ประเพณีปักธงชัย


ประเพณีปักธงชัย

ประเพณีปักธงชัย

    ประเพณีปักธงชัย  เป็นประเพณีท้องถิ่นที่สำคัญชองอำเภอนครไทยประเพณีหนึ่งที่ได้ปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน  เนื่องจากชาวอำเภอนครไทยส่วนใหญ่มีความเชื่อ และยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นอย่างมาก
    ประเพณีปักธงชัยเป็นประเพณีที่ชาวนครไทยได้จัดทำขึ้น ในวันที่ 14 -15 ค่ำ เดือน 12 ซึ่งขึ้นอยู่กับความพร้อมของชุมชน  ชาวนครไทยในอดีตที่ประกอบด้วย ชาวบ้านวัดหัวร้อง บ้านในเมือง บ้านวัดเหนือ บ้านหนองลานและหมู่บ้านใกล้เคียงจะนำธงที่ชาวบ้านร่วมกันทอไปปักที่เขาช้างล้วง  ซึ่งเป็นเทือกเขาที่ทอดตัวขนานไปกับถนนสายนครไทย - ชาติตระการ ห่างจากตัวอำเภอนครไทยไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ  ประมาณ  6  กิโลเมตร  เป็นประจำทุกปี
    โดยชาวนครไทยส่วนใหญ่ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการนำธงไปปักบนยอดเขาช้างล้วงและความเชื่อเกี่ยวกับประเพณีปักธง ที่พอสรุปได้ดังนี้
    1.  เชื่อว่าการปักธงจะทำให้บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข กินดีอยู่ดี โดยมีความเชื่อว่าถ้าปีใดไม่ไปปักจะทำให้เกิดภัยพิบัติหรือเพทภัยต่างๆ ที่ทำให้ชาวบ้านเกิดความเดือดร้อนหรือเสียชีวิตได้ เนื่องมาจากสาเหตุต่างๆ เช่น นาคราชจะมาล้างบ้านล้างเมือง , ยักษ์จะมากินคน  หรือช้างจะมากินข้าวที่ชาวบ้าน ทำการเพาะปลูก  จากคำบอกเล่า ของพระครูประพัฒน์ธรรมคุณ เจ้าคณะอำเภอนครไทย และเจ้าอาวาสวัดเหนือ ได้กล่าวว่า ชาวบ้านได้ติดตามช้างไป  พบว่ารอยเท้าช้างจะหายไปบริเวณเขาช้างล้วงทุกปี  เป็นต้น   ความเชื่อในเรื่องนี้เป็นที่ยอมรับและกล่าวถึงอยู่เสมอในหมู่ชาวนครไทย  เพราะชาวบ้านหยิบยกเรื่องราว ที่ปีหนึ่งชาวนครไทยไม่ได้ไปปักธง ในปีนั้นชาวบ้านที่อยู่ในหมู่บ้านต่างๆ เสียชีวิตไปหลายคน ตั้งแต่บ้านวัดเหนือ จนถึงหัวร้อง ในช่วงเวลาเดียวกัน  ในปีนั้นชาวบ้านต้องขึ้นไปปักธงภายหลัง
    2.  ปักธงเพื่อระลึกถึงพ่อขุนบางกลางหาว เมื่ออพยพมาอยู่ที่เมืองนครไทย ( บางยาง ) ครั้งแรก  ได้เกิดการสู้รบกับพวกเจ้าของถิ่นเดิมที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ มีการต่อสู้รุกไล่กัน จนถึงเทือกเขาช้างล้วง ทัพของพ่อขุนบางกลางหาวประสบชัยชนะ จึงเอาผ้าคาดเอวของพระองค์ผูกปลายผ้า  ปักที่ยอดเขาช้างล้วง  ไว้เป็นอนุสรณ์ที่มีชัยชนะแก่ศัตรู และพระองค์ได้สั่งลูกหลานทั้งหลายไปปักธงจุดชนะศึก เพื่อรำลึกถึงชัยชนะของพระองค์ทุกปี  ถ้าปีใดไม่ขึ้นไปปักก็ขอให้มีอันเป็นไป
    3.  ผู้ปกครองนครไทย  คิดระบบการส่งข่าวสาร  เนื่องจากสมัยก่อน พวกฮ่อมักจะยกพวกมารังแกชาวนครไทย  จึงมีข้อตกลงกันระหว่างแม่ทัพนายกองว่า  เมื่อใดเห็นผ้าขาวม้า ชักขึ้นไปปักบนยอดเขาช้างล้วง ก็ให้เตรียมพลต่อสู้ศตรูเพื่อป้องกันบ้านเมือง
    จากคำบอกเล่าของประชาชนส่วนใหญ่ที่ได้ทำการสัมภาษณ์ จะให้เหตุผลว่า การที่เขาไปปักธงก็เพื่อให้บ้านเมืองและชุมชนนครไทยมีความสงบสุขเป็นหลัก  ดังที่ นางจำรัส ทองน้อย  กล่าวว่า ในสมัยที่เป็นเด็กและเป็นสาวไม่มีพิธีบวงสรวงพ่อขุนบางอย่างในปัจจุบัน การกล่าวถึงพ่อขุนบางจึงไม่มี ชาวบ้านเรียกชื่อประเพณีนี้ว่า  ประเพณีปักธง
    แต่ในปัจจุบันนี้ ความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องวีรกรรมของวีรบุรุษคือ พ่อขุนบางกลางหาว  จะได้รับความสนใจ และยอมรับในหมู่ชาวนครไทย มากกว่าเหตุผลอื่น  เห็นได้จากการตั้งชื่อประเพณีนี้ในปัจจุบันอย่างเป็นทางการคือ ประเพณีปักธงชัย
    จะด้วยเหตุผลใดก็ตามชาวนครไทยไปปักธงบนยอดเขาช้างล้วงเป็นประเพณีจนถึงทุกวันนี้
    การทำธง    ในอดีตเมื่อถึงเดือน 11  พระ และ ผู้นำชุมชน จะตีฆ้องบอกเรี่ยไรฝ้ายจากชาวบ้านละแวกหมู่บ้านของตน  แล้วจะนัดหมายกันว่าจะทำธงที่บ้านใคร คนใดคนหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบ้านของผู้ที่มีความสามารถในการทอผ้า หรือบ้านของผู้นำหมู่บ้าน  แต่ในการทอชาวบ้านจะมาช่วยกันทอ เพราะในอดีตผู้หญิงนครไทยสามารถทอผ้าได้ทุกคน  โดยชาวบ้านจะนำฝ้ายที่ปลูกจากบ้านของตนเองมารวมกันเป็นกองกลาง  บางส่วนจะนำเส้นด้ายมา  แล้วมาช่วยกันทำการทอเป็นผืนธง ซึ่งมีลำดับขั้นตอนพอสรุปได้ดังนี้
    1.  หีบฝ้าย   โดยการนำฝ้ายมาหีบเพื่อเอาเมล็ดออก
    2.  ดีดฝ้าย  คือการคือการเอาฝ้ายที่หีบแล้วไปตีเป็นปุย โดยใช้กงดีฝ้าย เพื่อให้ฝ้ายขยายตัวเหมือนสำลี
    3.  ล้อฝ้าย คือการนำเอาฝ้ายที่ดีดแล้วไปทำการล้อให้เป็นท่อนกลมยาวด้วยไม้ล้อ
    4.  ปั่นด้าย นำฝ้ายที่ล้อแล้วมาทำการปั่นหรือเข็นด้วยหลาปั่นด้าย  ซึ่งจะได้ด้ายที่เป็นเส้น
    5.  เปียด้าย เป็นการนำด้ายออกจากเมล็ดในด้วยไม้เปีย เพื่อให้ด้วยเป็นระเบียบและเป็นใจ
    6.  ชุบ    คือการนำเอาเส้นด้ายไปทำการชุบน้ำข้าว แล้วทำการทุบให้เปียกเสมอกัน  หลังจากนั้นจะนำเส้นฝ้ายไปต้มกับข้าวสารเพื่อให้เส้นด้ายมีความเหนียว เมื่อนำไปทอเป็นผืนธงจะไม่ขาดง่าย
    7.  คั้นและหวี  เมื่อต้มแล้วจะนำเส้นด้ายมาใส่ภาชนะทำการคั้น เมื่อคั้นเสร็จจึงนำไปตากให้แห้ง จากนั่นนำไปแช่น้ำแล้วนำมาปั้นให้สะเด็ด  จึงนำไปหวีโดยใช้แปรงหวีแล้วนำไปตากแดดให้แห้ง
    8.  เสาะ   เมื่อเส้นด้ายแห้งแล้วชาวบ้านจะนำมาใส่  ระวิง เพื่อทำการเสาะ (สาว) เส้นด้ายใส่กรุบุง
    9.  ค้นหรือขึงเครือหูก  โดยการกวักฝ้ายจากกงไปใส่กวักแล้วนำไปเกี่ยวกับหลักค้น เพื่อขึงเครือหูกทำเป็นเส้นยืน
    10.  ปั่นหลอด คือการนำเส้นด้ายไปใส่กง แล้วแกว่างหลาดึงเส้นด้ายออกจากกงเข้าไปในหลอด  เพื่อ เอาไปใช้ทำเป็นเส้นพุ่งหรือเส้นตำ
    11.  สืบหูกและทอเป็นผืนธง 
    โดยผู้ที่ทำการทอจะเป็นผู้หญิงในหมู่บ้าน ธง จะมีความกว้างประมาณ 50  เซนติเมตร  ยาวประมาณ 4 เมตร  บริเวณชายธงจะตกแต่งให้สวยงามด้วยใบโพธิ์ที่ทำจากไม้  แล้วนำไม้ไผ่ที่มีความยาว  1  ฟุต มาใส่หัวท้ายของผืนธง  เพื่อถ่วงให้ธงมีน้ำหนักจะได้ไม่ม้วนตัวเมื่อนำไปปักบนยอดเขา
    วิธีการทำธงของทั้ง  3  หมู่บ้าน คือหัวร้อง บ้านในเมือง และบ้านเหนือ จะมีลักษณะและวิธีการคล้ายคลึงกัน  เพียงแต่บางครั้ง    จะทำการทอธงก่อนวันปักธงประมาณ  1 วัน เรียกว่า “ การทำแบบจุลกฐิน”  การทอเช่นนี้จะสามารถทำได้ในลักษณะที่ชาวบ้านพากันบริจาคเส้นด้าย  จึงสามารถทอได้เลย อีกทั้งผืนธงมีความยาวไม่มาก  จึงทำให้สามารถทอเสร็จได้ในวันเดียว
    การทอธงของชาวนครไทยในอดีต นับเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งเสริมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและความสามัคคีกันของประชาชนในหมู่บ้าน  และยังแสดงถึงคุณค่าทางจิตใจและความรู้สึกของคนในชุมชน
    ในปัจจุบันนี้   การทำธงของแต่ละหมู่บ้านจะมีลักษณะของการเรี่ยไรเงินไปซื้อเส้นด้ายและนำมาทอ  เนื่องจากปัจจุบันชาวนครไทยปลูกฝ้ายเป็นจำนวนน้อย  หรือ จะนำเงินไปมอบให้ผู้ที่มีความชำนาญในการทอผงดำเนินการทอ เช่น ในปัจจุบันนี้ ผู้ที่ทอการทอธงของหมู่บ้านวัดหัวร้องคือ     นางคำทอง  ม่วงแก่น 
   









การนำธงไปปัก    เมื่อทำการทอธงและตกแต่งพื้นธงเรียบร้อยแล้ว  ในอดีตชาวบ้านจะมารวมกันที่วัด เช่น วัดเหนือหลังจากรวมกันเสร็จแล้ว ในบางปีชาวบ้านจะจัดขบวนแห่ธงไปตลาด โดยมีการสีซอ ตีฆ้อง ตีกลอง นำหน้าขบวน  ชาวบ้านจะร่ายรำกันอย่างสนุกสนาน  เมื่อแห่ธงเสร็จในตอนเย็นก่อนถึงวันปักธง  จะมีการเจริญพระพุทธมนต์เย็น  เพื่อฉลองธง
    เมื่อถึงตอนเช้า วัดแต่ละวัดจะมีการทำบุญตักบาตร  ชาวบ้านจะเตรียมอาหารมาทำบุญตักบาตรที่วัดของตน ถ้าคนใดจะขึ้นไปปักธงก็จะจัดเตรียมอาหารสำหรับตนเองและไปเลี้ยงเพลพระบนเขาด้วย การเดินทางขึ้นเขาเพื่อไปปักธง  ในสมัยก่อนจะเริ่มเดินทางหลังจากทำบุญและกินข้าวเสร็จ ชาวบ้านจะเตรียมแต่อาหารห่อขึ้นไป สำหรับน้ำจะไปเอาที่ถ้ำฉันเพล เนื่องจากคนที่ไปในสมัยก่อนมีจำนวนไม่มาก น้ำบริเวณบ่อหลังถ้ำฉันเพล จึงเพียงพอต่อการบริโภค 19
    ผู้ที่เดินทางขึ้นเขาเพื่อไปปักธง จะประกอบด้วยพระสงฆ์ ตามวัดที่ชาวบ้านได้นิมนต์ไว้ หรือที่ท่านมีศรัทธาไปเอง โดยจะเดินทางเท้าผ่านทุ่งนาและป่าไปที่เขาช้างล้วง  มีชาวบ้านหนองลาน  หนองน้ำสร้าง  บ้านบ่อไอ้จอก  บ้านนาหัวเซและบ้านเนินเพิ่ม   ซึ่งในสมัยก่อน
หมู่บ้านหนองลาน  จะทำธงไปปักด้วย โดยจะตกลงกับวัดเหนือ  ถ้าปีใดหมู่บ้านหนองลานไม่ทำไปวัดเหนือก็จะทำ ซึ่งแล้วแต่จะตกลงกัน   แต่ในปัจจุบันนี้  หมู่บ้านวัดเหนือจะทำธงไป  โดยหมู่บ้านหนองลานไปร่วมปักธง  ในการไปปักธงชาวบ้านจะเตรียมน้ำและอาหารติดตัวไป  นอกจากนี้อุปกรณ์อย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือ มีด เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทาง  ในการเดินทางชาวบ้านจะเดินทางเป็นกลุ่ม เป็นพวก ประกอบด้วย  หนุ่มสาว และผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีกำลังสามารถจะเดินทางขึ้นเขาได้  โดยมีพระเป็นผู้นำ ซึ่งส่วนใหญ่เจ้าอาวาสจากวัดเหนือ วัดกลาง และวัดหัวร้อง จากการสัมภาษณ์     พระครูพิพัฒน์ธรรมคุณ เจ้าอาวาสวัดเหนือ กล่าวว่า นับตั้งแต่บวชมาเป็นเวลา 39 พรรษา ท่านขึ้นเขา นำชาวบ้านไปปักธงทุกปี จนถึงประมาณปี พ.ศ.2537 ท่านเดินทางขึ้นเขาไม่ไหว  เนื่องจากสุขภาพไม่เอื้ออำนวย    จึงได้มอบหมายให้พระสงฆ์รูปอื่นไปขึ้นเขาแทน โดยท่านให้เหตุผลว่า ตลอดเวลา 30 กว่าปี ที่นำชาวบ้านขึ้นเขาเพราะต้องการไปปักธงตามประเพณี และพระมีบทบาทเป็นผู้นำชาวบ้าน นำธงไปปัก
    การเดินทางในอดีต ชาวบ้านกล่าวว่ามีความลำบากมาก  ไม่เหมือนกับสมัยนี้ ที่มีถนนไปถึงเชิงเขา ขณะที่เดินทางขึ้นเขาไปสู่ยอดเขาก็ไม่ลำบาก  เพราะทางราชการและผู้นำหมู่บ้านได้ทำการถางป่าไว้ล่วงหน้าแล้ว   ชาวบ้านไม่ต้องเกาะเถาวัลย์ขึ้นไปอีกแล้ว ทำให้สามารถเดินทางได้สะดวกสบายขึ้น  ระยะเวลาในการเดินทาง  จึงน้อยลงกว่าเดิมมากกว่าในสมัยก่อน    เนื่องจาก  ในอดีตเขาช้างล้วง  เป็นเขาที่มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์มาก   ทำให้ชาวบ้านต้องใช้มีดฟันดัดต้นไม้ต่างๆ  เพื่อให้สามารถที่จะเดินทางไปได้ นอกจากนั้นในการเดินทางต้องคอยระวังหนามไผ่ต่างๆ  แต่สิ่งที่ดีคือ ในขณะที่เดินทางขึ้นเขา  อากาศจะเย็นสบาย   ในขณะที่ปัจจุบันนี้พื้นที่ป่าลดลง  การเดินทางขึ้นเขาช้างล้วงอากาศจะร้อน  ทำให้ผู้ที่ขึ้นไปเหนื่อยได้ง่าย
    จากการเดินทางที่ยากลำบาก  ชาวนครไทยที่ไปปักธงในอดีต  ส่วนใหญ่จึงจะเป็น
ผู้สูงอายุ ที่มีครอบครัวแล้วและมีกำลังที่จะขึ้นได้ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว  นอกนั้นจะเป็นหนุ่มสาว  แต่ผู้หญิงที่ไปจะมีน้อย และผู้ที่ไปในอดีตส่วนใหญ่จะไปเพียงครั้งเดียว เท่านั้น   ในสมัยก่อนจะไม่ค่อยให้หนุ่มสาว  หรือเด็กไป เพราะเกรงว่า  ผีเรือเจ้าป่าเจ้าเขาอาจเกิดความพึงพอใจและอาจจะนำเขาไปอยู่ด้วย 


   









ในการเดินทางพระสงฆ์และชาวบ้าน จะเดินทางไปถึงยอดเขาอย่างช้าประมาณ  5  โมงเช้า  เพราะพระจะต้องฉันอาหารเพลที่ถ้ำฉันเพลซึ่งมีลักษณะเป็นเพิงถ้ำรอด  พื้นเป็นแผ่นหิน  มีความกว้างไม่มากเท่าใดนัก  พระสามารถนั่งได้ประมาณ  8 - 10 รูป  เมื่อไปถึงชาวบ้านจะถวายภัตราหารแก่พระสงฆ์  เนื่องจากถ้วยชามหรือภาชนะที่ใส่อาหารนั้น ขนไปด้วยความยากลำบาก ชาวบ้านจึงนิยมห่อข้าวด้วยใบตองไปรับประทาน
ในเรื่องภาชนะใส่อาหาร นางจำรัส  ทองน้อย  ชาวบ้านกลุ่มวัดกลาง เล่าถึงความเชื่อว่าที่มีว่า สมัยก่อนชาวบ้านจะนำอาหารไปเท่านั้น ถ้วยชาม ภาชนะที่ใส่อาหารถวายพระไม่ต้องเอาไป เพราะบนยอดเขาจะมีผู้จัดเตรียม ภาชนะที่จะใช้ใส่อาหารเลี้ยงพระ นอกจากถ้วยชามแล้ว บนยอดเขายังมีแก้วแหวน เครื่องประดับต่าง ๆ ให้ผู้ที่ไปประกอบพิธีปักธงชัย ใช้ประดับร่างกายให้งดงาม แต่เนื่องจากคนนครไทยรุ่นหลัง มีคนนิสัยไม่ดีขึ้นไปปักธง พวกเหล่านี้ ได้นำถ้วยชามและแก้วแหวน เครื่องประดับกลับลงมาด้วย ท่านจึงโกธรไม่จัดเตรียมสิ่งเหล่านี้ไว้ให้เช่นอดีตที่ผ่านมา นอกจากนี้ก่อนคืนปักธง 1 คืน ชาวบ้านจะได้ยินเสียงการตี   ฆ้อง    กลอง
ดังแว่ว มาจากเทือกเขาช้างล้วง
พอฉันเพลเรียบร้อยแล้ว ชาวบ้านจะรับประทานอาหารร่วมกัน หลังจากนั้นพระสงฆ์ และชาวบ้าน  จะนำธงของวัดเหนือปีนขึ้นบันไดไม้ไผ่ชั่วคราวที่ทำด้วยไม้ไผ่  ไปปักธงที่ยอดเขาฉันเพลเป็นแห่งแรก   เมื่อปีนถึงยอดเขาฉันเพลเรียบร้อยแล้ว  ผู้นำชาวบ้านจะกล่าวคำถวายธง อาราธนาให้พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา   ระหว่างที่พระสงฆ์กำลังสวดมนต์อยู่นั้นผู้นำชาวบ้านจะนำธงไปผูกกับลำไม้ไผ่  จากนั้นนำไปปักไว้ในหลุมบนยอดเขา  มีลักษณะเป็นร่องลึกสามารถเสียบด้ามธงได้   พร้อมกับกล่าวคำไชโยโห่ร้องทั้งผู้ที่อยู่บนยอดเขา  และผู้ที่เป็น กองเชียร์อยู่ที่ลานหินเบื้องล่าง แล้วนำก้อนหินไปทับเพื่อประคองเสา เมื่อปัก ธงเสร็จถือว่าเป็นอันเสร็จพิธี 24
    ในอดีต เมื่อพระและชาวบ้านเดินทางไปถึงเขาฉันเพลก่อนเวลา 11.00 น.(เวลาฉันเพล) พระและชาวบ้านก็อาจจะทำพิธีปักธงก่อน จากนั้นจึงมาฉันอาหารเพลที่ถ้ำฉันเพล
    ต่อมาพระและชาวบ้านจะเคลื่อนขบวนไปปักธงผืนที่ 2 ที่ยอดเขาย่านไฮ (ยั่นไฮ)  ซึ่งอยู่ห่างจากธงผืนแรก    ประมาณ  300  เมตร  พระ  และชาวบ้านที่มีความสามารถในการปีน
จะปีนบันไดขึ้นไปบนยอดเขา
    วิธีการปักธง  จะกระทำเช่นเดียวกับธงผืนแรก  โดยธงที่ปักบริเวณยอดเขายั่นไฮ จะเป็นธงของหมู่บ้านวัดกลาง ( บ้านในเมือง)
    แหล่งสุดท้ายที่จะทำการปักธง  ได้แก่  ยอดเขาช้างล้วง   ซึ่งมีลักษณะคล้ายลูกช้างนอนหมอบจึงเรียกว่า  เขาช้างล้วง  เป็นยอดเขาที่ใหญ่ที่สุด และปีนค่อนข้างยากลำบาก  เนื่องจากช่องเขาที่จะปีนจากข้างล่างขึ้นไปข้างบนยอดเขาค่อนข้างแคบ  ทำให้มีความเชื่อว่า  คนมีบุญเท่านั้นจึงจะสามารถลอดช่องเขาขึ้นไปข้างบนได้   ธงที่ทำการปักที่ยอดเขาช้างล้วงจะเป็น ธงของหมู่บ้านวัดหัวร้อง  เมื่อปักเสร็จแล้วจะถือว่าเสร็จพิธีการปักธงประจำปี  อันเป็นประเพณีท้องถิ่นของนครไทย
    ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็จะแยกย้ายเดินทางกลับ  ในขณะที่บางส่วนจะพากันชมความงามของป่าธรรมชาติและก้อนหินใหญ่น้อยที่มีความสวยงามและมีลักษณะแตกต่างกันไป  เนื่องจากการสึกกร่อนของหินตามธรรมชาติในบริเวณนี้  หรือบางส่วนชมทิวทัศน์เบื้องล่างของนครไทย  การเดินทางกลับในปัจจุบันนี้ใช้เวลาน้อยมากเมื่อเทียบกับอตีตที่กว่าชาวบ้านจะลงมาถึงพื้นที่ราบเบื้องล่าง  เป็นเวลาเย็น  ส่วนหนึ่งเป็นผลเนื่องมาจากการเดินทางลำบาก   อีกทั้งในขณะที่ลงมาจากเขา   ชาวบ้านจะพากันตัดไม้ไผ่มาใช้สำหรับเเผาข้าวหลาม  และทำไม้คานลงมาใช้ในชีวิตประจำวัน
    เดิมนั้นการปักธง  จะกระทำกันในหมู่บ้านที่อยู่ใกล้กับเขาช้างล้วง ไม่กี่หมู่บ้านดังที่ได้กล่าวมาแล้ว  ดังนั้นเพื่อเป็นการรักษาวัฒนธรรมพื้นบ้าน เมื่อประมาณ  พ.ศ.  2525    ทาง
อำเภอนครไทย  ได้เชิญชวนให้ชาวบ้านจากหมู่บ้าน และตำบลต่าง  ๆ   ทำธงมาร่วมประกวดในงานประเพณีปักธงชัย และนอกจากนี้ยังเพิ่มพิธีกรรมบวงสรวงพ่อขุนบางกลางหาว  มีขบวนแห่ธงจากตำบลต่างๆ  ในภาคกลางคืน ก็จะมีการแสดงมโหรสพ และประกวดธิดาพ่อขุนบางกลางท่าว    ทำให้ประเพณีปักธงชัย  ในสมัยนี้แตกต่างไปจากสมัยก่อน แต่ธงที่นำไปปักบนเขาช้างล้วงยังเป็นธงของสามหมู่บ้าน  ส่งผลทำให้งานประเพณีปักชัย  เป็นที่รู้จักแพร่หลายและเป็นประเพณีของชาวนครไทยทุกคน
    สิ่งที่เป็นวัตถุประสงค์ หรือแก่นของประเพณีปักธงชัย คือ การรำลึกถึงพระคุณของบรรพบุรุษและเป็นประเพณี ที่สร้างความมั่นคงทางจิตใจให้กับคนในสังคม สร้างความรักสามัคคีเกิดขึ้นในกลุ่มคน ยังคงอยู่ในขณะที่ส่วนอื่นที่เพิ่มมาเป็นเพียงเปลือก ที่จะทำให้ประเพณีปักธงชัย มีจุดขายที่น่าสนใจ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากท้องถิ่นอื่น ให้มาท่องเที่ยวในงานประเพณีปักธงชัย

หมายเลขบันทึก: 436035เขียนเมื่อ 20 เมษายน 2011 11:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 20:55 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท