แตงไทย
นฤมล ชื่อเล่น "แตงไทย" (สำหรับครอบครัว), "แตงอ่อน" (สำหรับเพื่อนๆ), "I tang" (สำหรับพี่ๆ ทั้งหลาย) จันทรศรี

ครูมือใหม่ หัวใจออกเดิน by หมอดุล(ธำรุงดล)



เว็บศูนย์รวม "โยคะสารัตถะ


ครูมือใหม่ หัวใจออกเดิน

รายงานโดย หมอดุล(ธำรงดุล)
คอลัมน์ ; จดหมายจากเพื่อนครู
โยคะสารัตถะ ตุลาคม ๒๕๕๒

ถึงเพื่อนๆครูทุกคน

นานแล้วนะที่ไม่ได้เมล์หาเพื่อนๆ เลย มัวยุ่งๆ หลายอย่าง หลายเดือนก่อนผมได้เล่าถึง (กาย) กรรมโยคะที่ได้สัมผัสมา คราวนี้ผมได้รับประสบการณ์ใหม่จากการไปนำสอนครั้งแรกในชีวิตของผม หลังจากแอบ'เมนต์ และเมาท์ชาวบ้านมามิใช่น้อย ตอนนี้ก็ถึงคราวที่ดาบนั้นได้คืนสนองแบบเต็มๆ

ย้อนเหตุการณ์ไปเมื่อปลายเดือนสิงหาคม มีเสียงโทรศัพท์ดังแทรกขึ้นมาขณะนั่งทำงานอยู่

"ฮัลโหล.. พี่ปุ๋มจากสถาบันโยคะวิชาการนะคะ" เสียงครูปุ๋มผู้ส่งออกครูโยคะทั่วราชอาณาจักรดังแว่วมาในสาย "หมอดุลเคยได้ยินงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ที่เมืองทองฯ ไหมคะ"

"ก็เคยได้ยินมาบ้างครับ" ผมตอบเธอไป

"สถาบันฯ เรามีการจัดอบรมโยคะอาสนะให้ผู้เข้างานที่สนใจ ซึ่งพี่ก็อยากชวนหมอให้ไปสอนโยคะในวันเสาร์ที่ 5 กันยา นี้อ่ะค่ะ"

'งานเข้า!' แล้วครับพี่น้อง ผมคิดในใจ หลังจากสอบถามรายละเอียดของงานจนพอเข้าใจภาพคร่าวๆ แล้ว ผมไม่กล้าที่จะตอบปฏิเสธ ใจหนึ่งก็รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติมากที่ทางสถาบันให้ความไว้วางใจเอาชื่อเสียงมาฝากไว้กับมือใหม่หัดสอนอย่างผม แต่ยิ่งกว่าคือความกลัวระคนกังวลใจว่าจะนำพาผู้เรียนไปได้อย่างไร เอาวะ ..สู้! (โว้ย)

จากนั้นสมองผมก็เริ่มทำงานไม่หยุดยั้ง โจทย์ที่ได้รับคือ "โยคะเพื่อสุขภาพองค์รวม" ซึ่งผมตีความแล้วว่าสิ่งที่จะนำเสนอคงไม่ใช่แค่อาสนะ แต่เราจะใช้กุศโลบายอันใดที่จะทำให้คนเห็นความสำคัญของการดูแลสุขภาพด้วยวิถีโยคะอย่างเป็นองค์รวม

แว้บแรกที่ปิ๊งขึ้นมาในสมองก็คือ ผมต้องมีตัวช่วย ก็คือ PowerPoint presentation ซึ่งพอจะ"ขาย" (ผ้าเอาหน้ารอด) ไปได้ ถึงแม้ว่าประสบการณ์การนำอาสนะต่อหน้าผู้คนจะเป็นศูนย์ และการนำเสนอแบบอื่นๆ เช่น นำเกม หรือเดี่ยวไมโครโฟนนั้นลืมไปได้เลย ผมไม่น่าสนใจขนาดนั้น แต่สไลด์โชว์ชวนคิดเรื่องการดูแลสุขภาพนี่แหละที่จะดึงความสนใจคนได้ คิดเล่นๆว่าจะกระหน่ำeffectให้อลังการ กะว่าให้มึนๆก่อนเริ่มนำฝึก เพื่อสอนผิดจะได้ไม่มีใครจับได้ อิอิ :-P

แต่ที่ยากในความคิดผมคือ การนำให้ทุกคนฝึกอาสนะได้อย่างเข้าใจ พร้อมเพรียง และราบรื่นตลอด 2 ชั่วโมง เพราะผู้เข้าร่วมงานนั้นหลากหลายทั้ง อายุ อาชีพ และประสบการณ์ต่อโยคะที่ต่างกัน เราไม่สามารถคาดการณ์อะไรได้เลย คนแรกที่ผมนึกถึงคือครูหนู (ชมชื่น สิทธิเวช) ซึ่งผมได้เรียนโยคาสนะกับท่านมานานหลายปี โดยไม่รอช้าหลังทราบเรื่องผมรีบโทรศัพท์ปรึกษาท่านทันที แม้ว่าจะเป็นศิษย์ที่ขาดความสม่ำเสมอในการเรียนไปบ้าง แต่ท่านก็ให้ความเมตตาให้คำแนะนำอย่างใส่ใจละเอียดทุกขั้นตอน

เสาร์ที่ 5 กันยายน 2552 ณ อิมแพค เมืองทองธานี .. It's showtime !!

ผมไปถึงก่อนเวลาเกือบชั่วโมงเพื่อตระเตรียมต่างๆ จากนั้นผู้คนเริ่มทยอยกันเข้ามา มีตั้งแต่น้องเด็กแนว วัยดงบังชิงกิ ยันคุณปู่รุ่นสุนทราภรณ์ รวมแล้วกว่า 50 คน

หลังจากทักทายสร้างความสัมพันธ์กันเล็กน้อยแล้ว ก็ได้เวลาของพรีเซนเทชันที่ภูมิใจนำเสนอ ผมเปิดสไลด์แรกด้วยคลิป MV Nobody ของ 5 สาว Wonder Girl เพื่อชี้ให้เห็นว่าการที่โชว์นี้ดูสมบูรณ์เพราะทุกคนสามารถเต้นได้พร้อมเพรียงกัน แต่ถ้ามีใครสักคนเต้นผิดคิวไปล่ะ โชว์ก็คงจะไม่สมบูรณ์แล้ว ร่างกายของเราก็เหมือนกัน การที่เราดำรงชีวิตอย่างปกติได้เพราะทุกระบบในร่างกายสามารถทำงานได้อย่างสอดประสานกลมกลืนกันอย่างสมดุล ถ้าระบบใดหรือ ส่วนใดส่วนหนึ่งทำงานผิดปกติไปก็ย่อมส่งผลกระทบต่อส่วนอื่นอย่างเป็นองค์รวม โดยแบ่งง่ายๆเป็น 4 ส่วน (4 อ.) คือ อาหาร อากาศ (ลมหายใจ) อารมณ์ และ อิริยาบถ แล้วจึงเชื่อมโยงให้เห็นว่าโยคะเข้ามาดูแลในส่วน อาหาร ด้วยมิตหาระ และอีก 3 ส่วนที่เหลือด้วยการเรียนรู้ กาย จากอาสนะ เรียนรู้การหายใจซึ่งเป็นเหมือนสะพานเชื่อมให้เราเดินทางสู่ภายในจิตใจของตนเอง นำไปสู่การหลอมรวมกายและจิตให้ทำงานสอดประสานกลมกลืนกันซึ่งก็คือความหมายที่แท้จริงของโยคะ

แล้วจึงนำฝึก เริ่มจากฝึกหายใจและบริหารข้อต่อส่วนต่างๆแล้ว เริ่มให้ผู้เรียนดูสาธิตอาสนะหมวดนอนหงาย (ท่าศพ และคันไถครึ่งตัว) เมื่อทำตามแล้วก็ให้ลุกนั่งดูสาธิตท่าคีม(ยืดหลัง) แล้วทำตาม ขณะยังนั่งอยู่ก็ดูสาธิตท่าหมวดนอนคว่ำ (ท่าจระเข้, ท่างู และท่าตั๊กแตน) แล้วจึงลงนอนทำตาม จากนั้นลุกนั่งดูสาธิตและทำท่าหัวถึงเข่า ตามด้วยท่าบิดสันหลัง ท่านั่งเพชร และโยคะมุทรา แล้วจึงทำท่าหมวดยืน (ท่าภูเขา และท่ากงล้อ) ปิดท้ายด้วยการนอนพักในท่าศพและการผ่อนคลายอย่างลึก ทั้งหมดนี้ครูหนูได้ช่วยดีไซน์เรียงร้อยลำดับการฝึกอาสนะทั้ง 14 ท่าให้ใหม่ เพื่อให้เกิดการเตรียมพร้อมของกล้ามเนื้อในอิริยาบถต่างๆอย่างสมดุล และจากตรงนั้นทำให้ผมสามารถแก้ปัญหาเรื่องการให้ผู้เรียนดูแบบสาธิตได้ด้วย ช่วงท้ายก็เปิดโอกาสให้ซักถาม ซึ่งผู้เข้าร่วมฟังหลายคนก็ถามอย่างสนอกสนใจ ทำเอาคนสอนปลื้มไป

ผมนึกถึงคำพูดของครูสมัยมัธยมที่ท่านเขียนไว้ในสมุดบันทึกให้ผมว่า "ผู้ให้ย่อมขอบคุณผู้รับ จงเป็นผู้ให้และผู้รับที่ดี" หลังการเรียนรู้ในวันนั้นในมุมหนึ่งผมมีความอิ่มเอมใจที่ได้แบ่งปันสิ่งที่เรารักให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่น อีกด้านหนึ่งซึ่งมากกว่าผมได้รับสิ่งดีๆมากมาย นอกจากการสนองตอบของผู้เรียนแล้ว ผมยังได้พบกัลยาณมิตรร่วมเส้นทางที่ช่วยให้งานในวันนั้นผ่านพ้นไปด้วยดี ผมได้รับน้ำใจจากพี่เอ้ (ครูจีระพร) ซึ่งเมล์มาอาสาเป็นแบบให้ ในขณะที่ผมกำลังกังวลใจว่าจะหาใครมาเป็นแบบได้, ครูพรพรรณ ที่มานิเทศการสอน ดูแลแผนการสอนตั้งแต่เป็นร่างจนเป็นรูปเป็นร่าง, พี่เละ (ธีรเดช อุทัยวิทยารัตน์,ท่านสะดวกให้เรียกพี่มากกว่าครู) ที่เปิดมุมมองต่ออาสนะให้ผม คม ชัด และลึกขึ้น, และสถาบันโยคะวิชาการที่ไว้วางใจ มอบโอกาสดีๆ และเวทีให้วาดลีลา และที่สุดคือครูหนู (ชมชื่น สิทธิเวช) 'ครู'โยคะคนแรกในชีวิตผม ทำให้ผมรู้จักและรักโยคะ ทำให้ผมรู้ถึงสัมผัสที่แตกต่างของ คำว่า "ครู" และผู้นำสอน

ผมได้เรียนรู้อะไรมากมายจากการสอนในวันนั้น สำหรับผม คำว่า ครู คงเป็นหนทางอีกยาวไกลที่จะกลั่นตัวเองให้เป็นเช่นนั้นได้ ผมอาจเป็นเพียงฝุ่นทรายเล็กๆ บนทางสายนี้ที่ต้องอาศัยวันเวลาหล่อหลอมให้เป็นเครื่องแก้วเจียระไนขึ้นสักวัน แต่ความอิ่มเอมใจในวันนั้นเป็นเหมือนพลังให้หัวใจผมก้าวเดินต่อไปอย่าง สถิระ และสุขะ ตามวิถีแห่งโยคะ

ปล. ผมนำค่าวิทยากรที่ได้รับทั้งหมดไปทำบุญกับมูลนิธิเด็กและมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ในนามเพื่อนครูในรุ่นครับ 

 


    
มูลนิธิหมอชาวบ้าน

2220/101 ซอยรามคำแหง 36/1 ถนนรามคำแหง แขวงหัวหมาก เขต บางกะปิ กรุงเทพฯ 10240
โทรศัพท์ 02-732-2016 - 17, โทรสาร 02-732-2811 มือถือ 081-401-7744
E-mail: [email protected] ; www.thaiyogainstitute.com

หมายเลขบันทึก: 432021เขียนเมื่อ 21 มีนาคม 2011 00:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:42 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท