ชีวิตที่พอเพียง : ๑๒๒๘. บอกกล่าวให้ผู้ถือหุ้น SCB ชื่นใจ


 

          ปีนี้ผมจะไม่ได้เข้าร่วมประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งจะประชุมในวันที่ ๕ เม.ย. ๕๔  เพราะผมไปประชุมและเรียนรู้เรื่อง University Governance ที่สหรัฐอเมริกา   จึงตั้งใจ สื่อสารกับผู้ถือหุ้นรายย่อยของธนาคาร ในฐานะที่ผมเป็นกรรมการอิสระของธนาคาร ซึ่งหมายความว่า ผมต้องทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นรายย่อย  ผลประโยชน์ของธนาคาร และผลประโยชน์ ของสังคมไทย

 

          ผมสังเกตว่า ในช่วงระยะเวลา ๑ - ๒ ปีที่ผ่านมา ธนาคารไทยพาณิชย์ทำงานอย่างขมักเขม้น มาก   โดยขยายผลิตภัณฑ์หรือธุรกิจออกไปหลายด้าน   และจัดพัฒนาระบบงานให้ทั้งรัดกุมขึ้นและ สามารถทำงานแบบกล้าเสี่ยง (take risk) ได้   กล่าวใหม่ว่า มีระบบ operational risk management ที่เข้มแข็งขึ้นอย่างมากมาย   เพื่อช่วยให้หน่วยธุรกิจทำธุรกิจแบบกล้าเสี่ยงมากขึ้น   โดยมีข้อมูลด้าน ความเสี่ยงให้รู้ตัว หรือมีสติ และมีปัญญา  รวมทั้งมีการจัดการความเสี่ยงถึง ๓ ด่าน ไม่ใช่ด่านเดียวที่ ระดับปฏิบัติการอย่างวิธีทำงานแบบเดิมๆ

 

          ธุรกิจธนาคารมีการเปลี่ยนแปลงมาก มีโกาสที่ยังไม่ได้เข้าไปทำธุรกิจเปิดกว้างอีกมาก   แต่ก็มีการแข่งขันสูง และมีความเสี่ยงสูงหากไม่รู้งาน หรือทำงานนั้นไม่เป็น  ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ขมักเขม้นเรียนรู้วิธีทำธุรกิจใหม่ๆ เหล่านี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

          ธนาคารไทยพาณิชย์ได้เสาะหาทีมงานระดับบริหารที่เข้มแข็งมาก ทั้งด้านธุรกิจ และด้านการ จัดการความเสี่ยง มาเสริมทีมงานที่มีอยู่แล้ว   จุดที่ผมชื่นชมมากคือ ทีมบริหารความเสี่ยงเขามี กระบวนทัศน์ที่น่าสนใจมาก   คือมุ่งทำงานเพื่อช่วยให้ฝ่ายธุรกิจเข้าใจบรรยากาศและสภาพแวดล้อม ของธุรกิจ จากมุมมองด้านความเสี่ยง เสริมมุมมองด้านโอกาสที่ฝ่ายธุรกิจเก่งอยู่แล้ว

 

          เท่ากับทีม operational risk management ทำงานเพื่อผล ๒ ด้าน คือด้านเสริมความ เข้มแข็งของธุรกิจ   และด้านระมัดระวังอันตราย

 

          บริการความระมัดระวังในการทำธุรกิจธนาคารอีกส่วนหนี่งมาจากธนาคารแห่งประเทศไทย   ซึ่งธนาคารไทยพาณิชย์ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด   และผมเข้าใจว่ากฎข้อบังคับและข้อสังเกตจาก ธปท. มีประโยชน์ต่อการทำงานอย่างระมัดระวัง และป้องกันความเสี่ยงของธนาคารเป็นอย่างมาก ซึ่งหมายความว่า มีคุณประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นของธนาคารเป็นอย่างมากด้วย   เราควรขอบคุณ ธปท. ด้วย

 

          ธุรกิจการเงิน เป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจ   ยิ่งในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรี ระบบธุรกิจ การเงินที่เข้มแข็งของประเทศ ย่อมมีความสำคัญต่อความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจของประเทศ เป็นอย่างยิ่ง   ระบบธุรกิจการเงินจะเข้มแข็งได้ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย   ผมโชคดีที่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง เรียนรู้กิจการขององค์กรที่ดียิ่ง มีระบบกำกับดูแลที่เข้มแข็ง มีทีมงานจัดการที่เก่งกล้า และมีการเรียนรู้ เพื่อให้เก่งกล้ายิ่งขึ้น

 

          ชีวิตของผมในช่วงเวลา ๕ ปีหลัง ได้เข้าไปเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับองค์กรต่างๆ จำนวนมาก  องค์กรที่ผมพบว่ามี dynamism สูงสุดคือธนาคารไทยพาณิชย์  เข้าใจว่าธนาคารที่เข้มแข็งต้องมี คุณลักษณะอย่างที่ผมเห็น  เพราะหากไม่มีลักษณะเช่นนี้ จะไม่สามารถแข่งขันอยู่รอดในท่ามกลาง การแข่งขันสูงของตลาดทุนนิยมเสรีได้

 

 

 

วิจารณ์ พานิช
๒๒ มี.ค. ๕๔
   

หมายเลขบันทึก: 436008เขียนเมื่อ 20 เมษายน 2011 09:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท