งานมีคุณค่าทำชีวิตเราดีนาน [EN]


อ.นพ.เมฮ์เมด ออซ ศัลยแพทย์ผ่าตัดหัวใจ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องวิธีทำให้อายุยืนยาวอย่างมีคุณภาพของสหรัฐฯ ตีพิมพ์เรื่อง 'Why work is good for brain health' ในนิตยสาร AARP ออนไลน์ = "ทำไมงานดีกับสุขภาพสมอง", ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟังครับ 
.
หลังป่วยหนัก เช่น โรคหัวใจ มะเร็ง ฯลฯ, คนไข้จำนวนมากจะรีบเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ (lifestyle) หรือแบบแผนการใช้ชีวิตทันที เช่น เปลี่ยนงาน เลิกทำงาน เกษียณงาน ฯลฯ 
.
การ "ชะลอ" การตัดสินใจเรื่องใหญ่ๆ ออกไปสักพัก ปรึกษาหารือกับผู้ที่ท่านเคารพนับถือ (ไม่แนะนำให้ปรึกษาหมอดู) ก่อน ไม่ควรด่วนคิด-ตัดสินใจภายใน 7 วันถ้าป่วยหนักมาก หรือ 6 เดือนถ้าป่วยหนักปานกลาง มักจะดีกว่าการหุนหันพลันแล่น ตัดสินใจอะไรไปโครมครามทันที
.
ท่านเล่าจากประสบการณ์ทำงาน 17 ปีว่า คู่ครอง (spouse) ของคนไข้มักจะบ่นเรื่องไม่สบายใจที่คนไข้จะเกษียณงาน
การศึกษาใหม่พบว่า คนที่เกษียณเร็วเพิ่มเสี่ยงสมรรถภาพสมองเสื่อมเร็ว โดยเฉพาะการคิดอ่าน-ตัดสินใจ (cognitive performance) ลดลง โดยเฉพาะประเทศที่เกษียณตั้งแต่อายุน้อยจะพบปัญหานี้มากขึ้น
.
กลไกที่เป็นไปได้คือ งานทำให้คนเราพัฒนาขึ้นในหลายๆ ด้าน เช่น งานทำให้ทักษะทางสังคมดีขึ้น ได้พบปะผู้คนมากขึ้น เรียนรู้เรื่องใหม่มากขึ้น ฯลฯ
.
อ.ออซ ยกคำภาษาญี่ปุ่นที่ว่า 'itikigai (อิติคิไก)' = เหตุผลที่ทำให้ตื่นขึ้นมา (เพื่ออะไรสักอย่าง) ตอนเช้า นั่นคือ ถ้าเราทำงานที่มีคุณค่าทุกวัน, เราจะรู้สึกดีๆ กับชีวิต และตัวเองได้ทุกวัน
.
ท่านแนะนำว่า งานที่มีค่า หรืองานอดิเรก 3 มิติดังต่อไปนี้จะช่วยให้เราอายุยืนอย่างมีสุขภาพดี
.
(1). social engagement = การ(ได้)เข้าสังคม
.
(2). physical activity = กิจกรรมออกแรง-ออกกำลัง
.
(3). intellectural stimulation = การกระตุ้นสติปัญญา
.
ตัวอย่างกิจกรรมที่ดีกับมิติชีวิตครบ 3 ข้อ เช่น เต้นรำ (ไม่ควรทำในห้องแอร์ที่แออัด เช่น ไนท์คลับ ผับ บาร์ ฯลฯ เพื่อป้องกันควันบุหรี่มือสอง และโอกาสติดวัณโรคปอด), โยคะ รำกระบองชีวจิต ไทชิ-ชี่กง มวยจีน เต้นแอโรบิค ฯลฯ
.
อ.ออซแนะนำว่า วิธีเตรียมเกษียณ (retire) ให้ดี คือ เตรียมให้พร้อม 3 มิติได้แก่
.
(1). financial plan = แผนการเงิน > ทำอย่างไรไม่มีหนี้เกินตัวตั้งแต่เด็ก ออมทรัพย์ เช่น ทำประกันชีวิตแบบออมทรัพย์กับธนาคารออมสิน ฯลฯ ลงทุนหลายด้านแบบกระจายความเสี่ยง
.
(2). mental plan = แผนสุขภาพจิต > ทำอย่างไร "ลดเครียด-เศร้า-เหงา-เซง" เท่าที่ทำได้ เช่น ใช้ชีวิตให้มีค่าทุกวัน ออกแรง-ออกกำลังหลายรูปแบบเป็นประจำ (อย่างน้อยเดินสะสม 30 นาที/วัน + ขึ้นลงบันไดสะสม 4 นาที/วัน), ออกกำลังแบบตะวันออก เช่น โยคะ ฯลฯ
.
(3). physical plan = แผนสุขภาพกาย > ทำอย่างไรป่วยไข้ให้น้อย เช่น ไม่ดื่มหนัก ไม่สูบบุหรี่ ตรวจเช็คความดันเลือด-น้ำตาลในเลือด (เบาหวาน)-ไขมันในเลือด (โคเลสเตอรอล), รักษาต่อเนื่องถ้าป่วยหรือมีความเสี่ยงต่อโรคสูง ฯลฯ
.
โรคสมัยใหม่คือ โรค "นั่งนาน-กินมาก-นอนน้อย", วิธีที่ดี คือ ลุกขึ้นจากที่นั่งทุกๆ 1-2 ชั่วโมง เดินไปมา-เข้าห้องน้ำ-ขึ้นลงบันไดสักชั้น หรือถ้าทำไม่ได้ควรลุกขึ้นยืนเขย่งเท้าทุกๆ ชั่วโมง เพื่อให้เลือดลมไหลเวียน, กินพอประมาณ และนอนให้พอเป็นประจำ
.
ถึงตรงนี้... ขอให้ท่านผู้อ่านมีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ
.
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ รพ.ห้างฉัตร ลำปาง. 11 เมษายน 2554.
  • ข้อมูลทั้งหมดเป็นไปเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรค; ท่านที่มีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงต่อโรคสูงจำเป็นต้องปรึกษาหมอที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้.
หมายเลขบันทึก: 434808เขียนเมื่อ 10 เมษายน 2011 13:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

แหม.....อ่านมาถึงตอนท้ายต้องลุกขึ้นยืนแล้วขยับๆ หลายหน เพื่อปฏิบัติตามคำแนะนำครับผม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท