English&Thinglish 4: การเรียนภาษาอังกฤษแบบแปลเป็นไทยทันที


สิ่งที่เรียนในห้องเรียนคือป้ายบอกทาง นอกห้องเรียนต่างหากที่มีความรู้และทักษะอีกนับไม่ถ้วนรออยู่ทุกหนทุกแห่ง

       การเรียนภาษาอังกฤษแบบพอเรียนปุ๊บก็ตั้งหน้าตั้งตาแปลเป็นไทยทันที ไม่ใช่วิธีเรียนเพื่อรู้ภาษาอังกฤษอย่างแน่นอน  แต่เป็นวิธีหยิบฉวยเอาคำแปลคำศัพท์ (ซึ่งเป็นของสำเร็จรูป) มาใช้ในบริบทไทย อย่างที่ทำกับเรื่องอื่นๆ  หลักสูตรสำหรับผู้เรียนภาษาอังกฤษในมหาวิทยาลัย มีวิชาแปลไว้ ไม่ใช่ในฐานะวิชาบังคับ และไม่ใช่วิชาแรกๆ ด้วย  แต่มีไว้สำหรับผู้ที่เรียนภาษาอังกฤษจนรู้เรื่องแล้ว  นักแปลหนังสือที่มีผลงานดี และมีชื่อเสียงทุกคนล้วนมีความรู้ภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี  และไม่ได้พกพจนานุกรมอังกฤษ-ไทยเพียงเล่มเดียวอย่างนักเรียนไทยจำนวนมาก

       คนส่วนมากที่แปลอังกฤษเป็นไทยทันที ถ้าไม่เข้าใจผิดแบบเห็นขาวเป็นดำ(ว่าถ้ารู้คำแปลก็คือรู้ภาษาอังกฤษ) ก็ต้องเป็นผู้แสดงเจตนาชัดเจนว่าไม่ต้องการอะไรจากภาษาอังกฤษ นอกจากคำแปลในฐานะของสำเร็จรูปพร้อมใช้ ถ้าเป็นแบบหลัง โอกาสที่จะแปลผิดก็สูงมาก เพราะอาจจะไม่รู้ด้วยว่าศัพท์ที่ได้ไปนั้น ถูกต้องเที่ยงตรงหรือยัง เป็นคำนาม หรือ กริยา หรือสันธาน ฯลฯ  จริงอยู่ ขณะอ่านไปแปลไปนั้น ได้เห็นการใช้คำต่างๆ เห็นเครื่องหมายวรรคตอน และการวางส่วนต่างๆ ของโครงสร้างประโยค แต่ความรู้ที่เกิดขึ้นขณะนั้นเป็นเพียงทางผ่านไปสู่เป้าหมายที่เป็นภาษาไทย  พอแปลเสร็จก็เอาแต่ภาษาไทยไปใช้  ภาษาอังกฤษถูกทิ้งทันที และถูกลืมในไม่ช้า  ผมเคยสอนวิชา Reading Comprehension  แบบแปลเป็นไทยอยู่ช่วงหนึ่ง หลังจากนั้น ได้รับการอบรมสองครั้งในช่วงเวลาสามปี ทั้งจากเอยูเอ และจากบริติช เคาน์ซิล  จึงรู้ว่าสอนผิดวิธี ทั้งๆที่เขาไม่มีวิชาแปลไว้ให้ในหลักสูตรชัดเจนอยู่แล้ว แต่ครูดันไปแปลให้เองเสียนี่  อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้     ผมมีงานแปลมาทำอยู่บ่อยๆ เพียงแต่ว่าไม่ได้ทำในฐานะผู้เริ่มเรียนภาษาอังกฤษ และไม่ได้แปลให้นักศึกษาระดับใดๆ  

        การอบรมทำให้ทราบด้วยว่า พจนานุกรมที่เหมาะสำหรับเรียนภาษาอังกฤษจริงๆ ควรเป็นแบบ English-English    ซึ่งมีตั้งแต่เล่มไม่หนามากจนถึงแบบตั้งโต๊ะหนาๆ หรือแยกเป็นสองสามเล่มใหญ่ๆ    สำหรับเล่มเล็กพกพาได้นั้น  หลายสำนัก เขาใช้คำศัพท์ง่ายๆ สำหรับมือใหม่ จำนวนประมาณ ๒,๐๐๐ คำ เป็นคำอธิบายคำศัพท์ทั้งหมดในเล่ม  การใช้พจนานุกรมแบบนี้ ทำให้รู้ศัพท์ใหม่โดยอาศัยคำอังกฤษที่เรารู้แล้วหรือพอรู้เป็นคำอธิบาย แบบนี้เหมาะสำหรับนักเรียนนักศึกษามาก   ในระดับที่สูงขึ้น (เช่นพวกที่เรียนเป็นวิชาเอก) ควรใช้เล่มใหญ่ขึ้น และถ้ามีพจนานุกรมประเภทคำพ้อง หรือรวมคำพวกเดียวกันไว้เป็นหมวดๆ (ซึ่งเล่มที่เป็นต้นตำรับมีชื่อว่า Roger’s Thesaurus)   ไว้ใช้ร่วมด้วยก็จะช่วยได้มากขึ้น   ขอเรียนอีกครั้งว่า พจนานุกรมทั้งหมดที่เอ่ยถึงในย่อหน้านี้ไม่มีภาษาไทยเกี่ยวข้องด้วยเลย

         พจนานุกรมหลายสิบเล่มหลายๆภาษาที่เอามารวมกันไว้ในฮาร์ดแวร์สมัยใหม่เท่าที่ดูๆ มาก็เห็นว่าใช้ได้  มีไว้ก็ดี   แต่เวลาใช้ จะใช้แต่เล่มที่แปลเป็นภาษาไทยเล่มเดียวทุกครั้งก็คงได้ประโยชน์ไม่สมราคา ผมไม่ได้ใช้ของทันสมัยพวกนี้เพราะบังเอิญผมมีพจนานุกรมทั้งเล่มเล็กเล่มใหญ่ ทั้งที่มีภาษาไทยและไม่มีรวมกันไม่น้อยกว่าสิบเล่มอยู่แล้ว

         การเรียนแบบแปลเป็นไทยทันที มักมีข้อผิดพลาด ดังตัวอย่างเก่าแก่ระดับตำนานที่อาจารย์หมวก ไชยลังการณ์ (อาจารย์ที่เป็นตำนานของโรงเรียนปรินส์รอยส์ฯ ที่เชียงใหม่) เขียนและแปลให้ลูกศิษย์หลายรุ่นฟังดังนี้ 

        Prince Orange, the Ruler of Holland  (เจ้าชายส้มเกลี้ยง  ไม้บรรทัดแห่งฮอลแลนด์)   ถึงแม้จะแปลถูกทุกคำ  แต่ก็...ฯลฯ

        การอ่านภาษาอังกฤษมากๆ นอกจากได้คำศัพท์มากขึ้นแล้ว ยังได้เห็นวิธีสร้างประโยคหลายวิธี  ได้เห็นสำนวน เห็นคำพังเพย  สุภาษิต ซึ่งทำได้ด้วยการวิเคราะห์โครงสร้างของประโยค และนี่เป็นวิธีเรียนไวยากรณ์ที่ดีมากไปพร้อมๆ กันด้วย เพราะสิ่งที่เราอ่าน คือภาษาอังกฤษที่สำเร็จรูป ถูกต้องพร้อมใช้ (ซึ่งเป็นของชอบของใครต่อใครอยู่แล้ว) คำคมของ คนดัง บทกวี และคำร้องเพลงอังกฤษดีๆเพราะๆ  ส่วนมากเป็นตัวอย่างสำเร็จรูปของภาษาอังกฤษที่ดีเพราะไม่ยาว ไม่ต้องเสียเวลามาก  คนที่อยากก้าวหน้าในภาษาอังกฤษเขาใช้ของพวกนี้ให้เป็นประโยชน์กันทั้งนั้น

       ครู(ชาวไทย)ที่ยังใจอ่อนแปลให้นักเรียนต่อไป คงไม่ได้พัฒนาภาษาอังกฤษของนักเรียนสักเท่าไร  ถ้านักเรียนจะได้ประโยชน์บ้างก็คงเป็นข้อคิดสำหรับจดจำว่า สิ่งที่เรียนในห้องเรียนคือป้ายบอกทาง  นอกห้องเรียนต่างหากที่มีความรู้และทักษะอีกนับไม่ถ้วนรออยู่ทุกหนทุกแห่ง

คำสำคัญ (Tags): #english-english#thesaurus
หมายเลขบันทึก: 432461เขียนเมื่อ 23 มีนาคม 2011 17:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

I agree "สิ่งที่เรียนในห้องเรียนคือป้ายบอกทาง  นอกห้องเรียนต่างหากที่มีความรู้และทักษะอีกนับไม่ถ้วนรออยู่ทุกหนทุกแห่ง". It would be better if we could teach English outside a classroom. The same as "life", knowledge is everywhere; languages are everywhere; even in this blog ;-)

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท