บันทึกปาฐกถา "ปฏิรูปประเทศไทย ปฏิรูปจิตสำนึก" โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี


ขอให้ทุกคนมีความสุขในชีวิตและการทำงาน ทำประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ให้มากขึ้น รวมตัวกันสร้างประเทศไทยที่น่าอยู่ที่สุดในโลก

ปฎิรูปประเทศไทย ปฏิรูปจิตสำนึก

ศ.นพ.ประเวศ วะสี

(ปาฐกถาปิดประชุม HA National Forum ครั้งที่ 12 วันที่ 18 มีนาคม 2554)

download proceedings

เพื่อนคนไทยที่มีหัวใจ HA ทุกท่านครับ HA หรือการพัฒนาคุณภาพเป็นการเข้าถึงสิ่งสูงสุด คือความดี ความงาม ความถูกต้อง  และในความเป็นมนุษย์นั้นต้องสามารถเข้าถึงสิ่งสูงสุด เพราะมนุษย์ต่างจากสัตว์ที่มีจิตใจเบื้องสูงที่สามารถเข้าถึงสิ่งสูงสุด แล้วธรรมชาติสร้างมนุษย์มาว่าต้องเข้าถึงสิ่งสูงสุดจึงจะมีความสุขในตัวเอง

การทำงาน HA พัฒนาคุณภาพ คุณภาวะ ภาวะที่เป็นคุณ หมายถึงความดีความงาม ความถูกต้อง จึงเป็นเครื่องมือที่พัฒนาความเป็นมนุษย์ในตัวเราเอง เมื่อทำไปเราจะมีความสุขมากขึ้นๆ

ปีนี้ดูคุณหมออนุวัฒน์มีความสุขมากขึ้น แปลว่า HA ดำเนินไปถูกต้อง ไปสู่ความดี ความงาม ความถูกต้อง แล้วจะเกิดความสุขขึ้นทุกคน  ขบวนการ HA จึงใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ภายใน 12 ปี คนอยากจะมาประชุมเกือบหมื่นคนหรืออาจจะกว่า เป็นที่น่าดีใจว่าคนไทยเราสนใจเรื่องคุณภาพ เป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องความเป็นมนุษย์ เป็นเรื่องความรับผิดชอบ  ขอแสดงความยินดีกับผู้ทำงาน HA และประชาคม HA ทุกๆ ท่าน

ปฏิรูปประเทศไทย

วันนี้ทางผู้จัดประชุมกำหนดให้มาพูดเรื่อง “ปฏิรูปประเทศไทย ปฏิรูปจิตสำนึก”

ถ้าเรามาดูเรื่องปฏิรูปประเทศไทยที่กำลังเคลื่อนไหวกันอยู่ว่ามันเกิดขึ้นเพราะอะไร  กระบวนการปฏิรูปประเทศไทยเป็นกระบวนการแก้ทุกข์ของชาติที่วิธีการอื่นๆ ที่ทำมาแก้ไม่ได้  ประเทศไทยพยายามพัฒนาเพื่อหาจุดลงตัวมาประมาณร้อยปีที่ผ่านมา ตั้งแต่รัชกาลที่ห้าเป็นต้นมา  ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์ก็เห็นผู้คน บรรพบุรุษของเรา จนมาบัดนี้พยายามแก้ไขปัญหาพัฒนาต่างๆ ร้อยแปด เพื่อจะหาจุดลงตัวที่คนไทยจะอยู่ร่วมกันด้วยความสุข แต่ทำไม่ได้

สังคมไทยมีความขัดแย้งมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงจุดปริ่มจะเกิดมิคสัญญีกลียุคขึ้น  ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เราต้องมาทบทวนดูว่าปัญหาพื้นฐานของสังคมไทยคืออะไร  ปัญหาพื้นฐานคือการที่คนส่วนน้อยเอาเปรียบหรือได้เปรียบคนส่วนใหญ่ ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมและเกิดความเหลื่อมล้ำที่มากเกิน  ในฐานะเป็นมนุษย์ด้วยกัน จะอยู่ร่วมกันต้องมีความเป็นธรรม ถ้าขาดความเป็นธรรมแล้วคนจะไม่รักกัน จะเกิดความขัดแย้ง เกิดความรุนแรง  แต่ถ้าสังคมมีความเป็นธรรม คนจะรักกันมาก และรักชาติ รักส่วนรวม  ปัญหาพื้นฐานของเราคือการขาดความเป็นธรรมและมีความเหลื่อมล้ำมากเกิน

คนยากคนจนคนเล็กคนน้อยมีความยากลำบากในการดำรงชีพ ในการมีชีวิตอยู่ ทั้งๆ ที่เรามีทรัพยากรเหลือเฟือพอที่ทุกคนจะอยู่ร่วมกันด้วยความสุข ทรัพยากรเรามีมากมาย เรามากกว่าสิงคโปร์ สวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์ก แล้วทำไมเราไม่สามารถจัดการให้มีการอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นธรรม มีการใช้ทรัพยากรอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน

ที่เราแก้ไขปัญหาไม่ได้เพราะสาเหตุของปัญหาเป็นสาเหตุเชิงระบบและโครงสร้างที่ฝังลึกและยากต่อการเข้าใจ โดยเฉพาะคนไทยเวลามีอะไรก็จะนึกถึงเรื่องจิตใจโดดๆ เป็นเรื่องของบุคคล กรรมดี กรรมชั่ว จะไม่ค่อยมีความคิดเรื่องโครงสร้าง จึงมองไม่เห็นโครงสร้างที่ฝังลึกที่นำมาสู่ความไม่เป็นธรรม 

กระบวนการปฏิรูปเป็นกระบวนการที่พยายามหาความจริงสี่ประการ คือ (1) ความจริงในเรื่องทุกข์ ประชาชนมีความทุกข์ยากอะไร (2) หาสมุทัยเชิงโครงสร้าง ตรงนี้มีการทำงานเชิงวิชาการอย่างเข้มข้น ซึ่งเราขาดการทำงานเชิงวิชาการ เพราะระบบโครงสร้างมีความซับซ้อน ประชาชนก็ไม่เข้าใจความซับซ้อน เมื่อไม่เข้าใจก็ไม่สามารถจับต้องหรือผลักดันมันได้  นักวิชาการมีหน้าที่ไปคลี่ความซับซ้อนออกมาให้ประชาชนเห็น เข้าใจได้ง่าย จะได้จับต้องและขับเคลื่อนมันได้ ตรงนี้ต้องมีการทำงานวิชาการอย่างเข้มข้นซึ่งขณะนี้ที่ผ่านมาก็ยังไม่พอ  ถ้าเรารู้สมุทัยเราก็ไปสู่ (3) นิโรธ และ (4) มรรค

ความที่โครงสร้างที่ซ้บซ้อนเหล่านี้มันเข้าใจยากและเป็นเรื่องของผลประโยชน์ที่ขบกันอยู่ จึงไม่มีรัฐบาลใดที่จะแก้ไขได้ทั้งในอดีตปัจจุบันและอนาคต เพราะว่าการเมืองก็เป็นส่วนหนึ่งของผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกันอยู่  ตรงนี้ต้องอาศัยอำนาจที่สาม  อำนาจดั้งเดิมจะเป็นอำนาจรัฐ (รัฏฐานุภาพ) ต่อมาจะเป็นอำนาจเงิน (ธนานุภาพ) ก็ไม่ลงตัวทั้งอำนาจรัฐและอำนาจเงิน ต้องต่อไปอีกเป็นอำนาจสังคม (สังคมานุภาพ) ผมพูดสังคมานุภาพมาสิบปีแต่ไม่ติดตลาด อำนาจทางสังคมเป็นการรวมตัวของประชาชน ถ้าอยู่โดดๆ ก็ไม่มีพลัง ต้องรวมตัวกัน รวมตัวเป็นสังคม เกิดอำนาจทางสังคม แค่นั้นก็ไม่พอ ต้องติดอาวุธด้วยปัญญา ต้องใช้ข้อมูล ใช้ความรู้ ใช้การวิเคราะห์สังเคราะห์ออกมาเป็นนโยบาย ต้องทำตรงนี้ให้ได้ไม่อย่างนั้นจะไม่สามารถแก้ทุกข์ได้  แล้วต้องใช้สันติวิธี

ถ้ากระบวนการประชาชนเป็นพลังทางสังคม พลังทางปัญญา และพลังทางสันติวิธี ก็จะมีความชอบธรรมมาก ไม่มีใครมาปราบได้  ถ้าเราใช้ความรุนแรงก็จะเกิดการปราบปรามขึ้น ไปไม่ได้ไกล  แต่ถ้าใช้แบบนี้พลังจะมากขึ้นเรื่อย คนจะร่วมมากขึ้นเรื่อย บอกว่าอันนี้ดี เป็นพลังทางศีลธรรม พลังทางสังคม พลังทางปัญญา พลังทางสันติวิธี คนก็จะเข้าร่วมมากขึ้นเรื่อย ทำให้ตรงนี้เกิดพลังมหาศาลที่จะแก้ปัญหายากๆ

โครงสร้างแห่งความไม่เป็นธรรม

 

ลองดูโครงสร้างแห่งความไม่เป็นธรรม  คนไทยเหมือนไก่อยู่ในเข่ง เข่งเป็นโครงสร้างที่บีบคนไทยไว้ให้กระทบกัน เหมือนไก่อยู่ในเข่ง ไก่ก็จะจิกตีกัน จิกตีกันอย่างไรก็รอเขาเอาไปเชือดตายหมดทุกตัว แล้วออกจากเข่งไม่ได้  พอพูดทีไรคนก็เอาไปทำเป็นเรื่องตลกทุกที  มาดูว่าเข่งเป็นอย่างไร ไก่ในเข่งจิกตีกันจนตายก็แก้ปัญหาไม่ได้  จริงๆ ควรจะหยุดจิกตีกันแล้วทำความเข้าใจว่าเข่งมันคืออะไร แล้วทำอย่างไรจะออกจากเข่งได้ ไม่อย่างนั้นก็จะกระทบกัน ขัดแย้งกัน

 

1.จิตสำนึกที่ขาดความเป็นธรรม

จิตสำนึกที่ขาดความเป็นธรรมเหมือนฝาเข่ง เพราะเราโตมาในสังคมที่ขาดความเป็นธรรม เราไม่รู้ตัว มันจะหล่อหลอมให้เราขาดจิตสำนึกแห่งความเป็นธรรม  ตรงนี้นำไปสู่เรื่องต่างๆ สารพัด  มันไม่เป็นธรรมเราก็ไม่รู้ว่ามันไม่เป็นธรรม  ที่จริงถ้าเราเอาเรื่องความไม่เป็นธรรมมาจับจะเห็นทุกเรื่อง แม้แต่เรื่องสาธารณสุขซึ่งเราว่าดีแล้ว มีโครงสร้างเยอะ ทำอะไรเยอะ แต่ถ้าเอาความเป็นธรรมจับก็จะเห็นว่าลูกคนจนตายมากกว่าลูกคนรวยสามเท่า คนจนยังต้องล้มตายจากสิ่งต่างๆ ที่ไม่ควรตายเยอะแยะ ขาดความเป็นธรรมทุกเรื่องถ้าเอาเรื่องนี้เข้าจับ  ไปดูสถิติการตาย สถาบันวิจัยประชากรปีหนึ่งจัดประชุมเรื่องการตาย เขาก็มีตัวเลขต่างๆ ก็บอกว่าทำไมไม่เอาความเป็นธรรมจับดูจะได้เห็นอะไรแล้วต่อไปเป็นนโยบาย ถ้าเราบรรยายไปเรื่อยๆ เราก็จะไม่รู้ว่าเราจะทำอะไรกันต่อไป 

อันที่หนึ่งนี้เป็นตัวที่ลึกที่สุดว่าเราโตมาในสังคมที่ขาดความเป็นธรรม แล้วก็ไม่มีจิตสำนึกของความเป็นธรรม ตัวจิตสำนึกเป็นที่ไปของสิ่งทั้งปวง ถ้าจิตสำนึกขาดความเป็นธรรมแล้วสิ่งที่ตามมาก็เป็นแถวไปเลย

2. โครงสร้างสังคมทางดิ่ง

โครงสร้างสังคมทางดิ่ง (vertical society) หมายถึงความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน คนที่มีอำนาจข้างบนกับคนที่ไม่มีอำนาจข้างล่างสัมพันธ์กันด้วยอำนาจ  ถ้าสังคมทางราบแปลว่าทุกคนมีความเสมอภาค มีเกียรติเท่ากัน สามารถมารวมตัวร่วมคิดร่วมทำ  ถ้าเป็นทางดิ่งมันรวมตัวไม่ได้ มันรวมศูนย์อำนาจ อย่างกรมรวมอำนาจไปอยู่ที่อธิบดี

สังคมใดเป็นสังคมทางดิ่งอย่างเช่นประเทศไทย เศรษฐกิจจะไม่ดี การเมืองจะไม่ดี และศีลธรรมจะไม่ดี ทำอย่างไรก็ไม่ดี ต่อให้เคร่งศาสนาก็ไม่ดีถ้าโครงสร้างยังเป็นแนวดิ่ง  ตรงนี้จะช่วยอธิบายทำไมเมืองไทยเป็นเมืองพุทธ พุทธศาสนาก็เป็นของดีแต่มีความเสื่อมเสียศีลธรรมเต็มไปหมดทั้งประเทศ ผมถามคำถามนี้มาตั้งแต่หนุ่มๆ แล้ว  ถ้าเราเข้าใจเรื่องโครงสร้างจะช่วยอธิบายตรงนี้ 

พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่นิยมทางราบ ความเสมอภาค พระพุทธเจ้าท่านเป็นเจ้าท่านก็เลิกเป็น มาเป็นคนขอทาน ภิกขุ เป็นผู้ขอ  เจ้าชายอะไรเยอะแยะรวมทั้งพระอานนท์ก็ลาออกจากฐานันดรศักดิ์มาเป็นชาวบ้าน เป็นผู้ขอข้าวชาวบ้านกิน  คำว่า “สังฆะ” แปลว่าชุมชน ชุมชนผู้เรียนรู้ เป็นการรวมตัวทางราบ  แต่เมื่อพุทธศาสนาเข้ามาสู่สังคมไทยซึ่งเป็นสังคมทางดิ่ง สังคมไทยก็ครอบงำทางราบของพุทธศาสนา  ถึงเป็นเมืองพุทธ พุทธศาสนาเป็นของดี ให้ศีลทุกวัน วันละหลายหมื่นเที่ยวทั่วประเทศ  แต่คนก็ทำผิดศีลหมดทุกข้อ แล้วทำผิดอย่างหนักด้วย ทำร้ายกัน ขโมยกันจนเป็นมหาอทินนาทาน คอรับชั่นกันเป็นพันเป็นหมื่นล้าน ไม่รู้ข้างไหนอาจจะมีทั้งสองข้าง ไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาล  มุสาวาทมีโฆษณา 24 ชั่วโมงในสิ่งที่เป็นพิษเป็นภัยกับประชาชน แทนที่จะเป็นประโยชน์  วิทยุโทรทัศน์ปลุกระดมให้นิยมบริโภค เป็นมหามุสาวาทเลยทีเดียว  เพราะฉะนั้นตัวโครงสร้างสังคมทางดิ่ง ถ้าเราไม่แก้ไข เราพยายามเท่าไรก็จะไม่เกิด

ยกตัวอย่างในประเทศอิตาลี คนวิจัยก็มาเมืองไทยเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว Robert Puttnam จากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ไปวิจัยที่อิตาลี  อิตาลีเป็นประเทศเดียวกัน ใช้รัฐธรรมนูญเดียวกัน แต่เหมือนกับสองประเทศ  ภาคเหนือของอิตาลี เช่น มิลาโน ทอริโน เศรษฐกิจดี การเมืองดี และศีลธรรมดี  ภาคใต้จน การเมืองไม่ดี มีมาเพีย มีขโมย ฆ่าหัวคะแนน ร้อยแปด ทั้งๆ ที่อยู่ในประเทศเดียวกัน  เขาไปวิจัยและพบว่าโครงสร้างของสังคมไม่เหมือนกัน  ภาคเหนือของอิตาลีเป็นสังคมทางราบ คนมีความเสมอภาค มารวมตัวร่วมคิดร่วมทำ มีความเป็นประชาสังคม (civil society)  แต่ภาคใต้เป็นทางดิ่งมาช้านานหลายร้อยปี คนไม่เท่าเทียมกัน คนมีอำนาจข้างบน คนไม่มีอำนาจข้างล่าง  บางเมืองเคร่งศาสนาแต่ศีลธรรมก็ไม่ดีเพราะรักพระเจ้าแต่ไม่รักเพื่อนบ้าน 

ถ้าเราเข้าใจตรงนี้จะช่วยให้เข้าใจปรากฏการณ์ต่างๆ ถ้าคนข้างบนโกงมาก คนข้างล่างก็จะแก้แค้น  จำเป็นต้องปรับสังคม  ตัวกระบวนการปฏิรูปประเทศไทยเป็นกระบวนการปรับสังคม ที่ส่งเสริมการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำ ในทุกพื้นที่ ในทุกองค์กร และในทุกเรื่อง เพื่อจะปรับโครงสร้างสังคมตัวนี้

3. อำนาจรัฐรวมศูนย์

 

อำนาจรัฐรวมศูนย์ เราเป็นมาประมาณร้อยปี เรามีกระทรวงทบวงกรมต่างๆ การบริหารประเทศเอากรมเป็นตัวตั้ง กรมเป็นเครื่องมือรวมศูนย์จากทุกพื้นที่ เข้ามาที่กรม เข้ามาที่อธิบดีคนเดียว อธิบดีไปที่ปลัด หนักเข้าเหลือรัฐมนตรีคนเดียว หนักเข้าเหลือนายกรัฐมนตรีคนเดียว  ปัญหาทุกอย่างวิ่งเข้าสู่นายกหมด เรื่องเล็กเรื่องน้อยเข้ามาสู่นายกหมด เพราะอำนาจมันรวมศูนย์  อำนาจรวมศูนย์แบบนี้นำไปสู่ปัญหาต่างๆ มากมาย ทำให้ชุมชนท้องถิ่นอ่อนแอ ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างอำนาจรวมศูนย์กับวัฒนธรรมท้องถิ่น เกิดปัญหา เช่น ความรุนแรงที่ภาคใต้ซึ่งเกิดจากความขัดแย้งระหว่างอำนาจรวมศูนย์กับวัฒนธรรมท้องถิ่นชัดเจน  

ไม่สามารถจัดการทรัพยากรอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน  เรามีกรมป่าไม้แต่เราไม่สามารถรักษาป่าไว้ได้ ป่าเราหมดไป  การใช้ที่ดิน เรามีกรมที่ดินแต่ไม่สามารถจัดการใช้ที่ดินอย่างเป็นธรรม คนมาประท้วงเยอะแยะ คนที่ทำเกษตรไม่มีที่ดินทำกิน คนไม่ได้ทำเกษตรกลับมีที่ดินเยอะ  นี่คือลักษณะขาดความเป็นธรรม  อำนาจรวมศูนย์นำไปสู่ปัญหาต่างๆ ทำให้เกิดคอรัปชั่นเยอะ อำนาจเข้มข้นที่ไหนคอรับชั่นเข้มข้นที่นั่น แล้วจะดึงดูดการเมืองที่ไม่ดีเข้ามา ทำให้นักการเมืองอยากทุ่มทุนเพื่อให้ได้อำนาจรวมศูนย์ พอได้อำนาจรวมศูนย์แล้วได้กำไร คุ้มทุน ก็อยากจะลงทุน

อีกประการหนึ่งทำให้ทำรัฐประหารได้ง่าย เพราะใช้คนไม่กี่ร้อยคน พันสองพันคนก็ยึดอำนาจได้แล้วเพราะมันรวมกันอยู่  แต่ถ้าอำนาจนั้นกระจายไป ยึดอำนาจไม่ได้  ประเทศญี่ปุ่นทหารเคยมีอำนาจรวมศูนย์ ก็ไปเข้าสงคราม แพ้สงคราม คนตายเป็นล้านคน โดน atomic bomb  แมคอาเธอร์มาปกครองสั่งเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ กระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นโดยทั่วถึง ทหารไม่สามารถมายึดอำนาจได้อีก  อินเดียถึงจะยากจนอย่างไรก็ตาม ไม่เคยมีประวัติรัฐประหารเพราะอำนาจกระจายไปสู่ท้องถิ่นหมดแล้ว  เพราะฉะนั้นในการปฏิรูปจำเป็นต้องปฏิรูปเรื่องใหญ่ที่สุดคือการบริหารประเทศจากการเอากรมเป็นตัวตั้งไปเป็นการเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง สิ่งอื่นก็ตามมา ตามสามอย่างนี้มา

4. โครงสร้างทางกฎหมาย

โครงสร้างทางกฎหมายรุนแรงมากกับประชาชน เพราะแนวคิดกฎหมายก็ผิดแล้ว  เราไปเอาแนวคิดสำนักออสติน (Austinian concept of law) มาจากอังกฤษ  เป็นแนวคิดที่ผิดว่ากฎหมายคือเครื่องมือของรัฐ แต่เอามาใช้ขณะที่เป็นรัฐเผด็จการ กฎหมายจึงรุนแรงกับประชาชน จะออกกฎหมายอะไรไม่ต้องไปดู ไม่ต้องไปถามประชาชน ออกพั๊วะเลย เช่น กฎหมายป่าสงวน 2507 ให้อำนาจกรมป่าไม้ขีดเส้นป่าสงวนโดยไม่ต้องไปดู ไม่ต้องไปถามประชาชน  ขีดพั๊วะคนหลายสิบล้านกลายเป็นคนผิดกฎหมาย ขับไล่กันมาจนถึงบัดนี้ เลือดตกยางออก คนถูกฟ้อง ถูกดำเนินคดี บางคนติดคุก บางคนไปตายในคุกด้วยข้อหาบุกรุกที่ดินของตัวเอง เขาเจ็บช้ำน้ำใจมาก ปู่ย่าตายายเขาเคยอยู่ที่นี่มา วันดีคืนดีมาบอกว่าไม่ใช่ของเขา เขาต้องออกไป  ไปเจอว่าโฉนดที่เขาเคยอยู่ให้คนอื่นไปแล้ว ให้นายทุน เหล่านี้เป็นต้น รุนแรงสุดๆ เรื่องโครงสร้างทางกฎหมาย ขนาดพระเจ้าอยู่อยู่รับสั่งในเรื่องนี้ก็ยังไม่ได้แก้ไข  กระทรวงทรัพยากรก็ยังดำเนินคดีกับชาวบ้านอยู่ ชาวบ้านมาขอร้องยุติไว้ก่อนได้ไหม ชะลอไว้ก่อนได้ไหม เพราะกฎหมายมันไม่เป็นธรรม ก็ไม่ได้ผล  พระเจ้าอยู่หัวเคยรับสั่งว่ากฎหมายไปบุกรุกประชาชน ไม่ใช่ประชาชนมาบุกรุกกฎหมาย ก็ยังไม่ได้ผล อะไรเป็นกฎหมายแล้วมันแรง พระจะไปบอกว่าใจเย็นๆ ไว้โยม โดยไม่เกี่ยวกับโครงสร้าง มันก็ไม่ได้ผล

5. การจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม

          การจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรมนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำอย่างมาก

6. โครงสร้างทางเศรษฐกิจ

ท่ามกลางความไม่เป็นธรรม พอเราเร่งพัฒนาทางเศรษฐกิจ มันยิ่งขยายความไม่เป็นธรรมมากขึ้น เพราะคนได้เปรียบมีโอกาสมากขึ้น ช่องว่างยิ่งใหญ่มากขึ้น  ในห้าสิบปีที่เราพัฒนาเศรษฐกิจแบบนี้ทรัพยากรถูกทำลายไป ทรัพยากรที่ชาวบ้านเคยใช้ประโยชน์เอาไปให้คนรวย เปลี่ยนไปเป็นเงินสำหรับคนส่วนน้อย  ความไม่เป็นธรรมขยายตัวออก  ต่อไปจะเผชิญปัญหามากขึ้นถ้าเราดูระดับโลก เศรษฐกิจจะวิกฤตไปเรื่อยอย่างอเมริกา แก้ปัญหาต่างๆ ไม่ได้ เพราะโครงสร้าง ความเป็นไป แนวคิด ไม่ถูกต้อง

7. โครงสร้างการศึกษา

น้อยคนที่จะรู้ว่าโครงสร้างการศึกษาไม่เป็นธรรมและก่อปัญหาเหลือคณานับ  ฐานของประเทศคือชุมชนท้องถิ่น แต่การศึกษาไม่ได้เป็นไปเพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง กลับไล่ต้นคนขึ้นมา ท่องหนังสือไม่รู้นำไปสู่อะไร  ไล่ให้ทุกคนอยากไปสู่ระบบอุดมศึกษา อุดมศึกษากลายเป็นจราจรที่คับคั่งและเกิดธุรกิจทางอุดมศึกษา ทำให้คุณภาพเสื่อมอย่างที่เราเห็น จบมาทำงานไม่เป็น ไม่รับผิดชอบ คิดไม่เป็น อยู่ร่วมกันไม่เป็น สารพัดอย่าง  แล้วก็ไม่เน้นที่เรื่องการมีอาชีพ  ซึ่งต่างจากเยอรมันที่เน้นอาชีวศึกษา ทำไม เกี่ยวเนื่องจากสังคมเราเป็นสังคมทางดิ่ง เราดูถูกคนข้างล่าง คนข้างล่างเป็นคนทำงาน เป็นผู้ใช้แรงงาน เรามีสุภาษิตมาแต่โบราณ “รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา”  เด็กๆ ผมก็หามเสา รับจ้างแบกฟืน ก็ไม่รู้ว่ามันชั่วอย่างไร เสามันทำให้คนมีบ้านอยู่ “ขอให้เป็นเจ้าคนนายคน ขอให้ได้นั่งกินนอนกิน” พวกนี้สะท้อนสังคมทางดิ่ง

การศึกษาก็จัดขึ้นตามนี้  จัดขึ้นในลักษณะที่ดูถูกการทำงาน  คนไม่อยากเรียนอาชีวศึกษาเพราะเกียรติน้อย นักเรียนก็ตีกัน คนต้องมีเกียรติ คนอื่นเขามีคุณค่าในการทำงาน (work value) เช่น เยอรมัน ญี่ปุ่น อเมริกา มี work value สูงมาก  คนทำงานจะมีเกียรติสูงมาก แต่ของเราดูถูกคนทำงาน ระบบการศึกษาของบ้านเราก็สร้างคนที่หยิบโหย่งเต็มประเทศ เป็นปัญหาอย่างยิ่ง  ปฏิรูปกันเท่าไรก็ปฏิรูปไม่ได้เพราะไม่ได้ปฏิรูปความคิด เพียงไปปฏิรูปกระทรวงบ้าง ไปเรื่อยๆ   จำเป็นที่คนไทยต้องมาดูตรงนี้  ถ้าการศึกษาถูกต้องเราจะมีพลังมหาศาล  บางเรื่องทำได้ภายในหกเดือน ประเทศเปลี่ยนเลย

8. โครงสร้างการสื่อสาร

โครงสร้างการสื่อสารเป็นไปตามโครงสร้างอำนาจ การสื่อสารรับใช้อำนาจรัฐ อำนาจเงิน  แม้แต่หนังสือพิมพ์เดี๋ยวนี้ก็ยากเกือบจะไม่เป็นหนังสือพิมพ์แล้ว แล้วแต่ว่าใครใส่เงินมาให้สื่อสารเรื่องอะไร เพราะเขาต้องพึ่งเรื่องการเงิน  มีปัญหาอย่างหนักไม่เฉพาะเรา ในอเมริกาก็เช่นเดียวกัน หนังสือพิมพ์ Times เมื่อสี่ห้าเดือนตีพิมพ์เรื่อง “Twighlight of the Elites” (อัสดงคตสำหรับสถาบันหลักของประเทศอเมริกา) สถาบันที่เคยเป็นหลัก บัดนี้อัสดงคตแล้ว เช่น รัฐสภา (congress) วอลล์สตรีท ธนาคารกลาง (Fed) สื่อกระแสหลักต่างๆ บัดนี้เสื่อมถอยไป เพราะการพัฒนาที่เอาเงินเป็นตัวตั้ง

ทั้งแปดเรื่องนี้ถักทอกันเป็นโครงสร้างที่หนาแน่น แล้วเราจะออกได้อย่างไร เป็นเรื่องที่ยากมาก

โครงสร้างใหม่

 

คงต้องดูโครงสร้างใหม่ ต้องตั้งโครงสร้างใหม่ขึ้น  ที่แล้วมาเราสร้างพระเจดีย์จากยอด  พระเจดีย์สร้างจากยอดไม่ได้มันจะพังลงเพราะมันไม่มีอะไรรองรับ  เราทำทุกอย่างเหมือนสร้างพระเจดีย์จากยอด คือทำจากข้างบนทั้งสิ้น  เศรษฐกิจก็จะทำจากข้างบน บอกว่าทำเศรษฐกิจข้างบนให้มันโตแล้วมันจะกระเด็นมาข้างล่าง  การศึกษาก็ไล่ตอนทุกคนไปข้างบนหมดโดยไม่คำนึงถึงฐานราก  ความยุติธรรมเดิมมีความยุติธรรมชุมชนก็ไปเอามาเป็นความยุติธรรมของรัฐซึ่งเป็นทางดิ่ง มีตำรวจจับ อัยการส่งฟ้อง ผู้พิพากษาตัดสิน ทำให้ทำงานไม่ทัน ขาดความเป็นธรรม คนยากคนจนเข้าไม่ถึงความเป็นธรรม ประชาธิปไตยเราก็จะทำแต่ระดับชาติ ตั้งแต่ 2475 ขึ้นมา ก็จะฆ่ากันตายอยู่ทุกวันนี้ ไม่มีประชาธิปไตยใดสำเร็จได้โดยทำเฉพาะประชาธิปไตยระดับชาติ ต้องไปดูประชาธิปไตยท้องถิ่น ประชาธิปไตยชุมชน คือที่ฐานราก  เราต้องตั้งรูปการพัฒนาประเทศเสียใหม่เหมือนเป็นรูปพระเจดีย์  พระเจดีย์ต้องสร้างจากฐาน สร้างจากยอดไม่สำเร็จ ถ้าฐานแข็งแรงแล้วก็จะรองรับองค์พระเจดีย์ทั้งหมดไว้  ฐานของพระเจดีย์คือชุมชนท้องถิ่น  ชุมชนท้องถิ่นนั้นครอบคลุมทุกตารางนิ้วของแผ่นดิน มีทรัพยากร มีผู้คน มีองค์กร มีสถาบัน มีต่างๆ ร้อยแปด  ถ้าฐานพระเจดีย์ของสังคมแข็งแรงทุกด้าน จึงจะสามารถเผชิญกับภัยต่างๆ ได้

มาดูรูปพระเจดีย์ซึ่งทำให้เราจินตนาการง่ายเพราะเราเห็นพระเจดีย์อยู่ทั่วไป และพระเจดีย์ก็เป็นสิ่งมีคุณค่า  ยอดพระเจดีย์ก็คือจิตสำนึกที่เรามาคุยกัน ยอดพระเจดีย์จะชี้ไปสู่ฟ้าเสมอ ชี้ไปสู่สิ่งสูงส่ง ว่าเราต้องการเข้าถึงสิ่งสูงสุด เป็นคน เป็นองค์กร ก็ต้องเข้าถึงสิ่งสูงสุด อันนื้คือเรื่องความเป็นธรรม  ฐานพระเจดีย์คือชุมชนท้องถิ่น ระบบต่างๆ คือองค์พระเจดีย์ จะเป็นระบบเศรษฐกิจ ระบบการศึกษา ระบบความยุติธรรม ระบบบริการสาธารณสุข  ระบบทุกชนิดจะต้องเชื่อมยอดกับฐาน เชื่อมความเป็นธรรมกับฐานของสังคม  ที่ผ่านมามันไม่เชื่อมกัน ต่างคนต่างไป  เศรษฐกิจก็จะไปพึ่งต่างประเทศ ประชาธิปไตยระดับชาติก็ไม่เชื่อมกับประชาธิปไตยท้องถิ่น  ตรงนี้ต้องสร้างรูป สร้างโครงสร้างใหม่ สิ่งที่เราต้องทำคือ

1.       ปฏิรูปจิตสำนึก ที่เป็นเรื่องลึกที่เราจะมาคุยกันวันนี้

2.       สร้างฐานพระเจดีย์ให้แข็งแรง

3.       ทำระบบต่างๆ ให้เชื่อมระหว่างความเป็นธรรมกับฐานข้างล่าง

ยกตัวอย่างถ้าระบบเศรษฐกิจมหภาคเชื่อมกับเศรษฐกิจชุมชนอย่างเกื้อกูลกัน ประเทศจะแข็งแรงมาก จะไปสบายบื๋อเลย  ทุกอย่างต้องเชื่อมระหว่างความเป็นธรรมกับฐานเสมอ การศึกษา ระบบบริการสุขภาพ ถ้าไม่ทำตรงฐานให้แข็งแรง ไปไม่รอด ต่อให้มี รพ.ศิริราช จุฬา รามา อีกเท่าไรก็รับไม่ไหวเพราะประชาชนอยู่ที่ฐานราก  แต่ถ้าระบบสุขภาพชุมชนทั่วถึงและแข็งแรง จะรองรับ ทำให้ข้างบนสบายขึ้น 

เราไปดูที่อุดรเมื่อปลายเดือนที่แล้ว ลงไปที่ตำบล ประชาชนได้รับบริการดีกว่าคนกรุงเทพ  เขามีนักสุขภาพครอบครัวซึ่งอาจจะเป็นหมออนามัยหรือพยาบาล คนหนึ่งดูแลคน 1,200 คนในตำบล มีมอเตอร์โซค์คันหนึ่ง notebook ตัวหนึ่ง โทรศัพท์มือถือ เขารู้ข้อมูลของคน 1,200 คนทั้งหมด ติดต่อถึงกัน รู้หมดว่าใครน้ำหนักเท่าไร รอบเอวเท่าไร น้ำตาลเท่าไร ความดันเท่าไร ดูแลหมดเลย ติดต่อถึงกัน ไปเยี่ยมถึงบ้าน  อันนั้นคือเรื่องพื้นฐานที่เราสามารถทำได้ข้างล่าง  ถ้าเรามีนักสุขภาพครอบครัวเต็มหมดทุกพื้นที่ ทุกตำบล ราคาก็ไม่แพง เราสามารถทำได้เต็มพื้นที่  คนทุกคนมีหมอประจำครอบครัวดูแลรู้หมดทุกอย่าง ควบคุมเบาหวานความดันสูงหมดทั้งประเทศ เราจะตัดภาระโรคลงมากมาย  อันนี้คือลักษณะฐานกับระบบที่เชื่อมโยงกันอย่างเกื้อกูล

ถ้าเราเห็นโครงทั้งหมด จะเข้าใจง่าย  ถ้าเห็นเป็นส่วนๆ เหมือน jigsaw จะไม่รู้ว่าเป็นรูปอะไร  อันนั้นเป็นลักษณะของมหาวิทยาลัยไทยที่อาจารย์รู้เป็นส่วนๆ ไม่รู้ทั้งหมด จึงไม่สามารถทำเรื่องนโยบายได้

จิตเล็ก-จิตใหญ่

 

เรื่องจิตสำนึก ถ้าเราดูเปรียบเทียบขนาดจิตว่าเป็นจิตเล็กจิตใหญ่ จิตคือความรู้สึกนึกคิด ว่ามันรู้สึกนึกคิดได้เล็กๆ น้อยๆ หรือว่ามันใหญ่  จิตเล็กคือจิตที่อยู่กับตัวเอง เห็นแต่กับตัวเอง ไม่เห็นกับคนอื่น ไม่เห็นสิ่งอื่น จิตเล็กจะอยู่ในความบีบคั้น คนที่เห็นแก่ตัวจัดก็จะบีบคั้นตัวเองและบีบคั้นคนอื่น  พอจิตโตขึ้น เห็นแก่คนอื่น เห็นแก่สิ่งอื่น อยากทำเพื่อเพื่อนมนุษย์ อยากทำเพื่อความดีงาม อย่าง HA นี่จะทำให้จิตมันเดินขึ้นไป ทำให้มันใหญ่ขึ้น เพราะเราทำเพื่อประโยชน์เพื่อนมนุษย์  ถ้าจิตเล็กก็จะเห็นแต่ตัวเอง เพื่อนตัวเอง พรรคตัวเอง ไม่เห็นทั้งหมด  แต่ใหญ่ขึ้นไปเรื่อยทางด้านขวาคือความจริงหรือธรรมชาติ มันจะไม่มีขอบเขต ธรรมชาตินี้ใหญ่มากไม่มีที่สิ้นสุด อันนี้คือธรรมะหรือความจริง  ความจริงนั้นเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกันทั้งหมดไม่ได้แยกส่วน ถ้าจิตเล็กจะมองอะไรแบบแยกส่วน ตายตัว สุดโต่ง  ยิ่งเคลื่อนไปจิตยิ่งใหญ่ขึ้น ยิ่งเป็นอิสระมากขึ้น  จิตใหญ่จะไปเชื่อมโยงกับธรรมชาติ เข้าถึงธรรม เข้าถึงธรรมชาติ เพราะธรรมชาตินั้นใหญ่และเป็นหนึ่งเดียวก้นไม่แยกส่วน จิตก็จะใหญ่มาก จิตใหญ่ก็จะเป็นอิสระ เกิดความสุขอย่างล้ำลึกที่ไม่เคยเจอมาก่อน จะบรรลุความงามและเกิดความรักอันไพศาลต่อเพื่อนมนุษย์และธรรมชาติทั้งหมด 

การที่จะเดินจากจิตเล็กไปสู่จิตใหญ่ก็จะมีวิธีต่างๆ สารพัด เวลานึกถึงคนอื่น นึกถึงสิ่งอื่น จิตก็เริ่มใหญ่ ออกจากตัวเองไป การทำงานเพื่อประโยชน์เพื่อนมนุษย์อย่าง  HA เป็นการทำเพื่อเพื่อนมนุษย์ ทำอย่างไรจะเพื่อนมนุษย์จะดีกว่านี้ ทำอย่างไรการรักษาพยาบาลจะมีคุณภาพ ทำอย่างไรชีวิตจะปลอดภัย เขาจะได้ประโยชน์เป็นการเดินไปสู่จิตใหญ่ จิตใหญ่เกิดจากการทำงานเพื่อเพื่อนมนุษย์ เพื่อความถูกต้อง

ยกตัวอย่าง สมมติวงเล็กอันนี้เป็นจิตองคุลีมาล วงใหญ่เป็นจิตพระพุทธเจ้า ใหญ่มาก ไม่มีขอบเขต เข้าถึงธรรมชาติ เข้าถึงความใหญ่ แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นพระพุทธเจ้า คนธรรมดาก็สามารถบรรลุได้

เราอยู่บนโลกเราเห็นแบบแยกส่วน มีนักบินอวกาศชื่อ Edgar Mitchell ไปโคจรในอวกาศแล้วมองมาเห็นโลกทั้งใบ จิตเขาเปลี่ยนเลย เขาบอกว่าเขากลับมาถึงโลก เขาเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เพราะเขาเห็นความเป็นทั้งหมดของธรรมชาติ  เราอยู่บนโลกเราเห็นสิ่งต่างๆ แยกกันไป  แต่พอเขามองมาจากอวกาศ เห็นความเป็นหนึ่งเดียวกันของสรรพสิ่งในโลก จิตเขาเปลี่ยน เพราะจิตเขาเข้าถึงความจริงตามธรรมชาติซึ่งมีความเป็นหนึ่งเดียว มีความใหญ่มาก  เขาประสบภาวะตรงนี้ เขาเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง มันเปลี่ยนจากจิตเล็กเป็นจิตใหญ่  มีความสุข  ความสุขกับอิสรภาพคืออันเดียวกัน  อิสรภาพไม่ถูกบีบคั้น ก็เป็นอันเดียวกับความสุข  Edgar เจอสภาวะนี้กับตัวเอง รู้สึกเบาสบาย มีความเป็นอิสระ มีความสุขอย่างลึกซึ้ง เห็นอะไรงามไปหมด เป็นการเห็นความเป็นทั้งหมด  ถ้าเราไปวิเคราะห์ดอกไม้เห็น P K ความงามก็หมดไป หรือไปเอานางสาวไทยมาดูลำไส้ตับไตความงามก็หมดไป  ความงามเกิดจากการเห็นความเป็นทั้งหมด เห็นมดตัวหนึ่ง น้ำหยดหนึ่ง เห็นใบไม้แห้ง ก็มีความสุขอย่างเหลือหลาย

ชาว HA ทำ HA แล้วต้องมีความสุข

คนเจริญสติก็บรรลุตรงนี้ได้ จิตเราปกติจะไม่สามารถสัมผัสความจริงได้ เพราะเราสัมผัสด้วยความคิด มีเงื่อนไข มีเกณฑ์  เวลาเจริญสติจิตเป็นกลาง จิตสงบ เวลาเจริญสติแล้วมันเกิดความสงบจากความคิดฟุ้งซ่าน จากความวิตกกังวลไปในอนาคต อยู่กับปัจจุบัน ก็จะสัมผัสความจริงของปัจจุบัน ความจริงนั้นใหญ่มาก มีความเป็นหนึ่งเดียว จิตก็จะมีความเป็นอิสระ ก็จะเกิดความสงบอย่างลึกซึ้ง สัมผัสความงามต่าง เพราะว่าจิตใหญ่ขึ้น 

เราสามารถทำได้หลายอย่าง เพราะเราสัมผัสธรรมชาติอยู่ตลอดเวลา  เราเงยหน้าก็เห็นท้องฟ้า ท้องฟ้าก็เชื่อมโยงไปหมดทั้งจักรวาล  เราเห็นแสงแดด ลงผัส สัมผัสธรรมชาติต่างๆ  สังเกตว่าทำไมมนุษย์ชอบมองท้องฟ้า ชอบดูทะเล ชอบเดินป่า  เพราะธรรมชาติเหล่านี้เป็นความใหญ่  เมื่อเราเชื่อมโยงกับความใหญ่ของธรรมชาติ จิตเราเป็นอิสระขึ้น เราจะมีความสุข  ถ้าเรารู้ว่าธรรมชาติล้วนเชื่อมโยงกันหมดทั้งจักรวาล และที่จริงใหญ่กว่าจักรวาล  ถ้าเรารู้อย่างนั้น เราระลึกรู้ตลอดเวลา หายใจเข้าก็เชื่อมโยงกับจักรวาล หายใจออกก็เชื่อมโยงกับจักรวาล มันเชื่อมโยงกับทั้งหมด จิตเราก็จะเชื่อมโยงกับความใหญ่ของธรรมชาติ เกิดสภาพจิตที่ใหญ่ขึ้น

การสร้างจิตสำนึกใหม่

 

การสร้างจิตสำนึกใหม่มีวิธีการต่างๆ เยอะ  กระแสใหญ่ในโลกขณะนี้ (megatrend) คือกระแสจิตสำนึกใหม่  มีหนังสือในชื่อต่างๆ ออกมามากกว่าเรื่องอื่นๆ  มีที่นั่งอยู่ตรงนี้สามคนกำลังทำข้อมูลข่าวสารเรื่องจิตสำนึกใหม่ เขาจะบริการท่านในอนาคตว่าเจออะไรบ้าง จิตสำนึกใหม่เป็นกระแสใหญ่ที่สุดในโลก ผมจะยกตัวอย่างการสร้างจิตสำนึกใหม่

1. สัมผัสความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์ จะทำให้จิตเราใหญ่ขึ้น เรามีธรรมชาติสมองของเราสามารถรับรู้อารมณ์ความรู้สึกของคนของสัตว์ได้ เราดูแววตาของแมว สุนัข มันก็สื่อสาร  คนเช่นเดียวกัน เรารับรู้จากสีหน้า คำพูด แววตา ท่าทาง จะรับรู้อารมณ์ความรู้สึก มันไวมาก เรียกว่า social brain อยู่ในสมอง  เมื่อรับรู้แล้วจะมีธรรมชาติของเราเองเกิดความเห็นใจ (empathy) แล้วธรรมชาติอีกตัวหนึ่งคือน้ำใจหรือการอยากทำเพื่อเพื่อนมนุษย์ (altruism) ก็จะออกมาทำงาน  ที่ท่านทั้งหลายมาก็เพราะมีน้ำใจ  มนุษย์ไม่ได้มีธรรมชาติแต่จะทำเพื่อตัวเท่านั้น มีธรรมชาติที่จะทำเพื่อผู้อื่นด้วย  แต่ว่าเรามีมายาคติต่างๆ เข้ามาขวางกั้นระหว่างเรากับเพื่อนมนุษย์  ถ้ามนุษย์มีความสัมพันธ์ที่เรียกว่า human contact กัน เห็นหน้าเห็นตา เห็นแววตากัน เมล็ดพันธุ์แห่งความดีคือความเห็นใจความมีน้ำใจก็จะมีโอกาสออกมา ที่ผมพูดบ่อยๆ ว่ามนุษย์ทุกคนมีเมล็ดพันธุ์แห่งความดีอยู่ในหัวใจ แต่เราไปเอาอย่างอื่นมาขวางกั้นเสียหมด ตัวนี้ก็เลยไม่ได้มีโอกาสออกมา เหมือนกำแพงวังของกรุงกบิลพัสดุ์เป็นกำแพงขวางกั้นเจ้าชายสิทธัตถะไม่ให้สัมผัสความจริง ท่านเรียนศิลปวิทยาทั้ง 18 แต่ไม่เกิดจิตสำนึก ต่อเมื่อหนีจากวังไปสัมผัสความจริงของชีวิต คนจน คนแก่ คนเจ็บ คนตาย มันเกิดจิตสำนึกขึ้น  พลังจิตสำนึกเหมือนพลังนิวเคลียร์ของมนุษย์ (Human Nuclear Energy) มันทำให้คนธรรมดาเป็นพระพุทธเจ้าได้  

การศึกษาเราไม่ได้ทำตัวนี้เลย เราเอานิสิตนักศึกษานักเรียนเป็นล้านๆ คน เป็นสิบล้านคนมากักขังไว้ในกำแพงของระบบการศึกษา ถ้าเราให้นิสิตนักศึกษาไปอยู่กับชาวบ้านที่ยากจน ไปนอนบ้านชาวบ้าน รับรู้ความรู้สึกของเขา มันเกิดหมดเลย ความเห็นอกเห็นใจ นักศึกษาก็รักชาวบ้าน ชาวบ้านก็รักนักศึกษา ภายในหกเดือนทั้งประเทศจะเกิดตัวนี้ได้ เรามีนักศึกษาเป็นแสนๆ คน ทำก็ไม่ยาก ไม่ได้ใช้เงินเป็นหมื่นเป็นแสนล้าน พยายามบอกตรงนี้อยู่เรื่อยแต่ก็ยากที่คนจะเข้าใจ เพรา

คำสำคัญ (Tags): #ha forum
หมายเลขบันทึก: 431767เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2011 19:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

วันนี้หนูฟังอาจารย์แล้ว  หนูชอบประโยคนี้จังเลยค่ะ 

    "ทุกวันที่เห็นพระอาทิตย์ตกดิน  เราได้เดินเข้าใกล้หลุมศพแล้ว"

เหมือนว่าวันที่เหลือของหนูมันน้อยลง  แล้วเวลาที่เราเสียไปมันดีแล้วหรือยัง  วันที่เหลืออยู่เราจะบริหารจัดการอย่างไร

หายเหนื่อยหรือยังเพื่อน

ขอบคุณ คุณ namsha ครับ ดีใจที่ชอบประโยคนั้น

ข้อคิดจากคำสอนทำนองนี้คือการมีสติอยู่กับความจริง ใช้ทุกสิ่งที่เราสัมผัสเพื่อเตือนใจเรา

หายเหนื่อยเมื่อเห็นผู้เข้าประชุมได้รับในสิ่งที่มีคุณค่าครับ JJ  การทำเรื่องบางเรื่องต่อเนื่องกันยาวๆ สำหรับอายุรุ่นเราก็เอาเรื่องอยู่เหมือนกัน

ได้สูดหายใจเข้ายาวๆ แล้วเริ่มหยิบหนังสือมากมายที่อยู่รอบตัวมาอ่านให้หายอยาก

" ขอบคุณคุณปู่ ที่ทำให้หลานได้มีโอกาสช่วยงาน ได้รับประสบการณ์ที่มีคุณค่า "

ขอบคุนค่ะ สำหรับเนื้อหา ที่สอนเด็กและหนูได้นำไปทำรายงานแล้วค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท