เรื่องเล่าระหว่างวันที่ ๒๘ มีนาคม - ๑ เมษายน ๒๕๕๔


                                                                                                                                                 
๓  เมษายน  ๒๕๕๔
 
เรียน  เพื่อนครู   ผู้บริหารและท่านผู้อ่านที่เคารพรักทุกท่าน

วันจันทร์ที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๕๔ ถึงสำนักงานเช้านี้ ไม่ขึ้นไปชั้น ๓ ให้เต้ยเตรียมรถ ชวนประชาสัมพันธ์ วิภาวรรณ พึ่งโยธิน อีกคนหนึ่ง จะได้นั่งเป็นเพื่อนคนขับ  เดินทางไปจังหวัดนครนายก เพื่อสมทบกับคณะทำงานของ สพฐ. ที่กำลังอบรมนิติกรทั่วประเทศ เรื่องการสอบสวนวินับอย่างร้ายแรงตามหลักสูตร ก.ค.ศ. ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่เมื่อวาน เนื่องจากติดเรียนกฎหมายปกครองฯจึงไม่ได้ร่วมพิธีเปิด ตามกฎ ก.ค.ศ. ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณา พ.ศ. ๒๕๕๐ การตั้งกรรมการสอนสวนวินัยอย่างร้ายแรง กรรมการสอบสวนต้องมีผู้ดำรงตำแหน่งนิติกร หรือผู้ได้รับปริญญาทางกฎหมายหรือผู้ได้รับการฝึกอบรมตามหลักสูตรการดำเนินการทางวินัยตามที่ ก.ค.ศ. กำหนดหรือรับรอง หรือผู้มีประสบการณ์ทางด้านการสอบสวนทางวินัยอย่างน้อยหนึ่งคน สพฐ. เห็นว่าบุคลากรที่จบทางกฎหมายมีอย่างจำกัด และที่จบกฎหมายมาก็ยังขาดประสบการณ์จึงจัดทำโครงการนี้ขึ้น การเดินทางใช้สายรังสิต-นครนายก แม้จะเป็นวันทำการแต่ยวดยานจอแจค่อนข้างมากในเขตอำเภอธัญบุรี พอเข้าเขตอำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก ถนนเริ่มโล่ง ผ่านมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อยู่ขวามือดูใหญ่โตกว่าประสานมิตรมาก เดิมคนค้านกันมากว่ามาอยู่ไกล ถึงวันนี้นับว่าใกล้ทั้งเมืองและใกล้ทั้งธรรมชาติ ต้องนับว่า มศว เป็นตัวเร่งสำคัญที่นำความเจริญมาสู่นครนายก รวมถึงโรงเรียนนายร้อย จปร. ด้วย การเดินทางไปสีดารีสอร์ทมีทางลัดเลี่ยงเมืองที่สะดวกสบาย  สีดารีสอร์ทห่างจากน้ำตกนางรองประมาณ ๕๐๐ เมตร ทำเลที่ตั้งได้ธรรมชาติป่าเขาและลำธารมาล้วน ๆ  ขึ้นไปห้องอบรม “บุษราคัม” ชั้น ๒ ของร้าน ๑๐๘ ช็อป ทักทายคณะทำงานมีท่านรองฯ ลั่นฤทธิ์  วิเศษศักดิ์เป็นแม่งานใหญ่ เขาเล่าให้ฟังว่าไม่มีปัญหาใด ๆ   อยู่ทานข้าวกลางวันกับวิทยากรที่มาบรรยายในวันนี้ เป็นตุลาการศาลปกครองชั้นต้นนครราชสีมา บ่ายขอตัวกลับเขต มาแวะอุทยานพระพิฆเนศ  ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกประชาเกษม หมู่ 11 ถนนนครนายก-น้ำตกสาริกา ต.สาริกา อ.เมือง จ.นครนายกเป็นที่ประดิษฐานเทวรูปพระพิฆเณศวรขนาดใหญ่ มีความสูงถึง 9 เมตรสถานที่แห่งนี้จัดสร้างโดย พระราชพิพัฒน์โกศล หรือ หลวงพ่อเณร เจ้าอาวาสวัดศรีสุดาราม บางขุนนนท์ กรุงเทพฯภายใน อุทยานพระพิฆเณศ ผู้ศรัทธาจะพบกับความอลังการของเทวรูป พระพิฆเนศขนาดมหึมานอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงพระพิฆเนศปางต่างๆ ถึง 108 ปางและ หอมหาเทพ ซึ่งประดิษฐานมหาเทพสูงสุดทั้ง 3 พระองค์คือ พระพรหม พระวิษณุ พระศิวะ วันนี้เป็นวันทำการผู้คนที่มาสักการะไม่มากนัก บรรยากาศสบาย ๆ ประกอบกับสภาพอากาศที่เสมือนหน้าหนาว ช่วยให้เดินชมได้ทั่วบริเวณ ภายในอุทยานพระพิฆเนศ นครนายก แห่งนี้ จะมีบริการ "ครอบเศียร"โดยพระเกจิจะนำเศียรพระพิฆเนศหรือหัวโขน มาทำการครอบลงศีรษะของผู้ศรัทธาการกระทำดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในขั้นตอนการรับขันธ์ เป็นกระบวนการของการประทับทรง เป็นหนึ่งในพิธีกรรมไสยศาสตร์ ซึ่งผู้ที่ "ไม่ถูกกับของ" อาจทำให้เกิดวิญญาณเร่ร่อนเข้ามาสถิตในตัวได้ฉะนั้น ขอให้ผู้ศรัทธาใช้วิจารณญาณในการใช้บริการครอบเศียรนี้เนื่องจากเว็บไซต์สยามคเณศ ไม่สนับสนุนการกระทำทางไสยศาสตร์และไม่แนะนำให้ยุ่งกับพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการประทับทรงทุกประเภทการครอบเศียรในสถานที่แห่งนี้ จะแตกต่างจากการทำพิธีครอบเศียรครูของศิลปากรและชาวนาฏศิลป์ซึ่งทางนาฎศิลป์จะเป็นการครอบเศียรครูที่ถูกต้องและไม่มีพิธีกรรมทางไสยเวทด้านมืดมาเกี่ยวข้องในแบบสถานที่แห่งนี้จึงขอให้แยกแยะด้วยปัญญาและระมัดระวังด้วย  ออกจากอุทยานพระพิฆเณศมุ่งหน้ากลับปทุมธานี มีเวลาทำงานเอกสารก่อนกลับที่พัก

 

วันอังคารที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๔  เช้าทำงานที่ห้องเป็นการเตรียมประเมินบุคคลเพื่อประกอบการพิจารณาความดีความชอบครั้งที่ ๑ ประจำปี ๒๕๕๔ ในตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและผู้อำนวยการโรงเรียน  เที่ยงสั่งข้าวผัดปูมาทานที่ห้องจากร้านเพื่อนลุง  บ่ายลงไปห้องประชุมเล็กเพื่อพิจารณาการขอเก็บค่าบำรุงการศึกษาของโรงเรียนในสังกัด เอากฎหมายซึ่งเป็นฐานอำนาจของเรื่องนี้มาดู คือ ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องการเก็บเงินบำรุงการศึกษาของสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ลงวันที่ ๒๔  มีนาคม  ๒๕๕๓ ที่คำสำคัญที่จะต้องถือเป็นหลักการสำคัญในการเรียกเก็บทั้งประเภทและจำนวนเงิน ดังนี้ (๑) ต้องจัดการเรียนการสอนนอกหลักสูตรแกนกลาง เน้นเนื้อหาสาระมากกว่าปกติ (๒) การสอนต้องจัดด้วยบุคลากรพิเศษ การสอนด้วยรูปแบบหรือวิธีการที่แตกต่างจากการเรียนการสอนปกติ การสอนที่ใช้สื่อหรือนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จัดหาให้เป็นพิเศษ (๓) อัตราที่เรียกเก็บเหมาะสมกับสภาพฐานะเศรษฐกิจของท้องถิ่น (๔) ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน (๕) ผู้ปกครองและนักเรียนสมัครใจ (๖) ภายใต้หลักเกณฑ์ที่ สพฐ.กำหนด  ในส่วนของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาไม่ได้มีส่วนต้องรับผิดชอบตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการฉบับนี้ แต่ได้รับมอบหมายจาก สพฐ. ให้มีหน้าที่กำกับ ควบคุม ดูแล มิให้โรงเรียนขอรับสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากผู้ปกครองเกินจำเป็นและดำเนินการแก้ไขปัญหา  เมื่อวิเคราะห์แล้วสำนักงานเขตต้องพิจารณาการเก็บเงินบำรุงการศึกษาของโรงเรียนให้เป็นไปตามประกาศและสมเหตุสมผล  เมื่อนำรายละเอียดที่โรงเรียนส่งมาพบว่ายังไม่มีน้ำหนักพอจะวินิจฉัยชี้ขาดอย่างสมเหตุสมผลได้ จึงให้เลขานุการไปขอรายละเอียดเพิ่มเติมจากโรงเรียนมาให้พิจารณาอีกครั้ง เพราะหากอนุมัติไปแบบดำน้ำจะพากันตายน้ำตื้นยกทีมทั้งโรงเรียนทั้งเขต

วันพุธที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๔   คณะติดตามผลการปฏิบัติราชการจาก สพฐ. นำโดย ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ขัตติยาสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และคณะ ใช้ห้องสโมสรและห้องประชุมเล็กสำหรับชี้แจงและแสดงข้อมูล  ดูจากแฟ้มเอกสารที่กลุ่มงานนำมาเสนอรู้สึกได้ทันทีว่า ไม่น่าจะมีความสมบูรณ์ด้านข้อมูล เพราะตั้งแต่เป็น ผอ.เขต มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ ปีนี้แฟ้มน้อยที่สุด  คณะกรรมการซักถามถึงการปฏิบัติตามกลยุทธ์ต่าง ๆ ซึ่งท่านรอง ผอ.สพป.และผอ.กลุ่มช่วยกันตอบและแสดงหลักฐาน เขาก็ชมกันว่าทำได้ในระดับดี สงสัยว่าทำไมไม่กรอกข้อมูล เคยรับฟังมาว่าในสมัยหนึ่งปทุมธานี เขต ๑ ก็เคยได้ที่สุดท้ายมาแล้วเพราะการไม่กรอกข้อมูล กรรมการคณะนี้อนุญาตให้ส่งเพิ่มเติมเอกสารหลักฐานได้  เที่ยงพาคณะไปทานข้าวที่ร้านอาหารเรือนเจ้าพระยา  อำเภอสามโคก ตั้งแต่น้ำท่วมใหญ่ก็ไม่เคยมาทาน เพิ่งมาวันนี้เป็นวันแรก ลมแรงมากเป็นลมหนาวพัดจากทิศตะวันออก ต้องใช้ผ้าใบกั้นไว้ จึงไม่ได้มองทิวทัศน์กัน  อิ่มแล้วกลับไปเขตคณะกรรมการตรวจเอกสารรายกลุ่มจน ๑๕ นาฬิกาจึงประชุมอีกครั้งหนึ่ง  มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวางและให้โอกาสส่งข้อมูลพรุ่งนี้อีกครั้งหนึ่ง เพราะเชื่อว่าพวกเราทำจริง ผมเลยนัดประชุมทีมงานเพื่อดูความเรียบร้อยในวันพรุ่งนี้เวลา ๑๔ นาฬิกา หมายเหตุ วันนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระปรมาภิไธย ตราพระราชบัญญัติเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ฉบับที่ ๒)  พ.ศ. ๒๕๕๔ และประกาศในราชกิจจานุเษกษาในวันนี้เช่นกัน ส่งผลให้กฎหมายมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๔ เป็นต้นปื

วันพฤหัสบดีที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๔  เช้านี้ประชุมคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต ๑ ชุดใหม่เป็นนัดแรก เพื่อสรรหาประธานกรรมการ ซึ่งต้องมาจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ  ผู้ได้รับเลือก คือ รองศาสตราจารย์ สมชาย  วิริยะยุทธกร ซึ่งเคยเป็นประธานสมัยที่ผ่านมา  กรรมการเขตชุดนี้มีทั้งหน้าใหม่และหน้าเก่า เลิกประชุมผู้ปกครองนักเรียนมาพบเพื่อหารือเรื่องการย้ายของหลานจากต่างจังหวัดเข้ามาในปทุมธานี วันนี้เช้ามืดก็มีผู้โทรศัพท์มาหารือว่า มีนักเรียนที่จบ ป.๖ จากที่อื่นย้ายมาโรงเรียนอีกแห่งหนึ่งซึ่งเป็นโรงเรียนขยายโอกาส แต่นักเรียนคนนี้เรียนอ่อนมาก ผู้ปกครองอยากให้ซ้ำชั้น ป.๖ อีกหนึ่งปี ครูก็เห็นด้วย เขาหารือว่าจะทำได้หรือไม่ ? มารายนี้กลับตรงข้าม เด็กเรียนเร็วอายุ ๗ ขวบเศษก็จบชั้น ป.๒ แล้ว พอย้ายมาโรงเรียนใหม่ ครูบอกว่าต้องลดชั้นเรียนลง เพราะอายุน้อย หารือว่าจะทำอย่างไร ? เลยบอกให้ตั้งหลักในการคิด เริ่มด้วยอำนาจหน้าที่ในตำแหน่งผู้บริหารโรงเรียนในกรณีนักเรียนในเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับขอย้ายมาเข้าเรียน มีทางเลือกที่จะรับหรือไม่รับเข้าเรียนหรือไม่  ?  เมื่อจะรับเข้าเรียนมีกฎหมายให้ดุลพินิจกับผู้บริหารโรงเรียนหรือครูไว้หรือไม่ ให้เลือกจัดเข้าชั้นเรียนได้ตามความเหมาะสม ? ถ้าไม่มีกฎหมายดังกล่าว จะเป็นอำนาจผูกพันที่จะต้องจัดเข้าเรียนในชั้นต่อไปจากชั้นที่สำเร็จการศึกษามา ไม่สามารถนำเหตุผลอื่นมาอ้างเพื่อให้การปฏิบัติต่างไปจากที่ควรจะเป็น หรือหากกระทำไปก็จะเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก่อนเที่ยงอาจารย์สมเกียรติ พิกุลแก้ว โรงเรียนสตรีสมุทรปราการ มาเยี่ยมเพราะเป็นเพื่อนเรียนปริญญาตรีเอกเคมี มศว ประสานมิตร เมื่อ ๓๐ ปีที่แล้ว ตอนฝึกสอน ผมไปฝึกสอนที่โรงเรียนสตรีสมุทรปราการ มีอาจารย์ศรีพงษ์ รามเดชะ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน และมีอาจารย์ปกาสิต ยังคง เป็นครูพี่เลี้ยง ซึ่งวันนี้ท่านกลับไปเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนนี้เรียบร้อยแล้ว กำลังจะพากันไปทานข้าว ปรากฎว่ามีผู้มีจิตศรัทธาซื้อมาฝากไว้ที่สโมสร จึงชวนทั้งแขกทั้งท่านรอง ผอ.สพป. ทานข้าวกลางวันร่วมกัน บ่ายนัดประชุมเพื่อซักถามถึงความครบถ้วนถูกต้องสมบูรณ์ของเอกสารที่จะส่งเพิ่มเติมให้คณะผู้ติดตามกลยุทธ์จาก สพฐ. เท่าที่ฟังก็อยู่ในระดับที่น่าพอใจ ส่วนคะแนนประเมินจะออกมาเท่าไหร่ต้องเป็นเรื่องของเขา สิ่งที่น่าจะเอาใจใส่ให้มากที่สุดคือความพึงพอใจของครู ผู้บริหารและลูกค้าทั้งหลาย เพราะเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์   
  

 

 

   เวลา ๑๓.๐๐ น. นัดประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองการย้ายผู้บริหารโรงเรียน เพราะมีตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนสามวาวิทยา ว่างลงเนื่องจากได้ย้ายไปโรงเรียนสุนทโรเมตตาประชาสรรค์ สพม. เขต ๔  มีผู้เขียนย้ายมาลงเพียง ๒ ราย ดูคะแนนประเมินแตกต่างกันมาก ที่ประชุมจึงเรียงลำดับเพื่อนำเสนอ อ.ก.ค.ศ. เขตพิจารณาต่อไป

 

 

 

วันศุกร์ที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๔  ภาคเช้านั่งทำข้อมูลความดีความชอบผู้บริหารโรงเรียนโดยนำข้อมูลต่าง ๆ มาลงตารางเพื่อเปรียบเทียบ ทั้งการประเมินผลการปฏิบัติงาน ผลการสอบ O-NET ประจำปี ๒๕๕๓ ความร่วมมือในกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นนโยบาย อาทิตย์ที่ผ่านมาได้อ่านคำบังคับของศาลปกครองในกรณีพิพาทเกี่ยวกับการเลื่อนขั้นเงินเดือน ข้อเท็จจริงมีว่า ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งปลัดเทศบาลตำบล มูลกรณีพิพาทเกิดจากการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปี ๒๕๔๕ ในรอบครึ่งปีหลัง ซึ่งเป็นการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานเทศบาลระหว่างวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๕ ถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๔๖ โดยนายกเทศมนตรี (ผู้ถูกฟ้องคดี) ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจหน้าที่ประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ฟ้องคดี ได้ประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ฟ้องคดีโดยมีคะแนนประเมินทั้งปี จำนวน ๑๖๒ คะแนน จากคะแนนเต็ม ๔๐๐ คะแนน หรือ ๔๐.๕๐ % ซึ่งเป็นคะแนนประเมินที่ต่ำกว่า ๕๐ % จึงอยู่ในระดับ "ต้องปรับปรุง" และมีข้อเสนอในการเลื่อนขั้นเงินเดือน (ผลการประเมินทั้งปี) ของผู้ฟ้องคดีว่า ไม่ควรเลื่อนขั้นเงินเดือน โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้มีคำสั่งเทศบาลตำบล ที่ ๑๔๖/๒๕๔๕ เรื่อง การเลื่อนขั้นเงินเดือนพนักงานเทศาลสามัญครั้งที่ ๒ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๕ (ตุลาคม ๒๕๔๕- มีนาคม ๒๕๔๖) ไม่เลื่อนขั้นเงินเดือนให้แก่ผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงร้องทุกข์ต่อประธานกรรมการพนักงานเทศบาลจังหวัด ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวพิจารณาแล้วยกคำร้องทุกข์ของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนคำสั่งไม่เลื่อนขั้นเงินเดือนข้างต้น และให้พิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนให้กับผู้ฟ้องคดีไม่น้อยกว่า ๐.๕ ขั้น  ศาลปกครองชั้นต้นวินิจฉัยว่า ก่อนการประเมินผลการปฏิบัติงานครั้งที่ ๒ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๔๕ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มิได้แจ้งผลการประเมินครั้งที่ ๑ เพื่อให้โอกาสแก่ผู้ฟ้องคดีในการแก้ไขปรับปรุงการทำงานของตน การประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ฟ้องคดีครั้งที่ ๒ จึงไม่ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญ เป็นเหตุให้คำสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับผู้ฟ้องคดีเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปีงบประมาณ ๒๕๔๕ ครั้งที่ ๒ ของผู้ฟ้องคดีเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับผู้ฟ้องคดี และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ประเมินผลการปฏิบัติราชการของผู้ฟ้องคดีในช่วงเวลาดังกล่าวใหม่ให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป  ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์ว่า มิได้มีคำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ประเมินผลการปฏิบัติงานของตนเองใหม่ แต่ประสงค์ให้ศาลพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ออกคำสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือน ประจำปีงบประมาณ ๒๕๔๕ ครั้งที่ ๒ ให้แก่ตนไม่น้อยกว่า ๐.๕ ขั้น  ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า เมื่อผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ฟ้องคดีไม่ถูกต้องตามกฎหมายและใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ อันเป็นกรณีพิพาทตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยต่อมาศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งพิพาท และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ประเมินผลการปฏิบัติราชการของผู้ฟ้องคดีในปีงบประมาณ ๒๕๔๕ ครั้งที่ ๒ ใหม่ ให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป จึงเป็นการออกคำบังคับเพื่อให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ปฏิบัติตามที่มาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติไว้แล้ว การที่ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์ขอให้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ออกคำสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปีงบประมาณ ๒๕๔๕ ครั้งที่ ๒ ให้ผู้ฟ้องคดีไม่น้อยกว่า ๐.๕ ขั้น นั้น  ศาลเห็นว่า กรณีเกี่ยวกับการเลื่อนขั้นเงินเดือนนั้น กฎหมายบีญญัติให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ในการออกคำสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนและค่าจ้างของข้าราชการ พนักงานและลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามนัยมาตรา ๑๕ ประกอบกับมาตรา ๒๓ วรรคหก แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ การพิจารณาว่าผู้ฟ้องคดีควรจะได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือนจำนวนกี่ขั้นหรือไม่เพียงใด เป็นกรณีที่ขึ้นอยู่กับการประเมินผลการปฏิบัติราชการซึ่งเกี่ยวกับสมรรถนะในการปฏิบัติงานและผลงานของผู้ฟ้องคดีมาเป็นองค์ประกอบในการพิจารณาตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาจะเห็นสมควรภายใต้กรอบที่กฎหมายกำหนด  ศาลปกครองไม่อาจก้าวล่วงเข้าไปพิจารณาสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนให้แก่ผู้ฟ้องคดีได้ อย่างไรก็ตามหากภายหลัง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ยังไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร ผู้ฟ้องคดีก็สามารถนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองได้เป็นคดีใหม่ภายในกำหนดเวลาการฟ้องคดี จึงพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น  สรุปว่า ศาลก็ไม่อาจใช้ดุลพินิจแทนผู้บังคับบัญชาในเรื่องที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้บังคับบัญชานั้นได้  บ่ายประชุมคณะกรรมการรับสมัครบุคคลสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่ง ครูผู้ช่วย มีการซักซ้อมถึงแนวปฏิบัติและการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ยืนยันให้ถือปฏิบัติตามประกาศรับสมัครโดยเคร่งครัด   

นิทานก่อนลาสัปดาห์นี้ เป็นเรื่อง "จื่อลู่เหวยหม่า : ชี้กวางเป็นม้า"   ในสมัยฮ่องเต้องค์ที่ ๒ ของราชวงศ์ฉิน มีขันทีนามว่า "เจ้าเกา" เป็นคนมักใหญ่ใฝ่สูง เฝ้าคิดช่วงชิงบัลลังก์ฮ่องเต้  แต่ก็ยังมีขุนนางที่จงรักภักดีอยู่ไม่น้อย  เจ้าเกาจึงคิดอุบายหาวิธีทดสอบว่าตนเองมีบารมีมากน้อยแค่ไหน และสามารถแยกแยะว่าใครเป็นพวกใครเป็นศัตรู  วันหนึ่งขณะที่ฮ่องเต้กำลังออกว่าราชการ  เจ้าเกาก็ให้คนจูงกวางเข้ามาในเขตพระราชฐาน ๑ ตัว แล้วเขากราบบังคมทูลว่า "กระหม่อมได้นำม้าลักษณะดีตัวนี้มาถวายแด่พระองค์"   ฮ่องเต้คิดในใจว่า มันเป็นกวางชัด ๆ จึงตรัสถามเจ้าเกาว่า "เจ้าเกาท่านผิดแล้ว  นี่มันกวางชัด ๆ ไยท่านบอกว่าม้าเล่า"  เจ้าเกาก็ยืนยันว่าตนเองนำม้ามาแน่นอน  ฮ่องเต้ชักหวั่นใจ ตรัสถามว่า ถ้าเป็นม้าทำไมเขาจึงยาว   เจ้าเกาได้โอกาสรีบหันไปทางขุนนางน้อยใหญ่แล้วกราบทูลว่า "หากพระองค์ไม่เชื่อข้าพเจ้า ก็สามารถสอบถามขุนนางเหล่านี้ได้ ว่าสัตว์ตัวนี้คืออะไร"     พลันเหล่าขุนนางก็เข้าใจอุบายของเจ้าเกาทันทีว่าต้องการตรวจสอบว่ามีคนคิดเป็นปฏิปักษ์กับเขาหรือไม่ พวกขี้ขลาดตาขาวก็พากันก้มหน้านิ่งไม่กล้าพูด  ขุนนางซื่อสัตย์บางคนก็บอกตรง ๆ ว่า เป็นกวางอย่างแน่นอน  ส่วนคนของเจ้าเกาก็บอกว่าเป็นม้าอย่างมิต้องสงสัย   ด้วยแผนการนี้ ขันทีโฉดก็สามารถแบ่งแยกขุนนางในวังได้ว่าใครเป็นพวก ใครไม่ใช่ หลังจากนั้นก็หาหนทางกำจัดคนที่ไม่สวามิภักดิ์กับเขาให้ออกไปจนหมดสิ้น   ปัจจุบันสำนวนนี้ใช้เพื่อเปรียบเทียบการจงใจบิดเบือนข้อเท็จจริงกลับขาวเป็นดำ กลับดำเป็นขาว  

 
  
กำจัด  คงหนู
ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต ๑
 

 

หมายเลขบันทึก: 433680เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2011 14:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2014 09:00 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เปรียบเทียบผล O-NET นักเรียนน้อยกับนักเรียนมาก เป็นธรรมหรือไม่ ?

เคยเปรียบเทียบคะแนน TOP นักเรียนน้อยกับนักเรียนมาก บ้างไหม ?

ถ้ายุติธรรมจริง ควรนำทั้ง 2 แบบมาดูด้วยกัน....

ปวดหัวกับเกณฑ์การประเมินรอบ 3...ยังต้องมารับภาระ O-NET ให้ ผอ.

แล้วต่อไป ผอ.ต้องไปอยู่เขต(ร่วมกิจกรรม)  ผล O-NET จะเพิ่มขึ้นอย่างไร ?

 

"ไม่เจ๊อะกันนาน คิดถึงจังเล้ยยยยยย " นึกถึงเพลงลูกทุ่งเพลงนี้ค่ะ (แต่จำชื่อไม่ได้) หลังจากไม่ได้เจอและไม่ได้คุยกันนานแล้ว ด้วยภาระทั้งงานและครอบครัวค่ะ แต่สำหรับความเคารพและความระลึกถึงยังมีต่อท่านผอ. เสมอค่ะ หวังว่าท่าน ผอ. คงจะมีความสุข และมีสุขภาพดีน๊ะค่ะ การประเมินเขต ของกรม ขอให้ สพป. ปท. ๑ ผ่านด้วยคะแนนดีเยี่ยมน๊ะค่ะ เพราะ มี ผอ. ที่ทำงานเก่ง ๆ แบบนี้ค่ะ เป็นกำลังใจให้ ผอ. ตลอดไปค่ะ

 

เห็นการทำงานฝ่ายบริหารแล้วก็น่าเห็นใจ  ความยุติธรรมคงมีในหัวใจท่านทุกคนอยู่แล้ว มาทำงานที่ปทุมมีความอบอุ่นดี บรรจุเมื่อ 1ก.ค. 53

มีเขาเล่าให้ฟังว่าได้ยินว่าครูโรงเรียนขจรทรัพย์ได้รับการเชิญให้มาร่วมจัดทำข้อสอบเพื่อสอบลูกจ้างเป็นข้าราชการและมีครูที่โรงเรียนขจรทรัพย์จะมาสมัครสอบเข้ารับราชการ โดยวันสอบทั้งสองกรณีนี้ไม่ตรงกัน จะเป็นไปได้หรือไม่ว่าครูคนที่มาร่วมจัดทำข้อสอบจะมีการขยายข้อมูลให้เพื่อนที่มาสมัครสอบอีกคนได้ทราบเป็นข้อมูล ซึ่งไม่ว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ก็คาดว่าจะมีการได้เปรียบเสียเปรียบกันแน่นอน  หากมีคนไม่หวังดีขยาย  ท่านคิดว่าจะเป็นบวกหรือลบ หรือจะป้องกันไว้ก่อนดีกว่ากัน หรือท่านมีแนวคิดอย่างไร แต่ขอบอกว่าเป็นคนหนึ่งที่เมื่อรู้ข่าว(ไม่ทราบว่าจริงหรือเท็จ)ก็คิดในทางลบทันที เมื่อคนที่หนึ่งรู้ คนที่สอง สาม สี่ ก็จะรู้ตามมาเป็นขบวน ขอบคุณท่านมาก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท