Rjaantick
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชมพูนุท เมฆเมืองทอง

ความหมายของภาษา อารมณ์ขัน และมุมมองของยุคสมัย


คำ “ไม่สุภาพ” ตัวอย่างการใช้ภาษาไทย

คำ “ไม่สุภาพ”ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

    “ภาษาไทย เป็นภาษาที่มีชีวิต”คำนี้เป็นสิ่งที่เราได้ยินกันมานานเพราะเขาเชื่อว่าภาษามีการเกิดมีการตายในวันนี้จะขอยกตัวอย่างลักษณะการมีชีวิตของภาษาอีกประการหนึ่งก็คือ“ภาษามีการแก่” หลายคนคงสงสัยว่าหมายถึงอะไร หากจะนิยามคำว่า “แก่”(ไม่ชอบเลยคำนี้) คำนี้ก็หมายถึง “มีอายุ”เมื่อกล่าวถึงการมีอายุก็ต้องนึกถึงการเคลื่อนสภาพจากลักษณะหนึ่งไปเป็นอีกลักษณะหนึ่งนั่นเองเช่นกัน เมื่อภาษาเกิดขึ้น แล้วมีอายุมากขึ้นก็นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอาจเปลี่ยนไปในทางที่ดี หรือ ไม่ดีก็ขึ้นกับการรับรู้ในคุณค่าหรือความหมายนั้น ๆ

 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4มีการให้ความสำคัญกับการใช้ภาษาอย่างมากแม้ว่าทรงได้รับยอกย่องในพระราชสมัญญานามว่าพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย แต่พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถและทรงเชี่ยวชาญภาษาต่างประเทศหลายภาษา เช่น บาลี อังกฤษ ละตินเป็นต้น ประกอบกับทรงแตกฉานในพระไตรปิฎกเป็นอย่างยิ่งทำให้พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับการใช้ภาษาไทยในการเป็นเครื่องมือในการพัฒนาสังคมเห็นได้จาก ประกาศรัชกาลที่ 4 หลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับการใช้ภาษาหนึ่งในนั้นคือทรงละเอียดอ่อนกับการใช้ภาษาที่กระทบความรู้สึกของผู้รับฟังดังตัวอย่าง “คำไม่สุภาพ”

               ตัวอย่าง สรรพนามสำหรับช้างม้า มีใจความตอนหนึ่งว่า “ช้างม้านี้เป็นสัตว์ที่มีชาติมีสกุลไม่ควรเรียกว่าตัวหนึ่งสองตัว ให้เรียกว่าช้างหนึ่ง สองช้าง ม้าหนึ่ง สองม้าแต่สัตว์เดียรัจฉานนอกจากช้างม้านั้นให้เรียกว่าตัวหนึ่งสองตัวอย่าให้ว่า สองชะมด สองเต่า สองปลา กับคำจำเป็น คำผวนเหมือนหนึ่งต้นไม้ 8 ต้น 9 ต้น หรือ แปดเต่า แปดตัว อย่างนี้”(จากหมายรับสั่ง ณ วันจันทร์ เดือน 7 แรม 9 ค่ำ ปีขาล ฉศก)

               จะเห็นว่าพระอัจฉริยภาพในการใช้ภาษาไทยของพระองค์ท่านลึกซึ้งมากแม้ทุกวันนี้ก็ยังเห็นว่าช้างต้องเรียกต่างไปจากสัตว์อื่นเช่น ช้าง 2เชือก เป็นต้น แต่คำผวนไม่ขอกล่าวไปตีความเอาเอง

             หรืออีกตัวอย่าง คำว่า “ศพ” มีใจความว่า “คำเรียกซากผีว่าศพนั้นถูกต้องแล้วให้ใช้เขียนหนังสือแลกราบทูลว่าศพอยู่นั้นแลใครอย่าอุตริคิดตามชาววัดคิดล้นไป เขียนบ้าง กราบทูลบ้างว่า “อสุภ อสภอาสภ” อย่างใด ๆ อย่างหนึ่งเลย ถ้าใครขืนว่า อสภ อาสภ ดังนั้นในหลวงทรงแช่งไว้ว่าให้ศรีษะคนนั้นล้านเหมือนหลวงตาในวันโกนเป็นนิจนิรันดรไปถ้าใครเขียนแลกราบทูล่าศพตรง ๆ แล้ว ทรงพระอธิษฐานอวยพรผู้นั้นว่าถ้าศรีษะล้าน ให้ผมงอกดก ถ้าไม่ล้านก็อย่าให้ล้านเลยคำว่าศพนี้ออกจากคำมคธว่า ฉโว เป็นแท้ใช่อื่นฯ”(จากประกาศตือนสติคำที่เรียกซากศพ ปีมะเมีย สัมฤทธิศก)

     โอกาสหน้าจะนำเรื่องราวทางประวัติศาสตร์โดยเฉพาะการใช้ภาษาที่น่าสนใจมาเสนอนะคะติดตามฉบับต่อไปค่ะ

สาขาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร
มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม

หมายเลขบันทึก: 431760เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2011 18:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤษภาคม 2019 13:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณครับจะตามรอยประวัติศาสตร์มาเรียนรู้

อยากทราบข้อมูลเพิ่มเติม ค้นหาได้ที่ไหนคะ

รถชนกัน  มีผู้เสียชีวิต(สมมุติว่  ๓ ) ใช้คำว่า  ๓  คน  หรือ ๓  ศพ  เหตุผลที่ใช้   "ศพ"  เพราะเหตุใด  "คน" เพราะเหตุใด 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท