รัชดาวัลย์ วงษ์ชื่น(อิงจันทร์)
รัชดาวัลย์ วงษ์ชื่น(อิงจันทร์) ครูตาล วงษ์ชื่น

กาขาว : วรรณกรรมศาสนา "กำเนิดของพระโพธิสัตว์"


 

        หลายวันก่อน ครูอิงได้ไปของาน ท่านวิโรจน์ พูลสุข ทำ เนื่องจากเห็นว่าท่านคงมีงานทำมากมายและอาจทำไม่ทัน ท่านจึงให้งานชิ้นหนึ่งมาทำ นั่นคือแนะนำให้ครูอิงได้รู้จักกับ สำนักปฏิบัติธัมมะถิ่นกาขาว ซึ่งขณะที่บันทึกอยู่นี้ ครูอิงก็เปิดฟังไปด้วย ที่นี่ค่ะ http://www.thinkakhao.net/vittayuonline/index.php วันใดขยันก็ตื่นมาตอนตีห้า ฟังไปด้วยทำงานไปด้วย

         เกิดความสงสัยตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ยินชื่อ สำนักปฏิบัติแห่งนี้ ทำไมต้อง "ถิ่นกาขาว" วันนี้จึงได้โอกาส รื้อตำรับตำราที่มีมาตั้งแต่สมัยเรียน ทำให้พอจะสันนิษฐานถึงที่มาของ "ถิ่นกาขาว" ดังนี้ค่ะ

         กาขาว เป็นวรรณกรรมศาสนา ซึ่งอธิบายกำเนิดของพระโพธิสัตว์ในภัทรกัปทั้ง ๕ องค์ ต้นฉบับเป็นบุดขาว ที่มาของเรื่องอาศัยเค้าเรื่องจากนิทานมุขปาฐะ สรุปได้ว่า

          กาขาวผัวเมียออกไปหากิน ทิ้งไข่ไว้ในรัง ๕ ฟอง เกิดพายุใหญ่พัดไข่หล่นลงน้ำและลอยไปติดตลิ่ง  แม่ไก่   แม่นาค  แม่เต่า  แม่โค  และแม่ราชสีห์เก็บไปไว้ ภายหลังไข่ได้แตกออกเป็นมนุษย์ จึงให้นามตามวงศ์ของแม่สัตว์ที่เก็บไข่มาแต่ละฟอง คือ

          ทารกที่เกิดจากไข่ซึ่งแม่ไก่เก็บมาให้นามว่า  กุกกุสันโท

          ทารกที่เกิดจากไข่ซึ่งแม่นาคเก็บมาให้นามว่า  โคนาคม

          ทารกที่เกิดจากไข่ซึ่งแม่เต่าเก็บมาให้นามว่า  กัสสปะ

          ทารกที่เกิดจากไข่ซึ่งแม่โคเก็บมาให้นามว่า  โคดม

          ทารกที่เกิดจาไข่ซึ่งแม่ราชสีห์เก็บมาให้นามว่า  ศรีอาริย์

          ส่วนกาสองผัวเมียเมื่อกลับรังไม่เห็นไข่ก็เศร้าโศก กลั้นใจตายไปเกิดในสวรรค์เป็น กาพรหม

          เมื่อทารกต่างก็เจริญวัย เห็นลักษณะรูปร่างของตนไม่เหมือนกับแม่ที่ชุบเลี้ยงก็สอบถามจนได้ความจริง และต่างก็ออกบวชเป็นฤาษีบำเพ็ญศีลภาวนาเพื่อให้ได้พบแม่ที่แท้จริง ผลที่สุดก็ร้อนถึงกาพรหมต้องแปลงกายเป็นกาขาวลงมาพบและบอกว่าถ้าคิดถึงให้เอาด้ายดิบฟั่นแล้วฉีกเป็นรูปตีนกา จุดประทีปลอยคงคาเดือน ๑๒ บูชาแก่นาง  หลังจากที่ฤาษีทั้งห้าตนได้พบกับกาขาวแล้ว ต่างก็รักใคร่ห่วงใยกันฉันพี่น้อง และมุ่งมั่นบำเพ็ญภาวนาเมื่อสิ้นอายุขัยได้ไปปฏิสนธิยังสวรรค์ชั้นดุสิต

         เรื่องกาขาวเขียนตามคติพุทธ คือองค์พระโพธิสัตว์มุ่งสร้างสมบุญบารมี บำเพ็ญตนเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้พ้นจากห้วงทุกข์มิได้หวังความหลุดพ้นเพียงลำพัง คติอันนี้เป็นปณิธานอันสูงส่ง

         นอกจากนี้เรื่องกาขาว ยังมุ่งสอนพุทธบริษัทให้เข้าใจหลักธรรมและแนวทางการปฏิบัติตามครรลองของศาสนา หลักธรรมที่เรื่องนี้กล่าวถึงได้แก่ หลัก "ไตรลักษณ์" ซึ่งกล่าวถึงสภาพอันเป็นธรรมดาของชีวิต คือ เป็นทุกข์ เป็นอนิจจัง และเป็นอนัตตา โดยเฉพาะเรื่องที่ว่าด้วยทุกข์นั้น ได้กล่าวเป็นเชิงเปรียบเทียบกับ กาสองผัวเมีย เพื่อให้รู้เท่าทันทุกข์ว่า

         รักควายรักงัว(วัว)   นีกเมียรักผัว  รักตัวรักตน

อย่าได้หลงรัก         รักไม่เป็นผล    เมื่อจะสิ้นชนม์

มารประจญด้วยรัก

         ให้ดูเยี่ยงกา   ครวญคร่ำร่ำหา     ทั้งห้าพุทธองค์

เมื่อใกล้มรณา          ชีวาปลดปลง        ตั้งอารมณ์ลง

รักองค์พุทโธ

ให้จิตสำราญ     อย่าให้เดือดดาล   โทโสโมโห

ระงับโลภะ            โมหะหัทโย          ให้แจ่มมโน

ดั่งสุริโยโคจร

ถึงเป็นมนุษย์    ยังไม่บริสุทธิ์        เที่ยงแท้แน่นอน

เที่ยวพะวงหลงของ   ไม่ตรองข้อขอน    ครั้นถึงม้วยมรณ์

จิตจรสู่ทุกข์

         ถึงเป็นเดียรัจฉาน รักของต้องการ  ได้พานความสุข

คือกาสองตัว         ผัวเมียได้สนุก        ได้ไปไกลทุกข์

เสวยสุขสำราญ

     สองกาภิรมย์  อาหรม(รมณ์)เชิ่น(ชื่น)บาน อยู่ตั้งสมาธิ

ปิติด้วยญาณ        ยืนยาวช้านาน         ดังการกล่าวมา

          เรื่องกาขาว  มีเนื้อหาเชื่อมโยงกับเรื่องพระเจ้าห้าองค์ โดยเรื่องกาขาวเป็นเนื้อความตอนต้น ส่วนเรื่องพระเจ้าห้าองค์ เป็นเนื้อความตอนปลาย และเรื่องทั้งสองนี้นิยมเล่าควบคู่กัน 

หมายเลขบันทึก: 435566เขียนเมื่อ 16 เมษายน 2011 22:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีค่ะ...ครูอิง...

  • มาศึกษาเรื่อง "ถิ่นกาขาว" ค่ะ เพราะเคยอ่านในคำทำนายก็มีเรื่องเกี่ยวกับ ถิ่นกาขาว ไม่ทราบว่าจะใช่เรื่องเดียวกันหรือไม่?...
  • ขอบคุณค่ะ...

สวัสดีค่ะผอ บุศย์

Ico48
  • กาขาว เป็นวรรณกรรมพุทธศาสนา ที่มีเค้าเรื่องมาจากวรรณกรรมมุขปาฐะ อาศัยการบอกกล่าวเล่าต่อสืบทอดกันมา
  • มีหลายสำนวนมากค่ะ แต่ะสำนวน มีเนื้อหาที่แตกต่างกันออกไป  สำหรับ กาขาวที่ครูอิงนำมาเผยแพร่นี้เป็นของภาคใต้ค่ะ ในภาคใต้เองก็มี กาขาว หลายสำนวนค่ะ ที่แต่งเป็นกลอนก็มีค่ะ
  • ไม่ว่าจะสำนวนใด ก็สรุปเนื้อหาจริง ๆ ก็อยู่ที่ ประวัติการเกิดพระโพธิสัตว์ หรือ พระเจ้าห้าองค์ และเรื่องพระเจ้าห้าองค์  ก็มีหลายสำนวนอีกเช่นกันค่ะ บันทึกหน้ามาติดตามเรื่องพระเจ้าห้าองค์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต่อเนื่องกับเรื่อง  กาขาว  ค่ะ

สวัสดีค่ะคุณครูอิง

  •  เข้ามาที่นี่เย็นฉ่ำถึงภายใน  ทั้งรูปภาพและเนื้อหาสาระ 

ได้หลักธรรมพร้อมนิทานนำไปสอนนักเรียนได้เลย  แต่ที่ได้

มากกว่าคือสอนใจตัวเราเองให้รู้เท่าทันทุกข์

เคยได้ยินแต่คำถิ่นกาขาว เพิ่งจะทราบที่มา

ขอบคุณค่ะ

"ครูอิงมีห้องมากมาย  ตามหายากจังเลย"

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท