พกถุงผ้า ใส่ยา มาหาหมอ


คนไข้: "พอมันปวด กินยาเม็ดขาวๆรีๆที่หมอ(คนโน่น)ให้ไป ก็ไม่ดีขึ้น"

หมอ: "ไหน..​เอายาที่กินอยู่ให้หมอ(คนนี้) ดูหน่อย"

คนไข้: "ไม่ได้เอามา"

บทสนทนาสั้นๆข้างบนนั้นเกิดขึ้นบ่อยมาก คนไข้ได้รับยาอะไรบางอย่างจากโรงพยาบาลหนึ่งหรือจาก"คลินิกส่วนตัว" แล้วก็มาบอกคุณหมออีกโรงพยาบาลหนึ่งว่า กินยารูปร่างลักษณะอย่างไรอยู่ แล้วก็ให้คุณหมอเล่มเกมส์ยี่สิบคำถาม เดาเอาเองว่า ยานั้นน่าจะเป็นยาอะไร ทำเหมือนกับจะบอกว่า ตัวเป็นหมอแล้วจะต้องจำให้ได้หมดว่า ยาชนิดไหนเม็ดสีอะไร ขนาดเท่าไร

ท่านผู้อ่านอาจจะนึกรำคาญว่านี่เป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ ก็แก้ปัญหาง่ายๆ ทีหลังก็บอกให้คนไข้เอายาติดตัวมาด้วยทุกครั้งสิ ไม่เห็นจะยากเลย

ยากครับ.. ผมต้องยืนยันนั่งยันว่า ขนาดพยาบาลห้องตรวจย้ำแล้ว ในบัตรนัดมาพบแพทย์ก็พิมพ์ตัวเบ้อเร่อว่า "ให้นำยาที่รับประทานอยู่มาด้วย" ก็ยังมีคนไข้ส่วนหนึ่ง ไม่เว้นแม้แต่คนไข้ที่เป็นบุคลากรสุขภาพ ก็ยังไม่เอายามาด้วยเหตุผลนานาประการ

อย่างที่รู้ๆกัน ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากหมอและบุคลากรสุขภาพไม่ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญเรื่องนี้ให้คนไข้ทราบ บางทีก็โทษไปว่า คนไข้บ้านๆไม่ค่อยจะรู้เรื่อง ตามที่เราชอบเหมารวมไปหมด แต่ผมก็เห็นคนไข้บ้านๆจนๆไม่ค่อยมีความรู้ แต่ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดจนต้องชม บรรดาผู้มีการศึกษาเสียอีก โดยเฉพาะคนไข้ที่มีพื้นเพเป็นบุคลารสุขภาพที่ว่าเสียเองนี่แหละ กลับไม่ทำ

อยากชวนท่านผู้อ่านร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ว่า
- มีเหตุผลอะไรเด็ดๆเท่ห์ๆ ที่ทำให้ไม่เอายาเก่าจากโรงพยาบาลเดิม ยาส่วนตัวทั้งหลายติดตัวมาโรงพยาบาลอีกแห่ง
- แล้วถ้าจะแก้ปัญหานี้ จะแก้กันอย่างไร


แล้วค่อยขยับไปอ่านบันทึกส่วนต่อไปนะครับ


ผมเคยใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงเป็นอย่างน้อย เอายาที่คนไข้แบกมา..ต้องใช้คำว่าแบก.. เพราะถุงมันใหญ่มาก ทั้งยาเม็ดยาน้ำจำนวนสามถุงใหญ่ๆ ที่เขาได้รับมาต่างกรรมต่างวาระ ทั้งจากต่างโรงพยาบาลและโรงพยาบาลเดียวกันแต่คนละแผนก ค่อยๆเอามานั่งเรียงดู แล้วพบความจริงที่น่าตกใจว่า ในบรรดาถุงยาหลากหลายชนิดเกือบยี่สิบถุงนั้น มียาระงับปวดประเภทต่างๆเกือบสิบถุง มีทั้งยาชื่อเดียวกันแต่รูปร่างเม็ดต่างกัน ยาที่ออกฤทธิ์คล้ายคลึงกัน คือ ยาแก้ปวดกระดูก ถึงสามชนิด ยานอนหลับที่ซ้ำกันหรือใกล้เคียงกันอีก

ต้องบอกว่า อันตรายมากครับ ถ้าคนไข้รับประทานยาทั้งหมดนั้นซ้ำๆกัน ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นง่ายมาก


ถ้าคิดกันแบบหัวเขียง สิทธิจะต้องมาคู่กับหน้าที่
จะถือว่า การนำยาที่ใช้อยู่ติดตัวมาโรงพยาบาลเป็น "หน้าที่คนไข้" ได้หรือไม่
แล้วถ้าคนไข้ไม่ปฏิบัติ "หน้าที่" ของตนเอง จะให้บุคลากรสุขภาพทำอย่างไร

  • ก้มหน้าก้มตาเล่นเกมส์ยี่สิบคำถามกันต่อไป ทั้งๆที่มีคนไข้อื่นรอตรวจต่ออีกเป็นสิบ
  • ไม่เอามา ก็ไม่ต้องพูดถึง ให้คนไข้รับผิดชอบตัวเองกันเอาเอง ว่าแล้วก็สั่งยาที่ตนเองต้องการจะสั่งเพิ่มเข้าไปอีก
  • ชวนกันแต่งชุดดำ ประท้วงคนไข้ ประเภทเรียกร้องสิทธิของผู้ให้บริการสุขภาพบ้าง แหม..กำลังอินเทรนด์เลย


พกถุงผ้า ใส่ยา มาหาหมอ


วีธีแก้ปัญหาแบบน่ารักๆเรื่องนี้ของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชธาตุพนม จังหวัดนครพนม ซึ่งจัดทำถุงผ้าไว้ใส่ giftset หรือชุดเครื่องใช้ประจำตัวไว้แจกคนไข้ เช่น แปรงสีฟัน ยาสีฟัน สบู่ ยาสระผม เวลาต้องมาอยู้โรงพยาบาล

ตรงถุงซึ่งมีข้อความข้างต้นพิมพ์ไว้ นอกจากจะเป็นการให้ความรู้แก่ชาวบ้านในเรื่องนี้แล้ว ยังเป็นการใช้ประโยชน์สิ่งต่างๆได้หลายวัตถุประสงค์อย่างชาญฉลาดและน่ารักจริงๆ

หมายเลขบันทึก: 433162เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2011 20:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (18)

อาจารย์หมอเต็มคะ

โดยเฉพาะคนอายุมาก ต้องกินยาหลายอย่าง บางทีไปหาหมอต่างโรงพยาบาลกันบ้างล่ะ บางคนก็ลืมคิดถึงจุดนี้ว่าอาจจะมียาในกลุ่มเดียวกัน หากสามารถรณรงค์ให้ผู้ป่วยนึกถึงประเด็นนี้ได้ ก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายและช่วยให้การดูแลสุขภาพดีขึ้นได้ด้วยใช่ไหมคะ 

ขอบคุณค่ะ ^_^

 

สวัสดีค่ะ

เดิมที่เคยปฏิบัติ  พี่คิมไม่ชอบทานยา  ชอบรักษาให้หนัก ๆ เช่นถามหมอว่า "มียาฉีดไหม" 

คุณหมอบอกว่า "ถ้าไม่จำเป็นเขาจะหลีกเลี่ยงการฉีดยา"

เมื่อได้ยามา "ก็จะทาน พอหาย ก็ไม่ทานอีกเลย"  มีคนถามว่า "ทำไมไม่ทานจนยาหมด"  แต่ไม่มีคำตอบจากพี่คิมเพราะไม่ทราบค่ะ

ปัจจุบันจะถามหมอเสมอว่า "จำเป็นต้องทานยาจนหมดหรือไม่"

คำตอบต่างกันค่ะ "คุณหมอบางท่านบอกว่าไม่จำเป็น บางท่านบอกว่าจำเป็น"

ขอถามคุณหมอเต็มศักดิ์ดีกว่าค่ะ

ปกติพี่คิมไม่ป่วยบ่อย  นาน ๆ เป็นไข้เป็นหวัด  และประจำคือภูมิแพ้  แต่รู้วิธีการปฏิบัติก็ไม่เป็นไรค่ะ

ผมเคยใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงเป็นอย่างน้อย เอายาที่คนไข้แบกมา..ต้องใช้คำว่าแบก.. เพราะถุงมันใหญ่มาก

นั่นแหละครับคือเหตุผลที่ไม่เอายามาให้คุณหมอดู....มันหนัก

Ico48

  • ยาโรงพยาบาลเดียวกัน แต่หมอต่างแผนกรุมสั่งยาก็ยังมีปัญหาเลย
  • โรงพยาบาลม.อ. ดีหน่อย ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ระบบยาโรงพยาบาลสามารถเรียกดู "สรุปยา" ที่คนไข้ได้รับจากทุกแผนกที่อ่านง่ายๆ แต่สำหรับโรงพยาบาลที่ยังไม่มีระบบสรุปยา ผมว่า โรงพยาบาลเดียวกันก็ยังมีปัญหาสั่งยาซ้ำเลย 
  • ว่างมาเอาหนังสือเมื่อไร ก็บอกนะครับ

Ico48

  • พี่คิมครับ ปัจจุบัน ยาฉีด ไม่ได้หมายความว่า ดีกว่า ยากิน เสมอไปนะครับ
  • ความจำเป็นต้องกินยาให้หมด ขึ้นอยู่กับประเภทของยาที่หมอสั่งครับ
  • เช่น ยาปฏิชีวนะ เพื่อฆ่าเชื้อ จำเป็นต้องกินให้หมด แม้อาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม เพราะต้องจัดการฆ่าเชื้อให้ราบคาบ ป้องกันการดื้อยาของเชื้อโรคยุคใหม่ จำง่ายๆครับว่า กินยาปฏิชีวนะไม่หมด เป็นภัยต่อสังคม เพราะเป็นต้นเหตุให้เชื้อดื้อยา ซึ่งทำให้การรักษาในอนาคตจะยากและแพงมากขึ้นเรื่องๆ
  • ส่วนยารักษาตามอาต่างๆ เช่น ท้องอืด ท้องเสีย ปวด พออาการดีขึ้นก็หยุดยาได้
  • อย่างไรก็ตามควรถามหมอจะดีกว่าว่า ต้องกินจนหมดหรือไม่ อย่างที่ที่คิมถาม ดีที่สุดแล้วครับ เพื่อความแน่ใจ

Ico48

  • พี่บุญชัยมีกลเม็ดดีๆอะไรที่ช่วยให้คนไข้ของพี่เอายามาให้ดูมั้ยครับ
  • เรื่องหนักเนี่ย ก็สงสารนะครับ แต่ไม่รุ้จะทำยังไง
  • ในแผ่นพับที่ให้ความรู้คนไข้ของรพ. จะบอกว่า 

เอายาเม็ดและซองยามาทั้งหมดที่มี

ส่วนยาน้ำให้เอาตัวอย่างมาแค่ขวดเดียว แต่นับจำนวนขวดยาที่เหลืออยู่มาด้วย จะได้ไม่ต้องแบกขวดยาน้ำมาทั้งหมด

อาจารย์คะ

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา กลับบ้านมากค่ะ กลับมาหาดใหญ่ก็ค่ำแล้ว เลยไม่ได้ติดต่ออาจารย์ เอาไว้ว่างเมื่อไร จะแว้บไปขอยืมหนังสือนะคะ

ส่วนเรื่องการสั่งยา วันนี้ได้เห็นระบบของ รพ.ม.อ. แล้วค่ะ เปิดดูได้ทั่วถึง ดีต่อคนไข้นะคะ ทำให้เรื่องการดูแลรักษาทำได้สะดวกและดียิ่งขึ้นด้วย อ๋อ...วันนี้นั่งรอพ่อที่ รพ. เห็น รายการ TV ของ โรงพยาบาล เห็นอ.หมอเต็มด้วย แต่รายการนั้นต้องรอดูสัปดาห์หน้าค่ะ ^_^

ขอบคุณมากๆ ค่ะ ^_^

Ico48

  • รายการอะไรมิทราบ ทำไมผมไม่เห็นรู้เลยอ่ะ

อาจารย์คะ

จำไม่ได้อ่ะคะ เห็นแบบผ่านๆ เร็วๆ อาจารย์กำลังตรวจคนไข้ เอ๊ะ...หรือว่าจะเป็นภาพโฆษณาเฉยๆ

ไม่แน่ใจค่ะ อาจารย์

Ico48

  • ยังไม่เห็น รพ. จ่ายค่า presenter ให้ผมเลยครับ

เดี๋ยวนี้คณะแพทยศาสตร์พัฒนามากมาย ทำสื่อได้น่าสนใจด้วย วันนี้ไป รพ. มาอีกแล้ว อุตส่าห์นั่งจ้องโทรทัศน์ เสียงไม่ค่อยได้ยิน เพราะว่าโทรทัศน์อยู่ไกลจากที่นั่งค่ะ ได้ดูรายการเกี่ยวกับการผ่าตัดพังผืดตรงข้อมือ กะว่าจะรอดูโฆษณาว่าจะเห็นภาพอาจารย์ไหม แล้วมีรายการช่วงไหน แต่ว่าไม่ทันเห็นโฆษณา ต้องพาพ่อไปตรวจก่อนค่ะ

สงสัยอาจารย์ต้องถามฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ รพ.แล้วค่ะ ^_^

Ico48

  • รู้แล้วว่า น้องมะปรางมาทำอะไรที่โรงพยาบาล น่าชื่นชมนะครับลูกคนนี้

อ.หมอเต็มคะ

ช่วงนี้มีนัดไป รพ.บ่อยมากค่ะ ^_^

ระบบของ รพ. ทำให้การตรวจของคุณหมอหลายท่าน สะดวกมากขึ้นในการดูรายละเอียดการสั่งยาและการรักษาด้วยค่ะ

ขอบคุณอาจารย์มากนะคะ

Ico48

  • จะแวะมาเลือกหนังสือเมื่อไรก็บอกนะครับ

สวัสดีค่ะ

เคยไปเยี่ยมบ้านผู้ป่วยและถามประโยคนี้ เหมือนกันค่ะ ผู้ป่วยตอบว่า" หมออย่าบอกหมอใหญ่เด้อ ฉันไม่เอายาไปเดี๋ยวหมอรู้ว่าฉันกินยาเกินบางทีฉันปวดหัวมากที่เขาให้กินเม็ดเดียว ฉันก็ซัดไป 2 เม็ดมัน ไม่ทันโรค"

วันนั้นเลยพาผู้ป่วยมาโรงพยาบาลด้วย มาพบแพทย์เพราะยาเหลือไม่ถึงวันนัด และความดันสูง

ต้องให้ผู้ป่วยเห็นประโยชน์ของการนำยามาให้เราดูคะ อาจารย์

1.จากประสบการณ์ที่ดูแลผู้ป่วยคลินิก หัวใจล้มเหลวจากที่ผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวจะต้องปรับยาแทบทุกครั้งที่มาพบแพทย์

หรือ ต้องเปลี่ยนยา ในบทบาทของพยาบาลจะแจ้งให้ผู้ป่วยทราบว่าในการนัดครั้งนี้แพทย์เพิ่มหรือลดยาตัวไหน หรือหยุดยาตัวไหน

ก็จะจัดการเก็บยาตัวนั้นโดนเอายาจากซองยาที่ผู้ป่วยเอามาให้เป็นยาที่ยกตัวอย่างให้ผู้ป่วยดู และพบกรณีที่ผู้ป่วยปรับยาเองหรือยา

เหลือมากก้จะสอบถามสาเหตุการปรับยาและไม่ทานยา อธิบายการออกฤทธิ์ของยาแต่ละตัว แต่บางครั้งที่ผู้ป่วยหยุดยาเองก้เพราะมี

อาการปกติ บางครั้งการหยุดยาของผุ้ป่วยกลับเป็นการดีเพราะถ้าทานก็อาจผลข้างเคียงของยา บางครั้งหมอก็ปรับยาตามผู้ป่วยกรณี

ที่พิจารณาแล้วไม่มีความต่างกันในการรักษาและทาน dose ที่หมอสั่งแล้วมีอาการผิดกติ

2.ที่สำคัญจะไม่ดุผุ้ป่วยไม่เช่นนั้นผุ้ป่วยจะไม่บอกควมจริงกับเราค่ะกรณีผู้ป่วยไม่ทานยา

3.หาผุ้ดูแลจัดยากรณีผุสูงอายุเพราะบางครั้งที่ไม่ทานยา ทานยา ผิด เพราะมองไม่เห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท