การเก็บออมเงินฝากไว้กับสหกรณ์


การออมเงินไว้กับสหกรณ์

            การออมทรัพย์เป็นสิ่งดีและพยามยามออมทรัพย์กันเพื่อขจัดปัญหาทางการเงินในอนาคต  แต่ถ้าทุกคนออมโดยเก็บเงินไว้กับตัวเฉย ๆ  ก็จะไม่เกิดผลงอกเงยขึ้น  ไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร  หลักที่ถูกต้องของการออมทรัพย์ก็คือ  จะต้องทำให้เงินที่ออมได้นั้นเกิดประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง  บางคนอาจจะนำไปฝังดิน  (เป็นประโยชน์กับไส้เดือนถ้าฝังลึก)  บางคนฝากไว้กับญาติพี่น้องหรือคนสนิทชิดเชื้อที่ไว้วางใจได้      (เพื่อให้เขาเอาไปหมุนใช้ก่อน)     เหมือนชูชกฝากเงินไว้กับพ่อนาง    อมิตดา  การกระทำเหล่านี้ยังไม่ปลอดภัยเท่าที่ควร  ฝังไว้แล้วอาจหลงลืม  หรือมีคนเห็นอาจจะขโมยขุดไปได้  ที่พบบ่อยในพื้นที่ชนบท  เกษตรกรมักนำเงินเก็บออมไว้ไปแอบซ่อนไว้เก็บไว้ในฉางข้าว  บางครั้งก็ถูกมดปลวกหรือหนูกัดแทะเสียหายชำรุดไปก็มี  บางคนเก็บไว้ในกระบอกไม้ไผ่  ที่ใช้ทำเป็นเตียงนอน  ไม่ยอมนำออกใช้จ่าย  ตายไปลูกหลานช่วยกันผ่ากระบอกได้เงินจำนวนแสนบาท  สู้อุตสาห์ก็บออมไว้หลายปี  แต่ผลสุดท้ายก็ต้องให้ผู้อื่นเอาไปใช้

            ลู่ทางในการนำเงินออมไปทำให้เกิดประโยชน์นั้น  ถ้าจะพูดถึงสังคมเมือง ราษฎรมักจะนำเงินออมไปฝากธนาคาร  ฝากสหกรณ์ออมทรัพย์  เล่นแชร์  ซื้อพันธบัตรรัฐบาล  หรือนำไปลงทุนในบริษัทห้างร้าน  ถือหุ้นสหกรณ์  ถือหุ้นธนาคารที่เขาเปิดโอกาสให้ถือ  หรือนำไปเป็นเงินวางมัดจำเพื่อซื้อบ้านแล้วผ่อนส่ง  หรือนำไปลงประกันภัย  ประกันชีวิต  ฯลฯ  ในการลงทุนต้องทำอย่างรอบคอบอย่าคิดว่าการลงทุนน้อยแต่ได้ดอกผลสูงเป็นการดีเสมอไป  เช่น  ลงทุนในบริษัทการเงิน  หรือบริษัทเงินทุนต่าง ๆ การเล่นแชร์  หรือออกเงินให้กู้นอกระบบ  เรียกเก็บดอกเบี้ยร้อยละห้าร้อยละสิบ  ใช้วิธีตามเก็บคืนเป็นรายวันรายเดือนรายปีตามแต่จะถนัด  การลงทุนประเภทนี้มักเป็นกิจการที่เสี่ยงภัยสูง  แถมยังเป็นการเอาเปรียบสังคม  บางครั้งดอกเบี้ยไม่ได้และต้นเงินก็พลอยหายไปด้วย   และอาจถึงตายได้ด้วย การนำเงินออมไปลงทุนหรือฝากอย่างรอบคอบนั้นต้องพิจารณาข้อดีข้อเสีย  ต่าง ๆ  กันไป  คือ  ความปลอดภัย  สภาพคล่อง  ผลตอบแทน  และความแปรสภาพเงินที่นำไปวางไว้ให้ตีกลับมาเป็นรูปเงินสด  เช่น  ถ้าวางเงินออมไว้ในรูปที่ดิน  เวลาจะตีกลับมาเป็นเงินสด  ก็ต้องประกาศขายที่ดินแล้วรอให้มีคนมาซื้อ  ผ่านนายหน้า  ผ่านหนังสือพิมพ์กว่าจะตกลงราคากันได้  ทำสัญญาซื้อขาย  โอนโฉนดกัน  กว่าจะได้เงินมาใช้เวลานานหลายวันหลายเดือนหรือเป็นปี  แต่ถ้านำไปฝาก  เรียกว่า เงินฝาก  เวลาจะแปรสภาพตัวเลขในบัญชีเงินฝากไว้ตีกลับมาเป็นตัวเงินสด  ก็ไปถอนออกมาใช้ได้ทันที  เรียกว่ามีสภาพคล่อง  ส่วนความสะดวกนั้นขึ้นอยู่กับบริการ  เช่น  ไปถอนเงินที่ธนาคารหรือสหกรณ์บางแห่งต้องรอนานหน่อย จะฝาก  จะถอน  จะเอาหมอนไปด้วย อย่างนี้คงไม่ไหว  สำหรับสมาชิกสหกรณ์ขอแนะนำให้ช่วยกันฝากกับสหกรณ์  เพราะนอกจากจะทำให้เรามีเงินแล้ว  ยังเป็นการเพิ่มทุนให้กับสหกรณ์ของเราเอง

 ประเภทของเงินฝากสหกรณ์

             สหกรณ์การเกษตรที่จัดตั้งขึ้นในชนบทนั้นเปรียบเสมือนธนาคารของชาวเกษตรกรสมาชิกบางคนมีรายได้น้อยอาจออมทรัพย์ไว้แต่ละครั้งเป็นจำนวนน้อย   จะนำไปลงทุนอะไรก็ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย การฝากเงินไว้กับสหกรณ์นับว่าเป็นการดี  สามารถเลือกแบบแผนการออมได้ตามใจชอบ  ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายวิธีด้วยกันให้เลือก  ดังนี้

            1. เงินฝากประเภทออมทรัพย์  เป็นเงินฝากประเภทฝากเข้าถอนออกตามความพอใจ  และเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องหมุนใช้เงินอยู่เป็นประจำ  มีมากก็ฝากเข้าเก็บไว้มาก   ยามจำเป็นต้องใช้ก็ถอนออกมาใช้ได้ทันทีในวันที่สหกรณ์เปิดทำการ

            2.  เงินฝากประเภทประจำ  สำหรับคนที่มีเงินเหลือเก็บมาก ๆ  ฝากไว้กินดอกเบี้ยเสียเป็นส่วนใหญ่  คือ  ฝากไว้โดยมีกำหนดระยะเวลา  เช่น  ประจำ  3  เดือน. 6 เดือน, 12  เดือนหรือมีเป้าหมาย  แล้วค่อยถอนหรือจะถอนเฉพาะดอกเบี้ยออกมาใช้เมื่อครบกำหนดระยะเวลา  แต่ถ้าถอนก่อนกำหนด  3  เดือน  สหกรณ์ก็จะไม่คิดดอกเบี้ยให้ 

            3.  เงินฝากประเภทสัจจะออมทรัพย์  การฝากเงินประเภทนี้เป็นการฝากทีละเล็กน้อยเท่ากันเป็นประจำทุกเดือน  เป็นการฝึกนิสัยให้สมาชิกรู้จักออมอย่างมีระเบียบ  โดยเริ่มแผนการออมด้วยจำนวนเงินที่แน่นนอนจำนวนหนึ่ง  ครั้งละน้อย ๆ  ตามกำลังความสามารถ  ใช้กฎแห่งสัจจะว่าจะฝากเงินภายในกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนจึงจะถอนกลับคืนไป  เช่น  5  ปี,  10  ปี  หรือเก็บไว้เป็นเงินสะสม  หรือเงินบำเหน็จรางวัลสำหรับชีวิตการทำงานของแต่ละคน

 ประโยชน์ของการฝากเงินกับสหกรณ์

            1.  ความมั่นคงปลอดภัย  เพราะถ้าท่านเก็บเงินไว้กับตัวจำนวนมาก  อาจจะเป็นเหตุให้เกิดภัยขึ้นได้ง่าย  ไม่ว่าจะเป็นภัยจากธรรมชาติ  เช่น  ไฟไหม้  น้ำท่วม  ปลวกกิน  หนูกัด  เป็นต้น  หรือไม่ก็ภัยจากคนกันเองที่จะหาภัยมาให้  ถ้าท่านเก็บเงินไว้ที่บ้านอาจถูกลัก  ถูกขโมย  จี้ปล้น  หรือแม้แต่การพลั้งเผลอหลงลืม  ซึ่งล้วนแต่เป็นที่มาของการ  "สูญ"  ของเงินที่เราอุตส่าห์หามาด้วยความเหนื่อยยาก  การเอาเงินไปฝากไว้กับสหกรณ์ จึงเป็นการป้องกันมิให้เกิดความเสียหายขึ้นกับเงินของเรา  สหกรณ์จะต้องรับผิดชอบเงินของสมาชิก  โดยมีระบบรักษาความปลอดภัยมีระบบการเก็บรักษา  การตรวจสอบ  และควบคุมมิให้เสียหายหรือรั่วไหล   เนื่องจากสหกรณ์ก็คือ  สถาบันหนึ่งของสังคมที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล  มีการส่งเสริม  ตรวจตรา  ดูแลจากหน่วยงานของทางราชการที่มีส่วนรับผิดชอบ  ได้แก่  กรมส่งเสริมสหกรณ์  กรมตรวจบัญชีสหกรณ์  ซึ่งทั้งสองกรมสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และยังมีผู้ตรวจสอบกิจการที่เลือกมาจากที่ประชุมใหญ่ของสหกรณ์มาคอยตรวจสอบอีกทางหนึ่งด้วย

            2. ได้รับผลตอบแทน  ที่เรียกว่า  ดอกเบี้ย  เพราะถ้าไม่มีผลตอบแทนก็คงจะไม่มีประโยชน์ที่เราจะเอาเงินไปฝากสหกรณ์  เงินฝากทุกประเภทที่ฝากไว้กับสหกรณ์ก็จะได้รับดอกเบี้ยเป็นผลตอบแทนให้แก่ผู้ฝากทุกคน  ตามระเบียบว่าด้วยเงินฝากของสหกรณ์  เช่น  ดอกเบี้ยที่เกิดจากเงินฝากของทุกคนจะถูกฝากกลับทบเข้าไปเป็นเงินต้นโดยอัตโนมัติ  เป็นระบบเงินต่อเงิน  ไม่ต้องกลัวว่าฝากเงินไว้กับสหกรณ์เมื่อไม่ได้ไปติดต่อแล้วสหกรณ์จะไม่จ่ายดอกเบี้ยให้  เงินทุกบาทในบัญชีเงินฝากของสมาชิกทุกคน  สหกรณ์จะคิดดอกเบี้ยให้ทุกวันสิ้นปีทางบัญชีของสหกรณ์

            3.  ความสะดวก  สหกรณ์การเกษตรหรือสหกรณ์ออมทรัพย์เครดิตยูเนียน  ส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในท้องถิ่นภูมิลำเนาที่สมาชิกตั้งบ้านเรือนอยู่  สหกรณ์เปรียบเสมือนธนาคารของชาวชนบท    ที่จัดทำขึ้นโดยการถือหุ้นของชนบท  และตั้งขึ้นเพื่อชาวชนบท  เป็นการร่วมมือกันเพื่อให้เงินสะพัดหมุนเวียนอยู่ในหมู่บ้านของตนเอง  สมาชิกทุกคนควรร่วมมือกันฝากเงินและถอนคืนไปใช้ยามจำเป็น  ดังคำขวัญที่ว่า  "ยามมีให้ฝาก  ยามยากให้ถอน  ยามเดือดร้อนให้กู้"  ผู้ที่ทำงานในสหกรณ์ที่เรียกว่า  พนักงานสหกรณ์  ส่วนใหญ่ก็เป็นบุตรหลานของสมาชิกในละแวกนั้น  สมาชิกมักจะรู้จักมักคุ้นกันเป็นอย่างดี   การเดินทางไปถอนเงินที่สหกรณ์  มักจะได้รับความเป็นกันเองมากกว่าสถาบันการเงินที่ใหญ่ ๆ  สหกรณ์เองก็ได้วางแผนสำรองเงินไว้บริการด้านการถอนเงินของสมาชิก  มิให้เกิดความเดือดร้อน  นอกจากนี้  สหกรณ์ยังมีการเชื่อมโยงเงินฝากกับชุมนุมสหกรณ์การเกษตรระดับจังหวัด  ซึ่งเปรียบเสมือนศูนย์กลางทางการเงินของสหกรณ์การเกษตร                 เพื่อความคล่องตัวทางการเงิน  และพร้อมที่จะบริการให้สมาชิกถอนคืนเงินฝากได้เสมอ

            4.  ใช้ประกันเงินกู้  หลายท่านอาจจะสงสัยว่าเมื่อมีเงินฝากอยู่แล้วทำไมจึงต้องกู้ยืมเงินมาใช้อีก  ทำไมจึงไม่ถอนเงินฝากนั้นมาใช้   คำตอบมีอยู่ว่า  เช่น  เงินฝากที่ฝากไว้นั้นเป็นเงินฝากประจำ  มีระยะยาว  ในขณะที่ความจำเป็นต้องใช้เงินกู้นั้นเป็นความจำเป็นระยะสั้น ๆ  เราก็จะกู้เงินโดยใช้เงินฝากของตัวเองเป็นประกัน  เพราะระยะต่อมาเราสามารถหาเงินมาใช้หนี้ได้        และเราก็จะไม่เสียผลประโยชน์ที่ได้รับจากผลตอบแทนที่จะได้ก็ต่อเมื่อฝากเงินให้ครบกำหนดตามระยะเวลาที่ฝาก  การใช้เงินฝากเป็นหลักประกันผู้ให้กู้  (สหกรณ์)  เต็มใจอย่างยิ่งที่จะให้กู้    เพราะเป็นหลักประกันชั้นดียิ่งพอ ๆ กับการใช้หุ้นค้ำประกัน

            5.ได้รับความเชื่อถือ  การมีเงินฝากนั้นแสดงว่า  คุณต้องเป็นผู้ที่พอจะมีฐานะหรือมีฐานะอยู่แล้ว  ในทางกลับกันเงินฝากนั่นเอง  จะเป็นเครื่องยืนยันฐานะของเรา  เป็นการสร้างเครดิต  ความเชื่อถือให้แก่สมาชิกในสายตาของสหกรณ์  วันหนึ่งข้างหน้าหากจำเป็นต้องการกู้เงิน  หรือซื้อสินค้าเชื่อจากสหกรณ์  ก็ย่อมได้รับความเชื่อถือไว้วางใจเป็นพิเศษ  ต่างกับสมาชิกที่กู้เงินจาก สหกรณ์เพียงอย่างเดียวและสมาชิกผู้มีเงินฝากย่อมได้รับความเชื่อถือที่ดีกว่า  นอกจากนี้ การที่เอาเงินไปฝากไว้กับสหกรณ์  เราสามารถทวงถามและถอนคืนได้ทุกเมื่อ  ก็เปรียบเสมือนเราเป็นเจ้าหนี้ของสหกรณ์โดยปริยาย  เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับตนเองอีกด้วย

            6.  ได้บุญกุศลช่วยชาติบ้านเมืองและสังคม  การที่เรานำเงินไปฝากกับสหกรณ์  นอกจากจะทำให้เรามีเงินเหลือเป็นการส่วนตัวแล้ว  โดยทางอ้อมเรากำลังประกอบคุณงามความดีอันเป็นกุศลกรรมอีกทางหนึ่งด้วย  ตามปกติคนเราแม้จะมีเงินทองมากมายอย่างไรก็ตาม  ถ้าไม่มีอาชีพปล่อยเงินกู้กินดอกเบี้ยแล้วละก็  จะให้ผู้อื่นยืมเงินที่อุตส่าห์เก็บออมไปใช้นั้นเป็นเรื่องยาก         แม้จะเป็นญาติสนิทกันก็ตาม  ถ้าเงินที่จะยืมมีจำนวนมากและคนที่ยืมมีนิสัยหรือพฤติกรรมไม่น่าไว้วางใจคงไม่ให้กู้อย่างแน่นอน  แต่ถ้าเรานำเงินไปฝากกับสหกรณ์  เงินฝากนี้ก็จะถูกนำไปปล่อยเป็นสินเชื่อเพื่อการลงทุนประกอบอาชีพให้กับเพื่อนสมาชิกในสหกรณ์การเกษตรส่วนใหญ่จะถูกนำไปปล่อยให้เกษตรกรกู้ยืม  เพื่อใช้จ่ายตามความจำเป็นและบรรเทาความเดือดร้อนหรือเพื่อใช้ในการทำการเกษตร  บางส่วนถูกนำไปปล่อยเป็นสินเชื่อเพื่อการปรับปรุงที่อยู่อาศัย  ก่อสร้างเคหะสถาน  สร้างฉาง  สร้างโรงเรือนต่าง ๆ   และอื่น ๆ  อีกมากมาย  นับเป็นการสร้างสรรค์สังคม  มีส่วนร่วมในการพัฒนาชนบทของประเทศ  ผลประโยชน์นี้ตกแก่ส่วนร่วมและหมู่คณะอย่างกว้างขวาง  ช่วยเพิ่มรายได้ภายในชาติ  ยกระดับการกินอยู่ของพลเมืองให้สูงขึ้น  ช่วยชาติบ้านเมืองลดปัญหาภาระหนี้สินที่ประเทศไทยต้องเป็นหนี้ต่างชาติ  เพราะการที่คนในชาติกู้เงินจากธนาคาร  ซึ่งเงินส่วนหนึ่งเป็นเงินกู้จากประเทศเพื่อนำมาให้ประชาชนกู้ยืม  ก็เท่ากับส่งเสริมให้คนในชาติเป็นหนี้ต่างชาตินั่นเอง  วิธีการเช่นนี้ไม่มีประเทศใดในโลกเห็นว่าเป็นวิธีการที่ถูกต้อง  แต่ถ้าคนทุกคนร่วมกันฝากเงินแล้วกู้เงินของตนไปใช้  โดยผ่านการบริหารงานของสหกรณ์  ก็เท่ากับเราเป็นหนี้เงินของเราเอง  เราต้องรับผิดชอบส่งคืน  เงินทองก็ไม่รั่วไหลไปนอกประเทศ  และไม่ต้องเป็นหนี้ต่างชาติเพิ่มขึ้นอีกด้วย  ทั้งยังทำให้เงินออมเป็นพลังสำคัญทางการเงิน  เพื่อสร้างสรรค์ประเทศชาติให้มีความมั่นคงทางการเงิน

            7.  สร้างความสำนึกที่มีต่อส่วนรวม  การฝากเงินของเราไว้กับสหกรณ์  เป็นการสร้างสำนึกในการมีส่วนร่วมของเหล่าสมาชิกสหกรณ์ทุกคน  เพื่อช่วยกันเพิ่มทุนดำเนินงานให้กับ สหกรณ์  โดยไม่ต้องกู้หนี้ยืมสินจากภายนอกมาใช้  ลดการพึ่งพาบุคคลอื่นทำให้สหกรณ์สามารถยืนด้วยขาตนเอง  เป็นไปตามอุดมการณ์ที่ว่าช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  โดยการประหยัดและออม  เมื่อสมาชิกฝากเงินไว้กับสหกรณ์มาก  ก็เท่ากับสหกรณ์มีเงินทุนเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว  สหกรณ์ก็สามารถทำธุรกิจและขยายบริการได้มากขึ้น  เป็นการอำนวยประโยชน์ต่อสมาชิกได้อย่างทั่วถึง  ผลกำไรที่ได้ก็เต็มเม็ดเต็มหน่วย  ไม่ต้องหักรายได้ไปจ่ายให้กับเจ้าหน้าที่  เรากู้ยืมเงินเขามาลงทุน  ยิ่งสหกรณ์มีกำไรมากเท่าไร  ก็สามารถนำมาปรับปรุงการขยายงาน  จัดสรรเงินปันผลและเฉลี่ยคืนให้กับสมาชิกได้เต็มที่  นอกจากนี้กำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบการ  สหกรณ์ยังสามารถจัดสรรเป็นทุนสาธารณประโยชน์  สนับสนุนสวัสดิการให้แก่มวลสมาชิก  บุคคลในครอบครัว  ตลอดจนช่วยเหลือชุมชนที่สหกรณ์ตั้งอยู่ได้มีความมั่นคง  สหกรณ์เข้มแข็ง  ย่อมเกิดความศรัทธาจากบุคคลอื่นหรือสถาบันต่าง ๆ ที่ได้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจอย่างเหนียวแน่นของมวลสมาชิกสหกรณ์ที่เสียสละเก็บเงินออมเงินแล้วนำไปฝากไว้กับกลุ่ม  กลุ่มนำไปฝากกับสหกรณ์  สหกรณ์นำไปฝากกับชุมนุมสหกรณ์  จึงเป็นการสนับสนุนด้านเงินทุนให้กับ        ขบวนการสหกรณ์อย่างแท้จริง

หมายเลขบันทึก: 432107เขียนเมื่อ 21 มีนาคม 2011 17:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณครับคุณ - ประสิทธิ์ - หนูกุ้ง. ที่ให้กำลังใจ โครงการสัจจะนี้ผมร่วมกับสหกรณ์การเกษตรนาหม่อม ส่งเสริมให้พี่น้องเกษตรกรนำเงินมาฝากตั้งแต่ปี พ.ศ.2529 ปัจจุบันนี้เขาก็ยังทำกิจกรรมนี้กันอยู่ครับ เท่าที่ทราบตัวเลขเงินฝากทั้งหมดประมาณ 900 กว่าล้านบาท

เดิมสหกรณ์นี้มีทุนดำเนินงานประมาณ แสนกว่าบาท ปัจจุบันนี้มีทุนดำเนินงานทั้งสิ้นประมาณ 1,000 กว่าล้านบาท

  • สวัสดีครับ คุณลงIco48
  • แวะมาทักทาย และให้กำลังใจครับผม
  • และรับรู้ รับฟัง ได้อ่านเรื่องราวดีๆ ที่มีประโยชน์ ครับผม

ขอบคุณมากครับ คุณฐานิศวร์

ถ้าหากคนไทยใช้เศรษฐกิจแบบสหกรณ์เป็น และเข้าใจหลักการวิธีการอย่างถูกต้องสังคมไทยคาดว่าน่าจะดีว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท