อุบัติภัยแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่น ที่มาของทฤษฎี 2S


ติดตามอ่านบทความย้อนหลังได้ที่

http://www.naewna.com/allnews.asp?ID=97&HL=0&no=1

 

อุบัติภัยแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่น ที่มาของทฤษฎี 2S (บทเรียนจากความจริง กับดร.จีระ)

 
ผมขอแสดงความเสียใจต่อประชาชนชาวญี่ปุ่นอย่างสุดซึ้ง

เวลาผ่านไปไม่ถึงสัปดาห์ เหตุการณ์สึนามิกระทบประเทศญี่ปุ่นอย่างรุนแรง สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินมากมาย ยิ่งเวลาผ่านไปก็พบเห็นความเสียหายยังไม่หยุด

ขณะนี้มีผู้เสียชีวิตจำนวนหลักหมื่นแล้ว ยังมีปัญหาระยะยาวให้แก่คนญี่ปุ่นและประเทศใกล้เคียง เพราะโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดแล้วกว่า 4 แห่ง อาจจะเกิดอันตรายในสารกัมมันตรังสีส่งผลกระทบต่อมนุษย์ ดูเหมือนว่าภัยจากการรั่วของสารกัมมันตรังสีจะมีมากขึ้นและกระทบต่อชาติอื่นๆ ข้างเคียงด้วย

บทเรียนครั้งนี้มีความสำคัญต่อทรัพยากรมนุษย์ของญี่ปุ่นและของโลกอย่างกว้างขวางในมิติใหม่ๆซึ่งผมขอเรียกว่า ทฤษฎี 2S

S ตัวแรกคือ Safety เรื่อง มนุษย์กับความปลอดภัยมีความสำคัญมากขึ้น แต่ก่อนไม่ค่อยมีคนสนใจในด้านทรัพยากรมนุษย์กับความปลอดภัยมากนัก แต่ภัยพิบัติเกิดขึ้นในโลกตลอดเวลา มนุษย์ต้องให้ความสนใจเรื่องความปลอดภัยมากขึ้นและหาวิธีจัดการป้องกัน

มนุษย์จะมีคุณค่าได้ต้องลงทุนใช้ทรัพยากรมากมาย แต่ถ้าขาดความปลอดภัยเกิดการบาดเจ็บล้มตายก่อนเวลาอันควรก็เป็นการสูญเสียทรัพยากรอย่างไร้คุณค่า

เหตุการณ์เมื่อ 11 กันยายน ตึกถล่มในอเมริกา รัฐบาลสหรัฐฯหันมาสนใจ เรื่องความปลอดภัยสำหรับคนอเมริกาก็เป็นตัวอย่างที่เรียนรู้ เรื่องความปลอดภัย

คำว่า Safety ปลอดภัยอาจจะถูกมองได้ 2 แนว

* แนวคิดแรกก็คือ ความไม่ปลอดภัยเรื่องภัยธรรมชาติที่มนุษย์อาจจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น แผ่นดินไหว

* แต่ความไม่ปลอดภัยที่เกิดขึ้นจากน้ำมือของมนุษย์ เช่น ไฟไหม้ หรืออุบัติเหตุทางรถยนต์หรือสาเหตุอื่นๆ

* มีนักวิชาการบางคนบอกว่า มนุษย์นี่แหละเป็นบ่อเกิดแห่งความไม่ปลอดภัยเพราะเอาเปรียบธรรมชาติใช้อย่างไม่ระวัง

การขุดเจาะน้ำมัน ขุดเจาะน้ำบาดาล ทำให้แกนของโลกอาจจะเอียงไปบ้าง อาจจะเป็นที่มาของแผ่นดินไหวขึ้นมาได้





ภาพบรรยากาศ เหตุการณ์แผ่นดินไหว
จากสึนามิและเหตุการณ์การสูญเสียที่ประเทศญี่ปุ่น


การเกิดภาวะโลกร้อน เป็นฝีมือของมนุษย์ที่สร้างความเจริญให้แก่โลก แต่ในที่สุดก็ทำลายโลก โดยปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นในอากาศ

มีหลายคนมองว่า ความไม่ปลอดภัย อาจจะมาจากสิ่งที่เป็นนามธรรม เช่น ความมั่นคงของมนุษย์ (Human Safety) ความมั่นคงของอาหาร (Food Safety) หรือความยากจนก็เป็นความไม่มั่นคงที่เป็นอันตรายต่อมนุษยชาติ ความเหลื่อมล้ำในสังคมและโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นก็เป็นอันตรายกับมนุษย์

สิ่งแรกที่กระทบประเทศไทยและโลกคือ อันตรายจากพลังงานนิวเคลียร์

ดังนั้นในทางวิชาการ น่าจะมีการวิเคราะห์อย่างจริงจังและทำวิจัยเรื่อง มนุษย์กับความปลอดภัยในหลายๆมิติ

ประเทศไทยมีนโยบายที่จะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในอนาคต เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้การยอมรับพลังงานนิวเคลียร์ลดลงไปอย่างมาก

คำถามก็คือ นโยบายการจัดหาพลังงานให้พอเพียงระยะยาวของประเทศไทยในอนาคตจะเป็นอย่างไร?

ช่วงนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์จัดการประชุมประจำปี เรื่อง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (NAC 2011) เพื่อรองรับภัยธรรมชาติหรืออุบัติภัย เป็นเรื่องที่น่าจะนำเสนอให้ผู้อ่านได้รู้ว่าขณะนี้มีเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์จะช่วยลดอุบัติภัยได้

ผมมีโอกาสได้ไปร่วมงานแถลงข่าวงานวิชาการดังกล่าว เมื่อเร็วๆนี้ เป็นเรื่องที่น่าสนใจ

ในงานนี้มีอุปกรณ์ซึ่งคิดโดยคนไทย เป็นนวัตกรรมที่จะช่วยคนจากตึกสูงหรือในบ้านและในโรงงาน รอดจากการสำลักควันไฟ ซึ่งเป็นนวัตกรรมคิดค้นโดย คุณลำเพาพรรณ ลีรพันธุ์และคุณนพมาศศิริ ดำรัสธรรม

อุบัติภัยโดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็เป็นการสร้างธุรกิจใหม่ให้เกิดขึ้นได้นอกจากจะป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น

เหตุการณ์ครั้งนี้ น่าจะกระตุ้นให้คนไทยสร้างความเข้าใจ เรื่องความปลอดภัย (Safety) มากขึ้น

บทเรียนแผ่นดินไหวในญี่ปุ่นครั้งนี้ น่าจะสอนให้คนไทยมองการอยู่รอดระยะยาวอย่างยั่งยืน Sustainability

สิ่งแรก คือมนุษย์ต้องอยู่กับธรรมชาติอย่างสมดุล การพัฒนาเศรษฐกิจต้องสอดคล้องกับสิ่งแวดล้อม การเดินสายกลางเป็นวิธีหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงทำเป็นตัวอย่างต่อมนุษย์ในโลกในเรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง

บรรยากาศ งานแถลงข่าวการประชุมวิชาการประจำปี สวทช.(NAC 2011) "วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ" ณ ห้องโถง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถ.พระรามที่ 6 แถลงข่าวโดย ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี"และ ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล "ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ" และมีอุปกรณ์ซึ่งคิดโดยคนไทย จาก คุณลำเพาพรรณ ลีรพันธุ์และคุณนพมาศศิริ ดำรัสธรรม



สอง เป็นบทเรียนให้ชีวิตคนในโลก จัดการกับความไม่แน่นอน (Uncertainty) และจัดการกับสิ่งที่คาดคะเนไม่ได้ (Unpredictability)

ทำให้นึกถึงคำพูดที่ว่า มีชีวิตอยู่อีก 1 วันในโลกนี้ก็ถือว่าเป็นกำไรของชีวิต

การเดินทางสายกลาง และขณะที่มีชีวิตอยู่ก็ทำประโยชน์ต่อส่วนรวม ยังมีหลายคนในประเทศไทย โดยเฉพาะนักการเมือง ก็ยังไม่ค้นหาตัวเองว่าเกิดมาเพื่ออะไร บางคนยังโลภโดยไม่มีความสิ้นสุด

หวังว่าบทเรียนจากเหตุการณ์เหล่านี้จะเตือนสติชาวไทยและชาวโลกได้

สำหรับคนญี่ปุ่น ประสบการณ์จากภัยธรรมชาติและภัยสงครามที่อเมริกาถล่มด้วยปรมาณูในสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ฮิโรชิม่าและนางาซากิ ได้พิสูจน์ว่าคนญี่ปุ่นมี ทัศนคติ (Altitude) วิธีการมองโลกที่ดี ยั่งยืน คืออดทนและแข็งแกร่งไม่ยอมแพ้

เหตุการณ์รุนแรงครั้งนี้ คนญี่ปุ่นคงไม่ท้อแท้ พร้อมที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้ ก้าวไปข้างหน้าอย่างอดทนและเข้มแข็ง เมื่อแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 กลับมาร่ำรวยทางเศรษฐกิจ ตัวอย่างแบบนี้ เป็นการมองความยั่งยืน ที่น่าจะเป็นตัวอย่างให้คนไทยทั่วๆไป

ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์
เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ
[email protected]
www.gotoknow.org/blog/chiraacademy
แฟกซ์0-2273-0181
หมายเลขบันทึก: 431944เขียนเมื่อ 20 มีนาคม 2011 13:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:39 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท