ถอดบทเรียนด้วยสุนทรียสนทนา จิตอาสา ความสุขของคนทำงาน


ถอดบทเรียน ๓ ปีของการทำงานเยียวยาสตรีผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้กับสตรีผู้ได้รับผลกระทบปัจจัยที่สำคัญของความสำเร็จในการทำงาน คือสตรีผู้ได้รับผลกระทบฯ ที่สัมผัสกับความทุกข์มาก่อน มีความสุขที่ได้มาทำงาน เป็นจิตอาสาที่สำคัญที่ได้รับการพัฒนาจนเข้มแข็งจากศูนย์สุขภาพจิตที่ ๑๕ มีพลังในการทำงาน และเป็นแกนหลักในการทำงานจริงๆ "สุนทรียสนทนา" เป็นการแสวงหาคลื่นพลังงานความรู้และความคิดร่วมกัน

เมื่อวันศุกร์และเสาร์ผ่านมา ดิฉันได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรนำการถอดบทเรียน ๓ ปีของการทำงานเยียวยาสตรีผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้กับสตรีผู้ได้รับผลกระทบ และทีมงานทั้งหลาย โดยมีคุณหมอเพชรดาว โต๊ะมีนา ซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ น้องเก่ง และทีมงาน จากศูนย์สุขภาพจิตที่ ๑๕ ปัตตานี เป็นผู้ดำเนินโครงการ
        ก่อนที่จะกล่าวถึงบทเรียนที่ได้รับจากการทำงานเยียวยาสตรีฯ น้องเก่งก็ขอให้ดิฉันกล่าวถึงหลักในการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นให้มีประสิทธิภาพ ทำอย่างไรให้คนที่กำลังพูดรู้สึกมีความสุข มีพลังที่ได้พูดได้เล่าเรื่องราวโดยไม่มีใครมาแทรกหรือแสดงความคิดเห็นในขณะที่พูด  รู้สึกผ่อนคลายในขณะพูด ที่ดิฉันเองก็ถือว่าสำคัญมาก จึงได้นำเสนอเรื่องราวของสุนทรียสนทนาที่เคยได้รับการฝึกมาเช่นกัน

หลักการสำคัญของสุนทรียสนทนา คือ การฟังอย่างลึกซึ้ง การเข้าใจคุณค่าของแต่ละคน ให้การพูดของเพื่อนที่เรากำลังฟังเข้ามาสู่ที่ว่างในความคิดของเรา ฟังโดยปราศจากอคติ(bias) ถึงแม้ว่าไม่เห็นด้วย ฟังเสมือนว่าเรากำลังพูดเอง ฟังอย่างมีสติ ฟังให้ได้ยิน มีความเป็นอิสระ และผ่อนคลาย ทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่มีผู้นำ และไม่มีผู้ตาม พยายามไม่ใส่ใจว่า เสียงที่ได้ยินเป็นเสียงของใคร  กำหนดใจให้รู้ได้ว่า เสียงที่ได้ยิน คือเสียงของกัลยาณมิตรของเราคนหนึ่ง ที่ปรารถนาจะให้เราได้ยินได้ฟังแต่สิ่งดีๆเท่านั้น

ขอนำเข้าสู่กิจกรรมที่ได้ทำเลยนะคะ

เริ่มต้นด้วยน้องๆทีมศูนย์สุขภาพจิตที่ ๑๕ ทำกิจกรรมการรู้จักกันอย่างทั่วถึง เห็นความสุขที่ได้เกิดขึ้นอย่างถ้วนทั่ว

กิจกรรมต่อมา ให้ทุกคนนั่งหลับตานั่งสมาธิในห้องมืด นาน ๑๐ นาที โดยดิฉันนำเข้าสู่การคิดถึงพลังความสุขของตนเองที่ได้ทำงานจนประสบความสำเร็จ คิดถึงสิ่งที่ต้องการเห็น ต้องการทำในอนาคตพร้องเสียงเพลงบรรเลงอย่างช้าๆ

หลังจากนั้น เข้าสู่กิจกรรมของการฟังอย่างมีสติ โดยให้จับคู่กันกับเพื่อนสนิท วาดรูปอะไรก็ได้ที่เป็นความสุขของตนเอง จากนั้นให้สลับกันพูด สลับกันฟังความสุขของเพื่อนจากภาพที่วาด โดยมีกติกาว่า ให้ผู้ฟังฟังอย่างเดียว ฟังด้วยสีหน้า ท่าทางแววตาที่เข้าใจ และยินดี ไม่ต้องพูด ไม่ต้องถาม แล้วให้สลับคู่กัน ทำเหมือนเดิม

กิจกรรมที่ ๒ ให้จับกลุ่มกัน ๔ คน สลับกันแบ่งปันเรื่องราวความสุขของตนเองที่ได้ฟังมาเล่าให้เพื่อนฟัง โดยใช้กติกาเดียวกันกับกิจกรรมแรก

กิจกรรมที่ ๓  หนึ่งใน ๔ คน จากกิจกรรมที่ ๒ เป็นดอกไม้อันแสนงาม นั่งอยู่กับที่ ที่เหลืออีก ๓ คน เป็นหมู่ภมรที่โบยบินไปหาน้ำหวานจากกลุ่มอื่น ดอกไม้แสนงามกล่าวต้อนรับหมู่ภมรที่โบยบินมารับฟังเรื่องราวความสุขก่อนหน้านี้จากดอกไม้อันแสนงาม โดยกติกาการฟังเช่นเดิม

ก็ต้องจบกิจกรรมเพียง ๓ กิจกรรมพอหอมปากหอมคอ เนื่องจากเวลาอันจำกัด เพียง ๑ ชั่วโมง (ซึ่งเคยฝึกมา ๑ วันเต็ม) และก่อนที่จะเข้าสู่กิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานเยียวยาสตรีฯ ดิฉันก็ได้เปิดวิดีโอสุนทรียสนทนาให้ดูเสริมความเข้าใจอีก ๑๐ นาที

“ได้ฝึกการฟังเพื่อนอย่างมีสติ และเข้าใจ”

“พูดแล้วมีเพื่อนนั่งฟังอย่างตั้งใจ รู้สึกมีความสุข”

“เห็นเพื่อนพูดแล้วก็รู้สึกมีความสุขไปด้วย เนื่องจากเราได้ฟังอย่างตั้งใจ”

“รู้สึกดีมากๆ ที่เราพูดแล้วมีคนฟังและเข้าใจ”

เป็นความรู้สึกของเพื่อนๆ ที่ได้ร่วมกันทำกิจกรรม เราก็รู้สึกดีใจไปด้วย ที่หลายๆคน ได้รับสิ่งดีดีที่ได้จากการทำกิจกรรม

จากนั้นก็นำเข้าสู่กิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานเยียวยาสตรีฯ โดยใช้หลักของสุนทรียสนทนา มีประเด็น

สิ่งที่ภูมิใจหรือสิ่งดีดีที่มี

กระบวนการทำงานที่ทำให้ประสบความสำเร็จ

เพื่อนร่วมงานของเรา

ภาพในอนาคตที่อยากเห็น

 Large_p3040054Large_p3050066Large_p3050065

เป็นสิ่งที่น่าภูมิใจอย่างยิ่งที่พบว่า ปัจจัยที่สำคัญของความสำเร็จในการทำงาน คือสตรีผู้ได้รับผลกระทบฯ ที่สัมผัสกับความทุกข์มาก่อน มีความสุขที่ได้มาทำงานเยียวยาฯ ช่วยเหลือคนอื่นต่อไป เป็นจิตอาสาที่สำคัญที่ได้รับการพัฒนาจนเข้มแข็งจากศูนย์สุขภาพจิตที่ ๑๕ มีพลังในการทำงาน และเป็นแกนหลักในการทำงานจริงๆ

และอีกหนึ่งความสำเร็จมาจาก ทีมงาน ทีมสหวิชาชีพจากโรงพยาบาล รพ.สต. องค์กร NGO ที่ทำงานอย่างเต็มที่เพียงเพื่อเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบมีพลังในการดำเนินชีวิตต่อไป

สุดท้ายก็จะได้กระบวนการที่สำคัญในการทำงาน ที่จะได้เรียนรู้จากการถอดบทเรียนของทีมงานที่จะมาเล่าสู่กันฟังต่อไปนะคะ ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็น The best ของกระบวนการทำงานเยียวยาฯ

บทเรียนของกระบวนการสุนทรียสนทนาที่เหมาะสม ทำให้เกิดการคิดร่วมกันได้อย่างมีพลัง

สุนทรียสนทนา จึงเป็นการเปิดโอกาสให้แต่ละคนเรียนรู้ตนเอง และแก้ไขปรับปรุงตนเอง เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกัน และอยู่ร่วมกับคนอื่นได้อย่างมีความสุข

สำหรับบางคนที่มักจะเป็นผู้พูดอยู่ตลอดเวลาพบว่าจะรู้สึกอึดอัดที่ไม่ได้แสดงความคิดเห็นในขณะที่กำลังฟังเพื่อนพูด และสำหรับวงสนทนาบางวงก็จับประเด็นอะไรไม่ได้เลย ต่างคนต่างพูด แทรกความเห็นของตนเป็นระยะๆ

การเข้ามาอยู่ในวงสุนทรียสนทนา จึงเป็นการแสวงหาคลื่นพลังงานความรู้และความคิดร่วมกัน เมื่อใครคนหนึ่งรับได้ ก็จะเกิดการถ่ายทอดโยงใยไปยังคนอื่นๆที่อยู่ในวงสุนทรียสนทนาให้รับรู้ด้วย กัน ผู้ที่สามารถเข้าถึงคลื่นพลังงานความรู้และความคิดเหล่านี้ได้ จะเกิดความรู้สึกว่า เสียงของคนอื่นก็เหมือนกับเสียงของตนเอง สิ่งที่ตนเองอยากจะพูดก็มีคนอื่นพูดแทนให้ และเมื่อคนอื่นพูดออกมา บางครั้ง เราจึงรู้สึกว่า คำพูดแบบนี้แหละคือสิ่งที่ตนเองอยากจะพูด

หมายเลขบันทึก: 429837เขียนเมื่อ 7 มีนาคม 2011 00:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้าจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท