การมองตนเองเพื่อสร้างเป้าหมายในชีวิต


    สวัสดีอีกครั้งครับ ท่านผู้อ่านที่สนใจทุกท่าน พบกันเช่นเคยกับบล็อก "คุยกันวันเสาร์-อาทิตย์" วันนี้เป็นวันอาทิตย์ที่ 13 มีนาคม 2554 วันนี้เลยขอพูดถึงเรื่องที่เคยพูดค้างไว้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา นั่นคือ การมองตนเองกับความสำคัญและสัมพันธ์ต่อชีวิตและการปฏิบัติงานที่มีอยู่ด้วยกัน 5 ประเด็นด้วยกัน วันนี้ ผู้เขียนจะขอนำประเด็นแรกมาพูดคุย นั่นคือ เรื่อง "เป้าหมายในชีวิต" ครับ
 
    ก่อนอื่นผู้เขียนมาเล่าประสบการณ์ของผู้เขียนเอง ที่เคยได้พูดคุยสอบถามกับรุ่นน้อง ว่า "เรียนจบแล้วจะไปต่ออะไร" หรือ "เรียนจบจะไปทำงานที่ไหน" มักได้รับคำตอบว่า "ยังไม่รู้เลยพี่" "ไม่รู้ไม่แน่ใจ" "ยังงัยก็ได้ครับพี่" ทำให้ผู้เขียนมองตนเองไปตอนที่เรียนจบใหม่ๆ ตอนนั้นแม้แต่ผู้เขียนเองก็มักจะพูดเช่นนั้นเหมือนกัน คือ ยังไม่รู้หรือไม่ได้คิด วางแผนไว้ก่อน
  ครั้นพอทำงานใหม่ๆ เมื่อเจอคำสัมภาษณ์ว่า คิดว่าทำงานที่นี่แล้วอยากเป็นอะไร ผู้เขียนเองมักตอบว่า "มั้ง" หรือ"ไม่รู้" หรือ "ไม่แน่ใจ"แม้กระทั่งเวลากินข้าว ใครถามก็จะพูดว่า "ยังไม่รู้จะกินอะไรเลยพี่" แม้เวลาทำงาน ผู้เขียนก็มักจะติดปากคำพูดเหล่านี้อยู่เสมอ จนกลายเป็นเรื่องเคยชิน ถือเป็นเรื่องปกติ
 ที่นี้ คำพูดว่าไม่รู้หรือไม่แน่ใจนั้น มีสองแบบคือ แบบไม่รู้เลยจริงๆ กับแบบแกล้งทำเป็นไม่สนใจ ไม่ยอมรับรู้ ซึ่งในตอนแรกผู้เขียนยอมรับว่า เกิดจากความไม่รู้จริง แต่พอพูดบ่อยจนเกิดความเคยชิน ก็กลายเป็นว่า รู้แต่ไม่สนใจ หรือไม่ยอมรับรู้ไปเสีย
    จนกระทั่งวันหนึ่งที่ผู้เขียนเอง ได้นั่งอยู่ในวงพูดคุยของเพื่อนๆ ซึ่งพวกเขาพูดถึงเหตุการณ์หนึ่งๆ ที่เราไม่สนใจและไม่ได้ไปเรียนรู้ร่วมกับพวกเขา ครั้งนั้น เมื่อถูกเพื่อนๆ ถามแต่ผู้เขียนกลับตอบไม่ได้ จึงนั่งนิ่งฟังเขาแบบไม่สนใจ จนเพื่อนๆ เริ่มพูดกันว่า "ถามอะไรไปก็ไม่รู้อะไรสักอย่าง ไม่อยากถามแล้ว" แต่พอช่วงหนึ่งที่เพื่อนพูดในสิ่งที่เขาไม่รู้แต่เป็นสิ่งที่ผู้เขียนรู้แต่ทำเป็นไม่สนใจไม่รู้เสีย ผู้เขียนกลับพูดในส่วนนั้นได้ ทำให้เพื่อนๆ เริ่มพูดกันว่า "อ้าวทำไมรู้แล้วไม่ยอมบอก" "รู้แล้วอมภูมิแน่เลย"
    จากเหตุการณ์ในครั้งนั้น ทำให้ผู้เขียนได้คิดพิจารณา และมองตนเองค้นพบตนเองว่า เพราะความไม่สนใจนี่เอง ที่เป็นจุดอ่อนในตัวเรา นั่นเพราะเราไม่สนใจใฝ่รู้ หรือรู้แต่ก็ไม่สนใจจะเรียนรู้อีก ทำให้การพัฒนาตนเองเกิดการสะดุด ทำให้เราปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ นั่นคือ เข้ากับเขาไม่ได้ รู้ไม่เท่าทันเขา รู้ไม่เท่าทันเหตุการณ์หรือความเป็นไปโดยธรรมชาติ ตามธรรมชาติ ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ แล้วอะไรคือบ่อเกิดความไม่สนใจในครั้งนั้น
   หลังจากใช้เวลาช่วงหนึ่งเมื่อค้นหาจนพบว่า บ่อเกิดความไม่สนใจ คือประการหนึ่งคือตัวเราเอง อันเกิดจากอารมณ์ ในจิตใจของตนเอง นั่นคือในยึดติดในเรื่องของ ความรัก ความต้องการ ความโกรธ ความหลง อันเป็นบ่อเกิดของอคติที่เข้าครอบงำตัวให้ยึดติดตามอารมณ์นั้น ทำให้ ไม่สนใจเพราะมีความหลงผิด เพราะคิดว่า มันไม่ใช่เรื่องของเรา,ไม่สนใจเพราะความโกรธ ทั้งในตัวบุคคล คือผู้พูดผู้ฟัง หรือในสภาวะจิตใจที่กระทบ เช่น อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี บรรยากาศไม่ดี ,ไม่สนใจเพราะขาดความต้องการที่จะสนใจ เช่น หัวข้อไม่เหมาะสม วิทยากรไม่น่าสนใจ ช่วงเวลาไม่เหมาะสม หรือเกิดจากการปฏิบัติซ้ำๆ บ่อยจนเกิดความเบื่อหน่าย,ไม่สนใจเพราะความรัก รักในจะฟัง จะอ่านในสิ่งอื่นๆ อยู่ เลยยึดติดเมื่อให้ฟังสิ่งอื่นๆ ก็เกิดความไม่สนใจ
   อีกประการหนึ่ง นั่นคือ เกิดจากขาดความเข้าใจ หรือเกิดจากความไม่รู้ เช่นพูดอะไร ทำอะไร ก็ไม่รู้เพราะไม่ได้รับการเรียนรู้ การถ่ายทอดหรือ การสอนสั่งให้ปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง
 
ตามหาตนเอง จนพบตัวตนแท้จริง
  ผู้เขียนพบว่า เพราะความไม่สนใจจากตัวเรานี่เอง ทำให้เกิดความหลงลืมในเหตุการณ์ เรื่องราว และความรู้ ของเราเสีย จากเหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้ผู้เขียนได้รู้ว่า ยังมีอีกหลายอย่างที่เรายังต้องเรียนรู้อยู่เสมอ แม้กระทั่งตัวเราเอง ธรรมชาติรอบข้างของเรา เราจำเป็นต้องเรียนรู้อยู่กับปัจจุบันขณะ ต้องทบทวน ต้องพิจารณา ต้องดูแลสุขภาพร่างกาย อารมณ์ จิตใจ และความคิดของตัวเราเองอยู่ทุกๆ วัน หาความเหมาะสมหรือสมดุลให้กับตนเอง  ผู้เขียนมักบอกกับตนเองเสมอว่า เราจะอยู่โดยไม่แสวงหานอกเหนือจากความสมดุลของตนเอง อะไรที่สุญเสียย่อมมีทดแทน อะไรที่ขาดหายย่อมมีเพิ่มเติม เพื่อให้รักษาสมดุลทั้งการดำเนินชีวิต และในเรื่องของงานเช่นเดียวกัน
    การตามหาตนเองนั้น ทำให้ผู้เขียนเริ่มต้นจากการมองถึงธรรมชาติ คือความเป็นไปในชีวิตของเราแต่ละวัน อย่างพิจารณา สิ่งเหล่านั้นทำให้ผู้เขียนเองพบว่า ในทุกวันที่เราไปทำงานนั้น เราทำเพื่ออะไร เพื่อสร้างคุณค่าให้กับตนเอง หรือเพื่อให้มีเงินทองเลี้ยงปากท้อง ?นั่นคือ การค้นพบตัวเองนั้น จำเป็นต้องอาศัยความซื่อสัตย์ให้กับตนเองอย่างมาก เพราะอารมณ์เรานั้นมันไว ไวในที่นี้หมายถึงมันเปลี่ยนแปลงบ่อยและรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา หากรู้ว่าถูกกระทบมันจะไม่ยอมรับในสิ่งนั้นทันที ไปว่าไปจี้จุดมันว่าไม่ดี มันก็บอกว่ามันดี นั่นคือเกิดทิฐิ คือต้องหาทางแสดง ซ่อนเร้น หรือกลบเกลื่อน อำพรางอารมณ์เบื้องลึก เก็บไว้เป็นปมด้อย หรือปมในใจยังมีอยู่ เหมือนกิ้งก่าชูคอ เอาสิ่งไม่ดีเก็บไว้แล้วชูแต่สิ่งที่ดีขึ้นมา ดังนั้น จึงจำเป็นต้องกระเทาะคืออาศัยความขยันเพียรรู้ อันเกิดจากการเรียนรู้กับตนเอง ทำให้ผู้เขียนรู้ถึงสิ่งที่เรามีอยู่ในเบื้องลึกของจิตใจตนเอง นั่นคือ สิ่งดีหรือจุดแข็ง และสิ่งไม่ดีหรือจุดด้อย ในตนเอง
  หลังจากผู้เขียนมองเห็นถึงจุดแข็งและจุดด้อยในตนเองแล้ว ปัญญาเริ่มเกิดขึ้น นั่นคือเกิดความคิดที่จะวางแผนกำหนดว่าจะทำอย่างไรให้ลบจุดอ่อนลงได้ และทำอย่างไรเสริมให้จุดแข็งให้แข็งยิ่งขึ้น นั่นคือเรื่องของการพัฒนาตนเอง ซึ่งก่อนที่จะพัฒนา ผู้เขียนได้เรียนรู้ที่จะตั้งคำถามซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า ทำไปทำไม? วางแผนเพื่ออะไร ?พัฒนาไปทำไม? นั่นคือการกำหนดทิศทางหรือเป้าหมายของชีวิตจากคำถาม แต่สิ่งหนึ่งเป็นอุปสรรคนั่นคือ อารมณ์ เพราะอารมณ์มันไวมาก แค่เพียงผู้เขียนตั้งคำถามถามไปเท่านั้น อารมณ์มันไม่ยอมรับ และตอบแย้งกลับมาเสมอ อารมณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้เขียนนั่นคือ ความอยากหรือความต้องการ ที่ทำให้ผู้เขียนไม่สามารถได้คำตอบจากตนเองในขณะนั้น และเมื่อคลายอารมณ์ลงแล้ว ให้จิตเริ่มนิ่ง ผู้เขียนค่อยพิจารณาต่อไป อย่างรู้ทันอารมณ์ กล่าวคือรู้ว่าความต้องการของตน ไม่ใช่คำตอบที่แท้จริงของตนเอง และได้พิจารณาถ่องแท้จึงรู้ถึงปัญญาที่ซ่อนลึกอยู่ในตนเองอันเป็นคำตอบที่แท้จริงให้กับตนเอง ซึ่งเกิดจากเหตุปัจจัย หรือเหตุและผล นั่นเอง

เมื่อเห็นเหตุปัจจัย ย่อมเห็นถึงเป้าหมายแท้จริงในชีวิต
     และเมื่อผู้เขียนได้พิจารณาถึงเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้น ที่ทำให้สามารถหาคำตอบที่แท้จริงให้กับชีวิตได้แล้วนั้น แต่เหตุปัจจัยดังกล่าว เป็นเพียงเหตุผลข้างเดียวหรือไม่ ? สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้เขียน พิจารณาตนเองอีกครั้ง จนมองเห็นว่า ทุกคนนั้น ย่อมมีเหตุปัจจัย เป็นที่มาซึ่งจะเหมือนกันหรือแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับกรรมหรือการกระทำ ที่จะนำเหตุปัจจัยดังกล่าวให้เกิดขึ้น ดังนั้น ทุกคนล้วนแต่มีเหตุปัจจัยแตกต่างกันออกไป นั่นคืออาจจะมีเป้าหมายของชีวิตแต่ละคนที่แตกต่างกันออกไปด้วย ดังนั้น เมื่อผู้เขียนได้พิจารณาแล้วจะเห็นว่า เหตุปัจจัยที่เกิดขึ้นย่อมมีทั้งจุดดีและจุดด้อย ผู้เขียนจึงต้องนำเอาจุดด้อยมาปรับปรุงให้เป็นจุดดี และนำข้อดีมาพิจารณาเพื่อเสริมให้ดียิ่งขึ้น โดยการพัฒนาตนเอง ทั้งทางร่างกาย จิตใจอารมณ์ และความคิด นั่นเอง
  และเมื่อผู้เขียนได้นำมาสิ่งที่ได้เรียนรู้มาพัฒนาตนเองได้ระยะหนึ่งแล้วนั้น พบว่า สิ่งที่เราได้พัฒนานั่นคืออะไร ? พัฒนาไปทำไม? อันหมายถึงระดับการพัฒนาไปสู่เป้าหมายหรือบรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้ ว่า ขณะนี้เราได้พัฒนาอยู่ในระดับใด และมองเห็นถึงเป้าหมายว่าจะมีวิธีการใดที่สามารถทำให้บรรลุวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ทำให้ผู้เขียนเริ่มมีกำลังใจที่จะพัฒนาต่อไป และผู้เขียนได้ค้นพบว่า สิ่งที่ได้กระทำมานั้น เพื่อไปสู่ทางแห่งความสุขแท้จริงในชีวิตนั่นเอง ซึ่งหากจะพิจารณาต่อไปนั้น ความสุขและความต้องการย่อมมีความแตกต่างกัน นั่นเพราะความต้องการ อาจจะมีความสุขปะปนเพื่อตอบสนองในสิ่งที่ต้องการเป็นบางครั้งบางคราว แต่อาจไม่ใช่ความสุขที่จีรังยั่งยืนแท้จริงในชีวิตของเรา ผู้เขียนจึงเกิดคำถามขึ้นมาอีกครั้งว่าแล้วอะไรคือความสุขแท้จริงในชีวิตของเรา

ความสุขแท้จริงในชีวิตคือ การสร้างความสมดุลตามธรรมชาติ
 ประเด็นนี้ผู้เขียนเองเคยหาคำตอบว่าความสุขที่แท้จริงในชีวิตคืออะไร?นั่นคือ มนุษย์เราทุกคนรวมทั้งตัวผู้เขียนเอง ย่อมเกิดจากธรรมชาติ มีธรรมชาติเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง เราเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติ นั่นคือ กาลและเวลา ดินฟ้าอากาศ ฤดูกาลที่แตกต่าง ภูมิประเทศที่แตกต่าง ย่อมเกิดขึ้นตามธรรมชาติที่จะส่งผลให้ มนุษย์ทุกคนเปลี่ยนแปลงไป  ความสมดุลตามธรรมชาตินั้น ไม่ใช่แค่ธรรมชาติที่เราเห็น เช่น ภูเขา ทะเล ต้นไม้ เพียงเท่านั้น แต่ยังหมายถึงความสมดุลตามธรรมชาติในตัวเราด้วย อันเป็นความสุขที่แท้จริงของชีวิต การสร้างความสมดุลตามธรรมชาติให้กับสิ่งแวดล้อมคือการควบคุม ที่เรียกว่า ดูแลเอาใส่ใจธรรมชาติ ให้มีความพอเพียง พอดี เพื่อรักษาสมดุลนั้นไว้ ไม่ใช่ควบคุมที่ต้องไปสร้างเครื่องมือควบคุมธรรมชาติ หากเราพิจารณาดูธรรมชาติคือสิ่งแวดล้อมของเรา จะเห็นว่า โลกของเราประกอบด้วย ดินหมายถึงแผ่นดิน น้ำหมายถึงทะเล มหาสมุทร ธารน้ำร้อนน้ำแข็ง ลมหมายถึงอากาศ และไฟหมายถึงพลังงานจากใต้พิภพ จากแสงอาทิตย์ ทุกสิ่งหากแต่จะเปลี่ยนแปลงตามสภาวะของมัน ตามธรรมชาติของมัน แต่หากมีการเปลี่ยนไปนอกเหนือจากธรรมชาติแล้ว ก็จะทำให้เกิดปัญหา เช่นเดียวกัน หากเรามองถึงธรรมชาติในตัวเราเอง นั่นคือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ธาตุทั้งสี่ อันแสดงให้เห็นเป็นรูปธรรมได้แก่ ร่างกายของเรา หรือแสดงให้เห็นเป็นนามธรรมได้แก่ ความคิด และอารมณ์จิตใจของเรา นั้น ก็เป็นสิ่งเราต้องควบคุม ที่เรียกว่า ดูแลเอาใจใส่ธรรมชาติคือตนเอง ให้มีความพอเพียง พอดี เพื่อรักษาสมดุลนั้นไว้ เราจะเห็นได้ว่า หากเราไม่ดูแลรักษาร่างกาย จิตใจ ความคิดให้ขาดสมดุลแล้ว ย่อมทำให้เกิดปัญหาตามมาได้เช่นกัน

   ดังที่ได้กล่าวไปแล้วนั้น คงจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านผู้สนใจ ซึ่งผู้เขียนพบว่าหากเรามองตนเอง พิจารณาตนเองแล้ว ย่อมจะทำให้เกิดความสุข สุขแรกคือ ความสุขที่ได้พบ สุขที่ได้เห็น สุขที่ได้เป็นและสุขที่ได้มี ความสุขที่สองคือสุขเกิดจากปัญญา อันเกิดขึ้นจากการพิจารณา การมองตนเอง ดังนั้น การกำหนดทิศทางของชีวิตหรือเป้าหมายของชีวิตนั้น จึงมีความสำคัญกับชีวิต สำคัญคือ เราต้องกำหนดชีวิตของเราด้วยปัญญา ไม่ใช่ด้วยอารมณ์ของเรา  และเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้นย่อมเกิดจากตัวของเราเอง  ที่จะค้นพบและหาคำตอบให้กับตัวของเราเอง เข้าถึงความสุขที่แท้จริงของตนเองนั่นเอง สิ่งเหล่าจึงเป็นข้อเสนอแนะเพื่อสร้างความสุขในชีวิตและการทำงานที่นำมาเล่าสู่กันฟังครับ

14 มีนาคม 2554

หมายเลขบันทึก: 431048เขียนเมื่อ 14 มีนาคม 2011 00:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีค่ะคุณณัฐวรรธน์

การศึกษาของเราเป็นการศึกษาตลอดชีวิตค่ะ ศึกษาไปเรื่อยๆ แต่ไม่มีแผนอาชีพรองรับ จบมาไม่มีงานทำ หรือในขณะที่เรียนอยู่ก็ไม่รู้ว่าเรียนแล้วเอาไปทำอาชีพอะไรได้บ้าง จึงเห็นได้ว่าส่วนมากจะทำงานไม่ตรงกับความรู้ที่เรียนมา ซึ่งเป็นจุดอ่อนของระบบการศึกษา

  • สวัสดีค่ะ
  • เห็นภาพหนูน้อยเต้นได้น่ารักมาก ๆ  นึกถึงกัลยาณมิตรก็เลยนำมาฝากกัน ชมเพื่อความเพลิดเพลินค่ะ
  • ด้วยความระลึกถึงค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ

                                   ภาพขนาดย่อ

ท่านอาจารย์ ดร.พจนา ครับ Ico48 

  • ขอบพระคุณมากครับที่แวะมาเยี่ยมเยือนและร่วมแสดงความคิดเห็นครับ
  • สิ่งที่ท่านอาจารย์กล่าวมา โดนใจมากครับ
  • ขอบพระคุณอีกครั้งครับ

พี่นก บุษราครับ Ico48 

  • ขอบพระคุณที่นำแวะมาเยี่ยมเยือนและนำภาพสวยๆ มาฝากกันนะครับ
  • ด้วยความระลึกถึงเช่นกันครับ พี่นกคงสบายดีนะครับ

 

คุณยาย ครับ Ico48

  • ขอบพระคุณมากครับที่แวะมาเยี่ยมเยือนและให้กำลังใจนะครับ
  • ขอบพระคุณสำหรับภาพดอกไม้สวยๆ ที่นำมาฝากกันนะครับ
  • ด้วยความระลึกถึงอยู่เสมอครับ 
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท