โครงการนิคมการเกษตรพืชอาหารและพืชพลังงานทดแทน (มันสำปะหลัง) ระยะที่ 2


“รัฐต้องกำหนดหลักเกณฑ์และมาตรฐานการใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน ดำเนินการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและให้เกษตรกรมีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ตลอดจนจัดให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล ”

         หลักการและนโยบายการจัดตั้งนิคมการเกษตรพืชอาหารและพืชพลังงานทดแทน อยู่บนพื้นฐาน 6  ประการดังนี้

           1) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  ปีพุทธศักราช  2550   มาตรา  85   กำหนดแนวนโยบายด้านการพัฒนาที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไว้ว่า                                                                                                                      “รัฐต้องกำหนดหลักเกณฑ์และมาตรฐานการใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน ดำเนินการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและให้เกษตรกรมีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ตลอดจนจัดให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล ”

           2) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่  11 ยุทธศาสตร์ที่  3  การสร้างความสมดุลและมั่นคงของอาหารและพลังงาน   ข้อ 3.3.4  สร้างความมั่นคงด้านอาหารและพลังงานในระดับครัวเรือนและชุมชน                     (5)  ส่งเสริมและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ให้เป็นเครื่องมือในการสร้างความเข้มแข็งด้านอาหารและพลังงานให้กับเกษตรกรและชุมชนอย่างเป็นระบบ

          3) โครงสร้างยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ  2555  ข้อ 1 ยุทธศาสตร์การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันและเสริมสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

         4) ยุทธศาสตร์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์   ปี 2555   การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภาคเกษตร    ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเสริมสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม  แผนงาน: การส่งเสริมประสิทธิภาพการผลิตและสร้างมูลค่าภาคการเกษตร  ตัวชี้วัดที่ 2 ผลิตผลพืชพลังงานทดแทนสูงขึ้น

         5) ทิศทางของ  ส.ป.ก.  เรื่องการพัฒนาเกษตรกร  แนวทางพัฒนาให้เกษตรกรมีรายได้และมีคุณภาพชีวิต     ที่ดีขึ้นและยั่งยืน ได้แก่ สร้างรายได้เกษตรกรให้พอเพียงแก่การครองชีพและมีเงินเหลือโดยนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางการพัฒนาด้วยกระบวนการร่วมสร้างเครือข่ายทำงานแบบบูรณาการ ส.ป.ก.   หน่วยงานรัฐอื่น  องค์กรท้องถิ่น  ปราชญ์และเกษตรกร ในลักษณะการทำงานบนพื้นที่เป้าหมายเฉพาะร่วมกัน (Area Approach)

        6)  เชื่อมโยงประเด็นยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดนครราชสีมา ประเด็นที่ 1  การพัฒนาการเกษตร  โดยมีเป้าประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตและจัดการสินค้าเกษตร

         ส.ป.ก.นครราชสีมา  ได้จัดตั้งนิคมการเกษตรพืชอาหารและพืชพลังงานทดแทน(มันสำปะหลัง)  ในท้องที่ตำบลกุดโบสถ์  อำเภอเสิงสาง  จังหวัดนครราชสีมา มีพื้นที่ดำเนินการทั้งหมด 40,000  ไร่ แบ่งการดำเนินงานเป็น 4 ระยะ (ระยะละ  10,000  ไร่)  ในปี พ.ศ. 2552  ได้ดำเนินการในระยะที่  1  มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ  648 ราย        พื้นที่ประมาณ  10,000  ไร่ มีผลการดำเนินงาน เป็นที่พอใจ ทั้งในเรื่องการเพิ่มศักยภาพการผลิต, การพัฒนาบุคลากรด้านการเกษตร, โครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนการเรียนรู้และการเพิ่มศักยภาพการผลิต และความร่วมมือด้านการตลาด  ทำให้บรรลุวัตถุประสงค์การจัดตั้งนิคมกรเกษตร

                ดังนั้น เพื่อเป็นการพัฒนาอย่างเป็นระบบ  จึงเห็นสมควรขยายพื้นที่นิคมการเกษตรพืชอาหารและพืชพลังงานทดแทนมันสำปะหลัง  ระยะที่ 2   ในท้องที่ตำบลกุดโบสถ์  อำเภอเสิงสาง  จังหวัดนครราชสีมา

ศักยภาพของพื้นที่ 

                1. ขนาดพื้นที่ของตำบลกุดโบสถ์มีพื้นที่การเกษตร  66,080ไร่ ปลูกมันสำปะหลังมากที่สุดจำนวน 42,256 ไร่ (70% ของพื้นที่การเกษตร)  ผลผลิตเฉลี่ย 4 ตัน/ไร่ มันสำปะหลังเป็นพืชที่มีโอกาสพัฒนา เนื่องจากมีตลาดรองรับค่อนข้างดี ซึ่งนอกจากจะใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่แล้ว ยังเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์  และเหมาะสมสำหรับการผลิตเอทานอลเป็นพลังงานทดแทน ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย 

                2. สภาพและลักษณะดิน มีกลุ่มชุดดิน 29B  และ กลุ่มชุดดินที่ 40  มีศักยภาพเหมาะสมในการปลูกพืชไร่  โดยเฉพาะมันสำปะหลัง

                3. ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย    58.15 มิลิเมตร   ซึ่งพบว่าในช่วงเดือนกันยายนมีปริมาณน้ำฝนมากที่สุด

                4. มีแหล่งน้ำธรรมชาติ (ลำห้วย)  3  สาย  หนองน้ำ 1 แห่ง (พื้นที่ 3 ไร่)  อ่างเก็บน้ำ  6  แห่ง  ความจุรวม  611,000  ลูกบาศก์เมตร  มีสระน้ำสาธารณะ 9  แห่ง พื้นที่รวม  58  ไร่ นอกจากนี้ยังมีแหล่งน้ำส่วนบุคคล ได้แก่ บ่อน้ำตื้น  564  แห่ง  บ่อบาดาล  54   แห่ง

                5. แหล่งตลาด  รวม  4 แห่ง  ได้แก่  บริษัทแป้งมันอุตสาหกรรมเอี่ยมเฮง จำกัด , โรงมันเส้นสามชัย,โรงแป้งมันสำปะหลังราชสีมา และ โรงแป้งมันสำปะหลังสตาร์อินดัสทรี

                6. เกษตรกรมีความสนใจและพร้อมรับการปรับเปลี่ยน ประมาณ  80 %

                7.มีเกษตรกรแกนนำ  12  คน, ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจมันสำปะหลัง  12  ศูนย์และ อสปก. 3 คน

                8. ประสิทธิภาพด้านการผลิต/ผลผลิตต่อหน่วย สามารถเพิ่มผลผลิตเฉลี่ยของมันสำปะหลัง ได้ไม่ต่ำกว่า 8 ตัน/ไร่

   ผู้เสนอโครงการ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา

หมายเลขบันทึก: 430860เขียนเมื่อ 12 มีนาคม 2011 16:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 11:02 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท