English & Thinglish(2)


ที่แล้วมาหลายต่อหลายปีนั้นยังไม่ได้เรียนภาษาอังกฤษจริงๆเลย

           ธรรมชาติของภาษาไทยและคนไทยที่สั่งสมมาตั้งแต่อดีต  กล่าวได้ว่าอยู่ในวัฒนธรรมมุขปาฐะมาโดยตลอด  นั่นคือ เรียนและรู้ภาษาด้วยการฟังเสียง พูดตาม  และจำเป็นคำๆ สะสมไว้เรื่อยๆ จนแต่ละคนมีปทานุกรมส่วนตัวไว้ในหน่วยความจำในสมองมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่บุคคล  การที่เรามีตัวหนังสือใช้มานานกว่าเจ็ดร้อยปี  ไม่ได้แก้ไขธรรมชาติที่กล่าวมาสักเท่าไร  เวลาอ่าน เราก็ยังอ่านผิดๆถูกๆ เหมือนเด็กชั้นประถมกันอยู่   เวลาเขียนเราก็เขียนผิดตามปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้วรรณยุกต์ ซึ่งมีสาเหตุจากการกำหนดให้วรรณยุกต์เปลี่ยนเสียงได้ เมื่อใช้อักษรกลาง อักษรสูง และอักษรต่ำ (ไม่รู้ว่าใช้อะไรเป็นเกณฑ์ เช่น อักษร ก กับ ค ซึ่งผมฟังอย่างไรเสียงมันก็ไม่ได้สูงหรือต่ำกว่ากันเลย)  แต่คนไทยจำเก่ง  และจำเสียงวรรณยุกต์ได้แม่นยำ (มิฉะนั้นจะแยกไม่ออกว่า  มา  ม้า  และ หมา คือ สามคำที่ต่างกัน) ดังนั้น  บางคำต่อให้เขียนผิดอย่างไร  คนไทยก็อ่านได้อย่างเดียวเท่านั้น  เช่น คำทับศัพท์จากคำว่า lock ในภาษาอังกฤษ    จะเขียน ล็อค  ล็อก ล้อก หรือ ล๊อก เราก็ออกเลียงตรงกันหมดทุกวิธีเขียน  เมื่อเป็นอย่างนี้ จะเดือดร้อนไปทำไมกับการเขียน   ออกเสียงถูก สื่อสารได้ก็น่าจะพอแล้ว

          ท้ายย่อหน้าข้างบนนี้ เหมือนจะบอกว่าตัวหนังสือที่มีอายุมากกว่าเจ็ดร้อยปีไม่สำคัญเลย  สำคัญครับ สำคัญมากสำหรับคนส่วนน้อยสองกลุ่ม คือ ชาววัง กับ ชาววัด  เพราะคนสองกลุ่มนี้ คือรุ่นบุกเบิกแห่งการสร้างและใช้ตัวหนังสือไทย คือบรรพชนแห่งนักอักษรศาสตร์ไทย (ซึ่งยังคงเป็นชนกลุ่มน้อยในสังคมไทยจนถึงปัจจุบัน)   คนเหล่านี้ มีส่วนสำคัญในการสร้างมาตรฐานของภาษาไทย  ทำให้อาจารย์ภาษาไทยมีความสำคัญมากขึ้น ในฐานะที่ทำให้คนในวัฒนธรรมมุขปาฐะจำนวนมากปวดหัวตัวร้อนในห้องสอบบ่อยๆ เพราะพวกหลังนี้เรียนด้วยการฟังมากกว่าการอ่านและเขียนจนเคยตัวและจนน่าจะเป็นพันธุกรรมไปแล้ว

         ด้วยธรรมชาติดังกล่าว ผมจึงขอสรุปวิธีเรียนภาษาอังกฤษของคนไทยจำนวนไม่น้อยเป็นดังนี้

๑.     เราเรียนคำอังกฤษเป็นคำๆ เพื่อเอามาเป็นคำทับศัพท์ หรือ จับบวชเป็นคำไทย แล้วใช้ในบริบทไทยๆ เท่านั้น

๒.     พอจะต้องเรียนมากกว่าข้อแรก  เราก็จะเรียนเพื่อแปลเป็นไทยทันที  เพื่อว่าหลังจากนั้นจะได้ใช้แต่ภาษาไทยตลอดไป  ไม่เข้าใจภาษาอังกฤษเลยก็ช่างมันฉันไม่แคร์ (ในบัณฑิตวิทยาลัย บางคนก็เรียนด้วยวิธีนี้อยู่)

๓.     ภาษาไทยไม่มีไวยากรณ์ เป็นเหตุให้คนไทยแทบไม่มีความคิดรวบยอดกับเรื่องนี้  พอไปเจอไวยากรณ์อังกฤษที่โถมมาหาราวกับสึนามิ  ก็เลยเป็นเรื่องเหลือบ่ากว่าแรง  ต้องฝืนใจเรียนแบบข้อสองเพื่อสอบให้ได้ก็พอแล้ว

        ส่วนใหญ่เราเรียนกันแค่นี้  ถึงผ่านมาได้ก็ยังใช้งานไม่ได้ เพราะรู้ตัวดีว่า ที่แล้วมาหลายต่อหลายปีนั้นยังไม่ได้เรียนภาษาอังกฤษจริงๆ เลย

        ในอดีต  เราสอนและเรียนสิ่งที่มีชื่อว่าวิชาภาษาอังกฤษกันอย่างนี้เป็นส่วนมาก  และครูอังกฤษจำนวนหนึ่งก็ถูกผลิตมาอย่างนี้ แม้ปัจจุบันนี้ สถานการณ์เช่นนี้ก็ยังไม่หมดไปจากวงการศึกษาของเรา  เพราะเรายังสามารถพูดในแง่บวกได้อยู่ว่า นี่คือความแข็งแกร่งทางวัฒนธรรมของเรา

         แต่ละข้อข้างต้นนี้  สามารถอภิปรายต่อได้อีกยืดยาว และสามารถดึงเหตุปัจจัยด้านอื่นๆมาเกี่ยวข้องได้อีกมากมาย

   

หมายเลขบันทึก: 431458เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2011 21:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อ่านเพลินเลยค่ะอาจารย์

มุมมอง ข้อคิดของอาจารย์เยี่ยมมากเลยค่ะ ว

กำลังช่วยลูกชายที่สะกดคำ วรรณยุกต์ไม่ค่อยถูกอยู่ค่ะ

เพราะไม่ค่อยชอบเขียน ต้องคอยบังคับให้เขียน

เอาแต่จำเสียง เวลาพูดนี่ แจ๋วไปเลย ห้ามอ่านที่เขาเขียนค่ะ เพราะคนละเรื่องกับที่พูด

ขำๆ ดี แต่บางครั้งก็ขำไม่ออก เพราะแม่เป็นครูให้ความสำคัญกับการอ่าน เขียนมาก

อ่านเพลินเลยค่ะอาจารย์

อาจารย์วิเคราะห์ได้ยอดเยีืยมมากค่ะ

กำลังแก้ไขลูกชายที่สะกดคำ วรรณยุกต์ไม่ค่อยถูก

เพราะลูกไม่ชอบเขียน ต้องบังคับให้เขียน ให้อ่านมากๆ

เขาชอบพูด พูดดี พูดถูกต้องส่วนใหญ่ คนละเรื่องกับการเขียน

โดยเฉพาะการสะกดคำ เพราะเอาแต่เสียงอย่างที่อาจารย์เล่า

แม่เป็นครู ให้ความสำคัญเร่ื่องการอ่าน การเขียน ต้องรีบแก้โดยเร็ว

เพราะขึ้นป.๕  ๑๐ ขวบกว่าแล้วค่ะ

เป็นคุณแม่ที่ดีสมชื่อแล้วครับ ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท