จำคุกตลอดชีวิตหลอกๆ หรือ จำคุกตลอดชีวิตจริงๆ


นัทธี จิตสว่าง

คอลัมน์ในหน้าหนังสือพิมพ์บางฉบับได้วิพากษ์วิจารณ์การรับโทษจำคุกของผู้ต้องขังหลายราย โดยเฉพาะผู้ต้องขังในคดีประกอบอาชญากรรมรุนแรง แสดงความโหดเหี้ยมว่า เมื่อศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิตแล้ว เหตุใดจึงไม่รับโทษตลอดชีวิตในเรือนจำ มีการลดโทษโดยดูเพียงความประพฤติหลอกๆ ในเรือนจำ ได้เป็นนักโทษชั้นดีแล้วก็ออกมากระทำผิดซ้ำอีก

แม้ว่าการลดโทษ ซึ่งเป็นกรณีการอภัยโทษนั้น จะมีเงื่อนไขและหลักเกณฑ์มากมายไม่ได้ลดโทษกันง่ายๆ แต่แนวคิดที่จะให้ผู้กระทำผิดที่ถูกศาลตัดสินลงโทษจำคุกต้องรับโทษจำคุกจริงเต็มตามคำพิพากษา โดยเฉพาะพวกที่ถูกศาลตัดสินลงโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกระยะยาวดังกล่าวนี้ นับว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องควรได้รับการสนับสนุน...ถ้า

ประการแรก จะต้องทำคุกให้เป็นคุกจริงๆ เสียที เพราะทุกวันนี้เราใช้คุกขังผู้ต้องขังทุกประเภท คุกควรเป็นที่คุมขังผู้กระทำผิดที่เป็นผู้ร้ายโดยสันดาน หรือผู้ที่เป็นอันตรายต่อสังคมจริงๆ แต่ทุกวันนี้เราใช้เรือนจำเป็นที่คุมขังคนที่ทำผิดโดยพลั้งพลาด ทำผิดในคดีเล็กน้อย และพวกที่ไม่มีสันดานเป็นผู้ร้ายจำนวนมาก จนทำให้ผู้ต้องขังล้นเรือนจำ ทำให้เรือนจำแออัดยัดเยียด เต็มไปด้วยผู้ต้องขังประเภทนี้ เพราะเราใช้โทษจำคุกเป็นเสมือนกับยาแก้สารพัดโรค ใช้โทษจำคุกแก้ปัญหาสังคมทุกเรื่อง เพียงเพราะกระบวนการยุติธรรมยังขาดทางเลี่ยงอื่นๆ แทนการใช้โทษจำคุก ผู้กระทำผิดในคดีที่ไม่ควรรับโทษจำคุกก็ต้องเข้าไปปะปนเรียนรู้อยู่กับพวกผู้ร้ายโดยสันดาน ดังนั้น หากจะคุมขังผู้ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตไว้ตลอดชีวิตจริงๆ หรือโทษระยะยาวไว้เต็มตามคำพิพากษาโดยไม่มีการลดโทษแล้ว ผลที่จะตามมาคือ จำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำจะเพิ่มมากขึ้นจนเกิดภาวะแออัดยัดเยียดในเรือนจำเพิ่มขึ้นไปอีก เนื่องจากจะมีแต่การรับผู้ต้องขังเข้ามาในเรือนจำแต่ไม่มีผู้พ้นโทษออกจากเรือนจำ ดังนั้น จึงควรมีการพัฒนาและลงทุนนำมาตรการเลี่ยงโทษจำคุกมาใช้สำหรับผู้กระทำผิดบางประเภท โดยเฉพาะผู้กระทำผิดในคดีเล็กน้อยที่ไม่มีสันดานเป็นผู้ร้าย ทั้งนี้เพื่อเก็บพื้นที่ในเรือนจำไว้คุมขังผู้ต้องขังที่จำเป็นต้องได้รับการควบคุมดูแลอย่างเข้มแข็งในเรือนจำแทน

ประการที่สอง จะต้องมีสถานที่คุมขังที่มีความมั่นคงแข็งแรง และมีความพร้อมด้านบุคลากร เพราะการคุมขังผู้ต้องขังโดยไม่มีการลดโทษนั้น จะก่อให้เกิดความกดดันต่อผู้ต้องขัง เนื่องจากหมดหวังที่จะได้พ้นโทษหรือพ้นโทษเร็วขึ้น ก็เปรียบเสมือนกับการเอาระเบิดเวลาไปใว้ในเรือนจำ ที่พร้อมจะระเบิดออกมาได้ทุกเมื่อ ผู้ต้องขังเหล่านี้จะหาทางก่อความวุ่นวาย ยุยง หลบหนี หรือคิดจับตัวประกันเพื่อแหกหักออกจากเรือนจำ โดยเฉพาะพวกที่คิดว่าตนเองไม่ได้กระทำผิดด้วยแล้ว จะมีความกดดันและดิ้นรนอย่างที่สุด ดังนั้น หากจะคุมขังผู้ต้องขังเหล่านี้โดยไม่มีการลดโทษแล้ว จะต้องสร้างเรือนจำที่มีความมั่นคงแข็งแรงสูง ที่สามารถเปิดให้ผู้ต้องขังมีโอกาส มีอิสระภายในแดนควบคุมพอสมควร แทนการถูกตีตรวนและขังห้องซอยเล็กๆ ไปอีกยาวนาน โดยไม่มีโอกาสจะได้ลดโทษ รวมตลอดถึงจะต้องมีจำนวนบุคลากรที่ทำหน้าที่ควบคุมเพียงพอได้สัดส่วนกับผู้ต้องขัง ดังเช่นที่มลรัฐในสหรัฐฯ หลายแห่งเริ่มใช้โทษ “จำคุกตลอดชีวิตจริงๆ” ไม่มีการลดโทษ (ลดได้เฉพาะกรณีพิเศษจริงๆ) โดยการสร้างเรือนจำที่มีความมั่นคงสูงขึ้นมารองรับ เรียกว่า “เรือนจำความมั่นคงสูงสุด” (Super Maximum Prison) ลงทุนด้วยเงินมหาศาลเกือบหมื่นล้านบาท เพื่อขังอาชญากรตัวร้าย 500 คน ใช้ผู้คุม 1 ต่อ 1 คือจำนวน 480 คน เรือนจำดังกล่าวเป็นเรือนจำไฮเทค ใช้เทคโนโลยีตรวจสอบความเคลื่อนไหวของผู้ต้องขังทุกฝีก้าว เป็นการคุ้มกันแบบใครเผลอไม่ได้

ในขณะที่เรือนจำที่เรียกว่า เรือนจำมั่นคงสูงในประเทศไทยในปัจจุบันยังไม่ไช่มั่นคงสูงอย่างแท้จริง เพราะเรือนจำในประเทศไทยส่วนใหญ่ เป็นเรือนจำที่สร้างมาเพื่อควบคุมผู้ต้องขังโดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นคดีเสพยาเสพติด หรือคดีโดยทั่วไป เมื่อจะปรับเปลี่ยนให้เป็นที่คุมขังผู้ต้องขังรายสำคัญ หรือคดีร้ายแรงซึ่งจะถูกจำคุกโดยไม่มีการลดโทษที่จะเพิ่มมากขึ้นแล้ว จะต้องลงทุนในการออกแบบปรับโครงสร้างอาคารสถานที่ของเรือนจำใหม่ ให้เป็นเรือนจำมั่นคงสูงอย่างแท้จริง เพราะเรือนจำจะไม่ใช่ที่คุมขังขี้ยาอีกต่อไป เรือนจำที่เรียกว่ามั่นคงสูงในประเทศไทยในปัจจุบันคุมขังผู้ต้องขังถึง 7,000 คน แต่ใช้ผู้คุมเพียง 350 คน โดยปราศจากเทคโนโลยีชั้นสูง แต่ผู้คุมก็สามารถปกครองดูแลได้ โดยอาศัยระบบการจูงใจจากการประพฤติดีของผู้ต้องขัง ปัญหาจึงมีอยู่ว่า เราพร้อมหรือยังที่จะลงทุนในเรื่องนี้ เพื่อแลกกับปัญหาอาชญากรรมบางส่วน เราพร้อมหรือไม่ที่จะลงทุนสร้างเรือนจำที่มีความมั่นคง (ครึ่งหนึ่งของต่างประเทศก็พอ) และมีเจ้าหน้าที่ที่ได้สัดส่วนสัก 1 ต่อ 3 ในขณะที่ทุกวันนี้สัดส่วนระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ต้องขังคือ 1 ต่อ 20 คน

หากเรายังไม่พร้อมที่จะลงทุนทั้งด้านสถานที่และบุคลากร และไม่ต้องการใช้มาตรการควบคุมที่เกี่ยวเนื่องกับการขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน โดยการตีตรวนขังเดี่ยวตลอดเวลาไปจนตลอดชีวิตนั้น ก็น่าจะใช้มาตรการให้มีการลดโทษจำคุกสำหรับผู้กระทำผิดเหล่านี้บ้าง แต่ให้ลดได้อย่างจำกัด ซึ่งก็จะทำให้เป็นการลดความกดดันผู้ต้องขังลง สามารถใช้เป็นเครื่องล่อใจในการปกครองเรือนจำ ทำให้ผู้ต้องขังประพฤติตนดี ไม่ก่อความวุ่นวายหรือแหกหักหลบหนีจากเรือนจำ และให้โอกาสในการกลับตัวดังเช่นที่นานาอารยประเทศถือปฏิบัติอยู่ในขณะนี้ ทั้งนี้ โดยการแยกปฏิบัติผู้ต้องขังที่กระทำผิดโดยสันดาน หรือผู้ร้ายรายสำคัญให้ได้รับการลดโทษต่ำกว่าผู้ต้องขังโดยทั่วไปที่ทำผิดโดยพลั้งพลาดหรืออารมณ์ชั่ววูบ

ปัญหามีอยู่ประการเดียวคือว่า กระบวนการยุติธรรมของไทยมีกลไกเพียงพอหรือไม่ที่จะแยกผู้กระทำผิดสองประเภทนี้ออกจากกันได้อย่างเด่นชัด เรามีข้อมูลเกี่ยวกับตัวผู้กระทำผิดได้ดีเพียงไร ในเมื่อผู้กระทำผิดหลายคนที่เข้ามาสู่ระบบเรือนจำ มีเพียงหมายจำคุกที่มีเพียงชื่อกับข้อหาที่กระทำผิดเท่านั้น...

 

หมายเลขบันทึก: 436527เขียนเมื่อ 22 เมษายน 2011 23:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท