Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

พระมโหสถบัณฑิต ทรงแก้ปัญหา ๑๙ ข้อ


พระมโหสถบัณฑิต ทรงแก้ปัญหา ๑๙ ข้อ ด้วยปัญญาบารมี ในเรื่องต่างๆ ได้แก่ ชิ้นเนื้อ โค เครื่องประดับทำเป็นปล้องๆ กลุ่มด้าย บุตร คนเตี้ยชื่อโคฬกาฬ รถ ท่อนไม้ ศีรษะคน งู ไก่ แก้วมณี ให้โคตัวผู้ตกลูก ข้าว ชิงช้าห้อยด้วยเชือก ทราย สระน้ำ อุทยาน ฬา แก้วมณีบนลังกา (รวม ๑๙ ข้อ)

๕. พระมโหสถบัณฑิต  ทรงแก้ปัญหาหัวข้อว่า บุตร มีความว่า

ยังมีสตรีคนหนึ่งพาบุตร ไปสระโบกขรณีของมโหสถบัณฑิต. เพื่อล้างหน้า เอาบุตรอาบน้ำ แล้วให้นั่งบนผ้าสาฎกของตน ตนเองลงล้างหน้า. ขณะนั้น มียักขินีตนหนึ่งเห็นทารกนั้นอยากจะกิน จึงแปลงเพศเป็นสตรีมาถามว่า แน่ะสหายทารกนี้งามหนอ เป็นบุตรของเธอหรือ. ครั้นสตรีมารดาทารกนั้นรับว่า เป็นบุตรของตน. จึงกล่าวว่า ฉันจะให้ดื่มนม. เมื่อสตรีมารดาทารกอนุญาตแล้ว ก็อุ้มทารกนั้นให้เล่นหน่อยหนึ่ง แล้วพาทารกนั้นหนีไป. สตรีมารดาทารกเห็นดังนั้น จึงขึ้นจากน้ำวิ่งไปโดยเร็ว ยึดผ้าสาฎกไว้กล่าวว่า เองจะพาบุตรข้าไปไหน. นางยักขินีกล่าวว่า เจ้าได้บุตรมาแต่ไหน นี้บุตรของข้าต่างหาก. หญิงทั้งสองทะเลาะกันเดินไปถึงประตูศาล. มโหสถบัณฑิตได้ฟังเสียงนางทั้งสองทะเลาะกัน ให้เรียกเข้ามาถามว่า เรื่องเป็นอย่างไรกัน. นางทั้งสองก็แจ้งให้ทราบเรื่องนั้น. มโหสถบัณฑิตฟังความนั้นแล้ว แม้รู้ว่า หญิงนี้เป็นยักขินีอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะนัยน์ตาไม่กระพริบ นัยน์ตาแดงและไม่มีเงา จึงกล่าวว่า แกทั้งสองจักตั้งอยู่ในวินิจฉัยของเราหรือ. เมื่อได้รับคำตอบว่าจักตั้งอยู่ในวินิจฉัย. จึงขีดรอยที่แผ่นดิน ให้ทารกนอนกลางรอยขีด ให้ยักขินีจับมือทารก ให้หญิงผู้เป็นมารดาจับเท้า แล้วกล่าวว่า แกทั้งสองคนจงฉุดคร่าเอาไป. ทารกนั้นเป็นบุตรของผู้สามารถเอาไปได้. นางทั้งสองก็คร่าทารกนั้น ทารกนั้นถูกคร่าไปด้วยความลำบากก็ร้องจ้า. หญิงมารดาได้ฟังเสียงนั้น ก็เป็นเหมือนหัวใจจะแตก ปล่อยบุตรยืนร้องไห้อยู่. มโหสถบัณฑิตถามมหาชนว่า ใจของมารดาทารกอ่อน หรือว่าใจของหญิงไม่ใช่มารดาอ่อน. มหาชนตอบว่า ใจของมารดาอ่อน. มโหสถบัณฑิตจึงถามมหาชนว่า บัดนี้เป็นอย่างไร หญิงผู้คร่าทารกไปได้ยืนอยู่เป็นมารดา หรือว่านางผู้สละทารกเสียยืนอยู่เป็นมารดา. มหาชนตอบว่า นางผู้สละทารกยืนอยู่เป็นมารดา. มโหสถกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น ท่านทั้งหลายรู้หรือว่านางนี้เป็นคนขโมยทารก. มหาชนตอบว่า ไม่ทราบ. มโหสถจึงกล่าวว่า นางนี้เป็นยักขินีคร่าเอาทารกไปเพื่อกิน. มหาชนถามว่า รู้ได้อย่างไร. มโหสถตอบว่า รู้ได้อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะยักขินีนัยน์ตาไม่กระพริบ นัยน์ตาแดง ไม่มีเงา และปราศจากความกรุณา. ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ถามหญิงนั้นว่า แกเป็นใคร. ยักขินีตอบว่า ข้าพเจ้าเป็นยักขินี. พระมหาสัตว์ซักต่อไปว่า เจ้าจะเอาทารกนี้ไปทำไม. ยักขินีตอบว่า เอาไปกิน. พระมหาสัตว์กล่าวว่า แน่ะนางอันธพาล แต่ก่อนเองทำบาปจึงเกิดเป็นยักขินี. แม้บัดนี้ก็ยังจะทำบาปอีก โอ เองเป็นคนอันธพาล. กล่าวดังนี้แล้ว ให้ยักขินีตั้งอยู่ในเบญจศีล แล้วปล่อยตัวไป. ฝ่ายหญิงมารดาทารก กล่าวว่า จงมีอายุยืนนานเถิดนาย ชมมโหสถบัณฑิต แล้วพาบุตรหลีกไป.

     
๖. พระมโหสถบัณฑิต  ทรงแก้ปัญหาหัวข้อว่า คนเตี้ยชื่อโคฬกาฬ มีความว่า

      มีชายคนหนึ่งชื่อโคฬกาฬ เพราะเป็นคนเตี้ยและผิวดำ. เขาทำงาน ๗ ปี ได้ภรรยาชื่อทีฆตาหลา. วันหนึ่ง โคฬกาฬเรียกภรรยามากล่าวว่า เจ้าจงทอดขนมควรเคี้ยว. ครั้นนางถามว่า แกจะไปไหน. จึงบอกว่า ข้าจะไปเยี่ยมบิดามารดา. นางห้ามว่า แกจะต้องการอะไรด้วยบิดามารดา. โคฬกาฬก็คงสั่งให้ทอดขนมถึง ๓ ครั้ง จึงถือเอาเสบียง และของฝากเดินทางไปกับภรรยานั้น. ในระหว่างทางได้เห็นแม่น้ำ มีกระแสน้ำไหลตื้น แต่สองสามีภรรยานั้นเป็นคนขลาด จึงไม่อาจลง ก็ยืนอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำ. กาลนั้น มีชายเข็ญใจคนหนึ่งชื่อทีฆปิฏฐิ เดินเลียบมาตามฝั่งแม่น้ำ ถึงสถานที่นั้น สามีภรรยาเห็นชายนั้นจึงถามว่า แม่น้ำนี้ลึกหรือตื้น. นายทีฆปิฏฐิรู้อยู่ว่า สองสามีภรรยานั้นขลาดต่อน้ำ. จึงตอบว่า แม่น้ำนี้ลึกเหลือเกิน ปลาร้ายก็ชุม. สามีภรรยาจึงซักถามว่า สหายจักไปอย่างไรเล่า. ชายนั้นตอบว่า เรามีความคุ้นเคยกับจระเข้และมังกร ฉะนั้น. สัตว์ร้ายเหล่านั้นจึงไม่เบียดเบียนเรา. สองสามีภรรยากล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น สหายจงพาเราทั้งสองไป. ชายนั้นรับคำ. ลำดับนั้น สองสามีภรรยาจึงให้ของเคี้ยวของบริโภคแก่ชายนั้น. ชายนั้นบริโภคอิ่มแล้ว จึงถามว่า สหายจะให้เราพาใครไปก่อน. นายโคฬกาฬตอบว่า จงพาภรรยาไปก่อน พาเราไปทีหลัง. ชายนั้นรับคำแล้วให้นางทีฆตาหลาขึ้นคอ ถือเสบียงและของฝากทั้งหมดลงข้ามแม่น้ำ ไปได้หน่อยหนึ่ง แล้วย่อตัวหลีกไป. ลำดับนั้น นายโคฬกาฬยืนอยู่ที่ฝั่งคิดว่า แม่น้ำนี้ลึกแท้ คนสูงยังเป็นอย่างนี้ แต่เราเป็นไม่ได้การทีเดียว. ฝ่ายนายทีฆปิฏฐิพานางทีฆตาหลาไปถึงกลางแม่น้ำ ก็พูดเกี้ยวว่า ข้าจักเลี้ยงดูเจ้า เจ้าจักมีผ้าและเครื่องประดับบริบูรณ์ มีทาสทาสีแวดล้อม. นายโคฬกาฬตัวเตี้ยคนนี้ จักทำอะไรแก่เจ้าได้ เจ้าจงทำตามคำข้า. นางทีฆตาหลาได้ฟังคำของนายทีฆปิฏฐินั้น ก็ตัดสิเนหาในสามีของตน มีจิตปฏิพัทธ์ในนายทีฆปิฏฐินั้น ในขณะนั้นเอง. จึงกล่าวตอบว่า ถ้านายไม่ทิ้งฉัน ฉันจักทำตามคำของนาย. นายทีฆปิฏฐิกล่าวว่า นางพูดอะไร ข้าจะเลี้ยงดูนาง. คนทั้งสองนั้นไปถึงฝั่งโน้น ก็ชื่นชมต่อกันและกัน. ละนายโคฬกาฬเสีย กล่าวว่า รอก่อน รอก่อน. ต่างเคี้ยวกินของควรเคี้ยว ต่อหน้านายโคฬกาฬผู้แลดูอยู่ แล้วพากันหลีกไป. นายโคฬกาฬเห็นดังนั้นจึงคิดว่า คนทั้งสองนี้เห็นจะร่วมกันทิ้งเราหนีไป ก็วิ่งไปวิ่งมา ข้ามลงได้หน่อยหนึ่งก็กลับขึ้นเพราะความกลัว ข้ามลงอีกหนหนึ่ง ด้วยความโกรธในคนทั้งสองนั้น โดดลงด้วยแน่ใจว่าเป็นหรือตายก็ตามที ลงไปในแม่น้ำ จึงรู้ว่าตื้น. ก็ข้ามขึ้นจากแม่น้ำติดตามไปโดยเร็ว. พอทันคนทั้งสองนั้นจึงกล่าวว่า แน่ะอ้ายโจรร้าย มึงจะพาเมียกูไปไหน. นายทีฆปิฏฐิกล่าวตอบว่า แน่ะอ้ายถ่อยแคระเตี้ยร้าย เมียมึงเมื่อไร. กล่าวดังนี้ แล้วก็ไสคอนายโคฬกาฬไป. นายโคฬกาฬจับมือนางทีฆตาหลา กล่าวว่า รอก่อน รอก่อน เองจะไปไหน ข้าทำงานมา ๗ ปีจึงได้เองมาเป็นเมีย. เมื่อทะเลาะกับนายทีฆปิฏฐิ พลางมาถึงที่ใกล้ศาลาพระมหาสัตว์ มหาชนประชุมกัน.

      มโหสถบัณฑิตถามว่า นั่นเสียงอะไรกัน. สดับความนั้นแล้วให้เรียกคนทั้งสองมา. ได้ฟังโต้ตอบกันแล้ว จึงกล่าวว่า แกทั้งสองจักตั้งอยู่ในวินิจฉัยของเราหรือ. ครั้นคนทั้งสองยอม. จึงถามนายทีฆปิฏฐิก่อนว่า แกชื่ออะไร. ข้าพเจ้าชื่อทีฆปิฏฐิ. ก็ภรรยาของแกชื่ออะไร. เมื่อไม่ทันรู้จักชื่อก็บอกชื่ออื่น. บิดามารดาของแกชื่ออะไร ก็บอกชื่อนั้นๆ. บิดามารดาของภรรยาชื่ออะไร เมื่อยังไม่รู้ก็บอกชื่ออื่น. ลำดับนั้น มโหสถบัณฑิตจึงให้คนของตนกำหนดถ้อยคำไว้. แล้วให้นายทีฆปิฏฐินั้นออกไป ให้เรียกนายโคฬกาฬมา ถามชื่อคนทั้งปวงโดยนัยหนหลัง. นายโคฬกาฬรู้อยู่ตามเป็นจริงก็บอกไม่ผิด. พระโพธิสัตว์ให้นำนายโคฬกาฬออกไป ให้เรียกนางทีฆตาหลามาถามว่า แกชื่ออะไร. ข้าพเจ้าชื่อทีฆตาหลา. ผัวแกชื่ออะไร เมื่อยังไม่ทันรู้จักชื่อกันก็บอกชื่ออื่น. บิดามารดาของแกชื่ออะไร ก็บอกชื่อนั้นๆ. บิดามารดาของผัวแกชื่ออะไร เมื่อยังไม่รู้จักชื่อก็บอกชื่ออื่น. มโหสถบัณฑิตให้เรียกนายทีฆปิฏฐิและนายโคฬกาฬมา แล้วถามมหาชนว่า ถ้อยคำของนางทีฆตาหลาสมกับคำของนายทีฆปิฏฐิ หรือสมกับคำของนายโคฬกาฬ. มหาชนตอบว่า ถ้อยคำของนางทีฆตาหลาสมกับคำของนายโคฬกาฬ. มโหสถบัณฑิตจึงกล่าวว่า นายโคฬกาฬเป็นผัวของนางทีฆตาหลา นายทีฆปิฏฐิเป็นโจร. ลำดับนั้น มโหสถจึงถามนายทีฆปิฏฐิว่า เจ้าเป็นโจรหรือ. นายทีฆปิฏฐิรับสารภาพว่าเป็นโจร. นายโคฬกาฬได้ภรรยาของตนคืน ด้วยวินิจฉัยของมโหสถบัณฑิต. ก็ชมเชยมโหสถบัณฑิต แล้วพาภรรยาหลีกไป. มโหสถบัณฑิตกล่าวกะนายทีฆปิฏฐิว่า จำเดิมแต่นี้ไป เจ้าอย่าทำกรรมเช่นนี้อีก.

๗. พระมโหสถบัณฑิต  ทรงแก้ปัญหาหัวข้อว่า รถ มีความว่า

      กาลนั้นยังมีบุรุษคนหนึ่งนั่งในรถ ออกจากบ้านเพื่อล้างหน้า. ขณะนั้น ท้าวสักกเทวราชทรงพิจารณาเห็นพระโพธิสัตว์. จึงดำริว่า เราจักทำปัญญานุภาพแห่งมโหสถผู้พุทธางกูร ให้ปรากฏ. จึงเสด็จมาด้วยเพศแห่งมนุษย์จับท้ายรถไป. บุรุษเจ้าของรถถามว่า แน่ะพ่อ พ่อมาด้วยประโยชน์อะไร. ครั้นได้ฟังว่า จะมาเพื่ออุปัฏฐากตน. จึงรับว่าดีแล้ว ก็ลงจากรถไปเพื่อทำสรีรกิจ. ขณะนั้น ท้าวสักกเทวราชขึ้นรถขับไปโดยเร็ว. บุรุษเจ้าของรถทำสรีรกิจ แล้วออกมาเห็น ท้าวสักกเทวราชลักรถหนีไป ก็ติดตามไปโดยเร็ว. กล่าวว่า หยุดก่อน หยุดก่อน แกจะนำรถของข้าไปไหน. เมื่อท้าวสักกะตอบว่า รถของแกคันอื่น แต่คันนี้รถของข้า. ก็เกิดทะเลาะกันไปถึงประตูศาลา. มโหสถบัณฑิตถามว่า เรื่องอะไรกัน แล้วให้เรียกคนทั้งสองนั้นมา. เห็นคนทั้งสองมาด้วยอาการนั้น ก็รู้ชัดว่า ผู้นี้เป็นท้าวสักกเทวราช เพราะปราศจากความกลัวเกรง และเพราะนัยน์ตาไม่กระพริบ. ผู้นี้เป็นเจ้าของรถ.

      แม้เมื่อเป็นเช่นนั้น มโหสถก็ถามถึงเหตุแห่งการวิวาทกล่าวว่า ท่านทั้งสองจักตั้งอยู่ในวินิจฉัยของเราหรือ. เมื่อได้ฟังรับว่าจักตั้งอยู่. จึงกล่าวว่า เราจักขับรถไป ท่านทั้งสองจงจับท้ายรถ เจ้าของรถจักไม่ปล่อย ผู้ไม่ใช่เจ้าของรถจักปล่อย กล่าวฉะนี้แล้ว. บังคับบุรุษคนหนึ่งว่าจงขับรถไป บุรุษนั้นได้ทำตามนั้น. คนทั้งสองจับท้ายรถวิ่งตามไป เจ้าของรถไปได้หน่อยหนึ่งเหน็ดเหนื่อย จึงปล่อยรถยืนอยู่. ฝ่ายท้าวสักกเทวราชวิ่งไปกับรถทีเดียว. มโหสถบัณฑิตสั่งให้กลับรถ แล้วแจ้งแก่มหาชนว่า บุรุษนี้ไปได้หน่อยหนึ่งก็ปล่อยรถยืนอยู่ แต่บุรุษนี้วิ่งไปกับรถ กลับมากับรถ. แม้เพียงหยาดเหงื่อ แต่สรีระของเขาก็ไม่มี. หายใจออกหายใจเข้าก็ไม่มี. หาความสะทกสะท้านมิได้ นัยน์ตาก็ไม่กระพริบ ผู้นี้คือท้าวสักกเทวราช.

      ลำดับนั้น มโหสถบัณฑิตถามว่า ท่านเป็นท้าวสักกเทวราชมิใช่หรือ . ครั้นได้รับตอบว่าใช่. จึงถามว่า พระองค์เสด็จมาที่นี้เพื่ออะไร. ครั้นได้รับตอบว่า เพื่อประกาศปัญญาของเธอนั่นแหละ. จึงกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น พระองค์อย่าได้กระทำอย่างนี้อีก. ท้าวสักกเทวราช เมื่อจะแสดงสักกานุภาพ ก็สถิตอยู่ในอากาศ ตรัสชมเชยมโหสถบัณฑิตว่า เธอวินิจฉัยความดี เธอวินิจฉัยความดี. แล้วเสด็จกลับยังทิพยสถานของตน.

      กาลนั้น อมาตย์นั้นไปเฝ้าพระเจ้าวิเทหราชด้วยตนเอง ถวายบังคมแล้วกราบทูลว่า ความเรื่องรถมโหสถกุมารวินิจฉัยดีอย่างนี้ แม้ท้าวสักกเทวราชก็ยังแพ้. เหตุไรพระองค์จึงไม่ทรงทราบบุรุษพิเศษเล่า ขอเดชะ. พระราชาตรัสถามเสนกอาจารย์ว่า ควรนำบัณฑิตมาหรือยัง. อาจารย์เสนกะเป็นคนตระหนี่จึงได้ทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นบัณฑิตด้วยเหตุเพียงเท่านี้ โปรดรอไปก่อน. เราจักทดลองเขาแล้วจักรู้ พระราชาทรงดุษณีภาพ.

๘. พระมโหสถบัณฑิต  ทรงแก้ปัญหาหัวข้อว่า ท่อนไม้ มีความว่า

วันหนึ่ง พระเจ้าวิเทหราชทรงดำริจะทดลองมโหสถบัณฑิต จึงให้นำท่อนไม้ตะเคียนมา ให้ตัดเอาเพียง ๑ คืบ ให้ช่างกลึงกลึงให้ดีแล้ว ให้ส่งไปยังชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคาม ด้วยพระราชาอาณัติว่า ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคามจงแจ้งว่า ท่อนไม้ตะเคียนนี้ ข้างนี้ปลายข้างนี้โคน ถ้าไม่มีใครรู้ จะปรับพันกหาปณะ. ชาวบ้านประชุมกัน เมื่อไม่อาจจะรู้ได้ จึงบอกแก่ท่านสิริวัฒกเศรษฐีว่า บางทีมโหสถบัณฑิตจะรู้ ขอให้เรียกเขามาถาม. ท่านมหาเศรษฐีให้เรียก มโหสถบัณฑิตมาแต่สนามเล่น. บอกเนื้อความนั้นแล้วถามว่า พวกเราไม่อาจจะรู้ปัญหานี้ พ่ออาจจะรู้บ้างไหม. พระมหาสัตว์ได้ฟังดังนั้นแล้ว คิดว่า พระราชาจะต้องพระประสงค์ ด้วยปลายหรือโคนของไม้ตะเคียนท่อนนี้ ก็หาไม่. ประทานไม้ตะเคียนท่อนนี้มาเพื่อจะทดลองเรา. จึงกล่าวว่า นำมาเถิดพ่อ ข้าพเจ้าจักรู้เรื่องนั้น.

ลำดับนั้น ท่านเศรษฐีให้นำท่อนไม้ตะเคียน มาให้แก่มโหสถบัณฑิต. พระโพธิสัตว์รับท่อนไม้ตะเคียนนั้นด้วยมือเท่านั้นก็รู้ได้ว่า ข้างนี้ปลาย ข้างนี้โคน. แม้รู้อยู่ก็ให้นำภาชนะน้ำมา เพื่อกำหนดใจของมหาชน. แล้วเอาด้ายผูกตรงกลางของท่อนไม้ตะเคียน ถือปลายด้ายไว้ วางท่อนไม้ตะเคียนบนน้ำ พอวางเท่านั้น โคนก็จมลงก่อนเพราะหนัก. แต่นั้น พระโพธิสัตว์จึงถามมหาชนว่า ธรรมดาต้นไม้โคนหนัก หรือปลายหนัก. เมื่อมหาชนตอบว่า โคนหนัก. จึงกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น ส่วนของไม้ตะเคียนท่อนนี้จมลงก่อน จึงเป็นโคน. แล้วบอกปลายและโคนด้วยสัญญานี้. ชาวบ้านส่งข่าวทูลพระราชาว่า ข้างนี้ปลาย ข้างนี้โคน. พระราชาทรงยินดี ตรัสถามว่า ใครรู้. เมื่อชาวบ้านกราบทูลว่า มโหสถบัณฑิตบุตรสิริวัฒกเศรษฐี พระเจ้าข้า. ทรงสดับดังนั้นแล้ว จึงตรัสถามว่า ท่านอาจารย์เสนกะ เราควรนำมโหสถบัณฑิตมาหรือยัง. เสนกอาจารย์ทูลว่า รอไว้ก่อน เราจักทดลองด้วยอุบายอื่นอีก. พระราชาตรัสว่า ดีแล้ว ท่านเสนกะ.

๙. พระมโหสถบัณฑิต  ทรงแก้ปัญหาหัวข้อว่า ศีรษะ มีความว่า

 

อยู่มาวันหนึ่ง พระเจ้าวิเทหราชให้นำศีรษะ ๒ ศีรษะ คือศีรษะหญิงและศีรษะชายมา. แล้วส่งไปให้ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคาม ทำนายพระราชาณัติว่า ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคามจงรู้ว่า นี้ศีรษะหญิง นี้ศีรษะชาย. ถ้าไม่รู้ จะปรับไหมพันกหาปณะ. ชาวบ้านเมื่อไม่รู้ จึงถามพระมหาสัตว์. พระมหาสัตว์พอเห็นเท่านั้นก็รู้. รู้ได้อย่างไร คือแสกในศีรษะชายตรง แสกในศีรษะหญิงคด. มโหสถบัณฑิตแจ้งว่า นี้ศีรษะหญิง นี้ศีรษะชาย ด้วยความรู้ยิ่งนี้. ชาวบ้านก็ส่งข่าวกราบทูลแด่พระราชาอีก. ข้อความที่เหลือเหมือนนัยอันมีในก่อน นั่นเอง.

 ๑๐. พระมโหสถบัณฑิต  ทรงแก้ปัญหาหัวข้อว่า งู มีความว่า

      อยู่มาวันหนึ่ง พระเจ้าวิเทหราชให้นำงูตัวผู้และงูตัวเมียมา ส่งไปให้ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคาม ด้วยพระราชาณัติว่า ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคาม จงรู้ว่า นี้งูตัวผู้ นี้งูตัวเมีย. เมื่อไม่มีใครรู้ จะปรับไหมพันกหาปณะ. ชาวบ้านเมื่อไม่รู้ จึงถามมโหสถบัณฑิต. มโหสถบัณฑิตนั้นพอเห็นเท่านั้นก็รู้ ด้วยว่าหางของงูตัวผู้ใหญ่ หางของงูตัวเมียเรียว. หัวของงูตัวผู้ใหญ่ หัวของงูตัวเมียเรียวยาว. นัยน์ตาของงูตัวผู้ใหญ่ ของงูตัวเมียเล็ก. ลวดลายของงูตัวผู้ติดต่อกัน ลวดลายของงูตัวเมียขาด. มโหสถบัณฑิตแจ้งแก่ชาวบ้านว่า นี้งูตัวผู้ นี้งูตัวเมีย ด้วยความรู้ยิ่งเหล่านี้. ข้อความที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้ว นั่นแล.

 ๑๑. พระมโหสถบัณฑิต  ทรงแก้ปัญหาหัวข้อว่า ไก่ มีความว่า

      อยู่มาวันหนึ่ง พระเจ้าวิเทหราชส่งข่าวไปแก่ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคามว่า ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคามจงส่งโคตัวผู้อันเป็นมงคล ขาวทั้งตัว มีเขาที่เท้า มีโหนกที่หัว ร้องไปล่วง ๓ เวลา มาแก่เรา. ถ้าไม่ส่ง จะปรับไหมพันกหาปณะ. ชาวบ้านเหล่านั้นเมื่อไม่รู้ จึงถามมโหสถบัณฑิต. มโหสถบัณฑิตกล่าวว่า พระราชาให้สั่งไก่ขาวทั้งตัวไปถวายนั่นเอง เพราะว่าไก่นั้น ชื่อว่ามีเขาที่เท้า เพราะมีเดือยที่เท้า. ชื่อว่ามีโหนกที่หัว เพราะมีหงอนที่หัว. ชื่อว่าร้องไม่ล่วง ๓ เวลา เพราะขัน ๓ ครั้ง ฉะนั้น. ท่านทั้งหลายจงส่งไก่มีลักษณะอย่างนี้ไปถวาย. ชาวบ้านเหล่านั้นก็ส่งไปถวายแด่พระราชา พระราชาทรงยินดี.

๑๒. พระมโหสถบัณฑิต  ทรงแก้ปัญหาหัวข้อว่า แก้วมณี มีความว่า

      ดวงแก้วมณีที่ท้าวสักกเทวราชประทานแก่พระเจ้ากุสราชมีอยู่. ดวงแก้วมณีนั้นมีโค้งในที่ ๘ แห่ง ด้ายเก่าของดวงแก้วมณีนั้นขาด ไม่มีใครจะสามารถนำด้ายเก่าออกแล้วร้อยด้ายใหม่เข้าไป. วันหนึ่ง พระเจ้าวิเทหราชให้ส่งข่าวไปถึงชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคามว่า ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคามจงนำด้ายเก่าออกจากดวงแก้วมณีนี้ แล้วร้อยด้ายใหม่เข้าแทน. ถ้าร้อยไม่ได้ จะปรับไหมพันกหาปณะ. พวกมนุษย์ชาวบ้านไม่สามารถจะนำด้ายเก่าออก แล้วร้อยด้ายใหม่เข้าแทนได้. เมื่อไม่สามารถ จึงแจ้งแก่มโหสถบัณฑิต. มโหสถบัณฑิตกล่าวว่า อย่าวิตกไปเลย แล้วให้นำน้ำผึ้งมาทาช่องแก้วมณีทั้งสองข้าง ให้ฟั่นด้วยขนสัตว์เอาน้ำผึ้งทาปลายด้ายนั้น ร้อยเข้าไปในช่องหน่อยหนึ่ง วางไว้ในที่มดแดงทั้งหลายจะออก. เหล่ามดแดงพากัน ออกจากที่อยู่ของมันมากินด้ายเก่าในแก้วมณี. แล้วไปคาบปลายด้ายขนสัตว์ใหม่ คร่าออกมาทางข้างหนึ่ง. มโหสถบัณฑิตรู้ว่า ด้ายนั้นเข้าไปแล้ว ก็ให้แก่ชาวบ้าน ให้ถวายแด่พระราชา. พระราชามีพระดำรัสถาม ทรงสดับอุบายวิธีให้ด้ายนั้นเข้าไปได้ ทรงยินดี.

๑๓. พระมโหสถบัณฑิต  ทรงแก้ปัญหาหัวข้อว่า ให้โคตัวผู้ตกลูก มีความว่า

      ได้ยินว่า วันหนึ่งพระราชาตรัสสั่งให้ ราชบุรุษให้โคตัวผู้ เป็นมงคลเคี้ยวกินกุมมาสเป็นอันมาก จนท้องโต. ให้ชำระล้างเขาทั้งสอง แล้วทาด้วยน้ำมัน. ให้เอาน้ำขมิ้นรดตัวส่งไปยังชาวบ้านนั้น ด้วยพระราชาณัติว่า ได้ยินว่า พวกท่านเป็นนักปราชญ์ โคตัวผู้มงคลของพระราชานี้ตั้งครรภ์. ท่านทั้งหลายจงให้โคตัวผู้นี้ตกลูก แล้วส่งกลับไปพร้อมด้วยลูก. เมื่อไม่ส่ง จะปรับไหมพันกหาปณะ. พวกมนุษย์ชาวบ้านปรึกษากันว่า พวกเราไม่สามารถจะทำได้อย่างนี้ จักทำอย่างไร. จึงถามมโหสถบัณฑิต. มโหสถบัณฑิตคิดว่า เรื่องนี้ต้องย้อนปัญหา. จึงถามว่า พวกท่านจักอาจหา คนที่แกล้วกล้าสามารถทูลกับพระราชาได้หรือ. ชาวบ้านตอบว่า เรื่องนั้น ไม่หนักใจเลย ท่านบัณฑิต. ถ้าเช่นนั้น จงเรียกเขามา. ชาวบ้านเหล่านั้นเรียกเขามาแล้ว. ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ กล่าวกะเขาว่า ท่านจงสยายผมของท่านไว้ข้างหลัง แล้วคร่ำครวญใหญ่มีประการต่างๆ ไปสู่ทวารพระราชนิเวศน์. ใครถามอย่าตอบ คร่ำครวญเรื่อยไป. พระราชาตรัสเรียกมาถาม เหตุที่เทวนาการ จงถวายบังคม. แล้วทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่สมมติเทพ บิดาของข้าพระองค์ไม่อาจจะคลอดบุตร วันนี้เป็นวันครบ ๗. ขอสมมติเทพทรงเป็นที่พึ่งของข้าพระองค์. โปรดทรงทำอุบายที่จะคลอดบุตร แก่บิดาของข้าพระองค์. เมื่อพระราชาตรัสว่า คนคลั่งอะไรข้อนั้นไม่ใช่ฐานะ. ธรรมดาบุรุษคลอดบุตร มีหรือ. จงกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ถ้าว่าอย่างนี้มีไม่ได้. เมื่อเป็นเช่นนั้น ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคาม จะยังมงคลอุสภให้ตกลูกได้อย่างไร. บุรุษนั้นรับคำจะทำตามที่สั่งนั้นได้ ก็ได้ทำไปอย่างนั้น. พระราชาทรงสดับคำบุรุษนั้น ตรัสถามว่า ย้อนปัญหานี้ใครคิด. ได้ทรงทราบว่า มโหสถบัณฑิตคิด ก็โปรดปราน.

๑๔. พระมโหสถบัณฑิต  ทรงแก้ปัญหาหัวข้อว่า ข้าว มีความว่า

      ในวันอื่นอีก พระราชาทรงดำริว่า เราจักทดลองมโหสถ. จึงให้ส่งข่าวไปว่า ได้ยินว่า ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคามเป็นคนฉลาด. ชาวบ้านนั้นจงหุงข้าวเปรี้ยว ให้ประกอบด้วยองค์ ๘ มาให้เรา. องค์ ๘ นั้น คือ ไม่ให้หุงด้วยข้าวสาร ไม่ให้หุงด้วยน้ำ ไม่ให้หุงด้วยหม้อข้าว ไม่ให้หุงด้วยเตาหุงข้าว ไม่ให้หุงด้วยไฟ ไม่ให้หุงด้วยฟืน ไม่ให้หญิงหรือชายยกมา ไม่ให้นำมาส่งโดยทาง. พวกนั้นส่งมาไม่ได้ จะปรับไหมพันกหาปณะ. พวกชาวบ้านหารู้เหตุไม่ จึงแจ้งแก่มโหสถบัณฑิต. มโหสถบัณฑิตกล่าวว่า อย่าตกใจไปเลย แล้วชี้ให้เห็นว่า ให้หุงด้วยข้าวแหลก อันไม่ชื่อว่าข้าวสาร. ให้หุงด้วยน้ำค้าง อันไม่ชื่อว่าน้ำปกติ. ให้หุงด้วยภาชนะดินใหม่ อันไม่ชื่อว่าหม้อข้าว. ให้ตอกตอไม้ตั้งภาชนะนั้นหุง อันไม่ชื่อว่าหุงด้วยเตา. ให้หุงด้วยไฟที่สีกันเกิดขึ้น อันไม่ชื่อว่าไฟปกติ. ให้หุงด้วยใบไม้ อันไม่ชื่อว่าฟืน ชื่อว่าหุงข้าวเปรี้ยว. แล้วบรรจุในภาชนะใหม่ ผูกด้วยด้ายประทับตรา. อย่าให้หญิงหรือชายยกไป ให้กระเทยยกไป. ไปโดยทางน้อยละทางใหญ่เสีย อันชื่อว่าไม่มาโดยทาง. ส่งข้าวเห็นปานดังนี้ ไปถวายพระราชา. ชาวบ้านได้ทำตามนัยนั้น. พระราชาทอดพระเนตรเห็นกิริยานั้น จึงตรัสถามว่า ปัญหานี้ใครรู้ ทรงทราบว่า มโหสถรู้ ก็โปรดปราน.

๑๕. พระมโหสถบัณฑิต  ทรงแก้ปัญหา หัวข้อว่า ชิงช้าห้อยด้วยเชือกทราย มีความว่า

      ในวันนั้นอีก พระราชาให้ส่งข่าวไปยังชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคาม เพื่อทดลองมโหสถบัณฑิตว่า พระราชาใคร่จะทรงเล่นชิงช้าห้อยด้วยเชือกทราย เชือกทรายเก่าในราชสกุลขาดเสียแล้ว ให้ชาวบ้านนั้นฟั่นเชือกทรายหนึ่งเส้นส่งมาถวาย. ถ้าส่งมาถวายไม่ได้ จะปรับไหมพันกหาปณะ. ชาวบ้านเหล่านั้นไม่รู้เหตุ จึงแจ้งแก่มโหสถบัณฑิต.

      มโหสถบัณฑิตคิดว่า เรื่องนี้ต้องย้อนปัญหา พูดเอาใจชาวบ้าน ไม่ให้วิตก แล้วเรียกคนฉลาดพูดมาสองสามคน สั่งสอนให้ไปทูลพระราชาว่า ข้าแต่สมมติเทพ ชาวบ้านไม่ทราบประมาณแห่งเชือกนั้นว่า เล็กใหญ่เท่าไร. ขอสมมติเทพโปรด ให้ส่งท่อนแต่เชือกทรายเส้นเก่าสักหนึ่งคืบ หรือสี่นิ้วเป็นตัวอย่าง ชาวบ้านเห็นประมาณนั้นแล้ว จักได้ฟั่นเท่านั้น. ถ้าพระราชารับสั่งแก่ท่านทั้งหลายว่า เชือกทรายในพระราชฐานของเราไม่เคยมีแต่ไหนมา. ท่านทั้งหลายจงกราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราช เชือกทรายตัวอย่างนั้นไม่มี ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคาม จักทำอย่างไรเล่า พระเจ้าข้า. ชาวบ้านเหล่านั้นไปทำตามมโหสถแนะนำ พระราชาตรัสถามว่า ย้อนปัญหานี้ใครคิด. ทรงทราบว่า มโหสถคิด ก็ทรงยินดี.

๑๖. พระมโหสถบัณฑิต  ทรงแก้ปัญหาหัวข้อว่า สระน้ำ มีความว่า

      ในวันอื่นอีก พระเจ้าวิเทหราชให้ส่งข่าวแก่ชาวบ้านเหล่านั้นเพื่อจะทดลองมโหสถว่า พระราชามีพระราชประสงค์จะทรงเล่นน้ำ. ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคามจงส่งสระโบกขรณี อันดาดาษด้วยบัวเบญจพรรณมา. ถ้าพวกชาวบ้านนั้นไม่ส่งมา จะปรับไหมพันกหาปณะ. ชาวบ้านเหล่านั้นแจ้งแก่มโหสถบัณฑิต

      มโหสถบัณฑิตคิดว่า เรื่องนี้ต้องย้อนปัญหา. จึงสั่งให้เรียก คนผู้ฉลาดพูดมาสองสามคน สั่งสอนให้พูด. แล้วส่งไปให้ทูลว่า ท่านทั้งหลายจงเล่นน้ำจนตาแดง ทั้งผมทั้งผ้ายังเปียกตัวเปื้อนโคลน ถือเชือกก้อนดินและท่อนไม้ไปสู่ทวารพระราชนิเวศน์. ให้กราบทูลความที่มายืนคอยเฝ้าพระราชา ได้โอกาสแล้วเข้าเฝ้ากราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า เพราะทรงส่งข่าวไปให้ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคาม ส่งสระโบกขรณีมาถวาย. ก็แต่สระโบกขรณีนั้น เห็นพระนครอันมีกำแพง คูประตู หอรบ ก็กลัว ตัดเชือกหนีเข้าป่าไป เพราะเคยอยู่ในป่า. พวกข้าพระองค์โบยตีด้วยก้อนดินและท่อนไม้ ก็ไม่สามารถจะให้กลับ. ขอพระองค์โปรดพระราชทาน สระโบกขรณีเก่าของพระองค์ที่นำมาแต่ป่า. พวกข้าพระองค์จักผูก ควบเข้ากับสระโบกขรณีใหม่นำมาถวาย. เมื่อพระราชารับสั่งว่า สระโบกขรณีของเราที่นำมาแต่ป่า ไม่เคยมีมาแต่กาลไหนๆ เราไม่เคยส่งสระโบกขรณีไปเพื่อผูกกับอะไรๆ นำมาฉะนี้. จงทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ถ้าเมื่ออย่างนี้ ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคาม จักส่งสระโบกขรณีมาถวายอย่างไรได้. ชาวบ้านที่รับคำแนะนำของมโหสถ ก็ไปทำตามทุกประการ. พระราชาทรงทราบว่า มโหสถรู้ปัญหานี้ ก็ทรงยินดี.

๑๗. พระมโหสถบัณฑิต  ทรงแก้ปัญหาหัวข้อว่า อุทยาน มีความว่า

      อีกวันหนึ่ง โปรดให้ส่งข่าวไปอีก โดยพระราชาณัติว่า พระองค์ใคร่จะทรงเล่นอุทยาน ก็แต่ราชอุทยานต้นไม้เก่าหักโค่นเสียหมด. ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคาม จงส่งอุทยานใหม่ ให้ดาดาษไปด้วยดรุณรุกขชาติ ทรงดอกบานงามเข้ามาถวาย. ถ้าไม่ส่งเข้ามาตามพระราชประสงค์ จะปรับไหมพันกหาปณะ. ชาวบ้านเหล่านั้นไม่รู้เหตุ ก็นำความแจ้งแก่มโหสถ.

      มโหสถบัณฑิตคิดว่า เรื่องนี้ต้องย้อนปัญหา. จึงเรียกคนทั้งหลายมาสั่งไปโดยนัย อันมีในก่อนนั่นแล. คนเหล่านั้นก็ไปทำตามสั่ง.

พระราชาทรงสดับดังนั้น จึงตรัสถามเสนกอาจารย์ว่า เราควรนำมโหสถบัณฑิตมาละกระมัง. อาจารย์เสนกะกราบทูล ด้วยความตระหนี่ลาภสักการะว่า บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นบัณฑิต ด้วยเหตุเพียงเท่านี้. ขอได้ทรงรอไปก่อน

๑๘. พระมโหสถบัณฑิต  ทรงแก้ปัญหา “ฬา” มีความว่า

พระเจ้าวิเทหราชได้ทรงฟังคำของเสนกบัณฑิต แล้วมีพระดำริว่า มโหสถบัณฑิตแก้ปัญหาแห่งทารกทั้ง ๗ ข้อถูกใจเรา. การพยากรณ์ในการทดลองปัญหาลึกลับ และในการย้อนปัญหาเห็นปานนี้ของมโหสถนั้น เป็นดุจของพระพุทธเจ้า. อาจารย์เสนกะไม่ให้นำบัณฑิตเห็นปานนี้มาในที่นี้ เราจะต้องการอะไร ด้วยเสนกะคัดค้าน. เราจักนำมโหสถบัณฑิตนั้นมา. พระเจ้าวิเทหราชก็เสด็จไป สู่บ้านนั้นด้วยบริวารใหญ่. เมื่อพระราชาทรงม้ามงคลเสด็จไป กีบของม้ากระทบพื้นระแหงก็แตก. พระราชาก็เสด็จกลับแต่ที่นั้นเข้าพระนคร.

      ลำดับนั้น อาจารย์เสนกะเข้าเฝ้าพระราชาทูลถามว่า พระองค์เสด็จไปบ้านปาจีนยวมัชฌคาม เพื่อนำมโหสถบัณฑิตมาหรือ พระเจ้าข้า. ครั้นได้ฟังกระแสรับสั่งว่าเสด็จไป จึงทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า พระองค์ทึกทักเอาข้าพระองค์ว่า เป็นผู้ใคร่ความพินาศ ก็ทรงพิจารณ์เห็นหรือยัง. ในเมื่อข้าพระองค์ทัดทานให้ทรงรอไว้ก่อน   ก็บังเอิญกีบม้ามงคลรีบด่วนออกไปแตก ด้วยไปครั้งแรกทีเดียว. พระเจ้าวิเทหราช ได้ทรงฟังคำของเสนกะ ก็ทรงดุษณีภาพ.

อีกวันหนึ่ง พระเจ้าวิเทหราชทรงปรึกษากับเสนกะว่า เราจะนำมโหสถมา. เสนกะทูลว่า พระองค์อย่าเสด็จไปเอง ส่งทูตไปยังมโหสถว่า เมื่อพระองค์เสด็จไปสู่สำนักเธอ กีบม้าที่นั่งแตก เธอจงส่งม้าอัสดรหรือม้าประเสริฐกว่าม้าสามัญมา. ถ้าเธอจักส่งม้าอัสดรมา เธอจงมาเอง. แต่เมื่อจะส่งแต่ม้าประเสริฐมา จงส่งบิดาของเธอมาด้วย. ปัญหาของเรานี้แหละจักถึงที่สุด. พระราชาทรงเห็นชอบด้วย จึงส่งราชทูตไปดังว่านั้น.

      มโหสถบัณฑิตได้ฟังคำราชทูต จึงคิดว่า พระราชาทรงใคร่จะพบเราและบิดาของเรา จึงไปหาบิดา. ไหว้แล้วกล่าวว่า พระราชาทรงใคร่จะพบบิดาและข้าพเจ้า. ขอบิดาจงพร้อมด้วยอนุเศรษฐีพันหนึ่ง เป็นบริวารไปเฝ้าก่อน. เมื่อไปอย่าไปมือเปล่า จงเอาผอบไม้จันทน์ เต็มด้วยเนยใสใหม่ไปด้วย. พระราชาจักตรัสปฏิสันถารกับบิดา ตรัสเรียกให้นั่งว่า จงนั่งที่อาสน์อันสมควร. บิดาจงรู้อาสน์อันสมควรแล้วนั่ง เมื่อบิดานั่งแล้ว ข้าพเจ้าจักไป. พระราชาจักตรัสทักทายข้าพเจ้า ตรัสสั่งให้นั่งว่า จงนั่งที่อาสนะอันสมควร. แต่นั้นข้าพเจ้าจักแลดูบิดา บิดาจงลุกจากอาสน์ด้วยสัญญานั้น กล่าวว่า แน่ะพ่อมโหสถ พ่อจงนั่ง ณ อาสน์นี้. ปัญหาอย่างหนึ่งจักถึงที่สุดในวันนี้.

      สิริวัฒกเศรษฐีรับจะทำตามนั้น แล้วก็ไปโดยนัยที่กล่าวแล้ว ให้ทูลความที่ตนมายืนรออยู่ ที่พระทวารแด่พระราชา. ครั้นได้พระราชานุญาตแล้วจึงเข้าไปเฝ้า ถวายบังคมพระราชา ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง. พระราชาทรงทักทายปราศรัยตรัสถามว่า ดูก่อนคฤหบดี มโหสถบุตรของท่านอยู่ไหน. เศรษฐีทูลตอบว่า มาภายหลัง. พระราชาทรงทราบดังนี้ ก็ดีพระหฤทัย. ตรัสว่า ดูก่อนคฤหบดี ท่านจงดูอาสน์ควรแก่ตนนั่ง เศรษฐีนั้นก็นั่ง ณ อาสน์ที่ควรแก่ตน ในที่ส่วนหนึ่ง.


ฝ่ายพระโพธิสัตว์ประดับตกแต่งตัวแล้ว มีเด็กพันหนึ่งห้อมล้อมนั่งรถที่ประดับแล้ว. เมื่อเข้าสู่พระนคร เห็นฬาตัวหนึ่งเที่ยวอยู่ที่หลังคู บังคับบริวารที่มีกำลังว่า เจ้าจงผูกฬาตัวหนึ่งที่ปาก อย่าให้ร้องได้. แล้วห่อด้วยเสื่อลำแพน ให้นอนในเครื่องลาดแบกมา บริวารเหล่านั้นก็ทำตามสั่ง. พระโพธิสัตว์เข้าสู่พระนครด้วยบริวารมาก. มหาชนเห็นพระโพธิสัตว์มาดังนั้น ก็พากันชมเชยดูพระโพธิสัตว์ไม่รู้อิ่มว่า บุตรแห่งสิริวัฒกเศรษฐีนี้ชื่อว่า มโหสถบัณฑิต. เมื่อเธอเกิดมาก็ถือแท่งโอสถมาด้วย เธอรู้เปรียบเทียบปัญหาที่ทดลอง มีประมาณเท่านี้ได้. มโหสถไปถึงทวารพระราชฐาน ให้กราบทูลพระราชาให้ทรงทราบ. พระราชาทรงสดับว่ามโหสถมา ก็ทรงโสมนัสตรัสว่า มโหสถบุตรเรา จงรีบมาเถิด. มโหสถพร้อมด้วยเด็กพันหนึ่งเป็นบริวาร ขึ้นสู่ปราสาทถวายบังคมพระราชา ยืนอยู่ ณ ที่ส่วนหนึ่ง. พระราชาทอดพระเนตร เห็นมโหสถก็ทรงพระปราโมทย์. ตรัสปฏิสันถารอย่างอ่อนหวานว่า แน่ะบัณฑิต เจ้าจงรู้อาสน์ที่สมควรนั่งเถิด.

กาลนั้น พระโพธิสัตว์แลดูเศรษฐีผู้บิดา. ลำดับนั้น บิดาของมโหสถก็ลุกจากอาสน์ ด้วยสัญญาที่บุตรแลดูแล้ว. กล่าวว่า แน่ะบัณฑิต เจ้าจงนั่งที่อาสน์นี้. มโหสถก็นั่งที่อาสน์นั้น เสนกะ ปุกกุสะ กามินทะ เทวินทะ และชนเหล่าอื่นผู้โฉดเขลา ก็พากันตบมือสรวลเสเฮฮาเยาะเย้ยว่า คนทั้งหลายพากันเรียกคนโฉดเขลาผู้นี้ว่า บัณฑิต การเรียกผู้ที่ให้บิดาลุกจากอาสน์ แล้วตนนั่งเสียเองนี้ว่า บัณฑิต ไม่สมควร. พระราชามีพระพักตร์เศร้าหมอง ทรงเสียพระหฤทัย.

     

คำสำคัญ (Tags): #ทศชาติ#พระมโหสถ
หมายเลขบันทึก: 436079เขียนเมื่อ 20 เมษายน 2011 18:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 00:34 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ทูลถามพระราชาว่า พระองค์เสียพระราชหฤทัยหรือ พระเจ้าข้า. พระราชามีพระราชดำรัสตอบว่า เออ ข้าเสียใจ เพราะได้ฟังความเป็นไปของเจ้า ก็เป็นที่ยินดี แต่พอได้เห็นความเป็นไปของเจ้าก็เกิดเสียใจ เพราะว่าเจ้าให้บิดาของเจ้าลุกจากอาสน์ แล้วเจ้านั่งเสียเอง. มโหสถจึงทูลถามว่า ก็พระองค์ทรงสำคัญว่า บิดาอุดมกว่าบุตรในที่ทั่วไปหรือ. ครั้นตรัสตอบว่า เข้าใจอย่างนั้น. จึงกราบทูลว่า พระองค์พระราชทานข่าวไปว่า ให้ข้าพระบาทส่งม้าอัสดร หรือม้าประเสริฐกว่า ม้าสามัญมาถวายไม่ใช่หรือ พระเจ้าข้า. กราบทูลดังนี้แล้ว ลุกจากอาสน์ให้ทีแก่บริวารให้นำฬาที่นำมานั้น มาให้นอนแทบพระบาทยุคลแห่งพระเจ้าวิเทหราช แล้วกราบทูล ถามว่า ฬานี้ราคาเท่าไร พระเจ้าข้า. พระราชาตรัสตอบว่า ถ้ามันมีอุปการะราคามัน ๘ กหาปณะ. มโหสถทูลถามต่อไปว่า ก็ม้าอัสดรอาศัยฬานี้ เกิดในท้องนางม้าสามัญ หรือนางฬาอันเป็นแม่ม้าอาชาไนย ราคาเล่าไรเล่า พระเจ้าข้า. ครั้นพระราชาตรัสตอบว่า หาค่ามิได้ซิ เจ้าบัณฑิต. ดังนี้ จึงทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ เหตุไรตรัสดังนั้น. ก็พระองค์ตรัสเมื่อกี้นี้ว่า บิดาอุดมกว่าบุตร ในที่ทุกสถานมิใช่หรือ. ถ้าพระราชดำรัสนั้นจริง ฬาก็อุดมกว่าม้าอัสดรของพระองค์. พระองค์จงทรงรับฬานั้นไว้. ถ้าว่าม้าอัสดรอุดมกว่าฬาทั้งหลาย พระองค์จงทรงรับม้าอัสดรนั้นไว้. ก็เป็นอย่างไร บัณฑิตทั้งหลายของพระองค์ จึงไม่สามารถจะรู้เหตุเท่านี้ พากันตบมือหัวเราะเฮฮา โอ บัณฑิตทั้งหลายของพระองค์บริบูรณ์ด้วยปัญญา พวกนั้นพระองค์ได้มาแต่ไหน. ทูลฉะนี้ กล่าวเยาะเย้ยบัณฑิต ๔ คน แล้วทูลพระราชาด้วยคาถาในเอกนิบาตว่า

ข้าแต่พระราชาผู้ประเสริฐ ถ้าพระองค์ทรงสำคัญอย่างนี้ว่า บิดาประเสริฐกว่าบุตร ฬาของพระองค์นี้ก็ประเสริฐกว่าม้าอัสดร เพราะว่าฬาเป็นพ่อของม้าอัสดร.

คาถานั้นมีความว่า ข้าแต่พระราชาผู้ประเสริฐ ถ้าพระองค์ทรงสำคัญว่า บิดาประเสริฐกว่าบุตรในที่ทั้งปวง. ฬาตัวนี้ก็ประเสริฐกว่าแม้ม้าอัสดรของพระองค์ เพราะเหตุไร เพราะฬาเป็นพ่อของม้าอัสดร. ก็แลครั้นทูลอย่างนี้แล้ว พระมหาสัตว์ก็กราบทูลว่า ถ้าบิดาประเสริฐกว่าบุตรทั้งหลาย ขอได้ทรงรับบิดาของข้าพระองค์ไว้. ถ้าบุตรประเสริฐกว่าบิดา ขอได้ทรงรับข้าพระองค์ไว้ เพื่อประโยชน์แก่พระองค์. พระเจ้าวิเทหราชได้ทรงฟังคำนั้น ก็ทรงโสมนัส. ราชบริษัททั้งปวงก็แซ่ซ้องสาธุการว่า มโหสถบัณฑิตกล่าวปัญหาดีแล้ว เสียงปรบมือและการยกแผ่นผ้าเป็นพันๆ ได้เป็นไปแล้ว. บัณฑิต ๔ คนต่างมีหน้าเศร้าหมองซบเซาไปตามๆ กัน.

ปุจฉาว่า บุคคลผู้รู้คุณแห่งบิดามารดา เช่นกับพระโพธิสัตว์ ย่อมไม่มีมิใช่หรือ. เมื่อเป็นเช่นนั้น เหตุไรพระโพธิสัตว์จึงทำอย่างนี้.

วิสัชนาว่า พระโพธิสัตว์นั้นได้ทำอย่างนั้น เพื่อประสงค์จะดูหมิ่นบิดาก็หาไม่. ก็แต่พระราชาส่งข่าวไปว่า ให้ส่งม้าอัสดรหรือม้าประเสริฐกว่าม้าสามัญมาถวาย. เพราะฉะนั้น จึงทำอย่างนี้ เพื่อจะทำปัญหานั้นให้แจ่มแจ้ง เพื่อจะประกาศความที่ตนเป็นบัณฑิต และเพื่อจะทำอาจารย์ทั้ง ๔ มีเสนกะเป็นต้น ให้หมดรัศมี.

พระเจ้าวิเทหราชทรงยินดี จับพระเต้าทองคำอันเต็มด้วยน้ำหอม ทรงหลั่งน้ำนั้นลงในมือสิริวัฒกเศรษฐี. พระราชทานให้ปกครองปาจีนยวมัชฌคาม แล้วตรัสว่า เหล่าอนุเศรษฐีจงบำรุงสิริวัฒกเศรษฐี แล้วให้ส่งเครื่องสรรพาลังการ พระราชทานแก่นางสุมนาเทวีมารดาพระโพธิสัตว์. ทรงเลื่อมใสในปัญหาฬา จึงตรัสกะเศรษฐีเพื่อจะทรงรับ พระโพธิสัตว์ไว้เป็นราชบุตรที่รักของพระองค์ว่า

ดูก่อนคฤหบดีผู้เจริญ ท่านจงให้มโหสถบัณฑิตไว้เป็นราชบุตรแห่งเรา. เศรษฐีทูลค้านว่า ข้าแต่สมมติเทพ มโหสถบุตรของข้าพระองค์นี้ยังเด็กนัก. จนถึงวันนี้ กลิ่นน้ำนมในปากของเธอยังได้กลิ่นอยู่. ต่อในกาลเมื่อเธอเป็นผู้ใหญ่ เธอจึงอยู่ในราชสำนัก. พระราชาตรัสว่า จำเดิมแต่นี้ไป ท่านอย่าห่วงใยในมโหสถเลย. มโหสถนี้จักเป็นราชบุตรของเราแต่วันนี้ไป. เราพอจะเลี้ยงบุตรของท่านได้ ท่านจงกลับบ้านเถิด. ตรัสฉะนี้ แล้วมีพระราชานุญาตให้เศรษฐีกลับบ้าน. เศรษฐีถวายบังคมบรมกษัตริย์ แล้วสวมกอดมโหสถให้นอนแนบอก จุมพิตศีรษะ ให้โอวาทแก่มโหสถว่า แน่ะพ่อดุจดวงใจ ดุจดวงตาอันประเสริฐ พ่อมโหสถผู้บัณฑิต พ่ออย่าทำให้บิดาหาที่พึ่งมิได้. จำเดิมแต่นี้ไป พ่อจงบำรุงพระราชาของเราทั้งหลาย ด้วยความไม่ประมาทเถิด. มโหสถไหว้บิดาแล้วกล่าวว่า บิดาอย่าวิตกเลย แล้วส่งให้บิดากลับเคหสถานแห่งตน.

พระเจ้าวิเทหราชตรัสถามมโหสถว่า เจ้าจักเป็นข้าหลวงเรือนใน หรือข้าหลวงเรือนนอก. พระโพธิสัตว์คิดว่า บริวารของเรามีมาก ควรเราจักเป็นข้าหลวงเรือนนอก. จึงกราบทูลว่า ข้าพระองค์จักเป็นข้าหลวงเรือนนอก. ลำดับนั้น พระราชาจึงพระราชทานเคหสถานอันสมควร แล้วพระราชทานเสบียงและเครื่องอุปโภคทั้งปวง ตลอดถึงบริวารพันหนึ่ง. ตั้งแต่นั้นมา มโหสถบัณฑิตก็บำรุงพระราชา. ฝ่ายพระราชาก็ทรงใคร่จะทดลองมโหสถนั้นต่อไป.

๑๙. พระมโหสถบัณฑิต ทรงแก้ปัญหา หัวข้อว่า แก้วมณี มีความว่า

กาลนั้น แก้วมณีได้มีอยู่ในรังกาบนต้นตาลต้นหนึ่งที่ริมฝั่งสระโบกขรณี ไม่ไกลประตูเบื้องทักษิณแห่งพระนคร. เงาของแก้วมณีนั้น ปรากฏในสระโบกขรณี. ชนทั้งหลายทูลแด่พระราชาว่า แก้วมณีมีอยู่ในสระโบกขรณี. พระราชาตรัสเรียกเสนกะมาตรัสถามว่า แน่ะอาจารย์เสนกะ ได้ยินว่า มณีรัตนะปรากฏในสระโบกขรณี. ทำอย่างไร จึงจะถือเอาแก้วมณีนั้นได้. ครั้นเสนกทูลว่า ควรวิดน้ำถือเอา. จึงควรมอบการทำนั้นให้เป็นภาระของเสนกนั้น. อาจารย์เสนกให้คนเป็นอันมากประชุมกัน วิดน้ำโกยตมออกจากสระโบกขรณี. แม้ขุดถึงพื้นก็ไม่เห็นแก้วมณี เมื่อน้ำเต็มสระโบกขรณี เงาแก้วมณีก็ปรากฏอีก. เสนก แม้ทำดังนั้นอีก ก็ไม่เห็นแก้วมณีนั้นเลย. ต่อนั้น พระราชาตรัสเรียกมโหสถบัณฑิตมาตรัสว่า แก้วมณีดวงหนึ่งปรากฏในสระโบกขรณี. อาจารย์เสนกให้นำน้ำและโคลนออกจากสระโบกขรณี กระทั่งขุดพื้นก็ไม่เห็นแก้วมณีนั้น. เมื่อน้ำเต็มสระโบกขรณี เงาแก้วมณีก็ปรากฏอีก. เจ้าสามารถจะให้เอาแก้วมณีนั้นมาได้หรือ. มโหสถกราบทูลสนองว่า ข้อนั้นหาเป็นการหนักไม่ พระเจ้าข้า. เชิญเสด็จเถิด ข้าพระองค์จักแสดงแก้วมณีนั้นถวาย. พระเจ้าวิเทหราชได้สดับดังนั้น ก็ทรงดีพระหฤทัย ทรงคิดว่า วันนี้เราจักเห็นกำลังปัญญาของมโหสถบัณฑิต ก็เสด็จพร้อมด้วยข้าราชบริพารไปสู่ฝั่งโบกขรณี. พระมหาสัตว์ยืนที่ฝั่ง แลดูมณีรัตนะก็รู้ว่า แก้วมณีนี้ไม่มีในสระโบกขรณี มีอยู่บนต้นตาล. จึงกราบทูลว่า แก้วมณีไม่มีในสระโบกขรณี พระเจ้าข้า. ครั้นรับสั่งว่า แก้วมณีปรากฏในน้ำไม่ใช่หรือ. จึงให้นำภาชนะสำหรับขังน้ำมาใส่น้ำเต็ม. แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์ทอดพระเนตร แก้วมณีนี้หาได้ปรากฏในสระโบกขรณี แต่แห่งเดียวไม่. แม้ในภาชนะน้ำก็ปรากฏ. ครั้นตรัสถามว่า เจ้าบัณฑิต ก็แก้วมณีมีอยู่ที่ไหน จึงกราบทูลสนองว่า ข้าแต่สมมติเทพ เงาปรากฏในสระโบกขรณีบ้าง ในภาชนะน้ำบ้าง แก้วมณีไม่ได้อยู่ในสระโบกขรณี แต่แก้วมณีมีอยู่ในรังกาบนต้นตาล. โปรดให้ราชบุรุษขึ้นไปนำลงมาถวายเถิด. พระราชาก็ตรัสให้ราชบุรุษขึ้นไปนำแก้วมณีลงมา.

มโหสถบัณฑิตรับแก้วมณีจากราชบุรุษ แล้ววางในพระหัตถ์ของพระราชา. มหาชนให้สาธุการแก่มโหสถบัณฑิต. บริภาษอาจารย์เสนก ชมเชยมโหสถว่า แก้วมณีอยู่บนต้นตาล เสนกโง่ให้คนมากมายขุดสระ ทำลายสระโบกขรณี. แต่มโหสถบัณฑิตไม่ทำเช่นนั้น. แม้พระเจ้าวิเทหราชก็ทรงโสมนัส พระราชทานสร้อยมุกดาหาร เครื่องประดับพระศอของพระองค์แก่มโหสถ. พระราชทานสร้อยมุกดาวลีแก่เด็กผู้เป็นบริวารพันหนึ่ง. ทรงอนุญาตพระโพธิสัตว์ พร้อมบริวารให้ปฏิบัติราชการ โดยทำนองนี้.

จบปัญหา ๑๙ ข้อ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท