EK-KARIN CHUAYCHOO
นาย เอกรินทร์ EK-KARIN CHUAYCHOO ช่วยชู

เห็ดแครง อีกทางเลือกสร้างรายได้ที่น่าสนใจ


การเพาะเห็ดแครงขาย เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการสร้างรายได้เสริม ปัจจุบันเห็ดแครงเริ่มหารับประทานยากขึ้น ทำให้มีผู้คิดค้นวิธีการเพาะเห็ดแครงขึ้นเพื่อจะได้มีเห็ดบริโภคตลอดทั่งปี เห็ดแครงหรือที่รู้จักกันในนาม “เห็ดตีนตุ๊กแก” เป็นเห็ดที่ขึ้นได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย และงอกได้ตลอดปี โดยเฉพาะฤดูฝนจะพบเห็ดแครงงอกตามท่อนไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ ใบหญ้า กระดาษ สำหรับในภาคใต้มักพบบนท่อนไม้ยางพาราที่ตัดโค่นไว้ เห็ดแครงมีคุณค่าทางโภชนาการไม่แพ้เห็ดชนิดอื่น โดยเฉพาะมีคาร์โบไฮเดรต โปรตีนสูง ให้พลังงานสูงกว่าเห็ดหอม เห็ดนางรม เห็ดฟาง และเห็ดหูหนู ในประเทศญี่ปุ่นจะใช้ทำเป็นยารักษาโรค เพราะในเห็ดแครงมีสารที่มีคุณสมบัติในการต่อต้านเชื้อไวรัสยับยั้งเซลล์มะเร็ง ประเทศไทยเห็ดแครงจะเป็นที่รู้จักมากในหมู่คนปักไต้ ซึ่งจะนิยมนำมาแกงคั่วกับปลาย่าง หรือนำมาย่างโดยโขลกพริกขี้หนู ข่า ตะไคร้ ขมิ้น พริกไทย แล้วนำเห็ดแครงผสมลงไป พร้อมด้วยมะพร้าวขูด ไข่ไก่ แล้วห่อด้วยใบตองนำไปปิ้งเตาถ่าน ส่งกลิ่นหอมชวนให้น้ำลายไหลเลยทีเดียว ปัจจุบันเห็ดแครงเริ่มหายากขึ้นเพราะไม้ยางพารามีราคาสูงเป็นที่ต้องการของตลาด นอกจากนั้นพื้นที่ป่าเหลือน้อยกลายเป็นที่อยู่อาศัยมากขึ้น กว่าจะได้กินเห็ดแครงสักครั้งต้องรอให้ถึงช่วงหน้าฝนแต่ก็มีบ้างเล็กน้อย เหตุนี้จึงทำให้มีผู้คิดค้นหาวิธีการเพาะเห็ดแครงขึ้นเพื่อให้มีไว้บริโภคได้ตลอดปี

วัสดุส่วนผสมการทำก้อน มีดังนี้

  1. ขี้เลื่อยไม้ยางพาราหรือไม้เนื้ออ่อน     100           กิโลกรัม
  2. รำละเอียดหรือปลายข้าว                   50           กิโลกรัม
  3. พูมิช                                             2           กิโลกรัม
  4. ดีเกลือ                                          2            ขีด 
  5. น้ำสะอาด                                    75-80        ลิตร

ขั้นตอนการทำก้อนมีดังนี้

  1. คลุกขี้เลื่อย รำละเอียด พูมิชให้เข้ากัน จากนั้นเติมน้ำสะอาดผสมดีเกลือ คลุกเคล้าให้เข้ากันพอหมาดๆ ระวังอย่าให้แฉะ
  2. บรรจุใส่ถุงพลาสติกเพาะเห็ด ขนาด 6.5 x 10 นิ้ว ประมาณ 3 ใน 4 ของถุง หรือน้ำหนัก 600 กรัมต่อถุง
  3. อัดวัสดุเพาะพอแน่น สวมคอขวดใช้ยางรัด เจาะรูตรงกลางเพื่อให้เชื้อเห็ดอยู่ตรงกลางถุง ปิดจุกประหยัดสำลี
  4. นำไปนึ่งในหม้อนึ่งลูกทุ่ง อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 3-4 ชั่วโมง นับจากน้ำเดือด เมื่อครบกำหนดเวลา พักไว้ให้เย็นลำเลียงไปไว้ในห้องเขี่ยเชื้อ แล้วรีบใส่เชื้อ อย่าทิ้งไว้ให้เกิน 24 ชั่วโมง จะทำให้การปนเปื้อนของเชื้อสูง
  5. การเขี่ยเชื้อเห็ดควรเขี่ยในห้องที่สะอาดและลมสงบ นำเชื้อเห็ดที่จะเพาะมาเคาะให้เมล็ดข้าวฟ่างกระจายก่อน เพื่อสะดวกในการเทหัวเชื้อเห็ดลงถุง เปิดปากขวดออกลนด้วยเปลวไฟจากตะเกียงแอลกอฮอล์ ดึงจุกประหยัดสำลีที่จุกปากถุงออก แล้วเทหัวเชื้อที่เลี้ยงบนเมล็ดข้าวฟ่างลงไป ประมาณ 20-30 เมล็ด ผู้เพาะต้องระวังอย่าให้มือถูกเมล็ดข้าวฟ่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้ก้อนเชื้อเสียได้ จุกสำลีที่จุดปากถุงห้ามวางกับพื้นเด็ดขาด และเมื่อเขี่ยหัวเชื้อลงในถุงแล้ว ต้องรีบปิดจุกสำลีทันที หัวเชื้อเห็ด 1 ขวด จะใส่ได้ประมาณ 30 ถุง
  6. การบ่มก้อนเชื้อ ก้อนเชื้อที่เขี่ยเชื้อแล้วนั้น ควรเก็บในโรงเรือนสำหรับบ่มเชื้อทันที ภายในโรงเรือนบ่มเชื้อต้องสะอาด และที่สำคัญจะต้องมืด ขนาดที่อ่านหนังสือพิมพ์ไม่เห็นในระยะ 1 ฟุต มิฉะนั้นแสงจะเป็นตัวกระตุ้นให้เส้นใยสร้างดอก ทั้งที่เส้นใยยังเจริญสะสมอาหารได้ไม่เต็มที่ ซึ่งเป็นสาเหตุให้ผลผลิตต่ำ ไม่คุ้มค่าในแง่เศรษฐกิจ หลังจากพักบ่มเส้นใยประมาณ 15-20 วัน เส้นใยจะเจริญเต็มถุง จึงนำไปเปิดดอก

มิตรเกษตรท่านใดที่เพาะอยู่หรือกำลังจะเพาะ แล้วมีความสนใจอยากจะลองเพาะเห็ดแครง(เห็ดตีนตุ๊กแก)สร้างรายได้ดูบ้าง สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมหรือสั่งจองเชื้อเห็ด อุปกรณ์การเพาะ ได้ที่คุณเอกรินทร์  ช่วยชู โทร.081-3983128

เขียนและรายงานโดย : คุณเอกรินทร์  ช่วยชู (นักวิชาการชมรมฯ)

ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ  www.thaigreenagro.com

หมายเลขบันทึก: 434655เขียนเมื่อ 8 เมษายน 2011 23:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ชอบกินมากๆค่ะ โดยเฉพาะแกงคั่วน้ำพอแฉะๆ ใส่ลูกตอด้วย อร่อยเป็นที่สุดค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท