ภาพปัจจุบันการเกษตรไทย


เขียนโดย รศ.ดร.สมศักดิ์ เพียบพร้อม (คัดจาก นสพ.โพสต์ทูเดย์) วันอังคารที่ 19 เมษายน 2554 เวลา 17:04 น.
 
 
 

ภาคเกษตรกรรมเป็นแหล่งรายได้ของชาติและแหล่ง อาหารเลี้ยงคนไทย แต่ปัจจุบันรายได้เฉลี่ยของเกษตรกรด้อยกว่าคนทำงานอุตสาหกรรมบริการเกือบ 9 เท่า รวมทั้งความแปรปรวนของธรรมชาติและความไม่แน่นอนด้านราคา

การเกษตรกรรมของไทยได้รับการยอมรับโดยทั่วไปว่าเป็นภาคส่วนเศรษฐกิจที่มี บทบาทและความสำคัญในการสร้างคุณูปการให้ประเทศชาติหลายประการ

ประการแรก เป็นแหล่งผลิตอาหาร (ข้าว ปลา เนื้อ นม ไข่) และเส้นใย รวมทั้งพลังงานทดแทน (ในรูปของไบโอดีเซลและเอทานอล) ที่สำคัญ มีส่วนช่วยเสริมสร้างความมั่นคงและภูมิคุ้มกันให้กับประเทศ โดยประชาชนไทยมีอาหารการกินอย่างพอเพียงกับความต้องการ และมีภาวะค่าครองชีพอยู่ในเกณฑ์ต่ำ หากพิจารณาจากอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของประเทศไทยในช่วงปี 2548-2552 ซึ่งมีค่าเฉลี่ยเพียง 3.21% ต่อปี และต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของโลก (3.39%) และของกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาในเอเชีย (4.79% ต่อปี) ในช่วงเวลาเดียวกัน

ประการที่สอง ภาคเกษตรไทยเป็นแหล่งที่มาของเงินรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศให้แก่ ประเทศไทยปีละหลายหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี เช่น ในปี 2552 ประเทศไทยสามารถส่งออกสินค้าเกษตรในรูปแบบของสินค้าเกษตรกรรม เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ไก่ กุ้ง เป็นต้น และในรูปของสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร เช่น อาหารทะเลกระป๋อง น้ำตาลทราย ผลไม้กระป๋อง อาหารสัตว์ เป็นต้น รวมคิดเป็นมูลค่าถึง 31,468 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยถึง 9.44 แสนล้านบาท เท่ากับ 8.2% ของมูลค่าส่องออกทั้งหมดของประเทศ

ประการที่สาม ภาคเกษตรของไทยยังมีส่วนเกื้อหนุนให้เกิดการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมและ บริการ ซึ่งต้องพึ่งพาวัตถุดิบและแรงงานที่ได้มาจากภาคเกษตรเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ภาคเกษตรยังเป็นตลาดรับซื้อสินค้าและบริการที่สำคัญของภาค อุตสาหกรรมและบริการ

ปัญหาบั่นทอนความเข้มแข็ง

ปัจจุบัน ภาคเกษตรของไทยยังคงมีปัญหาภายในหลายประการ ทำให้ภาคเกษตรอ่อนแอและเปราะบาง เปรียบเสมือนกับ “คนอมโรค” ที่จำเป็นต้องได้รับการเยียวยาแก้ไข โดยปัญหาหลักที่สำคัญๆ ของภาคเกษตรไทย ได้แก่

1. ปัญหาด้านการผลิตของภาคเกษตร มีผลิตภาพหรือขีดความสามารถในการผลิตสินค้าค่อนข้างต่ำหากเปรียบกับประเทศ คู่แข่ง เมื่อพิจารณาจากผลิตภัณฑ์มวลรวม (หรือ GDP) ของภาคเกษตรต่อจำนวนแรงงานในภาคเกษตรของไทยในปี 2551 เท่ากับ 3,157 เหรียญสหรัฐต่อคน และต่ำกว่าของประเทศจีนไต้หวัน (19,359 เหรียญสหรัฐต่อคน) และฟิลิปปินส์ (3,468 เหรียญสหรัฐต่อคน) หรือพิจารณาเทียบเคียงจากจำนวนผลผลิตเฉลี่ยต่อพื้นที่เพาะปลูกของพืช เศรษฐกิจหลักที่สำคัญ เช่น ข้าว พบว่าในปี 2552 ผลผลิตข้าวเฉลี่ยของไทยเท่ากับ 460 กิโลกรัมต่อไร่ ต่ำกว่าเวียดนาม (820 กิโลกรัมต่อไร่) จีน (939 กิโลกรัมต่อไร่) สหรัฐอเมริกา (1,000 กิโลกรัมต่อไร่) และของญี่ปุ่น (1,083 กิโลกรัมต่อไร่) ตามลำดับ

สาเหตุสำคัญที่ทำให้การเกษตรของไทยมีผลิตภาพการผลิตต่ำกว่าคู่ประเทศคู่ แข่งดังกล่าวมาจากพื้นที่การเกษตรที่ถูกนำมาใช้ในการผลิตส่วนใหญ่ถึง 81% ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมดของไทยอยู่นอกเขตชลประทานในจำนวนนี้ยังพบว่าเป็น พื้นที่เสี่ยงต่อภาวะแห้งแล้งหรือขาดแคลนน้ำถึง 23 ล้านไร่

ผู้ผลิตหรือเกษตรกรยังมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 60% ในปี 2529 ลดลงเหลือเพียง 40% ของแรงงานทั้งหมดของประเทศในปี 2550 และจำนวนเกษตรที่เหลืออยู่นี้ยังอายุเฉลี่ยค่อนข้างสูง โดยเพิ่มจากอายุเฉลี่ย 40 ปีต่อคนในปี 2545 เป็นอายุราว 51 ปีต่อคนในปี 2550 ทำให้นึกถึงภาพของประเทศไทยที่ปล่อยให้คนที่สูงวัยต้องมาแบกรับภาระในการ ผลิตสินค้าเกษตรและอาหารให้กับคนทั้งประเทศ

สาเหตุสำคัญเกิดจากอาชีพทำการเกษตรมีรายได้ค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบ กับอาชีพอื่น เช่น ในปี 2551 พบว่ารายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีของเกษตรกรเท่ากับ 52,240 บาทต่อคนต่อปี ต่ำกว่ารายได้เฉลี่ยของผู้ประกอบอาชีพอื่นทางด้านอุตสาหกรรมบริการเกือบ 9 เท่า

2. ปัญหาด้านราคาและตลาดของสินค้าเกษตรมีความแปรปรวนไม่แน่นอน ทำให้อาชีพทำการเกษตรมีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง ยากต่อการบริหารจัดการ โดยเฉพาะเกษตรกรรายเล็กรายย่อย ขาดทักษะในการบริหารความเสี่ยงเหล่านี้ ทั้งยังพบว่าต้นทุนทางการตลาดของสินค้าเกษตรที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งและ กระจายสินค้า (Logistic) ของประเทศค่อนข้างสูง เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่ง เช่น จีน และมาเลเซีย ส่งผลให้ขีดความสามารถในการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยลดลงและเสียเปรียบคู่ แข่ง

3. ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการเกษตร เนื่องจากเกิดการอพยพเคลื่อนย้ายของแรงงานที่เคยอยู่ในภาคเกษตรกรรมไปทำงาน ในภาคอุตสาหกรรมและบริการ ประกอบกับแรงงานที่เหลืออยู่ในภาคเกษตรปัจจุบันมีอายุค่อนข้างสูง จะส่งผลอย่างมากต่อประสิทธิภาพในการผลิตสินค้าเกษตร

4. ปัญหาเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าเกษตร เนื่องจากกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ของไทยในปัจจุบันมีแนวโน้มในการ ใช้สารเคมีค่อนข้างสูงเพื่อเพิ่มผลผลิต และป้องกันกำจัดโรคแมลงและศัตรูพืช โดยมีการใช้สารเคมีเพิ่มขึ้นจาก 3.73 ล้านตัน ในปี 2545 เป็น 3.87 ล้านตัน ในปี 2552

นอกจากนี้ ยังพบว่ามีปริมาณการนำเข้าสารกำจัดแมลงศัตรูพืชและสารป้องกันและกำจัดโรคพืช รวมกันเพิ่มจาก 37,396 ตัน ในปี 2545 เป็นจำนวนถึง 114,015 ตัน ในปี 2552 การเพิ่มขึ้นของการใช้สารเคมีดังกล่าวนับว่าเป็นเรื่องที่น่ากังวลเป็นอย่าง ยิ่ง เพราะจะมีผลต่อสุขภาพและความปลอดภัยทั้งต่อผู้บริโภคและเกษตรกรผู้ผลิตเอง รวมทั้งเป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยไปยังตลาด ต่างประเทศ

5. ปัญหาการเกิดโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำในการผลิต ทั้งพืช ปศุสัตว์ และสัตว์น้ำ เช่น การเกิดโรคไข้หวัดนก โรคไข้หวัดหมู โรควัวบ้าในโคและกระบือ หรือในกรณีเกิดการระบาดของเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลัง เป็นต้น ทำให้เกิดความเสียหายทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพของผลิตผล ตลอดจนอาจถูกต่างประเทศนำเอาไปเป็นข้ออ้างในการกีดกันการนำเข้าสินค้าเกษตร และอาหารจากประเทศไทย

6. ปัญหาที่มีแนวโน้มจะเกิดในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากปัจจัยการผลิตหลักที่สำคัญคือ ที่ดินและน้ำเริ่มมีปริมาณและคุณภาพลดลง จพนำไปสู่ปัญหาการบุกรุกพื้นที่สาธารณะและป่าสงวนรวมทั้งเกิดการแย่งชิงน้ำ ที่รุนแรงมากขึ้น

นอกจากภาคเกษตรของไทยจะต้องเจอกับปัญหาดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังต้องเผชิญกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก หรือปัจจัยภายนอกทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และเทคโนโลยี และโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศหรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “โลกร้อน” (Global warning)

ปัจจัยภายนอกเหล่านี้จะเป็นตัวผลักดันให้เกิดผลที่เป็น “คุณ” (โอกาส) หรือ “โทษ” (วิกฤต) ต่อภาคการเกษตรของ ไทยอย่างใหญ่หลวงในอนาคต

หมายเลขบันทึก: 435978เขียนเมื่อ 19 เมษายน 2011 21:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 17:44 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรียนท่าน พล็อกพร้าว 

ขออนุญาตินำบันทึกท่าน ไปลิงค์ไว้ใน บันทึก ออกปากเก็บข้าวที่นาปะขอ ย่ะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท