เพลงอีแซว ตอนที่ 15 เกาะติดเวทีการแสดง เสียดายรายการทีวีที่นำเสนอเพลงพื้นบ้าน


น่าเสียดายว่า ในอนาคตข้างหน้า “ศิลปะพื้นบ้านอาจจะหายไปจริง ๆ แล้วเราจะทำอย่างไร”

เพลงอีแซว ตอนที่ 15

เกาะติดเวทีการแสดงเพลงอีแซว

(เสียดายรายการเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม)

ที่เคยได้ชมทางหน้าจอโทรทัศน์

โดย นายชำเลือง มณีวงษ์

ผู้มีผลงานดีเด่น รางวัลราชมงคลสรรเสริญ ด้านการแสดงเพลงพื้นบ้าน ปี 2547

           

          “ความบันเทิงอาจมีวันเสื่อมสิ้นสุด แต่สารประโยชน์ที่ได้จากายการไทยโชว์จะอยู่ในความทรงจำของทุกคนตลอดไป” เป็นประโยคทิ้งท้ายเอาไว้ให้คิดถึงไปอีกยาวนาน ในความรู้สึกส่วนตัวแล้ว ผมเสียดายรายการไทยโชว์ที่นำเสนอผลงานภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านศิลปะการแสดงมาเป็นเวลา 2 ปีกว่า แต่เวลาขนาดนี้กับการนำเสนอรากเหง้าต้นกำเนิดการแสดงพื้นบ้านจากแหล่งข้อมูลที่ไกลแสนไกลสุดเขตประเทศไทยโดยที่ทีมงานรายการไทยโชว์ทุกคนทำหน้าที่สืบหาข้อมูล แหล่งกำเนิดเพลงพื้นบ้านกันอย่างเอาจริงเอาจัง โดยเฉพาะ คุณคมสันต์ สุทนต์ พิธีกรของรายการไทยโชว์ เป็นคนรุ่นใหม่ที่รอบรู้ด้านนี้โดยตรงทั้งการศึกษา ประสบการณ์ ความตั้งใจจริง พิธีกรคนนี้มีพร้อม รวมทั้งมีบุคลิกภาพที่สุภาพอ่อนน้อมสมกับเป็นผู้นำในการตามหาศิลปวัฒนธรรมที่กำลังจะถูกลืมให้มีชีวิตกลับมามีลมหายใจต่อไปอีกระยะหนึ่ง ร่องรอยที่ชัดเจนมีให้ค้นหาได้จำนวน 109 ตอน ในระบบเครือข่ายและยังเหลือข้อมูลที่วางแผนเอาไว้แล้วและจะต้องไปเก็บเรื่องราวเหล่านั้นอีกจำนวน 84 สถานที่ (ไม่น้อยเลยสำหรับการเดินการและงบประมาณที่จะต้องลงทุน)
          ผมเป็นคนไทยคนหนึ่งที่เดินอยู่บนถนนคนเพลงพื้นบ้านมาตั้งแต่เยาว์วัยเรียนอยู่ในระดับชั้นประถมศึกษาทั้งที่ในวัยเด็กผมคิดได้แต่เพียงว่า “ผมชอบผมอยากร้องเพลงอีแซว ลำตัด เพลงกระบอก เพลงพวงมาลัย ฯลฯ” ได้ยินคนรุ่นน้า รุ่นลุงเขาร้องกันก็ร้องตามด้วยความสนใจจนต่อมาได้รู้จักกับครูเพลงรุ่นเก่า ๆ หลายท่าน ผมได้รับการถ่ายทอดเพลงพื้นบ้านหลายอย่างจากครูเพลงจนทำให้มีความรู้ ความเข้าใจในวิธีการแสดงแบบดั้งเดิม ในเวลาต่อมาเมื่อผมได้เข้าประกวดเพลงอีแซว (ด้นสด) ของจังหวัดสุพรรณบุรี ได้รับถ้วยรางวัลชนะเลิศ เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2525 ผมต้องทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้และจัดตั้งทีมงานการแสดงเพลงพื้นบ้านสานต่องานเพลงไปยังเยาวชน ผมนำเอารากเหง้าเก่า ๆ ของเพลงพื้นบ้านมาประยุกต์ ผสมผสานกับความเป็นคนรุ่นใหม่เพื่อที่จะให้คนที่มีความรู้สูงกว่าในยุคก่อน สามารถที่จะชมการแสดงเพลงพื้นบ้านได้อย่างสนุกสนานบันเทิงและสอดแทรกความรู้เอาไว้ในทุกบททุกตอนของการแสดง เวลาที่ต่อเนื่องกันมา 20 ปี ผมนำทีมงานการแสดงเพลงพื้นบ้านสายเลือดสุพรรณฯ ไปรับใช้สังคมในทุกสถานที่ที่ได้รับคำเชิญปีแล้วปีเล่าไม่ได้ขาดระยะ รุ่นแล้วรุ่นเล่าของลูกศิษย์ที่เข้ามาร่วมในทีมงานหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันไป 3 ปีบ้าง 6 ปีบ้าง บางคนก็อยู่กับครูไม่ถึง 3 ปีเขาก็มีอันต้องจากครูไปด้วยเหตุผลความจำเป็นของแต่ละคน
          เมื่อมาถึงวันนี้ ปี พ.ศ.2554 เป็นปีที่ผมจะต้องเกษียณอายุราชการไปตามกฎเกณฑ์ ยังดีที่ผมได้พบกับคุณคมสันต์ สุทนต์ ได้แลกเปลี่ยนความรู้ในเรื่องของเพลงพื้นบ้านทางระบบเครือข่าย บล็อกข้อมูล เว็บไซต์และทางเมล จนในที่สุดผมได้นำคณะนักแสดงเพลงพื้นบ้านสายเลือดสุพรรณฯ ไปเสนอผลงานในรายการไทยโชว์ ออกอากาศไปเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2554 (เป็นช่วงสุดท้ายของรายการ) ก็ไม่รู้ว่า ไทยโชว์จะมีโอกาสได้กลับมาอีกเมื่อไร

              

                    (ภาพประกอบ จากรายการไทยโชว์ สถทนีโทรทัศน์ ทีวีไทย)

          รายการโทรทัศน์ที่ทุ่มสุดตัว กล้าทีจะนำเอารากเหง้าดั้งเดิมของศิลปะการแสดงในทั่วทุกภูมิภาคมาเสนอทางสถานีโทรทัศน์มิใช่เรื่องง่าย หลายท่านพูดว่า “เสียดายของเก่า ๆ กลัวว่าศิลปะการแสดงบางอย่างจะสูญไป บางท่านพูดว่า ช่วย ๆ กันรักษาเอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้ดูได้เห็นได้ศึกษาต่อไป บางท่านพูดว่า ขอให้ทำต่อไปอย่าหยุดนะจะเป็นกำลังใจให้” การทำงานเพลงพื้นบ้านให้คงอยู่อย่างยั่งยืนถาวรจริง ๆ มีไม่กี่คนในแต่ละภูมิภาค ถ้าจะมองให้ลึกลงไปในระดับอำเภอหนึ่ง ๆ บางทีอาจจะไม่มีกลุ่มบุคคลมารวมตัวกันจัดตั้งเป็นคณะนักแสดงพื้นบ้านนำผลงานไปรับใช้สังคมได้เลย
          ยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปจากความจริงในวิถีชีวิตคนเพลงในสมัยก่อนกับสมัยนี้อยู่หลายประเด็น เป็นต้นว่า
          - เรื่องของเวลาแสดง บางวงฝึกเยาวชนแสดงได้เพียง 15-30 นาที (ไม่เพียงพอที่จะรักษาไว้ซึ่งสิ่งนั้นได้อย่างยั่งยืน เพราะไม่สามารถแทนที่คนรุ่นเก่าได้จริง) จะต้องทำการแสดงได้ 3 - 4 ชั่วโมงต่อการแสดง 1 คืน และรับงานแสดงต่อเนื่องได้หลายคืน
          - เรื่องของการพัฒนาผู้แสดงไปสู่ระดับมืออาชีพ (จะต้องมีงานแสดงที่ได้รับการจ้างวานไปแสดงเต็มเวลา ณ สถานที่ต่าง ๆ) มิใช่แค่แสดงในกิจกรรมย่อย ๆ เท่านั้น
          - เรื่องของมาตรฐานในการแสดง ความเป็นตัวของตัวเอง มีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นจนสามารถที่จะสนองความต้องการของกิจกรรมนั้น ๆ ได้อย่างสมภาคภูมิ (จากเพลงท่องไปจนถึงร้องด้นสดได้)
          - เรื่องของการลงทุน เพลงพื้นบ้านวงหนึ่ง จะออกไปนำเสนอผลงานได้จะต้องมีชุดการแสดง มีเครื่องสำอางแต่งหน้า มีเครื่องประดับที่สวยงาม มีเครื่องดนตรีที่จำเป็นและให้เสียงที่ไพเราะชัดเจน มีเครื่องขยายเสียง มีฉากและป้ายชื่อคณะ มีเวทีที่สามารถเคลื่อนย้ายไปในงานต่าง ๆ ได้ และมีพาหนะขนส่ง
          - เรื่องของค่าตอบแทนที่จะต้องสนับสนุนให้กับเด็ก ๆ หรือเยาวชนที่แสดงความสามารถควรที่จะมีความเหมาะสมกัน มิเช่นนั้นจะหาใครที่ไหนมาฝึกหัดการแสดง
          - เรื่องของความนิยมคนดู เพลงพื้นบ้านไม่ใช่มหรสพที่เด่นดังอย่างการละเล่นที่ทันสมัย เช่น การแสดงคอนเสิร์ต การแสดงนาฏดนตรี การให้ความสนใจของท่านผู้ชมขึ้นอยู่กับสถานที่ การดำเนินเรื่อง ความน่าสนใจ และชื่อเสียงของคณะเป็นองค์ประกอบ
          เมื่อกล่าวถึงคนดูหรือท่านผู้ชมเพลงพื้นบ้าน ในยุคก่อน ๆ ไม่มีการแบ่งฝ่ายผู้แสดง ฝ่ายคนดู ทุกคนทำหน้าที่แสดงความสามารถ เหนื่อยก็หยุดพักเป็นผู้ดู หายเหนื่อยก็เข้ามาเล่นร่วมวงต่อไป ถึงยุคปัจจุบันเมื่อเป็นการแสดงอย่างมหรสพ เท่าที่ผมนำคณะเพลงพื้นบ้านสายเลือดสุพรรณฯ ไปทำการแสดงในหลายต่อหลายสถาน ที่มีทั้งผู้ชมให้ความสนใจมาก (นับพันคน) บางสถานที่ให้ความสนใจน้อย (นับร้อยคน) บางสถานที่ผู้ชมยืนนั่งให้กำลังใจนาน (2-3 ชั่วโมง แล้วค่อยจางไป) บางสถานที่ท่านผู้ชมอยู่ให้กำลังใจสั้น (1-2 ชั่วโมงค่อยจางลงไปเหลือเพียงผู้ชมประมาณ 30 - 50 คน ดูจนจบการแสดง) เวลาทำการแสดงตั้งแต่ 20.30 น.ล่วงเลยไปจนกว่า 23.00 น.เศษ จะเหลือท่านผู้ชมบางตา ยกเว้นการแสดงงานวัดในกรุงเทพฯ มิเป็นอย่างนั้น ท่านผู้ชมอยู่ให้กำลังใจจนจบการแสดง เพลงพื้นบ้านไม่มีแฟนคลับอย่างลิเก ดนตรีที่จะได้เหมาะรถไปเชียร์ไปเป็นกำลังใจจำนวนมาก ๆ
          การแสดงศิลปวัฒนธรรมประจำท้องถิ่นทุกอย่าง เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง น่าเสียอย่างที่สุดหากจะต้องหมดคนรุ่นใหม่มารับช่วง มาทำหน้าที่แทนคนเก่า ๆ ยิ่งรายการโทรทัศน์ฟรีทีวีที่เคยแบ่งเวลาให้การแสดงศิลปวัฒนธรรมไทยได้นำเสนอการแสดงท้องถิ่นแล้วทำให้นึกเสียดาย เพราะว่าบางรายการค่อย ๆ จางหายไปจนแทบไม่มีให้ได้ชมกันอีก รายการดี ๆ ที่ผมขอนำเอามากล่าวถึง บางรายการยังอยู่ แต่บางรายการหายไปจากหน้าจอโทรทัศน์เสียแล้ว ได้แก่
             - รายการย้อนทางอย่างไทย
             - รายการรอยไทย
             - รายการห้องข่าวสีขาว
             - รายการเมล็ดพันธุ์ไทย
             - ราการไทยโชว์
          เมื่อไม่มีช่องทาง ทางทีวี ก็ยังมีช่องทางอื่น ได้แก่ ช่องทางในระบบเครือข่าย (Internet) ต้องยอมรับว่า เข้าไม่ถึงคนรุ่นกลางที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปี จะไปถึงคนรุ่นใหม่เสียมากกว่าและบางท่านก็ไม่เข้าใจ ฟังดูไม่รู้เรื่อง เพราะอยู่คนละยุคคนละสมัยกัน เด็กรุ่นใหม่ถึงแม้ว่าจะเข้าไปใช้ระบบเครือข่ายค้นหาข้อมูลกันมาก แต่เป้าหมายไม่พุ่งตรงไปยังภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านศิลปะการแสดงสักเท่าไร แต่ก็ยังดีที่เป็นทางเลือกอีกทางหนึ่ง ที่เอาไว้รองรับข้อมูลดี ๆ ไม่ให้ต้องหายไป
          อีกช่องทางหนึ่งคือ สื่อประเภทเทปบันทึกเสียง แผ่นวีซีดี ดีวีดี แฮนดี้ไดรว์ การ์ดบันทึกหน่วยความจำ เอกสาร หนังสือ สามารถที่จะเก็บข้อมูลนำไปรับรู้ได้ทั้งภาพ เสียง แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับค่านิยมของสังคม บุคคลและยุคสมัย รวมทั้งวัยของผู้ที่จะเข้าถึงด้วย
          ในขณะที่วันนี้ มีกลุ่มบุคคลที่ยังรักษาศิลปะการแสดงของท้องถิ่นในแต่ละภูมิภาคลดน้อยลงไปทุกที และในขณะเดียวกัน ผู้ผลิตรายการวิทยุ โทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ที่มีความมุ่งมั่น มีความสนใจในเรื่องของศิลปะการแสดงท้องถิ่นมีจำนวนจำกัด (น้อยมาก) น่าเสียดายว่า ในอนาคตข้างหน้า “ศิลปะพื้นบ้านอาจจะหายไปจริง ๆ แล้วเราจะทำอย่างไร”
            
ติดตามเพลงอีแซว เกาะติดเวทีการแสดง ตอนที่ 16 งานทำบุญอัฐิที่วัดบางเตย กรุงเทพฯ
หมายเลขบันทึก: 435437เขียนเมื่อ 15 เมษายน 2011 13:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 16:43 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท