ตอน การขอย้ายครั้งที่ 5 ของชีวิตรับราชการ


ตอน การขอย้ายครั้งที่ 5 ของชีวิตรับราชการ

 

 

ตอน  การขอย้ายครั้งที่ 5 ของชีวิตรับราชการ

 

                ระหว่างที่ผู้เขียนได้ดำรงตำแหน่งบุคลากร 6 ที่สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอสามเงา สปจ.ตาก อยู่นั้น ในระหว่างเดินทางกลับมาบ้านที่อำเภอพรหมพิรามทุกสัปดาห์ (ซึ่งในขณะนั้นจะเดินทางโดยรถประจำทาง เนื่องจาก ยังไม่ได้ซื้อรถยนต์)...ผู้เขียนก็ได้ศึกษาต่อระดับปริญญาโท ณ สถาบันราชภัฏพิบูลสงคราม โดยเริ่มเป็นปีแรกในการศึกษาต่อ...เนื่องจากถูกพ่อบ้านบังคับให้ศึกษาต่อ เพราะใจจริง ๆ แล้วเหนื่อยต่อการเดินทางอยู่แล้ว...แต่เมื่อพ่อบ้านบอกว่าความรู้เพียงเท่านี้ ไม่สามารถเป็นหัวหน้าเขาได้หรอก...ก็เลยทำให้ผู้เขียนตัดสินใจศึกษาต่อในระดับปริญญาโท...

                เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2544 ผู้เขียนก็ได้รับคำสั่งให้ย้ายมาดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป (หัวหน้างานบริหารงานทั่วไปและงานแผนและงบประมาณ) สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอนครไทย สปจ.พิษณุโลก และเหตุการณ์ที่ครอบครัวเราคาดไม่ถึงก็เกิดขึ้น...เนื่องจากเดิมพ่อบ้านบอกกับผู้เขียนว่า “จะเป็นผู้ดูแลลูก ๆ เอง เพราะพ่อบ้านทำงานอยู่ที่อำเภอพรหมพิราม คงไม่ได้ย้ายไปไหนหรอก”...เหตุการณ์นี้ไม่เป็นไปอย่างที่ครอบครัวของเราคิดไว้ตั้งแต่แรก...สาเหตุเนื่องมาจาก หน่วยงานที่พ่อบ้านสังกัดอยู่ คือ สำนักงานสหกรณ์อำเภอ ถูกยุบรวมให้ไปอยู่กับสำนักงานสหกรณ์จังหวัดพิษณุโลก...จึงทำให้ครอบครัวเราที่แตกแยกอยู่แล้ว กลับต้องแตกแยกอีก คือ แม่อยู่อำเภอนครไทย พ่ออยู่อำเภอเมือง ลูกอยู่อำเภอพรหมพิรามกับตา...

                ความที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น...มีแต่ครอบครัวของเราที่เข้าใจความรู้สึกซึ่งกันและกัน ได้แต่ปลอบใจกันว่า “ไม่เป็นไร พวกเราต้องอดทน” อดทนต่อปัญหาและอุปสรรคที่ครอบครัวของเราจะได้รับ ไม่มีใครจะรู้เท่ากับครอบครัวของเรา...ผู้เขียนก็ยังเดินทางไป – กลับ ทุกสัปดาห์ เพื่อจะได้รับรู้ถึงคำว่า “ครอบครัว” เมื่อ พ่อ – แม่ – ลูก ได้อยู่ด้วยกัน แม้จะเป็นสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ก็ดูจะดีแล้วสำหรับครอบครัวของเรา...ถ้ามีปัญหา อย่างมากก็โทรศัพท์คุยกัน เล่าเรื่องราวให้กันได้รับฟัง...จนผู้เขียนได้เรียนจบการศึกษาระดับปริญญาโท เป็นเวลา 2 ปีเต็ม...

          จากการที่ได้มาดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป (หัวหน้างานบริหารทั่วไปและงานแผนงานและงบประมาณ) ทำให้ได้รับความรู้ + ประสบการณ์ในการทำงานด้านงานบริหารทั่วไป ซึ่งพวกพี่ ๆ บางคนแซวกับผู้เขียนว่า เป็นลักษณะงานบริหารงานไปมั่ว หรือ งานบริหารมั่วไป หรืองานบริหารไปทั่ว แล้วแต่พี่ ๆ เขาจะเรียกกัน...สมัยตอนเป็นเด็ก ๆ เมื่อได้ยินคำแบบนี้ ผู้เขียนก็จะยิ้ม เพราะไม่เข้าใจในคำพูด...แต่เมื่อมาถึงสภาพที่ตนเองเป็นหัวหน้างานบริหารงานทั่วไปนี้ ทำให้ทราบว่า...”ไม่ใช่แบบที่พวกพี่ ๆ เขาคิด เขาพูดกันหรอก”...เพราะงานบริหารงานทั่วไป เป็นลักษณะงานที่ปฏิบัติไม่เหมือนกับงานบุคคล หรืองานเกี่ยวกับแผนงานและงบประมาณ ซึ่งสองงานหลังจะเป็นงานชิ้นงานใหญ่...ดูเหมือนงานสำคัญกว่า แต่ความจริงไม่ใช่เลย...”ทุก ๆ งาน มีความสำคัญเท่ากันทุกงาน ถ้าวัดจาก “ผลงาน””...ที่เกิดขึ้น...

                งานบริหารทั่วไป เป็นลักษณะงานเบ็ดเตล็ด เป็นงานชิ้นย่อย ๆ ในงานชิ้นย่อย ๆ เมื่อรวมกันแล้วก็เป็นงานชิ้นใหญ่ เป็นลักษณะงานกระจุกกระจิก ถ้าใครทำงานชิ้นนี้ได้ ถือว่า มีความอดทน + ความพยายามสูง เพราะต้องทนกับสภาพการถูกว่ากล่าวจากหัวหน้า หรือจากเพื่อนร่วมงาน จากคนรอบข้าง... เมื่องานเกิดปัญหาไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ เช่น งานเปิดสำนักงาน ซึ่งกว่าจะเป็นงานเปิดสำนักงานที่ยิ่งใหญ่ อลังการทำให้หัวหน้าสำนักงานมีหน้า มีตา...เบื้องหลังของการทำงานนั้น มีใครบ้างทราบว่า “มันเกิดจากการทำงานที่มีปัญหานานัปการ” กว่าจะมาเป็นงานใหญ่โต ดูแล้วอลังการมาก ๆ...นี่คือ “ความสำเร็จของการทำงานด้านการบริหารทั่วไป...ไม่ว่าจะเป็นการจัดเตรียมอาคารสถานที่  การใช้กำลังคน การเตรียมวัสดุอุปกรณ์ การเตรียมคณะกรรมการในการทำงาน การนิมนต์พระ การรับ – ส่งพระสงฆ์ การออกหนังสือเชิญแขกผู้มีเกียรติ การประชาสัมพันธ์ การเตรียมโฆษก ฯลฯ

                สำหรับประสบการณ์อีกด้านหนึ่งที่ได้มาดำรงตำแหน่งที่ สปอ.นครไทย นั่นคือ “งานแผนงานและงบประมาณ” ซึ่งที่ผ่าน ๆ มา ผู้เขียนจะได้รับความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับงานบุคคลมาตลอด แต่เมื่อครั้งนี้ ได้มาทำงานเกี่ยวกับงานแผนงานและงบประมาณ โดยได้สอบถามและปรึกษาพวกพี่ ๆ ที่เขาทำงานด้านการวางแผนงานมา ก็ทำให้ผู้เขียนได้ทราบและได้รับประสบการณ์เกี่ยวกับการวางแผนงานและงบประมาณ การจัดสรรงบประมาณ การซื้อวัสดุ – อุปกรณ์ ฯลฯ ในเรื่องของการบริหารจัดการอีกเรื่องหนึ่ง...

                เมื่อผู้เขียนได้เรียนจบ ปริญญาโท ก็พอดีทาง สปจ.พิษณุโลก ได้ทำการเปิดสอบคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารการศึกษาระดับ 6 หรือตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้าการประถมศึกษาอำเภอ ซึ่งเป็นตำแหน่งรองของหัวหน้าการประถมศึกษาอำเภอ ที่เป็นผู้บังคับบัญชาของข้าราชการครูทั้งอำเภอ + บุคลากรบน สปอ.นั่นเอง...ความที่ผู้เขียนเรียนจบการศึกษาระดับปริญญาโทมาใหม่ ๆ ผู้เขียนได้ปรึกษากับพ่อบ้านว่า “จะให้สมัครสอบดูหรือไม่” พ่อบ้าน ก็บอกว่า “ก็ลองดูสิ ไม่แปลก เรามีสิทธิ์ ก็ลองสมัครดู”...ผู้เขียนก็เลยตัดสินใจ “สมัครสอบในครั้งนี้”...เป็นการวัดความรู้ว่าตัวเรามีความรู้มากน้อยเพียงใด เพราะข้อสอบที่ออกนั้น เป็นข้อสอบในเชิงวิเคราะห์ บรรยายทั้งสิ้น...

                ผลปรากฏว่า ผู้เขียนสอบได้...แต่ ต้องไปดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยหัวหน้าการประถมศึกษาอำเภอชาติตระการ สังกัด สปจ.พิษณุโลก ซึ่งเป็นอำเภอที่ไกลที่สุดของจังหวัดพิษณุโลก...มีพวกพี่ ๆ และหัวหน้าการประถมศึกษาอำเภอบางท่าน บอกว่า “ไม่ต้องไปหรอก เพราะอีกหน่อยตำแหน่งนี้ก็จะถูกยุบแล้ว”…ผู้เขียนได้ปรึกษากับพ่อบ้านว่าจะเอาอย่างไร?ดี...พ่อบ้านบอกว่า “เดินหน้าแล้วก็ต้องเดินต่อไป...ไม่เห็นเป็นไรนี่ ครั้งนี้ ตัวเราก็อยู่ในจังหวัดพิษณุโลกอยู่แล้ว ไม่ได้ไปต่างจังหวัดเสียหน่อย” เท่านั้นเอง ผู้เขียนก็ตัดสินใจ “ขอไปตามที่สอบคัดเลือกไว้”...

                เมื่อผู้เขียนได้ย้ายไปอยู่ที่ สปอ.ชาติตระการ ได้เพียง 1 เดือน ก็ได้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้าการประถมศึกษาอำเภอ ระดับ 7 เนื่องจากคุณสมบัติเรื่องเวลาในการดำรงตำแหน่งได้พอดี บางคนบอกว่า “ดวงดี” เพราะการรับราชการบางคนอาจไม่ใช่เป็นเช่นนี้...

                พ่อบ้านบอกกับผู้เขียนว่า “จำได้หรือไม่?... ว่า ตอนอยู่ที่ สปอ.สามเงา ถ้าอยู่ต่อจะได้รับการปรับเปลี่ยนให้เป็นระดับ 7 แต่พวกเราได้ตัดสินใจ  “ก้าวถอยหลัง” เพื่อมาตั้งหลักที่ สปอ.นครไทย...เมื่อตั้งหลักได้แล้ว ครั้งนี้ ผู้เขียนจะได้ก้าวเดินอย่างมั่นคงต่อไป...ทำให้ได้ข้อคิดว่า “การทำงานในแต่ละเรื่อง บางครั้ง เมื่อมีปัญหา ควรหยุดดู คิด พิจารณา วิเคราะห์ ใคร่ครวญ ดูก่อนว่าจะทำอย่างไรต่อไป...ถ้าเห็นทีท่าว่า ควรหยุด หรือถอยหลังก่อนก็ควรทำ...ทำเพื่อก้าวเดินต่อไปได้อย่างมั่นคงและแข็งแรงรวมถึงอนาคตของตัวเราเอง...”

 

หมายเหตุ  :   การที่ได้เลื่อนระดับให้สูงขึ้นนั้น  ทำให้ทราบว่าเมื่อ

                       ซีสูงขึ้น จะทำให้เงินเดือนที่ได้รับอยู่สูงขึ้น และ

                        เพดานของขั้นก็จะสูงขึ้น ซึ่งมีผลต่อการรับ

                        เงินเดือน หรือเงินบำเหน็จ หรือเงินบำนาญในการ

                        นำไปคิดคำนวณ ฯ

  

อ่านประสบการณ์ชีวิตของการทำงาน "รับราชการ"

ทุกฉบับได้จากที่นี่...

ประสบการณ์ชีวิตของการทำงาน "รับราชการ"


 

 

หมายเลขบันทึก: 435565เขียนเมื่อ 16 เมษายน 2011 22:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:43 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท