ประสบการณ์สอนภาษาอังกฤษแก่นักศึกษาผู้ใหญ่ใน ม.ชีวิต ของอาจารย์คนหนึ่ง ตอนที่ ๒


หลังจากได้รับอนุญาตจาก รศ.ทรงพร ทาเจริญศักดิ์ ให้นำบันทึกของท่านมาลงในบล๊อก "แรงบันดาลใจ" นี้ (http://gotoknow.org/blog/surachetv/430118?page=1) ท่านได้เขียนเพิ่มขึ้นมาอีก ผมเห็นว่าหากนำขึ้นมาวางไว้เป็นอีกบันทึกหนึ่งจะเป็นประโยชน์ ดังข้อความต่อไปนี้

ขอบคุณทุกท่านที่ให้ความคิดเห็นและให้กำลังใจ ดิฉันต้องขอพูดว่า สอนนักศึกษา ม.ชีวืตสนุกกว่าสอนนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยดังๆ เสียอีก เพราะอะไรหรือ? เพราะนักศึกษาทุกท่านของเรามีประสบการณ์การทำงาน ผ่านร้อนผ่านหนาวมาในชีวิตมากมาย เมื่อมาเรียนภาษาอังกฤษ ท่านจะบอกเลยว่า อยากได้อะไร อยากให้สอนแบบไหน แล้วจะเรียนไปทำไม  ซึ่งแตกต่างมากกับนิสิตนักศึกษาตาแป๋วใน ม.ทั่วไป  ดิฉันต้องสารภาพว่าเพิ่งค้นพบตัวเอง เพิ่งรู้สึกมีความพึงพอใจ มั่นใจในตนเอง เมื่อมาเจอะเจอนักศึกษาผู้ใหญ่มากด้วยประสบการณ์อย่างพวกท่าน

ขอเล่าต่อนะคะ เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๐ มีนาคม ดิฉันว่างไม่มีสอน จึงแจ้งนักศึกษาว่าใครว่างให้ผลัดกันมาพบทีละคน เพื่อฝึกพูดภาษาอังกฤษเพิ่มเติมตามความสมัครใจ สักคนละ ๕ นาทีก็พอ

ปรากฎว่า ๕ นาทีไม่พอค่ะ มาต่อคิวไม่หยุดเลย คุยกันเรื่องประวัติส่วนตัวง่ายๆ เพื่อบูรณาการกับรายวิชาอื่นๆ พูดไทยปนอังกฤษกันค่ะ สนุกสนานกันมาก และได้เรียนรู้ประวัติส่วนตัว สร้างความสนิทสนมระหว่างครูกับผู้เรียน  ได้ทราบว่านักศึกษาบางคนเป็น grandfather / grandmother และมี grandchildren แล้ว

หลายท่านมีบทบาทในชุมชน เป็นกรรมการสถานศึกษา และงานเพื่อส่วนรวมมากมาย ดิฉันแนะให้ท่านรวบรวมว่าทำอะไรไว้ ที่ไหน เมื่อไร เอามาทำเป็น biodata มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน

นักศึกษาบางคนพูดภาษาอังกฤษเก่งมาก เพราะเคยทำงานเป็นวิศวกรอยู่ในฐานทัพอเมริกันหลายปีทั้งที่สัตหีบ เกาะคา อุดรฯ (อาจมีนักศึกษาที่ขอนแก่นของ อ.ทรงกฏ เก่งอังกฤษเพราะเคยทำงานที่ฐานทัพมาแล้วหลายคน)

ดิฉันพลอยได้เรียนรู้ศัพท์แสงเกี่ยวกับฐานทัพอเมริกัน และแนวคิดการไม่เห็นด้วยกับสงครามเวียดนามด้วย เลยบอกท่านว่าไม่ต้องรู้สึกผิดที่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับสงคราม ถือเป็นประสบการณ์ชีวิต

บางท่านทำธุรกิจเกี่ยวกับเสาเข็ม (concrete piles) บอกดิฉันว่า แม้ท่านจะพูดไม่ค่อยได้ แต่ในชีวิตธุรกิจ ท่านต้องอ่านแคตตาลอก (catalogue) สินค้า อ่านนิตยสาร วารสารเป็นภาษาอังกฤษเป็นประจำ แล้วก็อ่านรู้เรื่อง เพราะเดาจากศัพท์เทคนิคในวงการซึ่งคนไทยก็พูดทับศัพท์กันอยู่แล้ว

ดิฉันถึงกับอี้งและทึ่ง ต้องรีบบอกตนเองว่านักศึกษาของเราเป็นบุคคลพิเศษจริงๆ พวกเขากำลังสอนเรา เราต้องเรียนจากเขา ว่าเราควรจะจัด "กระบวนการเรียนรู้" (ขอใช้ศัพท์ ดร.เสรี และ อ.สุรเชษฐ) ในห้องเรียนอย่างไร ไม่ใช่เตรียมสอนมาจากบ้านโดยคว้าตำราฝรั่งมาสอน แล้วคิดเอาเองว่าเขาควรจะรู้อะไร โดยไม่เคยคิดจะ "Getting to know your students" เหมือนในอดีต ที่ต้องสอนตามตำราที่เขา "สั่งมา" ให้ใช้สอนตามหลักสูตรที่วางเอาไว้แล้ว

ทรงพร

หมายเลขบันทึก: 432113เขียนเมื่อ 21 มีนาคม 2011 17:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ชอบมากครับ การสอนแบบนี้ นับว่าเป็นความโชคดีของ นศ.ม.ชีวิต ที่ได้เรียนกับท่านอาจารย์ทรงพร.   ม.ชีวิตทางอีสานคงมีโอกาสได้ศึกษาเรียนรู้กับท่านอาจารย์นะครับ

นี่แหละ ใช่เลย อ.ทรงพร.อาจารย์ม.ชีวิตแท้ๆครับ .

ทรงกฏ.

เรียน ท่านอาจารย์ทรงพรที่เคารพ ถ้าเรียนแบบที่อาจารย์สอน ผมคิดว่าพวกเราคงไม่กลัวภาษอังกฤษแน่ เพราะไม่มีคำว่ากลัวผิด ไม่อายที่จะพูด อยากเรียนรู้ ผมเคยไปเรียนกับอาจารย์ที่ญี่ปุ่นเขาสอนภาษาอังกฤษบวกญี่ปุ่น ก็ใช้ภาษาพูด สนทนา  แล้วเราก็ค่อยปรับปรุงไปเรื่อย ๆ ป.ตรีจะได้เรียนแบบนี้ไหมครับ

เรียน ท่านอาจารย์ทรงพรที่เคารพ ถ้าเรียนแบบที่อาจารย์สอน ผมคิดว่าพวกเราคงไม่กลัวภาษอังกฤษแน่ เพราะไม่มีคำว่ากลัวผิด ไม่อายที่จะพูด อยากเรียนรู้ ผมเคยไปเรียนกับอาจารย์ที่ญี่ปุ่นเขาสอนภาษาอังกฤษบวกญี่ปุ่น ก็ใช้ภาษาพูด สนทนา  แล้วเราก็ค่อยปรับปรุงไปเรื่อย ๆ ป.ตรีจะได้เรียนแบบนี้ไหมครับ... ปิติพงศ์

ที่ รศ.ทรงพรเขียนนั้นเป็น นศ.ป.ตรี ครับ

ผมเป็นนักศึกษาปริญญาตรี สาขาการจัดการสุขภาพชุมชน สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชนผมบอกได้คับ ว่า การเรียนภาษาอังกฤษที่อาจารย์ทรงพรสอน สนุกมาก และทำให้เราได้ความรู้และสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท