัน จัดตั้งโรงเรียนแพทย์เผยแพร่ไปทั่วโลก สร้างคุณูปการไม่น้อยแก่ประชาชนในประเทศเหล่านั้น หลักใหญ่ประการหนึ่งของต้นแบบโรงเรียนแพทย์ชนิดนี้ คือ ความเป็นเลิศทางการแพทย์ที่มีเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นรากฐาน

 

วันนี้ ๔๕ปีให้หลัง สังคมอเมริกาอันเปรียบเสมือน ดินแดนที่ตะวันไม่เคยตกดิน ได้คลายมนต์ขลังลงมากดังที่รู้กัน อีกสองสามปีข้างหน้า คาดกันว่า จีน...คู่แข่งใหม่จะกลายเป็นประเทศที่มีผลงานวิทยาศาสตร์ตีพิมพ์มากที่สุดในโลกแทนที่สหรัฐอเมริกา เช่นเดียวกับที่อำนาจการแข่งขันเชิงธุรกิจของสหรัฐฯก็ถดถอยลงมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้นทุนประกอบการที่แฝงด้วยภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพขยายตัว เป็นเกือบร้อยละยี่สิบ

 

ทั้งๆที่ คนจน คนผิวสีในสังคมอเมริกันยังเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพอย่างที่คนไทยวันนี้ได้โอกาส

ทั้งๆที่ อายุขัยของคนอเมริกันกลับอยู่ในอันดับที่๒๗ ของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม ๓๐ประเทศ ด้วยค่าใช้จ่ายสุขภาพมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของโลก คิดเป็น ๒.๕เท่าของประเทศเหล่านี้

 

วันนี้ นักวิิชาการทั่วโลกเห็นตรงกันว่า รากฐานเทคโนโลยีชีวภาพไม่เพียงพอที่จะให้หลักประกันการแพทย์ที่ดีและทั่วถึงแก่ประชาชนทุกหมู่เหล่า

 

ความหลงใหลในมนต์ขลังแห่งเทคโนโลยีชีวภาพ มีส่วนไม่น้อยในการบ่มเพาะกลุ่มผลประโยชน์อันทรงพลังให้แก่สังคมอเมริกัน ได้แก่ อุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมบริการทางการแพทย์ สมาคมวิชาชีพทางการแพทย์ ในขณะที่ช่องโหว่ของการจัดบริการสุขภาพด้วยความหลงเช่่นนั้น เปิดโอกาสให้ธุรกิจประกันชีวิตขยายตัวเป็นอีกกลุ่มผลประโยชน์อันทรงพลัง คอยฉุดรั้งการเปลี่ยนแปลงระบบบริการสุขภาพไปสู่ประโยชน์สุขร่วมกันของคนทั้งผอง

 

๔๕ ปีก่อน ประธานาธิบดีลินดอน จอห์นสัน ประกาศกฎหมายจัดตั้งกองทุนเมดิแคร์ เพื่อหวังให้โอกาสคนจน คนผิวสีได้เข้าถึงบริการสุขภาพมากขึ้น ก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้ รพ.ทั้งหลายในสหรัฐฯแบ่งแยกพื้นที่บริการระหว่างคนผิวขาวกับผิวสีชัดเจน บริการสองมาตรฐานดำรงอยู่โดยไม่แยแสหลักมนุษยธรรม

 

๑ปีก่อนประกาศใช้กฎหมาย กลุ่มประโยชน์ดังกล่าวหลายกลุ่มเคลื่อนไหวล้มกฎหมายฉบับนี้อย่างกว้างขวาง แพทย์หน่ึ่งหมื่นคนที่รัฐโอไฮโอประกาศคว่ำบาตร แพทยสมาคมประกาศต่่อต้านกฎหมายนี้ ที่พวกเขาขนานนามว่า "กฎหมายสังคมนิยมทางการแพทย์”(socialized medicine)

 

ในยุคสงครามเย็นท่านผู่้อ่านคงจำได้นะครับ คำว่า"สังคมนิยม" หรือ "คอมมิวนิสต์" เป็นที่รังเกียจในสังคมทุนนิยม การยืมคำนี้มาป้ายสี ความพยายามของรัฐบาลผู้นำแห่งทุนนิยมโลกที่จะสร้างความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการการแพทย์ จึงมีพลังไม่น้อย

 

แม้ว่า การต้านทานกฎหมายดังกล่าว หนึ่งปีเต็มล้มเหลว แต่เชื้อไฟของพลังต้านทานนี้ไม่เคยมอดไหม้ เมื่อต่อมา รัฐบาลคลินตันพยายามผลักดันการปฎิรูประบบบริการสุขภาพของสหรัฐฯไปอีกก้าวหนึ่ง จึงได้รับการต่อต้านจนล้มคว่ำลงในที่สุด

 

เทียบกับสหรัฐฯ ระบบบริการสุขภาพของไทยนับว่า เป็นธรรมและมีประสิทธิภาพมากกว่าเด่นชัด เราใช้จ่ายเพียงไม่ถึง ร้อยละ๕ ในการจัดบริการสุขภาพ คนไทยกว่าร้อยละ ๙๕เข้าถึงบริการสุขภาพ ที่มีคุณภาพมากกว่าของประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่

 

กระนั้นก็ดี ความหลงใหลในเทคโนโลยีชีวภาพยังดำรงอยู่อย่างแพร่หลายในสังคมไทย ความแออัดยัดเยียดตามรพ.ต่างๆทั่วประเทศในด้านหนึ่งสะท้อนการเข้าถึงบริการที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด หลังนโยบายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(๓๐บาท รักษาทุกโรค) มีผลตั้งแต่๑๐ปีก่อน

 

อีกด้านหนึ่ง สิ่งนี้สะท้อนการหันหลังให้แก่การพึ่งตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการป้องกันโรค และสะท้อนความอ่อนแอของระบบป้องกันโรคสมัยใหม่อันเป็นที่มาของโรคเบาหวาน ความดันเลือดสูง มะเร็ง อุบัติเหตุ เป็นต้น

 

ในความอ่อนแอนี้ ก็มีประกายไฟแห่งความสำเร็จ อยู่เช่นกัน ดังที่รู้กันทั่วไปในเรื่อง การป้องกันการสูบบุหรี่ และการป้องกันโรคเอดส์ ที่ประจักษ์แก่ชาวโลก สองตัวอย่างนี้ แสดงให้เห็นการดูแลสุขภาพของสังคมที่ไปพ้นความหลงใหลในเทคโนโลยีชีวภาพ

 

ทำนองเดียวกัน การประยุกต์ความรู้เกี่ยวกับการจัดระบบบริการสุขภาพสมัยใหม่ ช่วยให้ยาและวัสดุอุปกรณ์การแพทย์อันทันสมัย(เป็นผลผลิตของเทคโนโลยีชีวภาพ) ก่อประโยชน์แก่คนไข้ได้คุ้มค่า เป็นไปได้ก็ด้วยการเห็นข้อจำกัดของเทคโนโลยีชีวภาพ

 

ที่เรียกว่าจัดการแบบสมัยใหม่ ก็คือ การหนุนเสริมบทบาท และขีดความสามารถ ของ

  • พยาบาล นักกายภาพบำบัด เภสัชกร โภชนากร อสม ให้ทำงานเป็นทีมร่วมกับแพทย์ แทนที่จะฝากความหวังไว้เฉพาะตัวแพทย์โดยลำพัง

  • สถานพยาบาลใกล้บ้าน(สถานีอนามัย รพ.อำเภอ)เพื่อให้บริการในลักษณะเครือข่ายเชื่อมโยงกับรพ.ใหญ่ แทนที่จะฝากความหวังไว้กับรพ.ใหญ่อันเต็มไปด้วยอุปกรณ์การแพทย์อันทันสมัยเท่านั้น

 

ผู้เขียนเชื่อว่า "ความสำเร็จ เป็นหลุมพรางสู่ความล้มเหลว" ยังเป็นอมตะวาจาเสมอมา

 

ดังนั้น ผู้ศรัทธาเช่นนี้ย่อมหมั่น ทบทวนความสำเร็จอยู่เป็นนิจ และละวางเมื่อค้นพบว่ามันล้าสมัย อันจะแผ้วทางสู่ นวตกรรมไม่รู้จักจบสิ้น

 

ในชีวิตจริง นานน้านๆๆๆ กว่าที่จะเกิด นวตกรรมทางสังคม อย่างเช่น นโยบายหลักประกันสุขภาพ การปฎิรูปทางการเมือง

 

อะไรคือ อุปสรรค ขัดขวางนวตกรรมสังคมเพื่อประโยชน์สุขของคนส่วนใหญ่ ถ้าไม่ใช่แรงเสียดทานจากกลุ่มผลประโยชน์ สังคมที่การผูกขาดอำนาจของกลุ่มผลประโยชน์เป็นไปได้น้อย แรงเสียดทานย่อมมีจำกัด การเรียนรู้ปรับตัวของสังคมย่อมเป็นไปได้เร็วและโดยสันติมากกว่า สังคมในลักษณะตรงกันข้าม จริงมั๊ยครับ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 436770เขียนเมื่อ 24 เมษายน 2011 12:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท