ปัจจัยเสี่ยง+วิธีป้องกันข้อ(เข่า)เสื่อม


จุลสารเว็บไซต์ อ.นพ.เกบ เมียคินตีพิมพ์เรื่อง 'What causes osteoarthritis of the knee? [ Dr. Gabe Mirkin's Ezine ]' = "อะไรทำให้ข้อเข่าเสื่อม (โรคข้อเสื่อมไม่ทราบสาเหตุนิยมเรียกย่อๆ ว่า 'OA' หรือข้อเสื่อม "โอ.เอ."), ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟังครับ
.
ทุกวันนี้เรายังไม่ทราบสาเหตุของข้อเสื่อม ทว่า... การศึกษาใหม่จากญี่ปุ่นพบว่า คนที่มีข้อเสื่อม OA มีปัจจัยเสี่ยงต่อไปนี้ได้แก่ (1). น้ำหนักเกิน, (2). ความดันเลือดสูง, (3). ไขมันในเลือดหรือโคเลสเตอรอลสูง, (4). น้ำตาลในเลือดสูง
.
ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคข้อเสื่อม OA แปรตามจำนวนข้อปัจจัยเสี่ยง คือ ยิ่งมีปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้มากข้อ ยิ่งเพิ่มโอกาสเป็นข้อเสื่อม OA
.
ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้มีส่วนคล้าย (ทับซ้อน) กับกลุ่มอาการอ้วนลงพุง หรือเมตาโบลิค (metabolic syndrome) ได้แก่ (1). เส้นรอบเอวเกินเกณฑ์ (90 ซม.ผู้ชาย - 80 ซม.ผู้หญิง), (2). ไขมันไตรกลีเซอไรด์เกิน 150 มก./ดล., (3). โคเลสเตอรอลหรือไขมันในเลือดชนิดดี (HDL) ต่ำกว่าเกณฑ์ (40 มก./ดล.ผู้ชาย - 50 มก./ดล.ผู้หญิง), (4). ความดันเลือดสูงเกิน 130/85, (5).  น้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารเกิน 110 มก./ดล. [ คลินิก ]; [ กลุ่มอาการเมตาโบลิก ]
.
การที่มีปัจจัยเสี่ยงคล้ายๆ กัน ทำให้มีความเป็นไปได้ว่า โรคข้อเสื่อม OA ซึ่งพบมากที่ข้อเข่า ข้อสะโพก ข้อเท้า หรือข้อที่รับน้ำหนักของร่างกายเป็นหลัก จะเป็นโรค "ข้าวขาว-ขนมปังขาว-น้ำตาลทราย" หรือโรคกลุ่ม "อ้วนลงพุง" ที่พบบ่อยยุคหลังอุตสาหกรรม (นับตั้งแต่มีการตั้งโรงสีข้าว-โรงหีบอ้อย)
.
การวินิจฉัยโรคข้อเสื่อม OA มักจะวินิจฉัยโดยการตัดโรคข้ออื่นๆ ออกไป เช่น ไม่ใช่ข้ออักเสบรูมาตอยด์ ข้ออักเสบติดเชื้อ เกาต์ ฯลฯ
.
ข้อเสื่อม OA พบมากขึ้นหลังอุบัติเหตุ เช่น หกล้มเข่ากระแทก ข้อเข่าพลิก เอ็นเข่าอักเสบจากอุบัติเหตุ ฯลฯ
.
การขับขี่รถให้ช้าลง, "เมาไม่ขับ-ง่วงไม่ขับ", ออกกำลังกล้ามเนื้อหน้าขาท่อนบนให้แข็งแรง เช่น ท่านั่งเก้าอี้แล้วบริหารด้วยการ "ลุกขึ้นยืน-นั่ง" สลับกัน 10 ครั้งเช้า-เย็น, นั่งแกว่งขาแทนการนั่งดู TV หรือนั่งนิ่งนานๆ, ไม่นั่งนานเกิน 1-2 ชั่วโมง/ครั้ง (ลุกเดินไปมาสลับบ้าง) ฯลฯ มีส่วนช่วยได้
.
อ.ดร.เมียคิน แนะนำวิธีป้องกันข้อเสื่อม OA ว่า ขั้นแรก คือ ให้ลดไลฟ์สไตล์ (lifestyle) หรือแบบแผนการใช้ชีวิตแบบตะวันตกที่ทำให้เกิดโรคแห่งความเสื่อมอันศิวิไลซ์ (degenerative disease of western civilization) ที่มาคู่กับโรคอ้วนดังต่อไปนี้
.
(1). ระวังน้ำหนักเกิน-อ้วน เน้นการควบคุมอาหาร "ข้าว-แป้ง-น้ำตาล" และลดอาหาร "หวาน-มัน-เค็ม" ให้น้อยลง > การลดน้ำหนัก 2-3 กก.ขึ้นไปมักจะทำให้อาการปวดข้อ OA ลดลง
.
(2). ออกแรง-ออกกำลังเป็นประจำ
.
(3). ไม่นั่งนิ่งนานเกิน 1-2 ชั่วโมง > ตั้งนาฬิกาปลุกหรือใช้นาฬิกาปลุกของโทรศัพท์มือถือเตือนให้ลุกเดินไปเดินมาเป็นประจำ
.
(4). ไม่กินเนื้อ ไม่กินอาหารขัดสี (ข้าวขาว-แป้งขาว-น้ำตาล) มากเกิน
.
กลไกที่อาจเป็นไปได้ คือ คนทุกคนมีเซลล์ไขมันในร่างกาย เซลล์นี้จะไม่อ้วนเป่งเต็มที่แบบหมัดหลังกินเลือด ทว่า... ถ้ามีกลุ่มอาการอ้วนลงพุงหรือโรคอ้วน จะทำให้เซลล์ไขมันอ้วนเป่ง ปล่อยสารเคมีก่อการอักเสบ (ทำให้ธาตุไฟกำเริบ), หรือปล่อยฮอร์โมนที่เร่งความเสื่อมออกมาได้
.
ถึงตรงนี้... ขอให้ท่านผู้อ่านมีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ

 > [ Twitter ]                             

  • Thank Dr. Gabe Mirkin's Ezine > Rheumatology, published online February 15, 2011.
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ รพ.ห้างฉัตร ลำปาง. 16 มีนาคม 2554.
  • ข้อมูลทั้งหมดเป็นไปเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรค; ท่านที่มีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงต่อโรคสูงจำเป็นต้องปรึกษาหมอที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้.
หมายเลขบันทึก: 432166เขียนเมื่อ 21 มีนาคม 2011 22:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 15:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

แล้วถ้าจะใช้ยารักษา จะมีตัวไหนที่ใช้รักษาได้บ้างคะ?

บล็อกของเราไม่ตอบเรื่องการรักษาครับ -- เป็นนโยบายของบล็อกสุขภาพทั่วโลก เพื่อป้องกันอันตรายจากการถูกฟ้องร้อง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท