เรื่องเล่าระหว่างวันที่ ๔ - ๘ เมษายน ๒๕๕๔


                        
  
๑๑ เมษายน ๒๕๕๔

เรียน เพื่อนครู ผู้บริหารและท่านผู้อ่านที่เคารพรักทุกท่าน
วันจันทร์ที่ ๔  เมษายน  ๒๕๕๔  เช้านี้เดินทางเข้ากระทรวงศึกษาธิการ เพื่อติดต่อราชการเกี่ยวกับพัฒนาบุคลากร ขากลับมาแวะทานเข้ากลางวันที่ร้านข้าวแกง "ฅนคอน" ราคาจานละ ๔๐ บาท ซึ่งแพงขึ้นกว่าเดือนที่แล้ว ๑๐ บาท ค่าครองชีพบ้านเราเริ่มสูงอยู่ในระดับเดียวกับต่างประเทศ แต่รายได้ยังต่ำกว่าเขามาก คนที่ลำบากที่สุดหนีไม่พ้น คือคนหาเช้ากินค่ำ ที่เป็นผู้ปกครองของนักเรียนส่วนใหญ่ การรับสมัครสอบแข่งขันเข้าเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา วันแรกค่อนข้างคึกคัก กางเต้นท์ไว้หน้าสำนักงาน ๑ หลัง เพื่อให้ผู้สมัครกรอกใบสมัครและเตรียมเอกสาร สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต ๔ แบ่งห้องประชุมชั้นล่างให้ ๒ ช่วงเสาเพื่อเป็นที่รับสมัคร เขตมัธยมเขาก็เปิดรับสมัครเช่นกัน บ่ายนั่งทำงานลงชื่ออนุมัติ อนุญาตในแฟ้มเอกสารต่าง ๆ สลับกับการรับโทรศัพท์เพื่อปรึกษาเกี่ยวกับสถานที่เรียนของลูกหลาน แนะนำให้ไปติดต่อที่เขตมัธยมศึกษา หรือ โรงเรียนมัธยมใกล้บ้าน เขาบอกว่าโรงเรียนใกล้บ้านเต็มหมดแล้ว  ปัญหาคุณภาพการศึกษาที่ไม่เสมอกันระหว่างโรงเรียน จึงสร้างความชุลมุนในการหาโรงเรียนต่อเนื่องมาหลายทศวรรษ และยังไม่มีวี่แววว่าปัญหานี้จะมีทางออกที่ยั่งยืน  ตัวเราเองก็ชนะการสอบแข่งขันเข้าโรงเรียนประจำจังหวัดได้เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๔ ถึงวันนี้ พ.ศ. ๒๕๕๔ รวมเวลา ๔๐ ปี ลูกหลานเราก็ยังต้องแย่งกันเข้าโรงเรียนประจำจังหวัดอยู่เหมือนเดิม เคยไปดูงานที่โรงเรียนมัธยมชานกรุงปักกิ่งเมื่อปี ๒๕๔๖ ครูใหญ่เขาเล่าให้ฟังว่ารัฐบาลจีนได้สร้างโรงเรียนแห่งนั้นด้วยงบประมาณ ๘๐๐ ล้านบาท (ประมาณ ๑๖๐ ล้านหยวน) ในปีแรก มีความทันสมัยเท่าเทียมกับโรงเรียนเก่าแก่ทั้งหลาย ครูใหญ่ของเขาส่วนใหญ่ลาออกไปเป็นรัฐมนตรี รวมทั้งนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ซึ่งยังกลับมาสอนวิชาฟิสิกส์ในบางครั้งที่มีโอกาส รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการไทยในยุคนั้นตั้งเป้าว่าจะเนรมิตโรงเรียนลักษณะนี้ในเบื้องต้น ๑๐ โรงเรียน แต่ก็ถูกเปลี่ยนไปรับผิดชอบกระทรวงเกรดเอเสียก่อน

วันอังคารที่ ๕  เมษายน  ๒๕๕๔  ภาคเช้าทำงานเอกสารและรับฟังคำชี้แจงของกลุ่มงานต่าง ๆ ถึงงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนเที่ยงท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนัดไปตำหนักแพขาวเพื่อช่วยกันดูว่าจะจัดรับรองแขกในวันที่ ๘ เมษายน ศกนี้อย่างไรดี แขกสำคัญมีประธานรัฐสภา นายชัย ชิตชอบ เอกอัครราชทูตอีก ๑๐ ประเทศ ช่วยสนับสนุนให้โรงแรมริชมอนด์ นนทบุรีเป็นฝ่ายจัดอาหารและเครื่องดื่ม เพราะใช้บริการอยู่ทุกเสาร์และอาทิตย์คงไม่ทำให้เสียชื่อ แม้ราคาจะสูงไปหน่อย โรงเรียนปทุมวิไลช่วยจัดตกแต่งผูกผ้าและการแสดง ผมไม่เคยมาตำหนักแห่งนี้มาก่อน ไปยืนอ่านประวัติที่จารึกไว้ในแผ่นโลหะได้ความว่า "อาคารแพขาว" หน้าเทศบาลเมืองปทุมธานี สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2460 กรมศิลปากร ขึ้นทะเบียนให้เป็นโบราณสถาน ภายหลัง องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ปทุมธานี จัดสรรงบประมาณ 3 ล้านบาท เพื่อบูรณะใหม่ โดยคงรูปแบบสถาปัตยกรรมเดิมไว้ ตามประวัติ รัชกาลที่ 8 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน เมื่อครั้งเสด็จฯเยี่ยมเยียนพสกนิกร ทางชลมารค ได้ทรงประทับและพักอิริยาบถที่แพขาวเป็นที่ปลาบปลื้มปีติ จึงบูรณะแพขาวไว้ ประกอบกับภูมิทัศน์บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ถูกจัดให้เป็นลานประวัติศาสตร์ หน้าเทศบาลเมืองปทุมธานี ที่ขึ้นทะเบียนโบราณสถานไว้ ยังเป็นสถานที่ราชการในอดีตเคยตั้งอยู่ทั้งสิ้น ประกอบด้วย ศาลากลางจังหวัดปทุมธานี ที่ว่าการอำเภอเมือง ศาลจังหวัดปทุมธานี และจวนผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งปัจจุบันยังคงเป็นที่พำนักของผู้ว่าราชการจังหวัดอยู่ สิ่งก่อสร้างเหล่านี้ล้วนก่อสร้างขึ้นในสมัยเดียวกับกับแพขาวที่มีอายุเฉียดร้อยปีทั้งสิ้น จึงควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้เพื่อการศึกษา และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ บ่ายเชิญท่านรอง ผอ.สพป. มาปรึกษาหารือเรื่องการประเมินเพื่อพิจารณาความดีความชอบของผู้บริหารโรงเรียนและศึกษานิเทศก์ เมื่อได้ข้อยุติแล้ว มอบท่านรองฯ สมมาตร ชิตญาติ ไปเตรียมเอกสารเพื่อนำเข้าที่ประชุม อ.ก.ค.ศ. เขต ในวันที่ ๗ เมษายน นี้  แต่ไม่สามารถจะระบุได้ว่าใครจะเลื่อนเงินเดือนไปรับขั้นไหนได้ เพราะต้องรอการปรับเข้าบัญชีใหม่ จาก ก.ค.ศ. เพียงแต่บอกได้ว่าใครเลื่อน ๑ ขั้น ๐.๕ ขั้น และไม่เลื่อน  กรรมการรับสมัครผู้สอบแข่งขันมาบ่นให้ฟังว่าห้องประชุมชั้นล่างร้อน เพราะไม่เปิดแอร์ตามมาตรการประหยัดของ สพม. เขต ๔ ก็บอกให้ทนเอา ฝนตกอากาศคงดีขึ้น

วันพุธที่ ๖ เมษายน ๒๕๕๔   ถึงสำนักงานเขตประมาณ ๐๗.๔๐ น. คณะท่านรองฯ และศึกษานิเทศก์พร้อมแล้ว  จึงเดินทางไปห้องประชุมรักษ์ปทุม เพื่อร่วมพิธีวันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และวันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ตามคำกราบบังคมทูลอันเชิญของบรรดาราษฎร และข้าราชชั้นผู้ใหญ่เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๓๒๕  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) ได้จัดให้มีพระราชพิธีขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑ และประกาศให้เป็นวันที่ระลึกมหาจักรี ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา การบริหารบ้านเมืองในรัชมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็ถือได้ว่า เป็นนิติรัฐ เหมือนกัน เพราะทรงตรากฎหมายตราสามดวงขึ้นใช้บังคับ ถ้าศึกษาครบตามกระบวนความจะพบความเจริญและความทันสมัยในวิชานิติศาสตร์ของเราซึ่งมีมาแต่โบราณ และโครงสร้างของกฎหมายตราสามดวงจัดเป็นโครงสร้างของประมวลกฎหมายที่สมบูรณ์ที่สุดในโลก เพราะมีทั้งกฎหมาย วิธีพิจารณาความ มีทั้งกฎหมายปกครอง กฎหมายกำหนดสิทธิหน้าที่ระหว่างบุคคลกับบุคคล และบุคคลกับรัฐ ซึ่งจะตรงกับหลักกฎหมายสมัยใหม่ มีคุณค่าที่อวดชาวโลกได้ ตอนนี้ถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ร่องรอยยังอยู่ในกฎหมายปัจจุบันมากมาย ซึ่งนักกฎหมายปัจจุบันก็ไม่ค่อยทราบยกตัวอย่าง อาทิ หลักความรับผิดความอาญาของคนอายุไม่เกิน ๗ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญาถือว่าคนอายุไม่เกิน ๗ ปี กระทำความผิดที่เป็นความผิดอาญาไม่ต้องรับโทษ หลายคนเข้าใจว่ากันว่าเราเอาหลักการนี้มาจากกฎหมายของฝรั่ง แต่จริงๆ แล้วหลักการนี้อยู่ในพระไอยการ "วิวาทด่าตี" มีมาตั้งแต่อยุธยาหรือในกฎหมายที่ว่า ถ้าทำสัญญากู้ยืมกัน การกู้ยืมเงินตั้งแต่ ๒,๐๐๐ บาทเป็นต้นไป ถ้าไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ ฟ้องร้องกันไม่ได้ ใน "พระไอยการกู้นี่" ว่า ถ้ากู้ยืมเงินตั้งแต่ ๑ ตำลึงเป็นต้นไปต้องมีหนังสือ ไม่เช่นนั้นมาฟ้องในศาลไม่บังคับให้ยังมีอีกมากมาย แต่ปะปนอยู่ในกฎหมายอาญา กฎหมายแพ่ง กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งความอาญา แม้กระทั่งกฎหมายปกครอง หลักที่ใช้ในกฎหมายตราสามดวงเป็นหลัก "นิติธรรม" คือ ความเป็นธรรมตามธรรมชาติ ในยุคตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา ที่ทางตะวันตกมาล่าอาณานิคมก็จะยกเหตุอันหนึ่งที่ต้องเข้ามาเปลี่ยนแปลงกฎหมายเราว่า เป็นเพราะกฎหมายของทางตะวันออกไม่เป็นธรรม ป่าเถื่อน  ยกตัวอย่างจารีตนครบาลกับเรื่องการดำน้ำลุยเพลิง ถ้าเราไปศึกษาจารีตนครบาลเขามีความเข้มงวดมาก ไม่ใช้พร่ำเพรื่อ แต่ใช้ในกรณีที่หลักฐานแน่ชัด ปราศจากข้อโต้แย้งแล้ว ผู้ร้ายก็ยังปากแข็งจะใช้จารีตไปจับผู้ร้ายที่ยังปากแข็ง หรือในการดำน้ำลุยเพลิงต้องผ่านกระบวนการสืบพยานที่ควรจะเป็นในศาลทั้งหมดแล้ว แต่คดีนั้นหาพยานพิสูจน์ความผิดหรือยืนยันความบริสุทธิ์ไม่ได้ก็เลยอนุญาตให้คู่ความพิสูจน์ โดยเลือกวิธีการใดวิธีการหนึ่งตามที่คู่ความต้องการ ใช่ว่ามาฟ้องแล้วบอก ขอลุยไฟพิสูจน์  มันเป็นเหตุเป็นผล กฎหมายนี้จึงใช้มา ๕๐๐ กว่าปี พล.ต.ม.ร.ว.ศุภวัฒย์อธิบายเพิ่มเติมว่า ข้อเด่นประการหนึ่งของกฎหมายไทยที่เป็นที่ยอมรับคือ "ป้องกันชีวิตคน" "ไม่มีที่ไหนให้ประกันต่อชีวิตเท่ากฎหมายไทย เช่นในกรณีที่มีการตัดสินประหารชีวิต ถ้าถูกตัดสินโดยศาลต่างจังหวัดจะไม่สามารถประหารชีวิตได้ในทันที ต้องส่งสำนวนกลับมาที่เมืองหลวงพิจารณาอีกครั้งจนแน่ใจในความผิด จึงตัดสินว่าให้ประหารชีวิต "เขาบอกว่ากฎหมายของเราดีที่สุด จนมีคำว่า ฝรั่งเศสเก่งในการรบ อังกฤษเก่งในการเดินเรือทะเล ดัชต์-ฮอลันดาเก่งในการค้า แต่คนไทยเก่งในการปกครอง" แม้ว่ากฎหมายตราสามดวงจะเลิกใช้ไปตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ แต่ยังทิ้งจิตวิญญาณอยู่ ปรัชญากฎหมายแบบเดิมๆ ยังมีอยู่ ถึงจะกลายร่างมาเป็นกฎหมายสมัยใหม่ก็ตาม ยกตัวอย่างถึงจิตวิญญาณดีเกี่ยวกับหลักในการปกครองที่บรรจุอยู่ในกฎหมายพระธรรมสาตรที่เป็นฉบับสำคัญที่สุด เป็นกฎหมายแม่ในการออกกฎหมายลูกซึ่งเป็นพระราชสาตรต่างๆ ได้กำหนดพระราชธรรม ๔ ประการของพระมหากษัตริย์ผู้ปกครองแผ่นดินไม่ว่าจะสมัยใดแม้ในปัจจุบันไม่มีทางพ้นไปจากหลักปกครองตามพระราชธรรม ๔ ประการนี้ คือ ๑. การทำนุบำรุงผู้มีศีลศักดิ์ ๒. ให้รางวัลกับคนที่ควรให้รางวัล และลงโทษกับบุคคลที่ควรลงโทษ  ๓. ประมูลพระราชทรัพย์โดยยุติธรรม คือผู้ปกครองจะไปแสวงหาประโยชน์ทางทรัพย์สินแข่งกับผู้อยู่ใต้ปกครองโดยไม่ยุติธรรมไม่ได้ ๔. ปกครองพระนครให้เกษมสุขด้วยยุติธรรม คำว่า "ยุติธรรม" เป็นคำที่ยิ่งใหญ่ หมายถึง สิ่งที่พิพาทกัน ต้องยุติด้วยความเป็นธรรม ถ้าเมืองไทยเรามีความยุติและเป็นธรรม ใครๆ ก็มาลงทุน เพราะแน่ใจว่าทุนที่นำมาลงทุนแล้วจะได้คืน และได้กำไรด้วยความยุติธรรมนอกจากนี้ พล.ต.ม.ร.ว.ศุภวัฒย์ยังกล่าวถึงข้อเด่นของกฎหมายตราสามดวงว่า ข้อเด่นของกฎหมายของเรา คือ ครอบคลุมทั้งสองอาณาจักร คือ ราชอาณาจักร และศาสนจักร โดยเฉพาะกฎหมายพระสงฆ์ เรามีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 วัตถุประสงค์เพื่อจะขจัดและป้องปรามพระศาสนา ปราบปรามโจรอลัชชีต่างๆ พระสงฆ์ที่ทำผิดทางอาญา ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระธรรมวินัย จะให้ศาสนจักรไปตัดสินกันเอง แต่ถ้ากระทบกับอาณาจักร อย่างกรณีหลอกประชาชน เช่น เป็นปาราชิกกับผู้หญิง กฎหมายบ้านเมืองจะไม่ยอมให้สึกไปฟรีๆ ไม่เหมือนปัจจุบัน ต้องเอามาลงโทษ ทั้งพระปลอมและผู้หญิง พระเกย์เมื่อก่อนก็ยังมีเลย และมีการเขียนบทลงโทษไว้ รวมทั้งการอวดอุตริ ให้หวย ไม่มีการให้สึกไปฟรีๆ เพราะสมัยก่อนมีเป้าหมายที่การทำพระพุทธศาสนาให้บริสุทธิ์ แต่มาตอนหลังเราไปหย่อนยานเองถ้าเราไม่ตื่นฝรั่งมากเกินไป เราก็จะได้เห็นของดีๆ ในบ้านเรา และนอกจากบทบัญญัติต่างๆ ในกฎหมายตราสามดวงแล้ว เราจะเห็นได้จากพระปฐมบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์ไทยมาแต่โบราณที่ถือเป็นกฎหมาย รับสั่งในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นความหมายว่า "ทรัพย์สินในน้ำในทะเลบนบก ถ้าไม่มีผู้หวงแหนแล้ว ประชาราษฎรนั้นตามสบาย" นี่เป็นหลักใหญ่ให้เห็นว่า สิทธิเสรีภาพในทรัพย์สินที่เราชูเป็นธงมาตั้งแต่ต้น แต่ไม่มีคนหยิบยกขึ้นมา เรารู้ว่าเสรีภาพของประชาชน ความเสมอภาค หรืออะไรก็แล้วแต่ เป็นการตามอย่างฝรั่ง แต่จริงๆ แล้วสิ่งเหล่านี้มีอยู่ในกฎหมายของเรา และเป็นกฎหมายแรกเลยที่เป็นเหมือนสัญญาประชาคม ปัจจุบันราชบัณฑิตยสถาน ทำการชำระและจัดพิมพ์กฎหมายตราสามดวงขึ้นมาใหม่ เพื่อเอื้ออำนวยให้กับคนทั่วไปได้หันกลับมาให้ความสนใจที่จะศึกษาและทำความรู้จักกฎหมายไทยฉบับนี้ ที่ให้ความรู้ทั้งมิติทางวรรณกรรม กฎหมาย สังคม การปกครอง และอื่นๆ อีกมากมายในคราวเดียวกัน   พิธีวันนี้ข้าราชการในชุดปกติขาวนั่งกันเต็มห้องประชุม ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี นายพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า เป็นประธาน มีพิธีสงฆ์และพิธีถวายราชสดุดี  เสร็จพิธีกลับที่พัก เดินทางไปเดอะมอลล์งามวงศ์วาน เพื่อซื้อของใช้จำเป็น ก่อนกลับมาเตรียมการประชุม อ.ก.ค.ศ. เขต ในวันพรุ่งนี้

วันที่ ๗ เมษายน  ๒๕๕๔   ภาคเช้าประชุมคณะกรรมการคัดสรรผู้รับพระราชทานทุนและประสานงานระดับจังหวัด ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายให้ปลัดจังหวัดมาเป็นประธานการประชุม  สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามกุฏราชกุมาร ทรงมีพระราชดำริให้ดำเนินโครงการทุนการศึกษาขึ้นเมื่อปี ๒๕๕๒ ด้วยพระราชปณิธานที่มุ่งสร้างความรู้ สร้างโอกาสแก่เยาวชนไทยที่มีฐานะยากจนลำบาก แต่ประพฤติดีมีความสามารถในการศึกษา ให้ได้รับการศึกษาที่มั่นคงต่อเนื่องในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจนสำเร็จปริญญาตรีตามความสามารถของแต่ละคน การคัดเลือกเป็นความร่วมมือของสำนักงานราชเลขานุการในพระองค์ฯ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์   ในระดับจังหวัดมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ ผอ.สพป. เขต ๑ เป็นฝ่ายเลขานุการ ปีนี้โรงเรียนได้เสนอชื่อนักเรียนที่มีคุณสมบัติเข้าคัดเลือกเป็นชาย ๔ คน เป็นหญิง ๗ คน ต้องคัดเลือกให้เหลืออย่างละ ๑ คน กรรมการใช้เวลาดูเอกสารและสอบถามข้อมูลจากคณะทำงานที่ไปเก็บข้อมูลถึงบ้านของนักเรียนในที่สุดก็เลือกผู้ที่เหมาะสมส่งไปส่วนกลางเพื่อดำเนินการต่อไป
 

บ่ายมีประชุม อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา มีเรื่องเพื่อพิจารณาไม่มากนัก เรื่องแรกเป็นการย้ายผู้บริหารโรงเรียนมาลงในตำแหน่งว่างโรงเรียนสามวาวิทยา ที่ประชุมอนุมัติให้รับย้าย นายรังสฤษฏิ์  ศรีแก้ว จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสระบุรี เขต ๒ มาเป็นผู้บริหารโรงเรียนนี้  เรื่องที่ ๒ เป็นการขออนุมัติเรียกผู้ได้รับการคัดเลือกมาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการโรงเรียน ๔ ราย คือ นางสาวนันทนภัส เจริญโพธิ์ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการลำลูกกา  นางกนกพร ศรีเปลี่ยนจันทร์ โรงเรียนบึงเขาย้อน นางเพียงเพ็ญ  อินทร์เลิศ โรงเรียนวรราชาทินัดดามาตุฯ  และนายเกียรติศักดิ์  พัวพันธ์ โรงเรียนหนองเสือวิทยาคม   เรื่องที่ ๓  การพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ครั้งที่ ๑  ประภทที่ได้เลื่อน ๑ ขั้น  ๒๒๒ คน  ประเภทที่ได้เลื่อน ๐.๕ ขั้น จำนวน ๑,๒๓๑ คน ประเภทไม่ได้เลื่อน  จำนวน ๒๘ คน  สำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตามมาตรา ๓๘ ค.(๒) ระดับดีเด่น  จำนวน ๑๙ คน ระดับดีมาก จำนวน ๒๓ คน และระดับดี จำนวน ๑ คน เลิกประชุมขึ้นไปประชุมกรรมการออกข้อสอบคัดเลือกครูจากลูกจ้างและพนักงานราชการ ที่เก็บตัวกันคืนนี้ใช้ห้องทำงานของ ผอ.สพป. เพราะมีห้องน้ำสะดวกและเป็นเอกเทศ มีการตัดระบบสื่อสารทุกประภทเพื่อความโปร่งใส สั่งให้เจ้าหน้าที่เตรียมห้องสโมสรเพื่อรับรองหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดที่นัดมาสังสรรค์กันเย็นนี้ มีคลังจังหวัด ขนส่งจังหวัด ประมงจังหวัด ธนารักษ์จังหวัด พัฒนาสังคมฯจังหวัด  เกษตรและสหกรณ์จังหวัด และแรงงานจังหวัด เนื่องจากไม่ได้พูดคุยกันมานานแล้ว อยู่กันประมาณ ๓ ทุ่มก็แยกย้ายกันไป  กรณีคัดเลือกเข้ารับราชการครูจากครูอัตราจ้างศาลปกครองสูงสุดเคยมีคำสั่งที่ ๒๙๒/๒๕๔๘ กรณีผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้สมัครสอบคัดเลือกครูอัตราจ้างเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูกรณีพิเศษ เห็นว่า การออกคำสั่งประกาศผลการคัดเลือกและการดำเนินการเพื่อออกคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย จะต้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวเพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งและผู้มีอำนาจพิจารณาคำอุทธรณ์แก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหาย ตามขั้นตอนและวิธีการที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔๔และมาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ เมื่อผู้ฟ้องคดีมิได้ดำเนินการอุทธรณ์คำสั่งเพื่อแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายตามที่กฎหมายกำหนดก่อนฟ้องคดี จึงยังไม่อาจนำคดีนี้มาฟ้องต่อศาลปกครองได้ตามมาตรา ๔๒ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ

วันศุกร์ที่ ๘  เมษายน  ๒๕๕๔  เช้าไปตรวจสนามสอบคัดเลือกลูกจ้างและพนักงานราชการเข้ารับราชการครูที่โรงเรียนอนุบาลปทุมธานี จัดเป็น ๒ ห้องสอบ มีบางคนขาดสอบ คงไปสอบสนามอื่น เพราะสอบพร้อมกันทั่วประเทศ กลับมาแล้วก็ทำงานที่ห้องสโมสร เพราะห้องทำงานต้องเก็บตัวกรรมการออกข้อสอบจนบ่ายจึงจะปล่อยให้กลับบ้าน  สำนักงานจังหวัดประสานให้แต่งตัวเป็นมอญ เดือดร้อนถึง ดร.ลัดดา อิ่มอกใจ สาวมอญตัวจริง ต้องไปเตรียมเสื้อผ้ามาให้ ช่วยกันแต่งจนเป็นมอญ ใครเห็นก็ขอถ่ายภาพด้วย ด้านหน้าสำนักงานขบวนแห่ผ่านไปหลายคณะหลายตอน ล้วนแต่งมอญกันทั้งชายหญิง  เพราะวันนี้จังหวัดปทุมธานีเขาจัดงานวิถีชาวมอญ ย้อนยุคสงกรานต์เมืองปทุมธานี จงรักภักดีเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ๘๔ พรรษา บรเวณหน้าศาลากลางหลังเก่า

ประมาณ ๑๗ นาฬิกาไปร่วมงานที่ลานพิธี มีอาหารแบบมอญมาสาธิตให้กินฟรีด้วย เดิมท่านผู้ว่าฯกำหนดให้ไปทานอาหารที่แพขาว แต่ขอตัวเพียงพิธีการนี้เท่านั้น เพราะมื้อค่ำเตรียมอาหารอินเดียไว้ที่บ้านจากร้านรอยัลอินเดีย ถนนจักรเพชร พาหุรัด เพื่อฟื้นความจำตอนไปอินเดียเมื่อปีที่แล้ว อยากกินมานานเพิ่งสบโอกาสวันนี้  เมนูเด็ดที่สั่งมา คือ ชิกเก้นทิกก้ามาซาร่า แกงกะหรี่ไก่ ไก่ย่างอินเดีย และ นานอีก ๓ แผ่นใหญ่  ซึ่งไม่เป็นหวังเลย รสชาติดีกว่ากินที่อินเดียเสียอีก อาหารอินเดียจะมากไปด้วยเครื่องเทศ บางคนว่าเหม็น บางคนว่าหอม ที่แน่นอนคือสรรพคุณในทางยา เพราะเป็นสมุนไพรล้วน ๆ

          มุมกฎหมายปกครองสัปดาห์นี้เป็นกรณีเจ้าหน้าที่ผู้ขออนุญาตใช้รถยนต์และขออนุญาตนำรถยนต์ของทางราชการมาเก็บรักษาไว้ทีบ้านพักของตนเอง  ทราบว่าพนักงานขับรถยนต์ไม่นำรถยนต์มาเก็บรักษาไว้ที่บ้านพักของตนเองในเวลาอันสมควร  แต่มิได้เอาใจใส่ติดตามรถยนต์กลับคืนมาให้เพียงพอตามวิสัยและพฤติการณ์ที่ผู้ควบคุมดูแลรถยนต์จะพึงกระทำ และมิได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบเป็นเหตุให้พนักงานขับรถยนต์นำรถยนต์ไปใช้ส่วนตัวจนเกิดอุบัติเหตุ  ถือว่าความเสียหายส่วนหนึ่งเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าหน้าที่ดังกล่าว จึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายต่อทางราชการ ในคดีที่ผู้ฟ้องคดีซึ่งดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ ๗ ได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาให้ใช้รถยนต์ตู้เพื่อเดินทางไปปฏิบัติราชการ  โดยนำรถยนต์ตู้มาจอดเก็บรักษาไว้ที่บ้านพักของผู้ฟ้องคดี  โดยนาย พ. ลูกจ้างประจำเป็นพนักงานขับรถยนต์ และผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ควบคุมรถยนต์  ต่อมานาย พ. ได้นำรถยนต์ตู้ไปใช้ปฏิบัติราชการ  แต่หลังสิ้นสุดเวลาราชการ นาย พ. ไม่ได้นำรถยนต์ตู้มาเก็บรักษาที่บ้านของผู้ฟ้องคดี  แต่ขับรถยนต์ตู้คันดังกล่าวไปประสบอุบัติเหตุ  สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒) มีหนังสือแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้เงินร่วมกับนาย พ. ในอัตราร้อยละห้าสิบของจำนวนค่าเสียหายภายในกำหนด  ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงฟ้องให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว   ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า เมื่อผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ขออนุญาตใช้รถยนต์และขออนุญาตนำรถยนต์มาเก็บรักษาไว้ที่บ้านพักของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจะต้องรับผิดชอบควบคุมดูแลการเก็บรักษารถยนต์ให้เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ แต่เมื่อผู้ฟ้องคดีทราบว่า นาย พ. ไม่นำรถยนต์มาเก็บรักษาไว้ที่บ้านพักของผู้ฟ้องคดีในเวลาอันควร ผู้ฟ้องคดีก็มิได้ติดตามรถยนต์คันดังกล่าวตามสมควร  ซึ่งแม้ผู้ฟ้องคดีจะอ้างว่าได้ใช้ความพยายามติดตามโดยการโทรศัพท์ฝากข้อความไปยังเพจเจอร์ของนาย พ. แต่เมื่อไม่ได้รับการติดต่อกลับ ผู้ฟ้องคดีก็จะต้องใช้ความพยายามขวนขวายติดตามว่านาย พ. นำรถยนต์ไปใช้ที่ใด โดยสอบถามจากบุคคลที่ใกล้ชิดหรือบุคคลที่นาย พ. อาศัยอยู่ด้วย หรือแม้ข้อเท็จจริงจะเป็นไปตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า ในระหว่างเวลานั้นฝนตกหนักและน้ำท่วมไม่สามารถนำรถยนต์ออกไปได้ก็ตาม ผู้ฟ้องคดีก็สามารถใช้โทรศัพท์ในการแจ้งเหตุต่อผู้ที่เกี่ยวข้องให้ทราบได้ แต่ผู้ฟ้องคดีกลับอ้างว่า ตนมีอาการอ่อนเพลียจากการรับประทานยา จึงทำให้เกิดอาการง่วงนอน และเข้านอนพักผ่อนโดยมิได้เอาใจใส่ในการติดตามรถยนต์ตู้คันดังกล่าวกลับคืนมาให้เพียงพอตามวิสัยและพฤติการณ์ที่ผู้ควบคุมดูแลรถยนต์จะพึงกระทำและมิได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ จนเป็นเหตุให้นาย พ. นำรถยนต์ไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวจนประสบอุบัติเหตุในเวลาต่อมา  ถือว่าความเสียหายส่วนหนึ่งเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้ฟ้องคดีในการควบคุมดูแลรถยนต์ของทางราชการ  ผู้ฟ้องคดีจึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้ทางราชการด้วย  ดังนั้น คำสั่งของผู้ถูกฟ้องที่ ๒ ที่ให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าสอนไหมทดแทนให้แก่ทางราชการในอัตราร้อยละห้าสิบของจำนวนค่าเสียหาย จึงชอบด้วยกฎหมาย (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.๕๔๙/๒๕๕๑)

 

กำจัด  คงหนู

ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต ๑


หมายเลขบันทึก: 434645เขียนเมื่อ 8 เมษายน 2011 22:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:43 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ชุดชาวมอญแปลกดี น่าจะมีชุดผู้หญิงให้ดูด้วย ไม่เคยเห็น

สงกรานต์นี้สุขกายสบายใจนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท