เรื่องดีที่ มฟล. : KM Workshop สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ (๓)


ต้องมี “คุณอำนวย” ที่รู้และรัก KM คอยจัดการให้คนในองค์กรเกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน สร้างบรรยากาศของการชื่นชมยินดี และกิจกรรมการ ลปรร. หลายรูปแบบอย่างต่อเนื่อง

ตอนที่ ๒

วันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๔

การประชุมในวันที่สอง เราใช้เวลาตั้งแต่เช้าจนถึงเกือบ ๑๕ น. ช่วงเช้าระหว่างรอให้ผู้เข้าประชุมมาพร้อมกัน เราทำกิจกรรมนับปลาโลมากันอย่างสนุกสนาน กว่าจะนับปลาโลมาได้ครบ ๕ ตัว ก็ต้องเริ่มต้นกันใหม่หลายรอบ สังเกตเห็นว่ามีอาจารย์บางคนคอยบอกบทให้เพื่อนทำอย่างนั้นทำอย่างนี้ ดิฉันต้องคอยเตือนว่าปล่อยให้อาจารย์แต่ละคนทำกิจกรรมของตนเองโดยอิสระ

ต่อจากนั้นเป็นการสาธิตบทบาทของ “คุณอำนวย” “คุณกิจ” และ “คุณลิขิต” การเล่าเรื่องและการตีความสกัดความรู้ปฏิบัติ ดิฉันทำหน้าที่คุณอำนวย คุณสุภาพรรณทำหน้าที่คุณลิขิต มีอาจารย์ ๓ คนที่เราซักซ้อมไว้ตั้งแต่เมื่อเย็นวานนี้ และเชิญอาจารย์ผู้ชายอีก ๑ คนเข้าร่วมวงด้วย

อาจารย์จอยเล่าเรื่อง “๑ ราย ๑ แผ่น” เรื่องของการฝึกให้นักศึกษาใช้ concept mapping ในการสรุปความเข้าใจ case study แต่ละรายให้เหลือเพียง ๑ หน้ากระดาษ มีทั้งให้ดูผลงานของรุ่นพี่แล้วให้ทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม เราได้เห็นตัวอย่าง concept mapping ของนักศึกษาหลายรูปแบบ

อาจารย์อรทัยเล่าเรื่องเทคนิคการสอนแบบ “สอนให้ง่าย จำได้ไม่ลืม” ที่ขณะเตรียมสอนได้ย่อยเนื้อหาที่จะสอนให้ตนเองเข้าใจเสียก่อน แล้วทำผังแสดงความเชื่อมโยงของเนื้อหาต่างๆ มีเส้นแต่ละเส้นที่มีความหมายต่างกันและใช้ผังนี้เป็นสื่อการสอนด้วย ผังที่อาจารย์นำมาให้ดูนั้น แตกต่างจากที่ดิฉันจินตนาการไว้ นอกจากนี้อาจารย์อรทัยยังใช้ลักษณะของตัวอักษรและการออกเสียงเป็นสัญลักษณ์ช่วยจำฮอร์โมนเกี่ยวกับการคลอดที่มีหลายตัว ลักษณะของรกและเส้นเลือดของสายสะดือ

อาจารย์วรรัตน์เล่าเรื่อง “หนูทำได้” ในการสอนให้นักศึกษาฝึกปฏิบัติ procedure ต่างๆ ได้ ตั้งแต่การ feedback ส่วนที่ยังทำได้ไม่ดีทันที การมอบหมายให้เตรียมตัวล่วงหน้า การทบทวนก่อนลงมือ การใช้คำพูดที่ให้กำลังใจ การอยู่ใกล้ๆ ฯลฯ อาจารย์วรรัตน์ยังบอกว่าต้องคอยตามเทรนด์ของวัยรุ่น จะได้คุยกับนักศึกษาได้รู้เรื่อง ทำให้นักศึกษารู้สึกคุ้นเคยและกล้าเข้าหา

เราแสดงความรู้ที่สกัดได้จากเรื่องเล่าให้ผู้เข้าประชุมได้เห็นใน PowerPoint ต่อจากนั้นดิฉันจึงอธิบายเรื่องการจัดหมวดหมู่และสังเคราะห์เป็นแก่นความรู้ การสร้างตาราง self-assessment (SA) ตัวอย่าง SA ของ AIDS competence และ SA ที่ได้จากตลาดนัดความรู้การดูแลผู้ป่วยเบาหวาน แผนภูมิแม่น้ำ และบันไดแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากเครื่องมือเหล่านี้

สำหรับเรื่องพื้นที่ประเทืองปัญญา นอกจากการ ลปรร. ที่เจอหน้ากันแล้ว ยังมีการใช้ Weblog ที่นอกจากจะเป็นพื้นที่สำหรับการ ลปรร. แล้ว ยังทำหน้าที่เป็นคลังความรู้อีกด้วย เราไม่สามารถสาธิตหรือสอนวิธีการบันทึกได้เนื่องจากที่ห้องประชุมไม่มีอินเทอร์เน็ตให้ใช้

ดิฉันเปิดวิดีโอเครือข่าย KM เบาหวาน ๒๕๕๐ เพื่อให้ผู้เข้าประชุมได้เห็นว่าเครือข่ายของเราเกิดขึ้นได้อย่างไร เรา ลปรร. กันผ่านช่องทางใดบ้าง พร้อมกับเชียร์ให้สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ไปชักชวนสำนักวิชาอื่นๆ ภายในมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเข้ามาเป็นเครือข่าย ลปรร.กันในเรื่องการเรียนการสอน การพัฒนานักศึกษา และอื่นๆ

ในวิดีโอของเราพูดถึงตลาดนัดความรู้ เพื่อนช่วยเพื่อน และบล็อก ดิฉันจึงขยายความเรื่องตลาดนัดความรู้และเพื่อนช่วยเพื่อน มีตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าทั้ง ๒ กิจกรรมนี้ทำให้การดูแลผู้ป่วยเบาหวานของสมาชิกเครือข่ายเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง เครือข่ายของเราเติบโตขึ้นและทำงานต่อเนื่องอย่างไร

ปิดท้ายการประชุมด้วย AAR โดยให้ทุกคนเขียน และบางคนได้พูด หลายคนบอกว่าไม่เคยรู้ว่าเพื่อนมีวิธีการทำงานแบบนั้นแบบนี้ จากคำพูดทำให้ดิฉันรับรู้ได้ว่าผู้บริหารและอาจารย์ที่เข้าประชุมว่าน่าจะยังมีความเข้าใจเรื่อง KM มากน้อยแตกต่างกันไป

ดิฉันได้ย้ำตั้งแต่วันแรกแล้วว่าการประชุม ๒ วันนี้เป็นแค่จุดเริ่มต้น จะบอกว่าสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ได้เอา KM มาใช้หรือไม่ จะพัฒนาต่อไปเป็น LO หรือไม่ อยู่ที่การนำไปใช้ปฏิบัติจริง ซึ่งดิฉันได้เสนอความเห็นว่าควรจะต้องมี “คุณอำนวย” ที่รู้และรัก KM คอยจัดการให้คนในองค์กรเกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน สร้างบรรยากาศของการชื่นชมยินดี และกิจกรรมการ ลปรร. หลายรูปแบบอย่างต่อเนื่อง

อาจารย์สายพิณพาเราไปส่งที่สนามบิน ระหว่างทางได้แวะที่ร้านนันทวัน ซื้อไส้อั่ว น้ำพริกหนุ่ม แคบหมู ไปฝากน้องๆ ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ดิฉันซื้อสับปะรดภูแลที่ปอกแล้วที่สนามบินเอาไปฝากคนที่บ้าน จบภารกิจที่ได้รับเชิญ ต่อจากนี้ก็ต้องคอยติดตามความก้าวหน้าของ KM สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 436748เขียนเมื่อ 24 เมษายน 2011 10:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท