R2R กระบวนการเรียนรู้พัฒนางานประจำให้มีคุณค่า


R2R จึงเริ่มต้นเขียนได้ ณ บัดนี้ ไม่ต้องเดี๋ยว

ทีมนักวิชาการสาธารณสุขระดับอำเภอ จังหวัดน่าน ได้เล็งเห็นว่าการพัฒนางานประจำให้เป็นงานวิจัยเป็นองค์ความรู้ที่สำคัญในการพัฒนาระดับพื้นที่โดยเฉพาะการพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) จึงได้ประสานกับงานพัฒนาบุคลากรของสสจ.น่าน ในการเชิญวิทยากร คือ รศ.นพ.สมชาติ  โตรักษา หัวหน้าภาควิชาบริหารงานสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหิดล มาเป็นวิทยากรอบรมในหลักสูตร “การทำงานประจำให้เป็นผลงานวิชาการ(Routine to Academic : R2A) และผลงานวิจัย (Routine to Research : R2R) สู่ความเป็นเลิศ(Routine to Excellence : R2E)”

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรผู้ปฏิบัติให้มีความรู้เรื่องการทำงานประจำให้เป็นผลงานวิชาการและผลงานวิจัยสู่ความเป็นเลิศ โดยเน้นการเขียนผลงานวิจัยจากงานประจำ ซึ่งเป็นงานที่ได้ดำเนินการมาแล้วได้ผลดี ทำแล้วมีความสุข และมีความภาคภูมิใจ ให้สามารถเขียนเป็นผลงานวิชาการเพื่อเผยแพร่ได้

โดยการรับสมัครผู้ใจและมีผลงานประจำพร้อมที่จะเขียนเป็นผลงานวิจัย จำนวน ๗๐ คน จากหน่วยงานในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด/สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ/โรงพยาบาลน่าน/โรงพยาบาลชุมชน/และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล

แบ่งการดำเนินงานเป็น ๓ ระยะ

          ระยะที่ 1 การอบรมปูพื้นฐานความรู้ และการเขียนผลงานวิจัยจากงานประจำ (๓ เมษายน ๒๕๕๔)

          ระยะที่ 2 ทีมจังหวัด/อำเภอ สนับสนุนผู้ผ่านการอบรมในการเขียนผลงานวิจัยจากงานประจำ (เมษายน – พฤษภาคม ๒๕๕๔)

          ระยะที่ 3 เวทีนำเสนอผลงานวิจัยและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับจังหวัด (เดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ๒๕๕๔) และจัดทำผลงานวิจัยเพื่อเผยแพร่

โดยกำหนดคุณสมบัติผู้เข้าร่วมเรียนรู้ดังนี้

1. เป็นผู้สนใจใฝ่รู้ และสมัครใจเข้ามาอบรม/แลกเปลี่ยนเรียนรู้

2. มีผลงานประจำที่ได้ดำเนินการมาแล้วได้ผลดี ทำแล้วมีความสุข และมีความภาคภูมิใจ พร้อมที่จะนำเขียนเป็นผลงานวิจัย

3. สามารถมาเข้ารับการอบรมได้ตรงเวลา และอยู่ได้ต่อเนื่องตลอดการอบรม

๔. สามารถเข้าร่วมอบรม/แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และดำเนินการต่อเนื่องได้ ทั้ง ๓ ระยะ

ปรากฏว่าหลังจากการประกาศเชิญชวนผู้สนใจเข้าอบรม ปรากฏว่ามีคนสนใจสมัครเข้ามาจำนวนมากกว่า ๑๕๐ คน จึงได้คัดกรองผู้ที่เคยทำงานวิจัยได้ดีแล้วหรือเรียนปริญญาโทมาแล้วออกไปก่อน เปิดโอกาสให้มือใหม่เข้ามาอบรมในหลักสูตรนี้ก่อน การอบรมกำหนดในวันอาทิตย์ที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๔ ณ โรงแรมเทวราช ในวันจริงปรากฏมีคนมาอบรมจริง ๑๒๐ คน มากกว่าเป้าที่ตั้งไว้มาก (แต่ก็เป็นความท้าทายว่าสุดท้ายแล้วไปถึงปลายทางจะเหลือกี่คน)

          การอบรมวิทยากรหลัก ได้ให้องค์ความรู้เรื่อง R2R ไว้หลายเรื่อง แต่ใจหลักสำคัญคือว่า

          งานประจำสำคัญที่สุด เพราะเป็นงานที่เราทำมาต่อเนื่องยาวนาน เป็นงานที่ทำให้เรามีงานทำ

          การทำงานประจำให้เป็นงานวิจัยก็คือกระบวนการทำให้งานประจำที่เราทำทุกๆ วันให้เป็นผลงานวิจัย ที่ก่อให้เกิดการพัฒนางาน หน่วยงาน และองค์การ อย่างน่าภาคภูมิใจและมีความสุขยิ่งๆ ขึ้นตลอดไป

          การทำผลงานประจำให้เป็นงานวิจัย เน้นที่การพัฒนา(Development) ม่เน้นที่กระบวนการวิจัย(Research Methodology)

          คำถามหลัก(Research Question) ของการวิจัยแบบ R2R คือ เราจะทำงานประจำของเราให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้อย่างไร ? ภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่

          ปัญหาการวิจัย(Research Problems) คือ ผลการดำเนินงานของเราที่ผ่านมายังไม่ดีเท่าที่ผู้เกี่ยวข้องคาดหวังและต้องการ

          ลักษณะของ R2R แท้และดี มี ๕ ประการ

          ๑. เป็นงานในอ้อมแขน คนอื่นทำแทนไม่ได้ คือเป็นที่เราทำเองและเป็นความจริง (Routine & Fact)

          ๒. เกิดการพัฒนาที่มีหลักฐานยืนยัน (Evident Based Development / Improvement)

          ๓. ใช้ระยะเวลาการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเกินกว่า ๑ ปี (Long time Continuous Implement)

          ๔. เป็นผลงานวิจัยที่มีคุณค่ากับทุกฝ่าย (Valuable Research For All)

          ๕. ถูกต้องตามหลักของกระบวนการวิจัย (Correct to Research Methodology) ซึ่งประเด็นนี้เป็นประเด็นสุดท้ายที่ให้ความสำคัญ

          R2R แท้และดี จึงเป็นกระบวนการทำงานของคนดีที่มุ่งมั่นทำงานเพื่องานและเพื่อผู้รับบริการอย่างเสียสละและน่าชื่นชมมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนานหลายๆ ปีติดต่อกัน

          การทำวิจัยอาจจะยากในครั้งแรก แต่จะยากน้อยลงในการทำครั้งต่อๆ มา

          พวกเราทำวิจัยมาแล้ว หลาย เรื่อง แต่ไม่ได้ เขียน ผลงานวิจัยที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพตามความสามารถและคุณค่าที่แท้จริงของผลงานวิจัยนั้นและของพวกเรา

          ดังนั้นการเลือกเรื่องที่จะเขียนเป็นผลงานวิจัย R2R เรื่องแรกๆ ของเรา จึงควรเลือกงานที่เราที่ได้ทำไปแล้ว มีความสุขและภาคภูมิใจทุกครั้งที่นึกถึง นำมาเขียนก่อน เพื่อให้เกิดพลังใจในการที่เขียนงานวิจัย แล้วค่อยพัฒนางานประจำที่มีอยู่ไปสู่การพัฒนาให้ดีกว่าเดิมในอนาคต

          R2R จึงเริ่มต้นเขียนได้ ณ บัดนี้ ไม่ต้องเดี๋ยว

พญ.อภิญญา เชื้อสุวรรณ เป็นตัวแทนผู้เข้าอบรมมอบของที่ระลึกให้วิทยากร รศ.นพ.สมชาติ โตรักษา

 

หมายเลขบันทึก: 434759เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2011 21:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

 

  • มาเชียร์ R2R ให้เกิดขึ้น อย่างมีความสุข
  •  

    อยากมาร่วมด้วยจังเลย ......เห็นบรรยากาศแล้วอบอุ่นมากค่ะ

    น้องซอมพอเล่นน้ำสงกรานต์หรือเปล่าค่ะ และถีบจักรยานเก่งหรือยังค่ะ

    สวัสดีปีใหม่ไทยค่ะคุณพ่อน้องซอมพอ

    มาชมมาเชียร์ กิจกรรม การงาน

    ส่งความคิดถึง ปิดเทอมของสาวน้อยเป็นไงบ้างเอ่ยคะ

    ไว้จะรออ่านชมภาพและติดตามข่าวคราว ส่งกำลังใจค่ะ

     

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท