มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน
มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน

ยังชีพไม่ยั่งยืน: สาเหตุหนึ่งของการพลัดถิ่น-ลี้ภัยของประชาชนจากพม่า


ประชาชนจากพม่าส่วนหนึ่งเลือกลี้ภัยจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนมายังประเทศไทย ด้วยจุดหมายเพียงเแค่ตนเองและครอบครัวพออยู่พอกินและมีชีวิตรอด แม้จะรู้ว่าการต้อนรับที่ปลายทางอาจจะไม่สวยงามนัก

 ยังชีพไม่ยั่งยืน: สาเหตุหนึ่งของการพลัดถิ่น-ลี้ภัยของประชาชนจากพม่า

 

 

 

เรื่อง นัน ภู่โพธิ์เกตุ / ภาพ แอ้ โด โด้

รายงานการวิจัยเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศพม่า จากผู้ลี้ภัยสู่แรงงานข้ามชาติ ปี 2540 ให้ข้อมูลว่า สาเหตุหนึ่งของการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่าเป็นผลมาจากความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับกองทัพชาติพันธุ์ แต่ต้นตอของปัญหาคือการที่รัฐบาลดำเนินนโยบายกดขี่ ขูดรีด และไม่เคารพในสิทธิความเป็นมนุษย์ของประชาชนตลอดมา ไม่ว่าจะเชื้อสายพม่าหรือชาติพันธุ์ใด นำมาสู่ข้อสรุปได้ว่าภาวะความรุนแรงและตัวตนของรัฐบาลเผด็จการคือรากเหง้าสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดความขัดแย้งและความไม่สงบ ซึ่งนำพาไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่รู้จบ

โกซอ ผู้ลี้ภัยชายจากรัฐกะเหรี่ยงที่พักอาศัยในค่ายผู้ลี้ภัยแม่หละ จังหวัดตาก เล่าว่าเมื่อประมาณ 15 ปีที่แล้วเขาและคนในหมู่บ้านถูกทหารรัฐบาลพม่าบังคับให้ย้ายหมู่บ้านไปอยู่ในเขตที่รัฐบาลจัดสรรให้ พื้นที่ตั้งหมู่บ้านใหม่ที่เขาต้องย้ายเข้ามาอยู่นี้ไม่มีพื้นที่พอจะให้ทำนา อาชีพเดียวที่ทำได้ในขณะนั้นคือการตัดไม้ขายและเผาถ่าน จนเมื่อ 5 ปีที่แล้ว โกซอตกอยู่ในสภาวะรายได้ไม่พียงพอกับรายจ่าย เนื่องจากเขาต้องเสียภาษีในการออกนอกเขตทหารเพื่อตัดไม้และเผาถ่านเดือนละ 5,000 จั๊ตและต้องซื้อข้าวสารถุงละ 7,000 จั๊ด(ถุงละประมาณ  45 กิโลกรัม) ในขณะที่มีรายได้เพียง 10,000 จั๊ตต่อเดือน เขาและครอบครัวจึงจำเป็นต้องเดินทางมายังค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศไทยเพื่อเอาชีวิตรอดจากความอดอยาก

ครอบครัวของโกซอเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายตัดขาดสี่ประการ (Four cuts) คือการตัดกำลังเสบียงอาหาร ทุน การข่าวและกำลังพล จากแรงสนับสนุนของประชาชนต่อกองกำลังชาติพันธุ์เดียวกับตน การบังคับย้ายถิ่นและจำกัดการเดินทางให้อยู่เฉพาะในเขตจัดสรรใหม่ เป็นวิธีหนึ่งที่รัฐบาลใช้ควบคุมประชาชนให้อยู่ในอาณัติของตน และการบังคับย้ายถิ่นฐานนี่เองเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประชาชนในพม่าไม่สามารถเข้าถึงที่ดินทำกินและประสบกับภาวะความยากไร้อันเรื้อรัง

รายงานวิจัยเรื่องการพลัดถิ่นฐานและภาวะยากไร้อันเรื้อรังในฝั่งตะวันออกของประเทศพม่า ปี 2553 ให้ข้อมูลว่าครัวเรือนในชนบททั่วประเทศพม่าถึงร้อยละ 60 ไม่สามารถเข้าถึงหรือเข้าถึงที่ดินทำกินน้อยกว่า 5 ไร่ ผู้คนเหล่านี้จึงต้องละทิ้งการทำเกษตรกรรมที่เป็นวิถีการยังชีพดั้งเดิม แล้วยังชีพด้วยการค้าแรงงานเพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในครัวเรือนและเสียภาษีให้แก่รัฐบาลทหาร 

ผู้คนที่หนีออกจากบ้านของตนเพื่อหลบภัยจากการสู้รบอันยืดเยื้อ ในเขตพื้นที่สู้รบและเขตพื้นที่อำนาจทับซ้อนระหว่างรัฐบาลกับกองกำลังชาติพันธุ์เข้าถึงที่ดินทำกินได้น้อยมากเช่นกัน เนื่องจากต้องหลบซ่อนตัวอยู่ในพื้นที่ป่าเขาซึ่งไม่เอื้อต่อการทำเกษตร แม้ว่าผู้พลัดถิ่นที่ซ่อนตัวอาจจะสามารถกลับไปยังหมู่บ้านหรือที่ทำกินของตนเป็นครั้งคราว แต่อันตรายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนของทหาร ภัยจากกับระเบิด และการเผาทำลายหมู่บ้านและไร่สวนที่ทหารพบเจอ ทำให้คนเหล่านี้ไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตที่หมู่บ้านของตนได้อย่างยั่งยืน

นอกจากการไม่สามารถเข้าถึงที่ดินทำกิน การขาดแคลนเครื่องจักรทางการเกษตรยังเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ประชาชนตกอยู่ในภาวะยากไร้ จากการสำรวจพบว่ามีประชาชนร้อยละ 18 ในภาคตะวันออกของพม่าที่ถือครองเครื่องจักรทางการเกษตร แต่การกระจายตัวของเครื่องจักรยังมีความแตกต่างกันมาก เช่นการที่เมืองผาปูน ในรัฐกะเหรี่ยง และเมืองโต๋น ในรัฐฉานตอนใต้มีประชาชนที่มีเครื่องจักรในอัตราสูง เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่เข้าถึงระบบชลประทานได้มากกว่าเมืองอื่น ในขณะที่เมืองจ็อกจี ในมณฑลพะโคตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่สู้รบหนักที่สุดในประเทศพม่าปัจจุบันกลับไม่มีผู้ถือครองเครื่องจักรเลย การขาดแคลนเครื่องจักรและใช้เครื่องมือทำการเกษตรพื้นฐานแบบดั้งเดิมแสดงให้เห็นว่าภาคตะวันออกของพม่าใช้แรงงานมนุษย์ในการทำการเกษตรเป็นหลัก หมายความว่าประชาชนย่อมได้รับรายได้จากผลผลิตน้อยกว่าประชาชนที่เข้าถึงเครื่องจักรในการทำเกษตรกรรม ข้อค้นพบนี้ไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นถึงความยากไร้ในภาคตะวันออกของพม่า แต่ยังอาจแสดงให้เห็นถึงยุทธศาสตร์ทางการทหารที่คุกคามผู้ที่ต้องสงสัยว่าเข้าข้างกองกำลังชาติพันธุ์ด้วยการทำลายหรือริบผลผลิตและทรัพย์สินทางการเกษตร

นอกจากนี้เกษตรกรส่วนใหญ่ในภาคตะวันออกของพม่าที่ไม่ได้ทำการเกษตรในเขตปกครองพิเศษของว้า ในรัฐฉานตอนใต้ ต่างไม่สามารถเข้าถึงระบบชลประทานได้ ดังนั้นผลผลิตทางการเกษตรจึงขึ้นอยู่กับฝนฟ้าตามฤดูกาลเท่านั้น

ในการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนในภาคตะวันออกของพม่า พบว่ามีเพียงร้อยละ 12 ที่ระบุว่ารายได้หลักมาจากการขายพืชผลทางการเกษตร ผู้คนจำนวนมากต้องทำงานรับจ้างทั่วไป แต่อัตราจ้างงานนี้ยังจำกัดอยู่ในเมืองปะลอว์ ในมณฑลตะนาวศรี เมืองเย ในรัฐมอญ และเมืองโต๋น ซึ่งเป็นเมืองที่มีการจำกัดการเดินทางโดยรัฐบาลน้อยกว่า และมีเกษตรเชิงพาณิชย์มากกว่าเมืองอื่นในภาคตะวันออก ในขณะที่รายได้ของครัวเรือนในเมืองจ็อกจีร้อยละ 91 มาจากการเก็บของป่าไปขาย ซึ่งเป็นอาชีพที่มีรายได้ไม่แน่นอน อย่างไรก็ตามหนึ่งในสี่ของกลุ่มตัวอย่างให้ข้อมูลว่าไม่มีรายรับเป็นตัวเงิน โดยเฉพาะในเมืองผาซอง ที่ร้อยละ90 ของครัวเรือนไม่มีรายได้เป็นตัวเงินเลย

แม้ประชาชนในประเทศพม่าจะมีรายได้ต่ำแต่พวกเขายังคงต้องเผชิญกับการขูดรีดภาษี ค่าธรรมเนียม ค่าบริจาคต่าง ๆ แก่ทหารรัฐบาลพม่า ข้อมูลจากรายงานการวิจัยเรื่อง การพลัดถิ่นฐานภายในประเทศและสภาวะเปราะบางของผู้พลัดถิ่นในประเทศพม่าแถบตะวันออก ในปี 2547 แสดงให้เห็นว่าการรีดไถภาษีนอกระบบ เป็นรูปแบบการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่สูงเป็นอันดับสองในพม่า รองจากการบังคับใช้แรงงาน โดยเขตพื้นที่จัดสรรใหม่มีครัวเรือนถึงร้อยละ 78 ที่ถูกรีดไถภาษีนอกระบบ

แรงงานข้ามชาติชาวปะโอ จากรัฐฉาน ที่เข้ามาทำงานในจังหวัดเชียงใหม่ ให้ข้อมูลว่าตนและครอบครัวถูกเรียกเก็บภาษีจากทหารรัฐบาลพม่าที่ตั้งหน่วยประจำการในพื้นที่หมู่บ้าน มีทั้งภาษีเครื่องมือทางการเกษตร ภาษีไร่นา ภาษีวัวควาย เสียภาษีการเพาะปลูกเป็นข้าวสามในสี่ส่วนหลังการเก็บเกี่ยวให้กับทหาร นอกจากนี้เขายังต้องจ่ายค่าคุ้มครอง และเงินบริจาคให้กับทหารปีละหลายครั้ง หากไม่มีเงินจ่ายทหารก็จะยึดทรัพย์สินซึ่งมีมูลค่าเกินกว่าภาษีที่ต้องจ่าย และบ่อยครั้งที่ทหารหยิบฉวยเอาข้าวสารและสัตว์เลี้ยงไว้เป็นอาหารจำพวกหมู ไก่ ในบ้านไปต่อหน้าต่อตา

ข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นว่าอัตราการรีดไถภาษีของรัฐบาลพม่าขึ้นอยู่กับการกำหนดและความพึงพอใจของกองทหารในพื้นที่ นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับสถานการณ์การเมือง การสู้รบ หรือช่วงเวลาที่เก็บ หากประชาชนไม่สามารถจ่ายภาษี ค่าธรรมเนียม หรือค่าบริจาคเหล่านี้ได้ ก็จะได้รับโทษที่รุนแรงต่างกันไปตามการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่  

ภาวะความยากจนและการขูดรีดภาษีทำให้ประชาชนต้องหาทางอยู่รอดด้วยการพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างประชาชนในภาคตะวันออกของพม่า ในรายงานวิจัยเรื่องการพลัดถิ่นฐานและภาวะยากไร้อันเรื้อรังในฝั่งตะวันออกของประเทศพม่า ปี 2553 พบว่าร้อยละ 48 บริโภคข้าวที่ปลูกเองเป็นหลัก ร้อยละ 24 ขอยืมข้าวหรือหรือใช้สิ่งของแลก ที่เหลือใช้วิธีการซื้อข้าวเพื่อบริโภค ประชาชนกลุ่มนี้กระจายตัวอยู่ในเมืองเย และเมืองโต๋นซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง ประชาชนกลุ่มนี้จึงต้องซื้ออาหารเพื่อบริโภคเนื่องจากไม่ได้ทำการเกษตรเพื่อการยังชีพ อย่างไรก็ตามการพึ่งตนเองด้วยการบริโภคข้าวที่ปลูกเองไม่ได้ช่วยทำให้ภาวะความยากจนของผู้คนเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากพวกเขายังคงต้องเสียภาษีทั้งที่เป็นตัวเงินและข้าว นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคต่าง ๆ ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายในการศึกษาของบุตรอีกด้วย

ถึงการพึ่งตนเองในระดับสูงนี้ทำให้ประชาชนในภาคตะวันออกของพม่ามีหนี้สินที่น้อยกว่าภาคอื่น ๆ แต่เมืองจ็อกจีกลับมีครัวเรือนที่มีหนี้สินถึงร้อยละ 95 ส่วนใหญ่เกิดจากความขาดแคลนอาหาร จากการสอบถามว่าประชาชนในภาคตะวันออกของพม่ามีวิธีรับมือกับภาวะขาดแคลนอาหารอย่างไร คำตอบคือร้อยละ 29 ไปซื้ออาหารโดยติดเงินร้านค้าไว้ก่อน การซื้ออาหารคุณภาพต่ำและขอความช่วยเหลือจากญาติพี่น้องอยู่ในอัตราร้อยละ 28 เท่ากัน อย่างไรก็ตามร้อยละ 22 เลือกใช้วิธีลดอาหารของผู้ใหญ่หรืองดบริโภคอาหารเป็นเวลาหลายวัน

การไม่สามารถผลิตอาหารเพื่อบริโภคและค้าขาย ซ้ำยังต้องถูกขูดรีดภาษีนอกระบบ หลายครอบครัวต้องแบกรับภาระหนี้สินที่กู้มาเพื่อยังชีพ ล้วนเป็นผลพวงที่มาจากนโยบายของรัฐบาลทหารอย่างที่ได้กล่าวไว้ในตอนต้น เมื่อถึงภาวะยากจนอันเรื้อรังเดินทางมาถึงขีดสุด ประชาชนจากพม่าส่วนหนึ่งจึงเลือกลี้ภัยจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนมายังประเทศไทย ด้วยจุดหมายเพียงเแค่ตนเองและครอบครัวพออยู่พอกินและมีชีวิตรอด แม้จะรู้ว่าการต้อนรับที่ปลายทางอาจจะไม่สวยงามนัก

บางครั้งการกดขี่ข่มเหงจากการขายแรงในประเทศปลายทาง อาจไม่น่ากลัวเท่ากับการที่ท้องหิวก็เป็นได้

 

ข้อมูลจาก 

ไทยแลนด์ เบอร์ม่า บอร์เดอร์ คอนซอร์เดี้ยม (ทีบีบีซี), การพลัดถิ่นฐานและภาวะยากไร้อันเรื้อรังในฝั่งตะวันออกของประเทศพม่า, 2553

องค์การมนุษยธรรมชายแดนไทย-พม่า, การพลัดถิ่นฐานภายในประเทศและสภาวะเปราะบางของผู้พลัดถิ่นในประเทศพม่าแถบตะวันออก, 2547

องค์การมนุษยธรรมชายแดนไทย-พม่า, การพลัดถิ่นฐานภายในประเทศและการคุ้มครองในพม่าแถบตะวันออก, 2547

พรสุข เกิดสว่าง และกฤตยา อาชวนิจกุล, สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล, การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศพม่า จากผู้ลี้ภัยสู่แรงงานข้ามชาติ, 2540

     

 

หมายเลขบันทึก: 433557เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2011 14:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤษภาคม 2012 10:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท