Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

พระเตมีย์ ผู้ทรงบำเพ็ญเนกขัมมบารมี


ชาดกเรื่องนี้แสดงถึงการบำเพ็ญเนกขัมมบารมี คือ การออกบวชหรือออกจากกาม

พระเจ้ากาสิกราชครองสมบัติในเมืองพาราณสี แต่พระองค์ไม่มีราชโอรสและธิดา ด้วยกลัวว่าจะไม่มีผู้สืบสกุล จึงให้พระนางจันทาเทวีและนางสนมทำพิธีขอพระโอรส พระอัครมเหสีก็ทรงทำตาม จึงได้ทรงครรภ์เมื่อครบกำหนดแล้วก็ทรงประสูติออกมาเป็นราชกุมาร พระเจ้ากาสิกราชทรงดีพระทัยเป็นอันมากจัดให้การสมโภชและพระราชทานนางนมให้แก่พระราชกุมารและขนานนามว่า เตมีย์กุมาร เพราะในวันประสูตินั้นฝนได้ตกทั่วทั้งพระนครและเป็นเหตุให้พระทัยของพระองค์และราษฏร์ได้รับความแช่มชื่น พระเจ้ากาสิกราชทรงโปรดปรานพระราชกุมารมาก บางครั้งถึงกับอุ้มออกไปทรงว่าราชการด้วย

วันหนึ่งขณะที่พระราชบิดาอุ้มออกไปทรงว่าราชการอยู่นั้น อำมาตย์ได้นำโจรมาให้ ทรงวินิจฉัยนักโทษ ๔ คน โดยพระราชาทรงสั่งให้ลงอาญาโจรเหล่านั้น คือ คนที่ ๑ ให้เฆี่ยนด้วยหนามหวาย ๑๐๐๐ ครั้ง คนที่ ๒ ให้เอาหอกทิ่มแทงทรมานให้ทั่วทั้งตัว ได้รับความเจ็บปวดแสนสาหัส คนที่ ๓ ให้เอาหลาวแหลมเสียบทิ้งไว้จนตาย คนที่ ๔ ให้ล่ามโซ่ตรวนคุมขังไว้ในเรือนจำ พระราชกุมารทรงเห็นแล้วทรงหวาดเสียว สะดุ้งกลัวยิ่งนัก

ทรงระลึกชาติในหนหลังได้ว่า เมื่อชาติก่อนนั้น พระองค์เคยเป็นพระราชาแห่งเมืองนี้ เพราะบาปกรรม ที่ทรงกระทำในครั้งนั้น ทำให้พระองค์ต้องตกนรกถึงแปดหมื่นปี บัดนี้ พระองค์กลับมาเกิด ในเมืองนี้อีกต่อไปก็คงจะได้เป็นผู้ครองเมืองนี้ และกระทำบาปกรรม เช่นเดียวกับพระบิดา ซึ่งก็จะต้องไปสู่นรกอีกแน่นอน เมื่อทรงดำริเช่นนี้แล้ว ทรงสังเวชสลดพระทัย ไม่ทรงปรารถนา ที่จะครองราชสมบัติอีกต่อไป ทรงนึกหาอุบายวิธีที่จะปลีกตัว ให้พ้นจากราชสมบัติ ทำอย่างไรจึงจะพ้นไปจากการต้องเป็นพระเจ้าแผ่นดินได้ จนพระมนัสหดหู่ เศร้าหมองไม่มีสุข

ครั้งนั้น เทพธิดาซึ่งเคยเป็นพระมารดาในอดีตชาติ สิงอยู่ที่เศวตฉัตรได้แนะนำอุบายให้พระกุมาร ให้ทรงอธิษฐานจิตให้มั่นคง ไม่หวั่นไหวที่จะปฏิบัติตามอุบาย3 ประการ คือ 1. จงเป็นคนง่อย 2. จงเป็นคนหูหนวก 3. จงเป็นใบ้ แล้วจะพ้นสิ่งเหล่านี้

นับตั้งแต่นั้นมา พระเตมีย์ก็เริ่มปฏิบัติไม่พูดไม่จาอะไรทั้งนั้น ใครมาพูดก็ทำเป็นไม่ใด้ยิน เอาอุ้มไปวางไว้ที่ไหนก็นั่งอยู่อย่างนั้น ไม่ขยับเขยื้อนไปในที่ใด พระราชบิดาทรงสงสัยว่าแต่ก่อนพระราชกุมารก็เหมือนเด็กทั่วไปรื่นเริงโลดเต้นเจรจาเสียงแจ้วอยู่ตลอดเวลา ทำไมกลับมาเงียบขรึมไม่พูดไม่จา ใครจะพูดอะไรก็ไม่ได้ยิน คงจะเกิดโรคภัยชนิดใดขึ้นแน่ จึงให้หมอตรวจ ก็มิได้พบว่าพระราชกุมารเป็นอะไร คงเป็นปกติทุกอย่าง ก็ทรงให้ทดลองหลายอย่างหลายประการ เป็นต้นว่า

ให้อยู่ในที่สกปรก พระเตมีย์อดทนอยู่ได้ แม้จะหิวก็ไม่ทรงกันแสงแม้จะกลัวก็ไม่แสดงอาการอย่างไร เพราะเห็นว่าภัยในนรกร้ายแรงกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จึงคงเฉย ๆ ทำเอาพระราชบิดาสิ้นปัญญา พวกอำมาตย์รับอาสาว่าจะทดลองดูก่อน ก็ทรงอนุญาติให้

 ครั้งแรกเมื่อให้พระเตมีย์นั่งอยู่ในเรือนแล้วแกล้งจุดไฟเพื่อจะให้พระเตมีย์กลัว แต่หาได้ทำให้พระเตมีย์หวาดกลัวไม่คงเป็นปกติอยู่ ต่อไปก็ทดลองด้วยช้างตกมัน โดยนำพระราชกุมารไปประทับนั่งที่พระลานให้มีเด็กห้อมล้อมหมู่มาก แล้วให้ปล่อยช้างที่ฝึกแล้วเชือกหนึ่ง วิ่งตรงเข้าไปจะเหยียบพระราชกุมาร เด็กที่ห้อมล้อมอยู่หวาดกลัวร้องไห้พากันวิ่งหนีกระจัดกระจายไป แต่พระเตมีย์ก็คงทำเป็นไม่รู้ชี้เช่นเดิม ทดลองอย่างนี้สิ้นเวลาตั้งปีก็ไม่สำเร็จประโยชน์อะไรขึ้นมา พระกุมารเคยเงียบไม่กระดุกกระดิกอย่างไรก็คงอย่างนั้นแม้ช้างจะจับพระกายขึ้นเพื่อจะฟาดก็ไม่ตกใจกลัว เพราะมุ่งหวังอย่างเดียวจะให้พ้นจากการเป็นพระเจ้าแผ่นดินให้

ต่อไปก็ทดลองด้วยงู ให้พระเตมีย์นั่งอยู่ แล้วให้ปล่อยงูมารัด ธรรมดาเด็กย่อมจะกลัวงู แต่ก็ไม่ทำให้พระเตมีย์หวาดกลัวไปได้ คงนั่งเฉยทำเหมือนรูปปั้นเสีย เล่นเอาอำมาตย์เจ้าปัญญาสั่นหัวทดลองอย่างนี้อีกเป็นปีก็ไม่อาจจะจับพิรุธพระกุมารได้ ต่อไปให้ทดลองด้วยการให้พระเตมีย์นิ่งอยู่ แล้วให้คนถือดาบวิ่งมาจะทำอันตราย แต่พระกุมารทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ หูไม่ได้ยิน ปากก็ไม่มีเสียง กายไม่กระดิกกระเดี้ย ทดลองอย่างนี้อีกเป็นปีก็จับอะไรพระกุมารไม่ได้

ต่อไปก็ทดลองเสียง โดยให้พระเตมีย์นั่งอยู่พระองค์เดียว แล้วจู่ ๆ เสียงอึกทึกครึกโครมก็ดังขึ้นมาแต่พระเตมีย์คงทำไม่ได้ยินเช่นเคย การทดลองของอำมาตย์เป็นระยะทั้งสิ้น 7 ปี หลายปีที่ทำมาก็ไม่สามารถทำให้พระเตมีย์พูดออกมาได้ตั้งแต่ 9 ขวบ จนกระทั่ง 16 ขวบ พระเตมีย์ก็คงทำเช่นนั้น

ครั้นเจริญวัยแรกรุ่น ปกติย่อมจะชอบใจในกามารมณ์ จึงจัดให้ให้สาวน้อย ๆ มาเล้าโลมประการใด ๆ กอดรัดบ้าง ลูบโน่นบ้างลูบนี่บ้าง จนกระทั่งเปิดโน่นให้ดูบ้าง เปิดนี่ให้ดูบ้าง จะทำอย่างไรพระเตมีย์ก็คงทำเฉยไม่รู้ไม่ชี้ทองไม่รู้ร้อนตลอดกาล ใครจะพูดอย่างไร จะทำอย่างไรพระเตมีย์ไม่ได้ยินทั้งนั้น ไม่ยอมเคลื่อนไหวไม่ร้องไห้เหมือนเด็ก ๆ ไม่อ้าปากส่งเสียงอะไรออกมา ผลที่สุดทั้งพระราชบิดาและอำมาตย์ลงความเห็นว่าพระกุมารคงเป็นคนกาลกิณีเสียแล้ว ขืนให้อยู่ต่อไปคงจะเกิดอันตรายขึ้นแก่พระองค์แก่สมบัติและแก่พระอัครมเหสี ควรจะออกไปทิ้งเสียที่ป่าช้าผีดิบนอกเมือง พระราชาก็เห็นด้วย จึงดำริจะให้เอาไปทิ้งเสีย

แต่พระเทวีอัครมเหสีมาเฝ้ากราบทูลว่า "ขอเดชะ..พระองค์ได้พระราชทานพรไว้แก่ข้าพระองค์บัดนี้หม่อมฉันจะทูลขอพรที่ได้ให้ไว้นั้น..." "พระเทวีเธอขออะไรก็ตรัสไปถ้าไม่หลือวิสัยแล้วจะให้" "ข้าพระองค์ขอราชสมบัติให้พระเตมีย์" "อะไรกันพระเทวีก็เจ้าเตมีย์เป็นคนใบ้ แล้วก็หูหนวกเคลื่อนไหวร่างกายไม่ได้ จะเป็นพระเจ้าแผ่นดินได้อย่างไร" "ก็พระเตมีย์เป็นอย่างนั้น หม่อมฉันจึงขอพระราชสมบัติ" "ไม่ได้พระเทวีเลือกอย่างอื่นเถิด" "หม่อมฉันขอเลือกให้พระเตมีย์ครองแผ่นดินแม้ไม่มากเพียง 7 ปีก็พอ" "ไม่ได้พระเทวีจะเป็นความเดือดร้อนแก่คนอื่นมากมายนัก ลูกเราไม่มีความสามารถถ้าดีอยู่อย่าว่าแต่ 7 ปีเลย ตั้งใจอยู่แล้วว่าจะให้สมบัติตลอดไป" "ขอสัก 1 ปีก็แล้วกัน" "ไม่ได้พระเทวี" "ถ้าอย่างนั้นขอ 7 วัน หม่อมฉันขอให้พระเตมีย์ได้เป็นสักหน่อยเถิด"

พระเจ้ากาสิกราชก็ยอมตกลง จึงได้ให้ตกแต่งร่างกายของพระเตมีย์ในเครื่องกษัตริย์ แล้วให้เสด็จเลียบพระนครประกาศให้ประชาชนพลเมืองทั่วไปทราบว่า บัดนี้พระเตมีย์ได้เป็นกษัตริย์แม้ใคร ๆ จะทำอย่างไรพระเตมีย์ยังคงเฉย ร่างกายไม่เคลื่อนไหวเป็นเหมือนหุ่น เขาวางไว้ตรงไหนก็อยู่ตรงนั้น ไม่พูดไม่จาอะไรทั้งสิ้น ใครจะทำอะไรก็ไม่ได้อยู่ในความสนใจของพระกุมารทั้งสิ้น พอครบ 7 วัน พระนางจันทเทวีก็ทรงพระกันแสงเพราะครบกำหนดที่สัญญาไว้กับพระราชาแล้ว พระราชาจึงมอบพระเตมีย์กุมารให้กับนายสุนันทสารถีเอาใส่รถไปฝังเสียที่ป่าช้าดิบภายนอกเมือง นายสุนันทก็เอาพระเตมีย์ใส่ท้ายรถขับออกจากตัวเมืองไปยังป่าช้าผีดิบ แต่หารู้ไม่ว่าทางที่จะไปนั้นมันไม่ใช่ป่าช้าผีดิบแต่เป็นป่าอีกแห่งหนึ่งต่างหาก ความผิดพลาดของนายสารถี นับตั้งแต่เริ่มเทียมรถม้าแล้วคือ แทนที่จะเอารถสำหรับใส่ศพ กลับเอารถมงคลมาเทียมแทนและเมื่อรับพระเตมีย์แล้วก็คิดว่าจะขับไปป่าช้าผีดิบซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกจึงเป็นอันว่านายสารถีผิดพลาดตลอดมา แต่การผิดพลาดนี้เป็นผลดีของพระเตมีย์ เมื่อถึงป่านอกเมือง ซึ่งนายสุนันทคิดว่าเป็นป่าช้าผีดิบ เขาก็หยุดรถหยิบจอบเสียมลงไปเพื่อจะขุดหลุมฝังพระกุมารเสีย หูของเขายังแว่วพระดำรัสของพระราชาที่ว่า "ลูกข้าคนนี้ เป็นกาลกิณีเองจงเอาไปป่าช้าแล้วขุดหลุมสี่เหลียมให้ลึก แล้วเอาจอบทุบหัวมันเสียก่อนแล้วค่อยฝังมันทีหลัง ช่วยมันหน่อยนะอย่าให้ฝังมันต้องถูกฝังทั้งเป็นเลย

ในขณะที่นายสารถีกำลังขุดหลุมอยู่ไมไกลจากรถนี้นเอง พระเตมีย์ก็คิดว่าร่างกายของเราไมได้เคลื่อนไหวมาตั้ง 16 ปี จะเป็นอย่างไรบ้างก็ไม่รู้ ก็ทรงกายลุกขึ้นลงมาจากรถทดลองเดินไปมาอยู่ข้างรถ "ไม่เป็นอะไร มือเท้าไม่ได้เป็นง่อยเปลี้ยเสียแต่อย่างใด แต่กำลังเล่าจะเป็นไฉน" คิดแล้วก็จับเอางอนรถยกขึ้น เป็นความมหัศจรรย์ พระเตมีย์ยกรถขึ้นกวัดแกว่งได้เหมือนยกเอารถตุ๊กตาเบาแสนเบาแล้วกลับวางอย่างเดิม แลเห็นนายสารถีก้มหน้าก้มตาขุดหลุมอยู่โดยไม่ทราบว่าพระองค์ได้ทำอย่างไรบ้าง จึงเดินเข้าไปยืนอยู่ใกล้ก็ไม่รู้แต่ก็ตกใจเมื่อได้ยินเสียง "สารถีท่านขุดหลุมสี่เหลียมทำไมกัน" เขาเหลียวหน้ามามองแต่ก็จำไม่ได้ว่าเป็นพระกุมารที่ตนนำมา คิดเสียว่าเป็นคนเดินทางผ่านมาเห็นตนกำลังขุดหลุมอยู่ก็แวะเจ้ามาสอบถามดู "ขุดหลุมฝังคน" เขาตอบสั้น "ฝังใครกันล่ะ?" "ฝังลูกพระเจ้าแผ่นดิน" "ฝังทำไมกันล่ะ?" "เรื่องมันยืดยาวท่านอยากจะรู้ไปทำไม" "ก็อยากจะรู้บ้างว่าคน ๆ นั้นเป็นลูกพระเจ้าแผ่นดินจะมาถูกฝังเพราะโทษอะไร" นายสารถีก็ชี้แจงว่า "ไม่มีโทษอะไรหรอก แต่พระราชกุมารเป็นคนกาลกิณีขืนปล่อยไว้นานไปความอุบาทว์ ทั้งหลายก็จะเกิดแก่ราชสมบัติ

พระเตมีย์จึงแสร้งตรัสถามต่อไปว่า "คนกาลกิณีน่ะเป็นอย่างไร" "ก็เป็นคนไม่ดีน่ะสิ" นายสารถีเริ่มฉุน "ไม่ดีอย่างไร" "เอ..ท่านนี่ควรจะไปเป็นศาลตุลาการ..แทนที่จะเป็นคนเดินทางเพราะแก่ชักเสียจริง" พระกุมารก็ไม่ขุ่นเคือง คงมีพระดำรัสเรียบ ๆ ถามต่อไป "ข้าพเจ้าอยากรู้จริง ๆ ก็เลยรบกวนท่านหน่อย" "เอ๊า...อย่างนั้นคอยฟัง..คือว่าพระโอรสของเจ้านายข้าพเจ้าคนนี้ เกิดมามีลักษณะสวยงามน่าเอ็นดูอยู่หรอก แต่เสียอย่างเดียวภายหลังมาเกิดไม่พูดไม่จาแขนขาไม่ยกไม่ก้าว เสียเฉย ๆ ยังงั้นเเหละใครจะพูดอะไร หูก็แถมหนวกเสียด้วยเลยเป็นอันว่าเหมือนตุ๊กตาตัวโต ๆ ที่เขาตั้งไว้" "แล้วอะไรอีกล่ะ" "ก็ไม่ยังไงหรอกพระเจ้าแผ่นดินรอมาถึง 16 ปี ก็ไม่เห็นดีขึ้น เลยตัดสินให้ข้าพเจ้าเอามาฝังเสียหลุมที่ขุดนี่แหละที่จะฝังพระราชกุมาร ท่านเข้าใจหรือยัง" "ท่านรู้ไหมว่าเราเป็นใคร" จึงมองอย่างพินิจพิจารณา แต่เขาก็จำไม่ได้เพราะผู้ที่เขาเห็นอยู่ตรงหน้าบัดนี้ไม่ใช่พระกุมารผู้เป็นง่อยเปลี้ยเสียแข้งขาเสียแล้ว แม้ว่าหน้าตาจะคล้ายคลึงกับพระกุมารแต่เขาก็ไม่แน่ใจนักจึงทำอ้ำอึ้งอยู่

เมื่อเห็นสารถีมองดูด้วยความสงสัยจึงประกาศตนว่า "สารถี..เราคือเตมีย์กุมารที่ท่านจะนำมาฝัง ท่านลองพิจารณาดูเถิดว่าเป็นคนกาลกิณีหรือเปล่า..ดูสิเราเป็นง่อยหรือเปล่า" นายสารถีได้แต่มองอย่างสงสัย แล้วเอ่ยขึ้นรำพึงกับตัวว่า "เอ พระกุมารก็ไม่น่าเป็นไปได้ จะว่าไม่ใช่ก็กระไรอยู่" "เราคือเตมีย์กุมาร โอรสของพระเจ้ากาสิกราชที่ท่านอาศัยเลี้ยงชีพด้วยการเป็นราชบริพารอยู่บัดนี้ อย่าสงสัยเลยท่านขุดหลุมฝังเราน่ะเป็นเรื่องไม่เป็นธรรมเลย" "ทำไมไม่เป็นธรรม?" "ท่านมองดูสิว่าเราเป็นคนกาลกิณีหรือเปล่า ท่านได้รับคำสั่งให้ฝังคนกาลกิณีต่างหาก" "จริงสินะ" สารถีคิดแต่เขาก็อ้ำอึ้งอยู่ไม่รู้จะกล่าวออกว่ากระไรอีก ที่เขาจะนำไปฝังนั้นเอง เขาจึงก้มกราบที่เท้าของพระเตมีย์ "โอ้..ข้าพระบาทเป็นคนโง่เขลา ทั้งนายของตนเองก็จำไม่ได้ เหมือนปาฏิหาริย์ บันดาลให้เกิดไม่น่าเชื่อ" "ทำไมไม่เชื่อ" "เพราะพระองค์ไม่เคลื่อนไหวร่างกายตั้งสิบกว่าปีอวัยวะควรจะใช้ไม่ได้ ควรจะเหี่ยวแห้งไป แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่นับว่าเป็นความประหลาดมากทีเดียว" "เมื่อท่านเห็นเราเป็นอย่างนี้แล้ว ท่านยังจะคิดฝังเราอีกหรือเปล่า" "ไม่พะย่ะค่ะ ข้าพระบาทเลิกคิดจะทำร้ายพระองค์แล้ว ข้าพระพระองค์เข้าไปเฝ้าพระราชบิดามารดาเพื่อจะได้ครองราชสมบัติต่อไป" "เราไม่คิดจะกลับไปสู่สถานเช่นนั้นอีก เพราะที่นั้นเป็นเหตุให้กระทำความชั่ว ซึ่งต่อไปจะทำให้บังเกิดในนรกอย่างไม่รู้จะผุดจะเกิดเมื่อไหร่ ?" แต่นายสารถีก็ยังแสดงความดีใจ "ถ้าข้าพระองค์นำพระองค์กลับเข้าไปได้ใคร ๆ ก็ต้องแสดงความยินดีกับพระองค์ และข้าพระองค์ก็จะได้เงินทองทรัพย์สมบัติผ้าผ่อนและแพรพรรณต่าง ๆ จากคนเหล่านี้ เป็นต้นว่า พระราชบิดามารดาของพระองค์ก็ทรงยินดี ข้าพระองค์อาจจะได้ยศศักดิ์ บริวารและ อะไรต่าง ๆ ตามความปรารถนาเพราะ ใคร ๆ แสดงความสามารถที่จะให้พระองค์ไม่กลายเป็นคนง่อยเปลี้ยเสียขาเป็นคนหูหนวกเป็นใบ้มาตั้งสิบกว่าปีก็ไม่สำเร็จ แต่ข้าพระองค์กลับทำได้ เป็นความดีใจที่เหนือความดีใจทั้งหมดที่เคยมี ข้าพระองค์กำลังจะรับความสุข ไม่ต้องลำบากเช่นเดี๋ยวนี้"

 "ท่านอย่าเพิ่งดีใจไปก่อนเราจะว่าให้ฟังเราเป็นคนไม่มีญาติขาดมิตร เป็นคนกำพร้า เป็นคนกาลกิณีจนเขาต้องให้ท่านเอาเราไปฝังเสียยังป่าช้าผีดิบ  ท่านนำเรากลับไปก็ไม่ดีท่านนั้นเเหละอาจจะกลายเป็นคนกาลกิณีไปก็ได้เพระใคร ๆ เขาก็เข้าใจอย่างนั้นแล้วท่านจะฝืนความนึกคิดคนอื่นได้อย่างไร เราสละแล้วด้วยประการทั้งปวง บ้านเรือนแว่นแคว้นเราไม่มี เราจะบำเพ็ญพรตรักษาศีลอยู่ในป่านี้โดยไม่กลับไปอีกแล้ว" "พระองค์น่าจะตรัสกับพระราชบิดามารดาเสียก่อน"

"ไม่ล่ะ เราความเพียรเพื่อจะออกจากเมืองเป็นจำนวนถึง 10 กว่าปี ความตั้งใจของเราจะสำเร็จแล้ว เราจะไม่เข้าไปสู่สถานที่ทำกรรมอีกล่ะ ถ้าเราเป็นพระเจ้าแผ่นดินอาจจะอยู่ไปได้หลายสิบปี แต่เราจะต้องทำกรรมแล้วไปตกอยู่ในนรกตั้งหมื่นปี ท่านลองคิดดูว่าพระเจ้าแผ่นดินจะต้องสั่งให้เขาเฆี่ยนตี..ฆ่าคนนี้..ทำทรมานคนโน้น..ริบทรัพย์คนนั้น..ริบทรัพย์คนโน้น..วันละเท่าไร ปีละเท่าไร แล้วผลของการกระทำความชั่วนั้นจะไม่ย้อนกลับมาให้ผลเราบ้างหรือ นายสารถีอดที่จะค้านไม่ได้ "พระเจ้าแผ่นดินจะทรงทำอย่างนั้น..ว่าโดยทางโลกยินยอมว่าเป็นความถูกต้อง เขาให้อำนาจที่จะกระทำ แต่ท่านต้องไม่ลืมนะว่าจะทำอย่างไรก็ไม่ผิดจากทางโลก..แต่ทางธรรมไม่เคยยกเว้นให้ใคร ทางธรรมมีอยู่ว่าทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว ผลของการทำดีนำไปสู่สวรรค์ ผลของการทำชั่วนำไปสู่นรก"

นายสารถีจึงกราบทูลว่า "ข้าพระองค์เป็นคนเขลา ยังคิดเป็นความสุขสบายแต่เมื่อพระองค์ดำรัสก็เห็นได้จริงคงอย่างนั้น ทุกคนต้องรักขีวิตร่างกายของตนทั้งนั้น เมื่อใดใครมาทำอันตรายก็เป็นธรรมดาต้องไม่ชอบ เมื่อพระองค์เห็นว่าโลกยุ่งมากนักจะบวช ข้าพระองค์ก็จะบวชเหมือนกัน" พระกุมารดำริว่า "หากให้นายสารถีบวชเสีย ม้ารถก็เสียหาย และพระราชบิดามารดาคงได้รับความโทมนัสที่จะเอาฝังเสีย ถ้าให้ท่านกลับคืนไปเมืองก็จะทำให้พระองค์เสด็จมาดูเรา ได้รับความโสมนัส และบางทีพระราชบิดาจะกลับใจประพฤติชอบขึ้นมาบ้าง" จึงตรัสว่า "เธอกลับไปส่งข่าวแก่พระราชบิดามารดาก่อนเถิดแล้วค่อยมาบวชทีหลัง เพราะบวชด้วยความเป็นหนี้ไม่ดีเลย" นายสารถียินดีจะกลับไปทูลพระเจ้าแผ่นดิน แต่เกรงว่าเมื่อตนไปกราบทูลพระเจ้าแผ่นดินแล้ว เมื่อเสด็จมาดูไม่พบพระกุมารก็เลยกลายเป็นว่าตนโกหก อาจจะถูกลงพระอาญาได้ จึงทูลขอพระกุมารไว้อย่าได้เสด็จไปที่อื่น ซึ่งพระกุมารก็รับคำนายสารถีถึงได้กลับไป

พระนางจันทรเทวี นับตั้งแต่นายสารถีเอาพระราชกุมารไปแล้วพระองค์ก็คอยเฝ้ามองอยู่ว่าเมื่อไรนายสารถีจะกลับมา จะได้ทราบเรื่องพระโอรสที่รักบ้าง เมื่อเห็นนายสารถีกลับมาคนเดียวก็แน่พระทัยว่าพระราชโอรสของพระองค์สิ้นพระชนม์เสียแล้ว น้ำพระเนตรก็ไหลอาบพระปรางด้วยความโทมนัส ตรัสถามนายสารถีว่า "พ่อสารถี ที่เอาโอรสของเราไปฝังนั้น พ่อได้รับคำสั่งเสียจากโอรสของเราอย่างไรบ้าง และโอรสของเราได้ทำอย่างไร" "ขอเดชะพระแม่เจ้า ข้าพระบาทจะเล่าเหตุการณ์ที่เกิดกับพระราชกุมารให้ฟังตั้งแต่ต้นจนปลาย" แล้วเขาก็เล่าตั้งเเต่นำเอาพระโอรสอออกไปขุดหลุมจะฝังพระโอรสก็กลับกลายหายจากง่อยเปลี้ยเสียขา เจรจาได้ทรงพลกำลังยกรถที่ขี่ออกไปกวัดแกว่ง จนกระทั่งตนได้ทราบความจริงว่าทำไมพระกุมารจึงได้ทำอย่างนั้น แล้วเขาก็ลงท้ายว่า "ขอเดชะ บัดนี้พระองค์ทรงผนวชอยู่ในราวเบื้องป่าบูรพาทิศเมืองนี้พระเจ้าข้า" เท่านั้นเองพระนางก็ลิงโลดพระทัยตรัสออกมาว่า "โอ..พ่อเตมีย์ของแม่ไม่ตายดอกหรือ เออ? ดีใจ ดีใจจริงๆ" สองพระกรก็ทาบพระอุระ ข่มความตื้นตันไว้ในพระทัย ถึงพระกาสิกราชก็ดีพระทัยเช่นกัน

การที่พระองค์ให้เอาพระเตมีตย์ไปฝังเสียนั้น ใช่ว่าพระองค์จะชิงชังหรือรังเกลียดก็หามิได้ แท้ที่จริงเพราะพระองค์กลัวอันตรายจะเกิดกับพระราชวงศ์ ตลอดจนพระมเหสีที่รักต่างหาก และนายสารถีก็ได้กราบทูลว่า "พระราชกุมารทรงพระสรีระโฉมงามสง่าเหลือเกินมีสุรเสียงไพเราะตรัสออกมาน่าฟัง เหตุที่เป็นดังนั้นเพราะพระกุมารตรัสเล่าให้ฟังว่า ทรงระลึกชาติได้ได้ว่าครั้งชาติก่อนพระองค์เคยเป็นพระเจ้าแผ่นดินได้ทำกรรมมีการจับกุมขังเฆี่ยนฆ่านักโทษมี ประการ ต่าง ๆ ครั้นพระองค์สวรรณคตแล้วได้ไปบังเกิดในนรกเป็นเวลานาน เหมือนคนที่ถูกงูกัด มองเห็นสิ่งอะไรคล้ายกับงูก็ย่อมจะกลัวไปหมด ฉะนั้นข้าพระองค์เองยังอยากจะบวชอยู่ในป่านั้นด้วย แต่พระกุมารไม่ยอมให้ข้าพระองค์บวช บอกให้ข้าพระองค์กลับมาทูลเรื่องราวให้พระองค์ทั้งสองทราบเสียก่อน แล้วจึงค่อยไปบวชภายหลัง ข้าพระองค์จึงได้รีบกลับมากลาบทูลให้ทราบ หากพระองค์อยากจะเสด็จไปสถานที่นั้น ข้าพระองค์จักนำไปเอง”

เมื่อพระเจ้ากาสิกราชได้ทรงทราบว่า พระกุมารมิได้เป็นใบ้ ทรงพูดได้เหมือนคนธรรมดา ทั้งมิได้เป็นง่อย และหูหนวกแต่ประการใด ทรงโสมนัสยินดีเป็นอย่างยิ่ง จึงตรัสสั่งเสนาข้าราชบริพาร ทั้งปวง ให้จัดเตรียมเครื่องอุปกรณ์พิธี ที่จะอภิเษกพระกุมารไว้ในราชสมบัติ แล้วพระองค์ ผู้มีนายสารถีนำทาง ก็เสด็จขึ้นม้าทรงตรงไปหาพระกุมารที่ป่าช้า โดยมีเสนาข้าราชบริพาร เป็นจำนวนมากติดตามไป

เมื่อเสด็จไปถึงที่ซึ่งเคยเป็นป่าช้ามาก่อน บัดนี้ กลายเป็นสถานที่ อันน่ารื่นรมณ์ มีอาศรมอยู่หนึ่งหลัง นั่งไว้ด้วยพระฤาษีองค์หนึ่ง ซึ่งก็คือพระเตมิยฤาษี นั่นเอง

พระราชาเป็นผู้เสด็จเข้าไปก่อนเพื่อสอบถามทุกข์สุขซึ่งกันและกัน พระเทวีจึงเสด็จเข้าไป เมื่อเห็นพระโอรสเสด็จประทับนั่งอยู่ ด้วยความปลื้มปีติพระนางตรงเข้าไปกอดพระบาทของพระโอรส ทรงกันแสงสะอึกสะอื้นแล้วถอยออกมา พระราชาจึงถามพระเตมีย์ว่า “พ่อเตมีย์บริโภคแต่ใบไม้พลไม้ในป่า ทำไมจึงมีร่างกายสดใส" เตมีย์กุมารจึงทูลตอบว่า “ขอเดชะการที่เป็นเช่นนี้เพราะเหตุว่า สละความห่วงใยไม่ให้มาเกาะเกี่ยวจิตใจ อะไรที่ล่วงมาแล้วก็ไม่คิดเศร้าโศก ไม่คิดอยากได้สิ่งที่ยังมาไม่ถึง พยายามรักษาจิตใจในสิ่งที่เป็นปัจจุปันเท่านั้น จึงทำให้ผิวพรรณของหม่อมฉันไม่เศร้าหมอง” “เมื่อพ่อไม่เป็นกาลกิณีแล้ว พ่อก็ควรจะกลับไปครองราชสมบัติเพื่อประโยชย์แก่ชนหมู่มากเถิด บัดนี้ก็เอาเบญจราชกกุธภัณฑ์มาด้วยแล้ว และเมื่อกลับไปถึงบ้านเมืองแล้วจะได้ ไปสู่ขอลูกกษัตริย์อื่นให้มาเป็นอัครมเหสี ตระกูลวงศ์ของเราก็ไม่เสียไป”    

 พระเตมิยฤาษีทอดพระเนตร เห็นพระราชากำลังเสด็จมา ด้วยพระเดชานุภาพอันยิ่งใหญ่ จึงทรงถวายการต้อนรับ ด้วยอัธยาศัยไมตรี ทรงสนทนาไต่ถามทุกข์สุขตามธรรมเนียม พระราชาทรงอ้อนวอน ให้พระเตมิยฤาษีเสด็จกลับ ไปครองราชสมบัติ จนกว่าจะมีพระราชบุตร ราชธิดา และมีพระชนมายุมากแล้วจึงค่อยทรงผนวช ตอนนี้ยังทรงเป็นหนุ่ม ประทับอยู่ในป่าคนเดียว จะมีประโยชน์อะไรเล่า

พระเตมิยฤาษีทูลตอบพระราชาว่า   " การบวชเป็นเรื่องของคนหนุ่ม คนหนุ่มนั่นแหละ ควรประพฤติพรหมจรรย์ ข้อนี้บัณฑิตทั้งหลายสรรเสริญแล้ว อาตมภาพจักประพฤติพรหมจรรย์ ไม่ต้องการราชสมบัติ อาตมภาพเคยเห็นพวกเด็กเป็นอันมาก เกิดมาแล้วยังไม่แก่ก็ตาย ของที่น่ารักต้องสิ้นไปตายไป บุคคลไม่ว่าจะเป็นชายหนุ่ม หรือหญิงสาวก็ล้วนต้องตาย ใครจะประกันได้ว่า เรายังหนุ่มสาว ยังไม่ตาย อายุของคนเราเป็นของน้อย วันคืนล่วงไปๆ ก็ย่อมทำให้ อายุของเราแก่มากขึ้น ใกล้ความตายมากขึ้น เหมือนปลาในน้ำน้อย ฉะนั้น เมื่อโลกถูกครอบงำ ห้อมล้อม ด้วยสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์ มหาบพิตรจะอภิเษกอาตมภาพในราชสมบัติทำไมกัน " 

เตมิยฤาษี ตรัสต่อไปว่า
               " สัตว์โลกถูกความตายครอบงำไว้ ถูกความแก่ห้อมล้อมไว้ สิ่งไม่เป็นประโยชน์คือ คืนและวันอันเป็นไปอยู่ มหาบพิตร เมื่อด้ายที่เรากำลังทออยู่ ช่างถูกทอไปได้เท่าใด ส่วนที่จะต้องทอ ก็เหลือน้อยเท่านั้นฉันใด ชีวิตก็ฉันนั้นเหมือนกัน แม่น้ำไม่ไหลกลับไปสู่ที่สูงฉันใด อายุของคนเรา ก็ไม่ถอยกลับไปสู่ความเป็นเด็กอีกฉันนั้น แม่น้ำที่เต็มฝั่งย่อมพัดพา เอาต้นไม้ที่เกิดริมฝั่ง ให้หักโค่นลอยไปฉันใด ปวงชนก็ย่อมถูกชรา และมรณะพัดพาไปฉันนั้น "
               พระเจ้ากาสิกราช ทรงอ้อนวอนอีก ให้เสด็จกลับพระราชวัง แล้วพระองค์จะทรงมอบกองทัพ ทั้งมวลให้ ตลอดจนถึงราชสมบัติ รวมทั้พระสนม กำนัลผู้งามสะคราญ ล้วนแต่เป็นราชธิดา ผู้สูงศักดิ์คอยห้อมล้อม ปรนนิบัติรับใช้ พระเตมิยฤาษีจึงทูลว่า
               " มหาบพิตรจะให้อาตมภาพเสื่อม เพราะทรัพย์ทำไม บุคคลจะพึงตายเพราะภริยาทำไม ประโยชน์อะไร ด้วยความเป็นหนุ่มสาวที่ต้องแก่ ทำไมจะต้องให้ความแก่ครอบงำ จะมามัวเพลิดเพลินทำไม ในโลกอันมีความแก่ และความตายนี้ ประโยชน์อะไร ด้วยการแสวงหาทรัพย์ ด้วยบุตรภริยา อาตมภาพเป็นผู้พ้นแล้วจากเครื่องผูก จะไม่ยอมกลับ ไปหาเครื่องผูกนั้นอีก ผลไม้ที่สุกแล้วย่อมถึงภัยคือร่วงหล่น ไปฉันใด สัตว์ทั้งหลายที่เกิดแล้ว ย่อมถึงภัยคือความตายฉันนั้น ชนเป็นอันมากเห็นกันอยู่ในเวลาเช้า บางพวกพอตกเวลาเย็น ก็ไม่ได้เห็นกัน หรือเห็นกันอยู่ในเวลาเย็น พอถึงเวลาเช้าก็ไม่เห็นกัน ในสงครามคือความตายนั้น ย่อมไม่มีการรบด้วยกำลังกองทัพ ไม่อาจเอาชัยมฤตยูด้วยเวทมนตร์ หรือยุทธวิธี หรือสินทรัพย์ได้ ความตายไม่มียกเว้นให้ใคร ไม่ว่ากษัตริย์ พราหมณ์ พ่อค้า ลูกจ้าง คนจัณฑาล หรือคนขนขยะใดๆ ย่อมย่ำยีทั้งหมดทีเดียว บุคคลควรรีบทำความเพียรในวันนี้ ใครจะพึงรู้ได้ว่าความตาย อาจจะมาในวันพรุ่ง เพราะมัจจุราชจะไม่ผัดผ่อนให้ใครเลย เชิญเสด็จกลับเถิดมหาบพิตร อาตมภาพไม่ต้องการราชสมบัติ "
               พระราชากาสิกราชทรงสดับคำสอน ของพระเตมิยฤาษีแล้ว ทรงมีศรัทธาเลื่อมใส ขอผนวชในสำนักพระเตมิยฤาษีด้วย และให้เอากลองไปตีป่าวประกาศว่าใครอยากบวชในพระราชสำนักพระเตมีย์ก็จงบวชเถิด และมิใช่แต่เท่านั้น ยังจารึกแผ่นทองคำไปติดไว้ที่เสาท้องพระโรงว่า ใครต้องการทรัพย์สมบัติใด ๆ ในคลังหลวงจงมาเอาไปเถิด พร้อมกันนั้นก็ให้เปิดพระคลังทั้งสิบสองพระคลังเพื่อจะให้คนที่ปราถนาจะได้ขนเอา ประชาชนราษฎรพากันแตกตื่นไปบวชในพระราชสำนักพระเตมีย์ บ้านเรือนก็เปิดที้งไว้โดยไม่สนใจ ที่บริเวณสามโยชน์ เต็มไปด้วยดาบสและดาสินี บรรดารถและช้างม้าที่พระราชานำมาแต่เมืองก็ปล่อยให้ผุพัง ช้างม้าก็กลายเป็นม้าป่าช้างป่าเกลื่อนไปในป่านั้น

พระราชาที่อยู่ใกล้เคียงได้ทราบว่า กรุงพาราณสีไม่มีผู้คุ้มครองรักษา ก็ยกพหลโยธาหมายจะยึดครองเอาไว้ในอำนาจ เมื่อมาถึงได้เห็นประกาศที่พระกาสิกราชติดไว้ ก็ทำให้เกิดสงสัยว่า ทำไมคนเหล่านี้จึงทิ้งสมบัติทั้งปวงเสีย ออกไปบวชอยู่ในป่าได้ บ้านเรือนราฎรก็ทิ้งไว้ ประตูเมืองก็หาคนปิดมิได้ แต่ทรัพย์สมบัติยังคงอยู่ทุกอย่าง เลยยกพหลโยธาตามออกในป่า พบพระราชาและพลเมืองบวชเป็นฤษีบำเพ็ญพรตอยู่ในป่านั้น และเมื่อได้สดับธรรมะที่พระเตมีย์ให้โอวาทเข้าอีก เลยทำให้คิดจะหลีกเร้นออกหาความสุข พากันสละช้างม้าตลอดจนเครื่องอาวุธ บวชอยู่ในสำนักพระเตมีย์ ในบริเวณป่าดาษดา ไปด้วยรถที่ผุพังทรุดโทรม สัตว์ป่าวิ่งกันไปในป่าเกลื่อนไปหมดล้วนแต่เชื่อง ๆ รวมอยู่ใกล้ ๆ กับบรรดาฤษีเหล่านั้นก็บำเพ็ญฌานสมาบัติ ตายไปได้บังเกิดในเทวโลก

คติธรรมจากเรื่องนี้

คือ การตั้งใจแน่วแน่ การมีเป้าหมายที่ชัดเจนและมั่นคง อยากจะได้สิ่งอันใดสมดังความตั้งใจอันนั้น ก็พยายามจนสำเร็จและได้เห็นความ อดทน อดกลั้นของพระเตมีย์ ซึ่งต้องทำเป็นคนง่อย คนใบ้ คนหูหนวกสารพัดเป็นเวลาตั้ง 10 กว่าปี ดังนั้น หากเราจะตั้งใจในสิ่งใดแล้ว พยายามอดทน อดกลั้น อดทนทำก็จะต้องสำเร็จจนได้ในวันหนึ่ง เรื่องพระเตมีย์ก็จบลงด้วยความสำเร็จทุกประการฉะนี้

หมายเลขบันทึก: 435543เขียนเมื่อ 16 เมษายน 2011 17:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 19:14 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่เราละราชสมบัติออกบวช. แม้ในกาลก่อน เราก็ได้ละราชสมบัติออกบวชเหมือนกัน ดังนี้แล้ว ทรงประกาศอริยสัจ ๔

แล้วประชุมชาดก.

เทพธิดาผู้สิงสถิตอยู่ที่เศวตฉัตรในกาลนั้น เป็น ภิกษุณี ชื่ออุบลวรรณา ในบัดนี้.

นายสุนันทสารถี เป็น พระสารีบุตร.

ท้าวสักกะ เป็น พระอนุรุทธ์.

พระชนกและพระชนนี เป็น มหาราชสกุล.

บริษัทนอกนี้ เป็น พุทธบริษัท.

ส่วนบัณฑิตผู้ทำเป็นใบ้ ทำเป็นง่อยเปลี้ย คือ เราผู้สัมมาสัมพุทธ นี่เองแล.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท