ดนตรีอีสาน โปงลาง


โปงลาง

โปงลาง

ความเป็นมา

             โปงลาง มีลักษณะวิธีการบรรเลงคล้ายกับระนาดเอก คือนำท่อนไม้หรือกระบอกไม้มาร้อยติดกันเป็นผืนและใช้ไม้ตีเป็นทำนองเพลง แขวนตีกับเสาบ้าง ขึงบนรางบ้าง หรือบางทีก็ผูกติดกับตัวผู้บรรเลงเครื่องดนตรีชนิดนี้พบทั่วไปในหลายประเทศ สำหรับในประเทศไทยพบในแถบภาคอีสานและเรียกเครื่องดนตรีนี้หลายชื่อด้วยกัน เช่นเรียกว่า หมากกลิ้งกล่อม หมากขอลอ หรือหมากโปงลาง เป็นต้น ที่ได้ชื่อว่า หมากขอลอ เพราะเวลาเคาะแต่ละลูกมีเสียงดังกังวานคล้าย ขอลอ (หมายถึง เกราะในภาษาอีสาน) ส่วนคำว่า โปงลางนั้น เดิมเป็นคำที่ใช้เรียก กระดึงสำริดที่ใช้แขวนคอวัว      ในสมัยโบราณที่เรียกกระดึงนี้ว่าโปงลางคงเรียกตามเสียงที่ได้ยิน ต่อมามีผู้นำชื่อนี้ไปตั้งเป็นชื่อ      ลายแคน (การบรรเลงแคน) ที่เป่าเลียนเสียงโปงลางที่ผูกคอวัวเรียกว่า ลายโปงลางและที่เรียกว่า หมากกลิ้งกล่อม ก็เพราะเป็นเครื่องดนตรีที่มีเสียงไพเราะสามารถกล่อมให้ผู้ฟังมีความเคลิบเคลิ้มเพลิดเพลิน
 
 
โปงลางนิยมทำจากไม้มะหาด หรือไม้หมากเหลื่อม เพราะเป็นไม้ที่มีความอยู่ตัวมากกว่าไม้อื่น ๆ วิธีการทำเอาไม้มาถากเหลาให้ได้ขนาดลดหลั่นกันตามเสียงที่ต้องการในระบบ 5 เสียง โปงลาง 1 ชุดจะมีจำนวนประมาณ 12 ลูก ใช้เชือกร้อยรวมกันเป็นผืน เวลาตีต้องนำปลายเชือก ด้านหนึ่งไปผูกแขวนไว้กับเสาในลักษณะห้อยลงมา ส่วนปลายเชือกด้านล่างจะผูกไว้กับขาหรือเอวของผู้ตี วิธีการเทียบเสียงโปงลาง ทำโดยการเหลาไม้ให้ได้ขนาดและเสียงตามต้องการ ยิ่งเหลาให้ไม้เล็กลงเท่าใดเสียงก็จะยิ่งสูงขึ้น ซึ่งแตกต่างจากระนาดในปัจจุบัน ที่มีเจ็ดเสียงและมีการปรับแต่ง เทียบเสียงด้วยการใช้ตะกั่วผสมขี้ผึ้ง ถ่วงใต้ผืนระนาดเพื่อให้ได้ระดับเสียง และคุณภาพเสียงที่ต้องการ การบรรเลงหมากกลิ้งกล่อม หรือโปงลางนิยมใช้ผู้บรรเลงสองคนต่อเครื่องดนตรีหนึ่งชิ้น แต่ละคนใช้ไม้ตี 2 อัน
             การเรียกชื่อเพลงที่บรรเลงด้วยโปงลางมักจะเรียกตามลักษณะและลีลาของเพลงโดยการสังเกตจากสภาพของธรรมชาติที่อยู่รอบ ๆ ตัว เช่น เพลง "ลายนกไซบินข้ามทุ่ง" หรือเพลง "ลายกาเต้นก้อน" เป็นต้น โปงลางนั้นนอกจากจะใช้บรรเลงตามลำพังแล้ว ยังนิยมใช้บรรเลงเป็นวงร่วมกับ เครื่องดนตรีอื่น ๆ เช่น พิณแคน กลอง เพื่อการฟังและใช้บรรเลงประกอบการฟ้อนพื้น บ้านอีสานได้เป็นอย่างดี
วิธีทำโปงลาง
            ไม้ที่ใช้ทำโปงลางนั้นส่วนมากจะไม้เนื้อแข็ง เพราะจะให้เสียงที่ไพเราะและกังวาน
ไม้ที่นิยมใช้กันมากที่สุดคือ ไม้หมากหาด (มะหาด) ใช้ทำลูกโปงลาง ไม้ประดู่ใช้ทำไม้ตีและขาตั้งไม้มะหาดนั้นจะแบ่งได้เป็น 3  ชนิด โดยจะแบ่งตามเกรด ดังนี้
ไม้มะหาดทองคำ จัดอยู่ในเกรด  A
ไม้มะหาดดำ จัดอยู่ในเกรด  B
ไม้มะหาดน้ำผึ้ง จัดอยู่ในเกรด  C
 
การเลือกไม้
           การเลือกไม้ที่จะนำมาใช้ทำโปงลางนั้น  จะต้องเป็นไม้มะหาดที่ตายแล้วประมาณ  20 ปีขึ้นไปเพราะจะให้เสียงที่ดีกังวาน และไม่ผิดเพี้ยนหลังจากการผลิตส่วนไม้มะหาดที่ยังสดอยู่นั้นจะไม่ใช้เพราะจะทำให้เสียงเพี้ยนไปจากความเป็นจริง และเสียงจะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เมื่อไม้แห้งลง
 
 วิธีทำลูกโปงลาง
  
            ไม้ที่ตัดมาจากต้นจะตัดเป็นท่อน ๆ ท่อนละ 65 เซนติเมตร ท่อนหนึ่งจะผ่าแบ่งเป็นลูกโปงลางได้ 4 - 8 ลูก แล้วแต่ขนาดของท่อนไม้  ถ้าเป็นวิธีทำสมัยโบราณไม่มีเครื่องทุ่นแรงใด ๆ     เมื่อนำมีดมาถากไม้พอกลมก็นำมาใช้ได้เลย ต่อมาได้นำเครื่องทุ่นแรงมาใช้คือ กบมือ จึงได้นำ        กบมือมาไสไม้ที่ทำโปงลางให้มีความกลมและสวยงามมากขึ้น จนถึงปัจจุบันใช้มีดถากให้กลมพอประมาณ และขั้นตอนต่อไป นำไปเข้าเครื่องกลึงเพื่อความสวยงาม ละเอียด และกลมมากขึ้น   เมื่อกลึงเสร็จแล้ววัดและตัดขนาดความยาว ลูกแรกยาว 60 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์ 7 เซนติเมตร    ลูกต่อมาลดลงตามส่วน ห่างกันลูกละ 1 เซนติเมตร ลูกสุดท้ายยาว 29 เซนติเมตร ขั้นตอนต่อไป นำไม้มาวัดหัวท้ายข้างละ 12 เซนติเมตร และลดลงตามส่วน ลูกล่างสุดวัดได้  6 เซนติเมตร           ในแต่ละข้างเรียงไม้ให้สม่ำเสมอกันแล้วนำมีดมาถากให้มีลักษณะเว้าทั้ง 2 ข้างของลูกโปงลาง      แล้วนำมาแต่งเสียงโดยวิธีการตัดไม้ออก และเทียบเสียงให้เข้ากับ โปงลางต้นแบบ ขั้นตอนสุดท้าย เจาะรูโดยวัดเข้ามาวิธีเดียวกันกับการถากลูกโปงลางให้เว้า
 
 
การเทียบเสียง
           เสียงโปงลางถ้าใช้กับวงพื้นบ้านอีสานทั่วไป จะใช้แคน เป็นหลักในการบันทึกเสียง
แต่ถ้าจะใช้บรรเลงกับวงดนตรีสากล จะต้องใช้คีย์บอร์ด อิเล็คโทนในการเทียบเสียง หรือไม่ก็ใช้เครื่องเทียบเสียงสากล ในการเทียบเสียงลูกโปงลางในแต่ละลูกเสียงที่ได้มาจะเข้ากับเครื่องดนตรีสากลได้เป็นอย่างดี โปงลางนอกจากจะใช้บรรเลงตามลำพังแล้ว ยังนิยมบรรเลงรวมวงกับ         เครื่องดนตรีอื่น ๆ เช่น พิณ แคน โหวด กลอง เป็นต้น
 
การปรับแต่งเสียงโปงลาง
           การตีโปงลางบางครั้ง ทำให้เกิดเสียงเพี้ยนได้ ถ้าหากนานไปเสียงโปงลางเพี้ยน ก็สามารถปรับให้เป็นเสียงมาตรฐานตามต้องการได้โดยใช้วิธีดังนี้
1.  หากเสียงต่ำ  ให้บากด้านหัวทั้งสองข้างทีละน้อย ๆ จนได้เสียงตามที่ต้องการ
2.  หากเสียงสูง  ให้บากตรงกลาง ทีละน้อย ๆ จนได้เสียงตามที่ต้องการ
 
 ส่วนประกอบของโปงลาง
 
 
 
บรรเลงโปงลาง เพลง นารีอีสาน
 
 
 
 

 

ขอบคุณข้อมูล อีสานเกรท

คำสำคัญ (Tags): #โปงลาง ฮีตอีสาน
หมายเลขบันทึก: 435008เขียนเมื่อ 11 เมษายน 2011 20:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สบายดี...

ม่วนหลายทั้งเสียงแคนและเสียงโปงลาง...คึดฮอดบ้านหลายๆ

สบายดี

     มักหลายเด้อเสียงโปงลาง พิณ แคน แดนอีสาน

ดนตรีอีสานม่วนซื่นครึกครื้นเสมอ

ฮักอีสานบ้านเฮาหลายๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท