กุลมาตา
นาง ธันยา พิชัยแพทย์(นามสกุลเดิม) แม็คคอสแลนด์

รู้จัก "เอาใจเขามาใส่ใจเรา" เพื่อสังคมน่าอยู่กันดีกว่า


คุณอาจเคยได้ยินมาว่า รู้เขารู้เรา คิดอย่างศัตรูคิด จะรบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง แต่การหัดเขียนเถียงตัวเองอาจพาคุณไปได้ไกลกว่าชนะคนอื่น เพราะถ้าเถียงตัวเองดีๆ คุณอาจชนะตัวเอง ซึ่งแค่ทำได้เพียงครั้งเดียว ก็อาจกลายเป็นชนวนให้มองเห็นและเข้าใจตนเองได้อย่างถ่องแท้ ........และไม่ใช่เอาแต่ดูอารมณ์ตัวเอง แต่รู้จักดูอารมณ์คนอื่นด้วย ไม่ว่าจะบวกหรือลบ ไม่ว่าจะแผ่วหรือแรง การเห็นอารมณ์ของคนอื่นได้ตามจริง จะทำให้คุณรู้ชัดว่า ‘การเอาใจเขามาใส่ใจเรา’ อย่างแท้จริงนั้นทำกันอย่างไร (ดังตฤณ)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

“เอาใจเขาใส่ใจเราเข้าใจเหตุ

 แยกแยะเภทภัยใดมองให้เห็น

 ใช่เอาแต่ใจเราเขาก็เป็น

 รู้ร้อนเย็นเช่นกับเราต้องเข้าใจ

 .

สังคมใดไม่สงบพบภัยทั่ว

เพราะคนทรามลามชั่วมัวไม่ใส

คิดแต่เอาเข้าตัวมั่วนอกใน

ไม่เคยเห็นใจใครใส่ใจจำ

.

สังคมใดใฝ่แย่งแข่งชิงเด่น

คอยเขม่นเล่นลอกหลอกไม่ขำ

ชิงทุกอย่างกร่างทั่วเอาชั่วนำ

แม้แต่เด็กตาดำๆยังทำลง

.

เอาใจเขาใส่ใจเราเข้าใจบ้าง

แม่เขาสร้างทางให้ลูกปลูกเสริมส่ง

แกล้งแยกลูกแยกแม่แก่ยุยง

คนลวงหลงทำลงแลกคอยแดกดัน”

 

..

“กุลมาตา”

๑๖ มีนา ๒๕๕๔

..

 

 

สำนวนไทย “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” มีความหมาย

ตามพจนานุกรมไทย-ไทยฉบับราชบัณฑิตยสถานว่า

“ให้รู้จักเห็นใจผู้อื่น”

ส่วนสำนวนภาษาอังกฤษที่ความหมายใกล้เคียง ได้แก่

Put yourself in (someone's) shoes.

คือ เอาตัวเองมาใส่รองเท้าผู้อื่น

ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบที่น่าจะตรงกับความหมายของสำนวนไทย

ถ้าเป็นการทะเลาะกัน ก็อาจจะบอกว่า Put yourself in my shoes!

หรือ Try to put yourself in my shoes !

นี่คือกรณีที่อยากให้เขาเห็นใจเรา

แต่ไม่จำเป็นต้องเป็น my shoes อย่างเดียว

อาจจะเป็น Put yourself in his shoes !

หรือ Put yourself in their shoes ! แล้วแต่สถานการณ์

(อ้างอิงจาก http://zeous21.exteen.com)

หรือสำนวนนี้ The only way to have a friend is to be one.

ถ้าอยากมีเพื่อนก็ต้องทำตัวให้เป็นเพื่อน

คือรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรานั่นเอง 

(อ้างอิงจาก http://www.smartenglishkid.com) 

..

 

 

ดิฉันเชื่อว่า..ถ้าคนเรามีคุณธรรมตามสำนวนไทยโบราณสำนวนนี้ 

ข้อพิพาทบาดหมาง ตั้งแต่สังคมเล็กๆ

เช่น เพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมงาน สังคมเวบไซด์ 

จนถึงสังคมใหญ่ระดับชาติ ระดับโลก คงมีน้อยลงมาก 

สังคมสงบสุขที่ทุกคนใฝ่ฝันถึง คงเป็นไปได้ไม่ยาก

ขอนำธรรมะของคุณดังตฤณมาฝากท้ายบันทึกเรื่องนี้ค่ะ

..

 

 

วิธีทำความรู้จักตัวเอง

ดังตฤณ

จากบทก่อนเราคุยกันเรื่องการ ‘เขียนอย่างมีจุดยืน’ มาบทนี้คุยกันต่อเรื่องการ ‘เขียนเพื่อให้รู้จักตัวเอง’ หากคุณเขียนแล้วรู้จักตัวเองดีขึ้น แปลว่าคุณเริ่มเขียนแบบขจัดเมฆหมอกบดบังใจตัวเองเป็น และเมื่อคุณเขียนขจัดเมฆหมอกบดบังใจตัวเองได้ ก็ย่อมเขียนขจัดเมฆหมอกให้ใครอื่นทั้งโลกได้เช่นกัน เพราะผู้คนตกอยู่ภายใต้เมฆหมอกชนิดเดียวกัน โดยเนื้อแท้ไม่ได้แตกต่างกันสักเท่าไรเลย

แต่ถ้ากระทั่งตัวคุณเอง คนที่คุณเห็นจะจะอยู่เดี๋ยวนี้ คนที่คุณสามารถรู้เข้าไปกระทั่งความรู้สึกนึกคิดในหัวเดี๋ยวนี้ คุณยังไม่รู้จัก ไม่อาจอธิบายที่มาที่ไปของความรู้สึก กับทั้งไม่อาจแก้ปัญหาทางใจให้คลี่คลายได้สำเร็จ แล้วคุณจะไปรู้จักใคร คุณจะอธิบายหรือแก้ปัญหาให้ใครอื่นที่มีความลึกลับมากมายปิดบังอยู่อย่างไรไหว?

เริ่มต้นบทนี้คือการสันนิษฐาน ว่ามนุษย์ทุกคนมีเมฆหมอกห่อหุ้มตนเอง ปิดบังตนเองจากการรับรู้ของตนเองอยู่ เพราะมนุษย์ทั้งหลายเคยชินที่จะเข้าข้างตนเอง และมองคนอื่นด้วยอคติกันเกือบทั้งสิ้น กล่าวได้ว่าทั้งชีวิตของคนส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อมองมุมเดียว เห็นอยู่มุมเดียว เท่าที่สายตาและความคิดของตนเองบีบให้เห็น

ฉะนั้นทางที่จะรู้จักตนเอง คงไม่ใช่ด้วยการระบายความในใจเหมือนเขียนไดอารี่ ข้อเท็จจริงคือ การเขียนไดอารี่อาจเป็นการส่งเสริมให้คนชอบเข้าข้างตัวเอง ยิ่งห่างไกลจากการทำความรู้จักตนเองเข้าไปใหญ่ แท้ที่จริงแล้ว คุณจะรู้จักตัวเองได้ดีที่สุดจากสายตาของคนอื่น ไม่ใช่จากสายตาของคุณเอง

แต่การนั่งจับเข่าคุย ขอคำปรึกษา ขอคำวิจารณ์จาก ‘คนอื่น’ นั้น เขาก็อาจมีเวลาไม่มากพอจะเห็นคุณได้ถนัด หรือบางทีเห็นถนัดแต่เกรงว่าวิจารณ์ตรงไปตรงมาขวานผ่าซากแล้วคุณจะช้ำใจ ฉะนั้นทางออกคือใช้ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนดีกว่า ถ้ากล้าวิจารณ์ตัวเอง ก็นับว่าได้คนรู้ไส้รู้พุงคุณมากที่สุดมาใช้งาน ไม่มีใครในโลกเหมาะไปกว่านี้อีกแล้ว

คำถามคือ เขียนอย่างไรจะใช้คนที่รู้ไส้รู้พุงคุณดีที่สุด อันได้แก่ตัวคุณเอง ให้มองคุณด้วยสายตาของคนอื่น ต่อไปนี้คือแบบฝึกหัดเพื่อเขียนให้เข้าเป้าเช่นนั้นครับ

๑) หัดเขียนเถียงตัวเอง

ปกติคนเราจะเข้าข้างแต่ตัวเองและพวกของตัวเอง ไม่ค่อยมีโอกาสได้คิดแบบที่ฝ่ายตรงข้ามคิด ส่วนใหญ่ต้องใช้เวลาแรมเดือนแรมปี จึงค่อยมีโอกาส ‘ตกที่นั่งฝ่ายตรงข้าม’ คือจำเป็นต้องคิด ต้องพูด หรือต้องทำแบบคนที่คุณเคยด่า หรือคนที่คุณเคยไม่ชอบใจ

การรอให้เหตุการณ์พาไปนั้นอาจไม่ค่อยได้ประโยชน์ เพราะคุณอาจลืมความรู้สึกนึกคิดหรืออุดมคติแบบเดิมๆไปแล้ว เช่น คุณเคยด่าทอพวกมีอำนาจวาสนา ว่าไม่เห็นหัวคนไร้อำนาจ เอาแต่ใช้อำนาจกดขี่ข่มเหง เอาเปรียบผู้น้อยทุกวิถีทาง คุณนึกเคียดแค้นชิงชัง คุณประณามเขาสารพัด คุณอยากให้คนมีอำนาจทำอย่างนั้นทำอย่างนี้ แต่ถึงวันหนึ่งเมื่อมือคุณถืออำนาจเยี่ยงนั้นบ้าง จึงค่อยรู้ว่ารสชาติเป็นอย่างไร กับทั้งทราบแก่ใจว่า ‘ความเห็นแก่ตัว’ ที่เป็นเงาตามอำนาจวาสนามานั้น ใหญ่โตยากเอาชนะปานไหน ถึงเวลานั้นคุณจะยืนคนละฝั่ง กลายเป็นคนละคนกับพวกที่ชอบด่า ชอบประณามผู้มีอำนาจวาสนาอย่างสิ้นเชิงแล้ว

ฉะนั้นอย่ารอ ต้องเอากันสดๆ คนเราผ่านประสบการณ์ ผ่านร้อนผ่านหนาวกันมาทั้งนั้น แม้คุณไม่เคยมีอำนาจวาสนาระดับโกงบ้านโกงเมืองได้ แต่อย่างน้อยคุณก็ต้องเคยมีอำนาจหรืออิทธิพลพอจะเอาเปรียบใครบางคนใกล้ตัวบ้างเป็นแน่

คราวหน้าเมื่อเกิดเรื่องถกเถียงกับใคร ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ไม่ว่าขัดใจกันนิดหน่อยหรือถึงขั้นหน้าดำหน้าแดงแทบต้องวางมวยกัน ไม่ว่าคุณจะอยู่ในวงหรืออยู่นอกวง รอให้สงบสติอารมณ์สักพักแล้วเริ่มลงนั่งเขียน เขียนทุกคำเท่าที่นึกได้ของคุณเป็นย่อหน้าแรก และของเขาเป็นอีกย่อหน้าถัดมา แล้วขึ้นย่อหน้าใหม่เป็นของคุณอีกไปเรื่อยๆ โต้ตอบกันตามที่เคยเกิดขึ้นจริงโดยไม่บิดเบือนคำใดๆ

ขอให้เหตุการณ์โต้ตอบหรือโต้เถียงเกิดขึ้นอีกครั้ง ต่างแต่ว่าคราวนี้ขอให้ใจคุณเหมือนเป็นคนนอก ไม่ถือหางเข้าข้างฝ่ายไหนทั้งสิ้น เขียนเหมือนนักประพันธ์ที่ให้ตัวละครสองตัวทะเลาะกัน โดยนักประพันธ์นั้นหาได้รักหรือชังตัวละครใดเลย

ตัวอักษรอาจปลุกจินตนาการ อาจเร้าโทสะของคุณขึ้นมาอีกรอบ นั่นเป็นเรื่องธรรมชาติ เมื่อเกิดโทสะ ขอจงระลึกให้ทันว่าขณะนั้นคุณเกิดอาการเข้าข้างตัวเองขึ้นแล้ว ให้ทำเฉยๆไม่รู้ไม่ชี้ บอกตัวเองว่าคุณกำลัง ‘หัดเถียงตัวเอง’ ไม่ว่าตัวเองจะเป็นฝ่ายผิดหรือฝ่ายถูก วิธีเถียงตัวเองคือ เขียนเพิ่มเติมเหตุผลดีๆเท่าที่จะคิดออกให้กับฝ่ายตรงข้าม เขาพูดคำไหนขาดไปก็เสริมให้ เขาพูดคำใดเกินไปก็ตัดออก จนฟังดูเข้าท่า สมเหตุสมผลที่สุดเท่าที่คุณจะเขียนได้

การทำเช่นนี้จะก่อให้เกิดมุมมองและอารมณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน เขียนไปเพียงครู่เดียวคุณจะรู้สึกเข้าใจฝ่ายตรงข้ามราวกับเป็นฝ่ายสนับสนุนเขา และยิ่งเขียนนานขึ้นเท่าใด ใจคุณจะยิ่งซึมซับรับรู้ความรู้สึกนึกคิดของฝ่ายตรงข้ามอย่างชัดเจนราวกับเป็นตัวเขาเสียเอง ณ จุดนั้นคุณจะเห็นตัวเองถนัดในห้วงมโนทวาร ราวกับเห็นด้วยสายตาภายนอก

ย้ำนะครับว่าความผิดความถูกยกไว้ก่อน เอาทิ้งน้ำไปเลย ข้อนี้เราเน้นแค่เถียงตัวเองให้เป็น การเถียงกับตัวเองจะทำให้รู้จักซัก รู้จักคิดในแบบที่ไม่เคยคิด และคุณอาจโดนคาดคั้นในแบบที่ไม่เคยมีใครทำกับคุณได้มาก่อน เนื่องจากรู้ความลับและเบื้องหน้าเบื้องหลังของตนเองดีกว่าใครในโลก

คุณอาจเคยได้ยินมาว่า รู้เขารู้เรา คิดอย่างศัตรูคิด จะรบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง แต่การหัดเขียนเถียงตัวเองอาจพาคุณไปได้ไกลกว่าชนะคนอื่น เพราะถ้าเถียงตัวเองดีๆ คุณอาจชนะตัวเอง ซึ่งแค่ทำได้เพียงครั้งเดียว ก็อาจกลายเป็นชนวนให้มองเห็นและเข้าใจตนเองได้อย่างถ่องแท้

หลังจากนั้นคุณจะพบสัจธรรมข้อหนึ่ง คือยิ่งเขียนมากขึ้นเท่าใด กลุ่มอักษรจะยิ่งเป็นกระจกเงาสะท้อนให้เห็นตัวคุณเองมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้กำลังเขียนถึงคนอื่นอยู่ก็ตาม

๒) หัดเขียนจาระไนความรู้สึกฝ่ายตรงข้าม

ปกติคนเราจะเห็นแต่ความรู้สึกของตัวเอง ทราบแต่ว่าตัวเองอยากได้อะไร ไม่เคยรับรู้ว่าอีกฝ่ายรู้สึกแบบไหน อยากได้อะไรจากคุณบ้าง

เริ่มต้นขอให้นึกถึงคนที่ ‘เฉยๆ’ กับคุณ ไม่ได้รักไม่ได้ชังคุณ แล้วเขียนข้อความตามที่คุณคุยกับเขาครั้งสุดท้าย เอาเท่าที่นึกออกทั้งฝั่งคุณและฝั่งเขา แบ่งคำพูดของแต่ละฝ่ายเป็นหนึ่งย่อหน้า และระหว่างย่อหน้าขอให้แทรกเอาคำบรรยายความรู้สึกของอีกฝ่ายที่มีต่อคุณไว้ด้วย ไม่ต้องสนใจว่าผิดหรือถูก คุณรู้ความรู้สึกของเขาตรงจริงหรือคลาดเคลื่อน เพราะ ณ ที่นี้เราต้องการแค่ฝึกเขียนจาระไนความรู้สึกของใครอีกคนที่ไม่ใช่คุณ

ยกตัวอย่างเช่น คุณอาจเขียนเหมือนฉากหนึ่งในนิยาย นับตั้งแต่คุณก้าวเดินเข้ามา เขาเห็นคุณท่าทางเป็นอย่างไร รู้สึกว่าคุณซอมซ่อหรือขี้เต๊ะ รู้สึกอยากเปิดปากคุยกับคุณหรืออยากไล่คุณไปไกลๆในทันที ฯลฯ

จากนั้นเมื่อเริ่มทักทายประโยคแรก เขารู้สึกอย่างไรจึงตอบคุณอย่างที่เขาตอบ เขาร่าเริงหรือเฉยชา เขาเต็มใจหรือฝืนใจ นึกถึงภาพที่เคยเกิดขึ้นให้ชัด ภาพที่ชัดจะขุดเอารายละเอียดทางอารมณ์ฝั่งของเขามาบอกคุณเอง คุณจะพบว่าบางทีการนึกทบทวนเหตุการณ์ที่ผ่านไปแล้ว อาจให้ภาพและอารมณ์ของฝ่ายตรงข้ามชัดเจนกว่าขณะกำลังเกิดขึ้นเสียอีก

เมื่อจบบทฝึกแรกและคุณยังสนุกอยู่ ขอให้เขียนต่อไปเลย เลือกเอาคนที่หมั่นไส้คุณ คนที่คุณคิดว่าเขาริษยาคุณ หรือกระทั่งคนที่คุณมั่นใจว่าเขาเกลียดคุณ ยิ่งบรรยายความรู้สึกของเขาได้ละเอียดลออเพียงใด คุณจะยิ่งเข้าใกล้สัมผัสทางอารมณ์ของมนุษย์อื่นๆมากขึ้นเท่านั้น

แม้คุณพบปะพูดคุยกับใครในโลกความจริงครั้งหน้า ก็เหมือนความสังเกตสังกาของคุณเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่เอาแต่ดูอารมณ์ตัวเอง แต่รู้จักดูอารมณ์คนอื่นด้วย ไม่ว่าจะบวกหรือลบ ไม่ว่าจะแผ่วหรือแรง การเห็นอารมณ์ของคนอื่นได้ตามจริง จะทำให้คุณรู้ชัดว่า ‘การเอาใจเขามาใส่ใจเรา’ อย่างแท้จริงนั้นทำกันอย่างไร

ประเด็นคือเมื่อเอาใจเขามาใส่ใจเราเป็น งานเขียนของคุณจะหลุดจากกรอบของความรู้สึกฝั่งของตนเองได้ อาจจะชั่วขณะหรืออาจจะถาวร ขึ้นอยู่กับการฝึกฝนตนเองให้ต่อเนื่อง

๓) หัดเขียนเพ่งโทษตนเอง

ปกติคนเราจะโทษคนอื่น ไม่อยากโทษตัวเอง แม้ส่วนลึกจะรู้อยู่แก่ใจว่าตนเองผิด ก็ยังอยากหาแพะรับบาปจนได้ พอพอกนิสัยเพ่งโทษมากเข้า ไม่เอาความผิดเข้าตัวเลย อาการก็อาจหนักเข้าขั้นปิดกั้นไม่รับรู้ความจริงใดๆ คนว่าคุณผิดนั่นแหละผิด คือผิดที่มาว่าคุณผิด ไม่ว่าความผิดนั้นจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่จริงก็ตาม

ขอให้นึกถึงเรื่องที่คุณกำลังเป็นคดีหรือเกิดกรณีร้ายกับใครสักคนหรือสักกลุ่ม ไม่ว่าเป็นการทะเลาะเล็กหรือทะเลาะใหญ่ ให้เอาเรื่องนั้นเป็นตัวตั้ง ลำดับให้ถูกว่าเหตุการณ์ตั้งต้นจากใครก่อน จากนั้นจาระไนให้ชัดว่าใครเป็นผู้เสียประโยชน์ และคุณมีส่วนทำให้เกิดการเสียประโยชน์นั้นอย่างไร

ไม่ต้องเว้นนะครับ ถ้าคุณเองเป็นผู้เสียประโยชน์ และไม่ต้องเว้นเช่นกัน แม้คุณมีส่วนแค่ ‘ปรากฏตัว’ อยู่ในที่เกิดเหตุให้เสียประโยชน์

เรื่องยากที่สุดในโลกอาจเป็นการถอดเกราะบังตาไม่ให้เห็นความผิดของตัวเอง แต่เมื่อผ่านแบบฝึกหัดสองข้อแรกมาได้ ถึงข้อนี้คุณจะรู้สึกว่าง่ายลงมาก และเมื่อผ่านข้อนี้ได้ ก็เหมือนจะไม่มีเกราะใดในโลกที่บังตาคุณได้อีก

เมื่อเก่งกาจขนาดเพ่งโทษตนเองยังทำได้ คุณจะเห็นคนอื่นตามที่เขาเป็นจริงๆ ไม่ใช่เพราะอยากหรือไม่อยากให้เขาเป็น

เมื่อผ่านแบบฝึกหัดทั้งสามข้อมาได้ ก็ได้ชื่อว่าคุณเริ่มรู้จักตัวเองผ่านสายตาของคนอื่น และเมื่อรู้จักตัวเองผ่านสายตาของคนอื่น สิ่งที่เป็นผลอย่างแน่นอนคือ ใจคุณต้องกว้างขึ้นกว่าเดิมมาก

เมื่อเป็นคนใจกว้าง แล้วกลับมาอ่านหนังสือธรรมะต่างๆดู คุณจะเห็นความจริงประการหนึ่งคือ ธรรมะของคนใจแคบไม่มีทางน่าสนใจ

แก่นสารของการมีชีวิตอยู่ที่จิต ถ้าไม่มีกิเลสบดบังจิตอยู่เลย จิตจะสว่างกระจ่างแจ้งดุจดวงจันทร์ไร้เมฆหมอก คนเราจะเริ่มฉลาดจริงก็ตอนเลิกเข้าข้างตัวเองและมีใจเปิดกว้างรับรู้ความจริง คุณจะเขียนธรรมะได้น่าสนใจก็ต่อเมื่อใจคุณเปิดกว้างอย่างปราศจากอคติ ไม่รักใคร ไม่เกลียดใคร กับทั้งไม่หลงนึกว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางธรรมะ เป็นผู้พิพากษาธรรมะ

ก่อนจบบทขอทำความเข้าใจทิ้งท้ายไว้นิดหนึ่งนะครับ บางคนเป็นโรคชนิดหนึ่ง แกล้งด่าตัวเอง คนอื่นจะได้ไม่ต้องมาต่อว่าเสริมเติมอะไรอีก เพราะตนเองด่าไว้หมดแล้ว โปรดทราบว่าโรคชนิดนี้ไม่ได้ช่วยให้คุณรู้จักตัวเองดีขึ้น การทำความรู้จักกับตัวเองไม่ใช่การหาเรื่องด่าตัวเอง คุณต้องเขียนทุกคำให้สมเหตุสมผล เมื่อเขียนอย่างสมเหตุสมผล จิตใจคุณจะรู้สึกได้ถึงความเป็นกลางในตัวเอง และเกิดความเห็นกระจ่างราวกับรักษาสายตาจากโรคตาสั้นตายาว กลับคืนเป็นปกติ มองเห็นโลกแจ่มชัดปราศจากหมอกมัวใดๆครับ

 

          (อ้างอิงจาก http://dungtrin.com/mag/?7.angel)

 

หมายเลขบันทึก: 431401เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2011 15:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

สวัสดีค่ะคุณกลมาตา

  • ถ้าทุกคนรู้จักคิดถึงคนอื่นมากกว่านี้ ปัญหาต่างๆคงน้อยลงนะคะ

คุณยาย ค.ห.๑

 

เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะ เป็นการลดทิฐิ อัตตา ความมีตัวตน

แม้ทำยาก แต่ก็ควรพยายาม ค่อยๆลดละไปทีละเล็กน้อยค่ะ

ขอบคุณภาพดอกไม้สวยๆนะคะคุณยาย

 

มาอ่านบันทึกนี้ได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษเลยนะครับ

สอบเสร็จกันแล้วมีเวลาอ่านบันทึกมากขึ้นเปล่าครับ

หรือมัวแต่เดินสายสัมมนาเหมือนทางนี้

คุณโสภณ ค.ห.๒

 

ปีการศึกษา ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา ไม่ได้สอนที่ราชมงคลตะวันออกแล้วค่ะ

เขาลดกลุ่ม เพราะอะไรไม่แน่ใจค่ะ น่าจะลดหรือตัด ปวส. ออก

เลยไม่มีสอน ก็ไปสมัครที่อื่นเอาไว้ พอดีลูกป่วย ต้องเอาออกจากรร.

เลยไม่ได้สอนเลยค่ะ รอลูกเข้ารร.ใหม่ปีการศึกษา ๒๕๕๔

แล้วค่อยดูว่าจะสมัครงานที่ไหนใกล้รร.ใหม่

ตอนนี้เลยเหมือนปิดเทอมมาตั้งแต่มิถุนาค่ะ ลืมเรื่องข้อสอบ การสอนไปเลย

พาลูกไปบำบัด ทำโฮมนิดหน่อย เน้นให้เขาพัก ๑ ปี อายุน้อยด้วยค่ะ

เพิ่งเต็ม ๑๐ ขวบ เมื่อธันวาที่ผ่านมา พักไปก็ไม่เสียหายอะไร

ได้ประเมินอาการลูก รู้ว่าอยู่ตรงไหน ใกล้ชิดลูก ๒๔ ชม.เกือบทุกวัน

ทำให้เห็นเรื่องที่ต้องแก้ไขทั้งตัวเรา ทั้งลูกค่ะ

 

การมองเห็นตัวตนของตนเองแม้จะดูเหมือนง่ายแต่ทำได้ยากสำหรับบางคน

เพราะธรรมชาติของคนเรามักจะมองและเข้าข้างตัวเองเป็นอันดับแรก

ทุกวันนี้จึงต้องให้คนอื่นมองเราและบอกตัวเราเอง..

หากเราหันมาเอาใจใส่ตัวเราเองพร้อมทั้งมองตัวเองด้วยใจเป็นกลางแล้วเชื่อว่า...

เราจะสามารถ...เอาใจเราไปใส่ใจเขา...ได้โดยไม่ยากนะคะ

เมื่อได้ใจเขาแล้ว  สิ่งที่ตามมาย่อมจะหมดปัญหาค่ะ..

คุณkrugui Chutima ค.ห.๓

 

ขอบคุณข้อคิดดีๆ ที่คุณครูมาร่วมแสดงความคิดเห็นค่ะ

คนอื่นมองเรา ก็ต้องดูด้วยว่า เขามองเราตามที่เราเป็นจริง

ครูบาอาจารย์ทางธรรม กัลยาณมิตรเท่านั้น ที่มองเรา เตือนเราตามเป็นจริงค่ะ

ถ้าเป็นฝ่ายตรงข้ามล่ะก็..ส่วนใหญ่ที่เขาว่า สะท้อนตัวเขามากกว่าค่ะ หลอกลวงทั้งนั้น

แต่ก็ต้องขอบคุณเขา ที่ทำให้เรารู้เท่าทัน ใครหลอก ใครจริงค่ะ

 

 

สวัสดีค่ะ

โลกจะเกิดสันติสุขมากยิ่งขึ้น  หากรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา

ลดเอาผลประโยชน์ เพิ่มการให้ประโยชน์  คงจะเปลี่ยนแปลงอะไรๆ ได้อีกมากมายนะคะ

สวัสดีค่ะ

บางครั้งการเอาจิตเรามาอยู่ในตัวเรา ดีกว่าการส่งจิตไปอยู่ข้างนอก ไปรับรู้แล้วแปลมาให้เศร้าหมอง

เข้าใจว่าคุณกุลมาตาได้เคยตอบหรืออธิบายให้คนที่เข้ามาทำความไม่สบายใจไปบ้างแล้ว meepole เมื่อเจอสิ่งที่คิดว่าไม่ถูกต้องจะอธิบายให้เข้าใจ หรือพูดครั้งเดียวเท่านั้น หลังจากนั้นจะไม่พูดอีกเลย (แต่จะดูคน และเรื่องด้วย ถ้าไม่มีสาระ ไม่พูด เพราะไม่มีประโยชน์ )

การดูคน ถ้าคนพาล โมหะจริตมากไปก็ไม่ต้องโต้ตอบ เพราะพื้นฐานชีวิตแต่ละคน มีทุนที่สะสมของครอบครัวมาไม่เท่ากัน จะทำให้ทุกคนเข้าใจเราหมดย่อมไม่ได้ และหากเราแน่ใจว่าเราได้ปฎิบัติดีแล้วก็ไม่ต้องสนใจว่าใครจะว่าอะไรเรา (ยกเว้นคนดี เตือนต้องหยุดฟัง) ไม่งั้นจิตเราจะขุ่นมัวตลอด เอาเวลาที่มีค่าอยู่กับสิ่งที่ดี มีประโยชน์จะดีกว่า ค่ะ :)

เป็นกำลังใจให้นะคะ

ครูนาย ค.ห.๔

ขอบคุณความคิดเห็นดีๆ เพื่อส่วนรวมของคุณครูนายค่ะ

หวังว่าคนส่วนใหญ่ ก็คงอยากได้โลกที่สงบ มีแต่สันติ

มากกว่าแก่งแย่งชิงดีกันนะคะ

 

mee_poleค.ห.๕

 

ขอบคุณความคิดเห็นดีๆ ค่ะ คุณmee_pole

การฝึกฝนที่จะหยุดที่ใจเรา คือไม่ส่งจิตออกภายนอก เพื่อเพ่งโทษคนอื่น ถูกต้องค่ะ

ส่วนการ"เอาใจเขามาใส่ใจเรา" นั้น คิดเอาเองว่าเป็นเรื่อง "พรหมวิหาร ๔"

คือเมื่อเราต้องพบปะ เกี่ยวข้องกับบุคคลอื่น เพราะเราไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก

การมีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา กับผู้ที่เราต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์

เป็นธรรมสูงสุดที่ควรระลึกและฝึกฝนค่ะ เพื่อปฏิบัติกับคนอื่นอย่างไม่เบียดเบียน

วิธ๊ที่คุณmee_pole อธิบาย เห็นด้วยค่ะว่า ครั้งเดียวจบ โดยเฉพาะคนที่อวิชชา

ไม่รับรู้อะไรทั้งนั้น ดื้อรั้นจะทำ จะเบียดเบียน

แต่สำหรับกัลยาณมิตรที่ดี เตือนเรา ควรฟังจริงๆ ซึ่งผู้ปฏิบัติธรรมได้จริง

ก็ไม่ค่อยพูดซ้ำหลายครั้งค่ะ มักเตือนเมื่อเราขอคำปรึกษาและกระหนาบให้เราหยุดที่ใจเรา

ซึ่งเราก็ต้องไปทำเมื่อเจอเหตุการณ์จริง ทำได้ก็สงบค่ะ

ขาดสติตอบโต้ก็เป็นวิบากกันต่อไป เป็นแบบทดสอบการปฏิบัติธรรม

รู้เท่าทันใจเราจริงๆค่ะ

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท