ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการประกันชีวิต : บทที่ 1 ความเสี่ยงกับการประกันชีวิต (2)


 

 

 

 

ประเภทของการเสี่ยงภัยแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท คือ

1. การเสี่ยงภัยที่แท้จริงและความเสี่ยงภัยที่มุ่งการเก็งกำไร

 

การเสี่ยงภัยที่แท้จริง (Pure Risk) หมายถึง โอกาสที่จะเกิดความเสียหายถ้ามีภัยเกิดขึ้น หรือไม่มีความเสียหายใดๆถ้าไม่มีภัยเกิดขึ้น (Loss or No Loss) เช่น กรณีการใช้ชีวิตประจำวันทั่วไปหากมีการเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุเกิดขึ้นกับเรา ทำให้เราต้องเสียเงินทองเป็นค่าค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล รวมถึงสูญเสียโอกาสในการทำมาหาเลี้ยงชีพเพราะการเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุนั้นอาจทำให้ต้องหยุดการทำงานไปด้วย หรืออาจร้ายแรงจนทำให้เกิดทุพพลภาพหรือเสียชีวิตได้

การเสี่ยงภัยที่แท้จริงแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่

1.การเสี่ยงภัยที่เกิดขึ้นกับบุคคล เป็นการเสี่ยงภัยที่บุคคลต้องสูญเสียรายได้หรือทรัพย์สินอันเป็นผลมาจากการสูญเสียรายได้ เช่นการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ชราภาพ ทุพพลภาพหรือการว่างงาน เป็นต้น

2.การเสี่ยงภัยที่เกิดขึ้นแก่ทรัพย์สิน เป็นการเสี่ยงภัยที่บุคคลที่เป็นเจ้าของทรัพย์สิน ต้องสูญเสียทรัพย์สินหรือทรัพย์สินด้อยค่าลง เช่น ไฟไหม้บ้าน ขับรถเฉี่ยวชน เป็นต้น

3.การเสี่ยงภัยในความรับผิดชอบต่อชีวิตและทรัพย์สินผู้อื่น เป็นการเสี่ยงภัยที่บุคคลได้กระทำละเมิดต่อผู้อื่นที่เป็นบุคคลภายนอก ซึ่งผู้กระทำต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น เช่น ขับรถไปชนรถคนอื่นเสียหาย หรือชนคนข้ามถนนเสียชีวิต ซึ่งผู้ที่เป็นคนก่อเหตุ ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายหรือความสูญเสียที่เกิดขึ้นด้วยการชดใช้เป็นเงินหรือการซ่อมแซมให้รถมีสภาพดีเหมือนเดิม เป็นต้น

 

การเสี่ยงภัยที่เป็นการเก็งกำไร (Speculative Risk) หมายถึง โอกาสที่จะเสียหายถ้ามีภัยเกิดขึ้น เสมอตัวถ้าไม่มีภัยเกิดขึ้น หรือได้กำไรถ้าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลด้านบวก (Loss, Break Even or Gain) ดังนั้นการเสี่ยงภัยที่เป็นการเก็งกำไรจึงเป็นการเสี่ยงภัยที่มีทั้งโอกาสที่จะได้รับผลประโยชน์ และโอกาสที่จะได้รับความสูญเสีย เช่น การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งนักลงทุนมีทั้งโอกาสขาดทุนหากราคาหุ้นตก หรืออาจเท่าตัวหากราคาหุ้นไม่เปลี่ยนแปลง แต่หากราคาหุ้นเพิ่มขึ้น นักลงทุนก็มีโอกาสได้กำไรจากการลงทุน หรือการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลซึ่งผู้ซื้อมีโอกาสจะถูกรางวัลต่างๆหรืออาจไม่ถูกก็ได้ การเสี่ยงภัยที่เป็นการเก็งกำไร แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทได้แก่

1.การเสี่ยงภัยในการจัดการ เป็นการเสี่ยงภัยที่อยู่ภายในอำนาจของบุคคลแต่ละบุคคลซึ่งมักเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจของแต่ละบุคคล แต่การตัดสินใจของแต่ละคนอาจถูกหรือผิดก็ได้

2.การเสี่ยงภัยทางการเมือง เป็นการเสี่ยงภัยที่บุคคลได้รับผลจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เช่น การออกกฎหมายควบคุมการดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่ได้มีการควบคุมหรือมีบทบัญญัติชัดเจนเกี่ยวกับการลงโทษผู้ขับรถขณะมึนเมา แต่ปัจจุบันผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับรถจะถูกปรับและตัดคะแนนใบขับขี่ การออกกฎหมายเกี่ยวกับภาษี ซึ่งอาจมีการขึ้นภาษีของสินค้าบางประเภททำให้สินค้านั้นราคาสูงขึ้น เราก็ต้องจ่ายเงินมากขึ้น เป็นต้น

3.การเสี่ยงภัยทางเศรษฐกิจ เป็นการเสี่ยงภัยที่มักก่อให้เกิดความเสียหายด้านการเงิน เช่น ความต้องการของปริมาณการใช้น้ำมันของประชาชนสูงขึ้น ทำให้น้ำมันแพงขึ้น เมื่อราคาน้ำมันแพงขึ้น ต้นทุนการผลิตสินค้าบางชนิดก็สูงขึ้นตาม ทำให้ผู้ผลิตสินค้าต้องขึ้นราคาสินค้า ประชาชนก็ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นตามไปด้วย หรือผู้ผลิตสินค้าอาจลดปริมาณหรือขนาดของสินค้าลงแต่ขายในราคาเท่าเดิม ลูกค้าก็จะได้สินค้าที่มีขนาดลดลงแต่ต้องจ่ายเงินเท่าเดิม ซึ่งถือว่าเป็นการเสียประโยชน์ของลูกค้าด้วย

จะเห็นได้ว่าการเสี่ยงที่เป็นการเก็งกำไรมักจะมีแรงดึงดูดหรือแรงจูงใจในเรื่องของผลตอบแทนหรือผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่การเสี่ยงภัยที่แท้จริงจะไม่มีสิ่งจูงใจที่จะเอาประโยชน์หรือกำไรจากการเสี่ยงภัย ดังนั้น การเสี่ยงภัยที่แท้จริง จึงสามารถนำมาเป็นเหตุในการทำประกันได้ แต่การเสี่ยงภัยที่เป็นการเก็งกำไรนั้นโดยปกติจะไม่นำมาเป็นเหตุในการทำประกัน

               

                2.การเสี่ยงภัยพื้นฐาน และการเสี่ยงภัยจำเพาะ

                  

                   การเสี่ยงภัยพื้นฐาน (Fundamental Risk) หรือบางครั้งอาจเรียกว่าความเสี่ยงภัยต่อส่วนรวม เป็นการการเสี่ยงภัยที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจพื้นฐานโดยส่วนรวม ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อคนจำนวนมากหรือกลุ่มคนจำนวนมาก เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงในทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองหรือผลกระทบจากธรรมชาติ การเสี่ยงภัยเหล่านี้ไม่มีใครสามารถควบคุมไม่ให้เกิดได้ หรือควบคุมได้ยาก

การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอาจก่อให้เกิดการเสี่ยงภัยที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นลงของราคาสินค้า ภาวะเงินเฟ้อ ภาวะเงินฝืด ภาวการณ์ว่างงาน

การเปลี่ยนแปลงทางสังคมอาจก่อให้เกิดการเสี่ยงภัยที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงค่านิยม การเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรม การเสื่อมลงของคุณธรรมและจริยธรรมของประชาชน เช่น วัยรุ่นนิยมมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร และไม่มีการป้องกันที่ดีพอ ทำให้มีความเสียหายตามมาคือ การตั้งท้องในวัยเรียน หรือ อัตราการติดโรคทางเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่นสูงขึ้น เป็นต้น

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอาจเกี่ยวข้องกับการบัญญัติกฎหมาย หรือการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งมักส่งผลให้เกิดการเสี่ยงหลายด้านตามมาโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่ค่อนข้างมีความสัมพันธ์กับการเมืองอยู่มาก เช่น การออกกฎหมายเกี่ยวกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ การบังคับใช้กฎหมายสำหรับผู้ที่ฝืนกฎจราจร รวมถึงการปฏิวัติ

ภัยธรรมชาติ เป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถควบคุมได้ ถึงแม้ภัยธรรมชาติบางอย่าง เราจะสามารถคาดการณ์การเกิดภัยนั้นๆได้ และสามารถเตรียมการเพื่อป้องกันหรือรับมือกับเหตุการณ์ภัยธรรมชาตินั้นๆ แต่ก็ไม่สามารถป้องกันความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นจากภัยธรรมชาตินั้นได้ทั้งหมด เช่น การคาดการณ์การเกิดพายุของกรมอุตุนิยมวิทยา สามารถแจ้งเตือนให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบได้ว่าจะเกิดเมื่อใดและมีความรุนแรงเท่าใด เพื่อให้ประชาชนเตรียมรับมือและป้องกัน แต่หากเหตุการณ์พายุจริงเกิดขึ้น ก็อาจนำความเสียหายมาสู่ชีวิตและทรัพย์สินประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยไม่มากก็น้อย ภัยธรรมชาติบางอย่างเราไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า ความเสียหายที่เกิดขึ้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยธรรมชาติจริงอาจมีความเสียหายรุนแรงได้ เช่น การเกิด สึนามิ (Tsunami) เป็นต้น

 

การเสี่ยงภัยจำเพาะ (Particular Risk) เป็นการเสี่ยงภัยที่มีผลกระทบต่อกลุ่มบุคคลเพียงเฉพาะกลุ่ม ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคนส่วนใหญ่ ขอบเขตความเสียหายอยู่ในวงจำกัด ซึ่งภัยนี้บุคคลที่เกี่ยวข้องเหล่านั้นจะสามารถควบคุมการเกิดภัยดังกล่าวหรือสามารถจะควบคุมความเสียหายได้ ดังนั้นความเสียหายจากการเสี่ยงภัยนี้ย่อมเกิดขึ้นกับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือกลุ่มคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ความเสี่ยงภัยจำเพาะนี้ทุกคนที่มีความเกี่ยวข้องกับการเสี่ยงภัยต้องรับผิดชอบต่อการเสียหายเอง หรืออาจรับผิดชอบต่อผู้อื่นที่มาเสี่ยงภัยร่วมกับเรา การเสี่ยงภัยจำเพาะ ได้แก่ การเกิดไฟไหม้บ้าน การขับรถชน เป็นต้น ซึ่งการเกิดไฟไหม้บ้านนั้นอาจเกดเฉพาะบ้านของคนใดคนหนึ่งหรือมีการลุกลามไปยังบ้านที่อยู่ติดกัน ทำให้เจ้าของบ้านสูญเสียบ้านและทรัพย์ที่อยู่ในบ้านรวมถึงเป็นเหตุให้บุคคลอื่นต้องเสียทรัพย์เนื่องจากบ้านถูกไฟไหม้ไปด้วยเช่นกัน เจ้าของบ้านต้นเพลิงจึงอาจต้องมีส่วนร่วมในความรับผิดชอบต่อทรัพย์ผู้อื่นด้วย

จะเห็นได้ว่าการเสี่ยงภัยที่เป็นภัยพื้นฐานนั้นเกิดขึ้นกับคนส่วนใหญ่กว่า และสร้างความเสียหายได้กว้างกว่า การเสี่ยงภัยจำเพาะ ดังนั้นการเสี่ยงภัยพื้นฐานซึ่งเป็นภัยต่อส่วนรวมนั้น ส่วนมากจะเป็นหน้าที่ของรัฐในการเข้ามาดูและจัดการกับการเสี่ยงภัย ส่วนการเสี่ยงภัยจำเพาะนั้นผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงภัยหรือกังวลเกี่ยวกับการเสี่ยงภัย สามารถจะโอนความเสี่ยงหรือหาวิธีในการชดเชยความสูญเสียจากการเสี่ยงด้วยการทำประกันความเสี่ยงได้

 

3.การเสี่ยงภัยที่แปรผันได้และการเสี่ยงภัยคงที่

  

   การเสี่ยงภัยที่แปรผันได้ (Dynamic Risk) คือการเสี่ยงภัยที่อาจแปรผันหรือเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพเศรษฐกิจ แล้วก่อให้เกิดความเสียหายทางการเงินให้แก่เจ้าของทรัพย์สิน เช่น ต้นทุนในการผลิตสินค้าสูงขึ้น ทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นตาม ผู้บริโภคอาจลดการใช้จ่ายในสินค้าประเภทนั้นลง หรือหันไปใช้สินค้าอื่นที่สามารถทดแทนกันได้ ทำให้สินค้าเดิมขายไม่ได้ เจ้าของสินค้าประสบกับปัญหาการขาดทุน บางครั้งมีการสร้างสรรค์สินค้าใหม่ๆเกิดขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงรสนิยมในการบริโภคสินค้า สินค้าเดิมๆที่ไม่มีการปรับตัวอาจจำหน่ายไม่ได้เช่นกัน นอกจากนี้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้ วิถีชีวิตของผู้บริโภคเปลี่ยนไป วิธีการซื้อสินค้าก็อาจเปลี่ยนไปด้วย เช่น เจ้าของค่ายเพลงขายเทปได้น้อยลง ตั้งแต่มีการผลิตเครื่องเล่นซีดีออกมาจำหน่ายเพราะผู้บริโภคหันไปนิยมซื้อซีดีมาฟัง เมื่อผู้ผลิตเพลงหันมาขายแผ่นซีดีเพลงแต่ต้นทุนในการผลิตสูงหรือจำหน่ายในราคาสูง ผู้บริโภคก็หันไปซื้อสินค้าที่ละเมิดลิขสิทธิ์แทนหรือเลือกดาวน์โหลดจากอินเตอร์เน็ต ผู้ผลิตเพลงก็ต้องเปลี่ยนการจำหน่ายเพลงโดยเปิดให้ดาวน์โหลดทางเวบไซต์ด้วยเช่นกัน และด้วยเทคโนโลยีการผลิตสินค้าที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ผู้ผลิตเองก็สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูงขึ้น แต่ต้นทุนในการผลิตลดลง ผู้ผลิตรายอื่นที่ไม่สามารถแข่งขันเรื่องคุณภาพสินค้าและต้นทุนการผลิต ก็จะประสบกับปัญหาในการจำหน่ายสินค้า เป็นต้น

 

ความเสี่ยงภัยคงที่ (Static Risk) คือการเสี่ยงภัยที่เกิดจากสาเหตุอื่นๆ ที่ไม่ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงในทางเศรษฐกิจ เช่น ภัยธรรมชาติต่างๆ หรืออาจเป็นสาเหตุมาจากปัจจัยในตัวบุคคล เช่น การแก่ การเจ็บ การเสียชีวิตที่เกิดจากโรคภัย ซึ่งทุกๆคน

การเสี่ยงภัยคงที่ส่วนใหญ่มักมีสถิติที่แน่นอน เนื่องจากสามารถเก็บข้อมูลความถี่ของการเกิดได้และเป็นการเสี่ยงภัยที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้าคือไม่มีเจตนาให้เกิดขึ้น การเสี่ยงภัยคงที่มักเป็นการเสี่ยงภัยที่แท้จริงคือหากเหตุการณ์เกิดขึ้นจะก่อให้เกิดความเสียหาย แต่หากไม่เกิดขึ้นก็ไม่มีความเสียหายใดๆ ดังนั้นการเสี่ยงภัยคงที่จึงสามารถทำประกันได้เช่นกัน ส่วนการเสี่ยงภัยที่แปรผันได้นั้น เป็นการเสี่ยงภัยที่เกี่ยวข้องกับภาวะเศรษฐกิจและส่วนใหญ่มักมีเรื่องของการเก็งกำไรด้วย ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐในวางนโยบายและจัดการ

               

                4.การเสี่ยงภัยที่เอาประกันได้และการเสี่ยงภัยที่เอาประกันไม่ได้

                 

                  การเสี่ยงภัยที่เอาประกันได้ (Insurable Risk) คือ การเสี่ยงภัยที่มีลักษณะเป็นการเสี่ยงภัยที่แท้จริง (Pure Risk) หรือเป็นการเสี่ยงภัยที่มีผลกระทบเฉพาะกับบุคคล (Particular Risk) และไม่มีเจตนาให้เกิดขึ้น การเสี่ยงภัยที่เอาประกันได้โดยทั่วไปต้องมีลักษณะสำคัญดังนี้

               

                1.ต้องมีจำนวนหน่วยของความเสี่ยงภัยประเภทเดียวกันเป็นจำนวนมาก (There must be a large number of homogeneous exposure units)

                  ทั้งนี้การคำนวณความเสียหายจากการเสี่ยงภัยที่เกิดขึ้นนั้นเป็นการอาศัยกฎจำนวนมากหรือ Law of Large Number ถ้าหากมีจำนวนผู้เสี่ยงภัยเดียวกันหรือการเสี่ยงภัยเดียวกันเป็นจำนวนมากนำมารวมอยู่ในกลุ่มเดียวกัน และเก็บข้อมูลในแง่ความถี่และความรุนแรงที่จะเกิดภัยในแต่ละกลุ่ม โดยมีการแยกหมวดหมู่การเสี่ยงภัยชัดเจน การคำนวณความเสียหายจากการเสี่ยงภัยในแต่ละกลุ่มก็จะมีความแม่นยำ ยิ่งมีจำนวนในกลุ่มเดียวมากเท่าไร ก็มีโอกาสกระจายความเสี่ยงจากการเสี่ยงภัยได้มากเท่านั้นตามกฎการเฉลี่ยหรือ Law of Average นั่นคือมีการเฉลี่ยความถี่และความรุนแรงของความเสียหายที่จะเกิดขึ้นให้น้อยลงนั่นเอง (Average Frequency and Average Severity of Loss)

               

 

                2.ความเสียหายที่เกิดขึ้นต้องมีลักษณะเป็นอุบัติเหตุและไม่ได้เกิดจากการกระทำโดยเจตนาของผู้เสี่ยงภัย (The loss must be accidental and unintentional by riskier)

                   ความสูญเสียจากการเสี่ยงภัยที่เกิดจากเจตนาของผู้เสี่ยงภัยโดยมุ่งหวังผลประโยชน์ที่จะได้จากผลของการเสี่ยงภัยที่เกิดขึ้นนั้นถือว่ามีการเก็งกำไร (Speculative Risk) เข้ามาเกี่ยวข้อง หรือหวังผลในการพนันขันต่อ มีเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ เป็นการก่อให้เกิดภาวะภัยทางศีลธรรม (Moral Hazard) เช่น ผู้เอาประกันเจตนาทำมีดตัดนิ้วมือของตัวเองในขณะหั่นเนื้อ เพื่อหวังเอาเงินประกัน หรือผู้เอาประกันแกล้งป่วยโดยร่วมมือกับสถานพยาบาลเพื่อหวังเรียกร้องค่าชดเชยรายได้ เป็นต้นดังนั้น การเสี่ยงภัยที่สามารถเอาประกันได้ต้องไม่ขัดต่อศีลธรรมและไม่มีเจตนาให้เกิดหรือไม่อาจคาดคะเนหรือทราบมาก่อนได้

               

                3.ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นต้องสามารถหาสาเหตุและประเมินความเสียหายเป็นตัวเงินได้ (The loss must be determinable and measurable)

                   เมื่อเกิดการเสี่ยงภัยใดๆจะต้องรู้สาเหตุที่แท้จริงของการเกิดภัยนั้นๆ ทั้งนี้เพื่อเป็นการดูว่าภัยนั้นเกิดจากเจตนาหรือมีการหวังผลประโยชน์หรือไม่ รวมถึงสาเหตุนั้นเป็นเหตุที่เกิดมาก่อนการเอาประกันหรือมีการปกปิดสาเหตุที่แท้จริงเอาไว้ เพราะต้องการให้มีการรับประกันและชดใช้ความเสียหาย การชดใช้ความเสียหายนั้นมักชดใช้เป็นตัวเงิน ดังนั้นความเสียหายที่เกิดขึ้นต้องประเมินเป็นจำนวนเงินได้ เพื่อให้ง่ายต่อการชดใช้และมีการกำหนดเป็นตัวเงินที่แน่นอนในการชดใช้

               

                4.ความเสียหายที่เกิดขึ้นต้องไม่เป็นมหันตภัย (The loss should not be catastrophic)

                    เนื่องจากภัยบางชนิดสามารถก่อให้เกิดความเสียหายอันใหญ่หลวงเกินกว่าความสามารถของปริษัทประกันภัยที่จะรับได้ เช่น ความเสียจากภัยสงคราม ความเสียหายจากระเบิดนิวเคลียร์ รวมถึงภัยธรรมชาติบางอย่างที่มีผลกระทบและสร้างความเสียหายในขอบเขตที่กว้างเกินไป เป็นต้น ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินที่มีจำนวนมาก ขอบเขตกว้างเกินกว่าที่บริษัทรับประกันจะสามารถชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นได้

                5.การเสี่ยงภัยนั้นควรเป็นการเสี่ยงภัยที่แท้จริง (Pure Risk) และเป็นการเสี่ยงภัยที่มีผลกระทบเฉพาะบุคคลบางคนหรือบางกลุ่ม (Particular Risk)

                  การชดใช้ค่าเสียหายจากการเสี่ยงภัยที่แท้จริงนั้น ผู้ที่ประสบกับการเสี่ยงภัยที่แท้จริงย่อมได้รับค่าชดใช้เป็นจำนวนเงินที่ไม่เกินกว่ามูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงเพื่อไม่ให้เกิดการหวังผลประโยชน์และมีการเก็งกำไรจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และบริษัทรับประกันไม่ต้องชดใช้มูลค่าความเสียหายที่มากเกินความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาการดำเนินการและปัญหาทางการเงินแก่บริษัทรับประกัน และเพื่อให้บริษัทประกันภัยสามารถชดใช้มูลค่าความเสียหายได้ทั้งหมด ดังนั้นการเสี่ยงภัยควรมีลักษณะที่มีผลกระทบกับคนบางกลุ่ม ไม่ใช่การเสี่ยงภัยที่สร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นจำนวนที่มากเกินความสามารถในการชดใช้ความเสียหายของบริษัทรับประกัน

                6.ความน่าจะเป็นที่จะเกิดความเสียหาย จะต้องคำนวณหรือประมาณได้ (The probability of loss must be calculable)

                  ในการรับประกันของผู้รับประกัน ย่อมมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ผู้เอาประกันต้องจ่ายค่าดำเนินการเป็นเบี้ยประกันให้แก่บริษัทรับประกัน การคำนวณเบี้ยประกันที่มีความเหมาะสมต่อการดำเนินธุรกิจ และเพียงพอต่อการชดใช้ความเสียหายให้แก่ผู้เอาประกันได้และไม่สร้างภาระให้แก่ผู้เอาประกันเกินไป จำเป็นต้องมีการรวบรวมข้อมูลทางสถิติในหลายๆด้าน เพื่อนำมาคำนวณให้ได้ตัวเลขที่แน่นอนในการใช้อ้างอิงสำหรับการดำเนินงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้เสี่ยงภัยที่ต้องการเอาประกันกับบริษัท เพราะการเสี่ยงภัยของแต่ละบุคคลหรือแต่ละกลุ่มมีความหลากหลายกลุ่มและไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อมหลายอย่าง ผู้มีโอกาสเสี่ยงภัยน้อยกว่าย่อมมีความน่าจะเป็นที่จะเกิดความเสียหายน้อยกว่า ดังนั้น เบี้ยประกันที่ต้องจ่ายให้แก่บริษัทรับประกันควรจะน้อยกว่าผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงภัยสูงกว่า เช่น ผู้ที่ทำงานในพื้นที่ก่อสร้างหรือแรงงานก่อสร้าง ย่อมมีโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุในการทำงานสูงกว่าผู้ที่ทำงานในสำนักงาน ดังนั้นผู้ที่ทำงานสำนักงานควรจ่ายเบี้ยน้อยกว่าผู้ที่ทำงานในพื้นที่ก่อสร้าง ทั้งนี้ต้องมีการเก็บข้อมูลที่เหมาะสมเพื่อนำมาคำนวณทางสถิติว่าความน่าจะเป็นดังกล่าวเป็นจริงหรือไม่

                การเสี่ยงภัยที่ไม่สามารถเอาประกันภัยได้ (Uninsurable Risk) คือ การเสี่ยงภัยที่บริษัทรับประกันไม่สามารถรับประกันได้ การเสี่ยงภัยบางอย่างนั้นไม่สามารถเอาประกันภัยได้ เนื่องจากการเสี่ยงภัยบางชนิดมีการหวังผลประโยชน์หรือการเก็งกำไรมาเกี่ยวข้อง โอกาสที่จะเกิดภัยขึ้นมีสูงหรือขอบเขตของความเสียหายที่เกิดจากความเสี่ยงภัยมีจำนวนมากเกินกว่าที่บริษัทรับประกันจะสามารถชดใช้มูลค่าความเสียหายได้ การเสี่ยงภัยที่ไม่สามารถเอาประกันได้มีลักษณะที่สำคัญดังนี้

                1.การขาดการรวบรวมทางสถิติ เพราะการรับประกันการเสี่ยงภัยนั้น ต้องมีการคำนวณโอกาสในการเกิดความเสียหาย ซึ่งการคำนวณข้อมูลนี้ จำเป็นต้องมีการเก็บรวบรวมข้อมูลที่จำเป็นเพื่อนำมาวิเคราะห์ทางสถิติ การได้มาซึ่งข้อมูลอาจมาจากประสบการณ์ในอดีตหรืออ้างอิงจากแหล่งข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ยังต้องมีการวิเคราะห์มูลค่าความเสียหายที่เกิดจากการเสี่ยงภัยเพื่อให้การรับประกันการเสี่ยงภัยนั้น สามารถจ่ายค่าเสียหายแก่ผู้เอาประกันได้ทั้งหมด ดังนั้น การเสี่ยงภัยที่ไม่มีการรวบรวมข้อมูลทางสถิติหรือการขาดแหล่งอ้างอิงข้อมูลทางสถิติ จึงไม่สามารถเอาประกันได้ เพราะอาจเสี่ยงต่อความผิดพลาดในการรับประกัน

                2.การเสี่ยงภัยที่ขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี หรือขัดต่อผลประโยชน์ของสาธารณะ   คือ การเสี่ยงภัยที่สร้างความเสียหายแก่ส่วนรวมหรือขัดต่อคุณธรรมจริยธรรม ไม่เป็นที่ยอมรับของสาธารณชน เนื่องจากมีการมุ่งหวังผลประโยชน์โดยส่วนตนเป็นหลักและมีการเก็งกำไรหรือมีลักษณะของการพนันมาเกี่ยวข้อง เช่น การขับรถชนเนื่องจากผู้เสี่ยงภัยดื่มสุรา จะไม่มีการคุ้มครองให้แก่ผู้เสี่ยงภัยเนื่องจากเป็นการกระทำผิดกฎหมาย ผู้เสี่ยงภัยจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายเพื่อไม่ให้กระทำความผิดซ้ำ

                3.การไม่มีส่วนได้เสียในการเอาประกันภัย คือ การเสี่ยงภัยนั้นผู้เอาประกันภัยไม่เกี่ยวข้องใดๆกับการเสี่ยงภัยนั้น หรือหากเกิดความเสียหายจากการเสี่ยงภัย ผู้เอาประกันภัยก็จะไม่ได้รับความเสียหายใดๆจากการเสี่ยงภัยนั้น ดังนั้น ผู้ที่ไม่มีส่วนได้เสียในการเสี่ยงภัยจึงไม่สามารถเอาประกันในการเสี่ยงภัยนั้นๆได้ เช่น นายสมชายไม่ได้เป็นญาติพี่น้องกับนายเอ หากนายสมชายเสียชีวิต ก็ไม่มีผลเสียหายใดๆกระทบต่อนายเอ ดังนั้นหากนายเอจะเอาประกันภัยในชีวิตของนายสมชายย่อมไม่สามารถกระทำได้ เพราะนายเอไม่มีส่วนได้เสียต่อชีวิตของนายสมชายนั่นเอง

                4.การเสี่ยงภัยที่มีความเสี่ยงสูงเกินไป ในการเสี่ยงภัยบางอย่างมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นสูงเนื่องจากมีสภาวะที่ส่งเสริมในการเกิดภัย เช่น นางสาวบีเป็นโรคเรื้อรังซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูง บริษัทประกันชีวิตอาจไม่รับประกันชีวิตนางสาวบี เป็นต้น

                5.การเสี่ยงภัยที่มีความเสียหายสูงเกินไปหรือการเสี่ยงภัยเกี่ยวกับมหันตภัย อาจถูกยกเว้นในการรับประกันภัย เนื่องจากมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจมีจำนวนมากจนบริษัทรับประกันไม่สามารถรับผิดชอบหรือชดใช้ความเสียหายได้ เช่น การเสี่ยงภัยในภาวะสงคราม หรือการเสี่ยงภัยเนื่องจากระเบิดนิวเคลียร์ เป็นต้น

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 436206เขียนเมื่อ 21 เมษายน 2011 12:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 12:34 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท