เรื่องของปากท้อง ความสุขสบายในชีวิต เป็นเรื่องของความต้องการที่จำเป็นสุดยอดของมนุษย์ทุกผู้ทุกนาม ไม่ว่าจะเกิดมาในสภาพยากดีมีจนอย่างไร ก็มีความต้องการความเป็นอยู่ที่สุขสบายเหมือนกันทั้งสิ้น
วันนี้คุณมะเดื่อไปเข้าร่วมการประชุมประชาคมหมู่บ้านเพื่อสำรวจความต้องการของชุมชนในการจัดทำแผนชุมชนของ อบต. เข้าร่วมการประชุมในฐานะ "ภาคืเครือข่าย" จึงได้เห็นความเป็นจริงบางประการ (และหลายประการ) ที่น่าจะเป็นข้อสังเกตของผู้ที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับงานแผน ฯ งานนโยบาย โดยตรงของพื้นทื่
1. ชาวบ้านไม่เข้าใจในเรื่องของกลยุทธ์ต่าง ๆ ตีความไม่ออกว่าเกี่ยวข้องกับชีวิตของเขาอย่างไร
2. การเสนอความต้องการของชาวบ้านจะมุ่งในเรื่องที่เป็นรูปธรรมที่เห็นได้ชัดเจน โดยเฉพาะ สาธารณูปโภค ( ถนน ประปา ไฟฟ้า ) จนดูว่า เป็นโครงการที่อีก "ล้านปี" ก็อาจจะทำไปหมด
3. การขาดความรู้ ความเข้าใจในนวัตกรรม หรือยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ทำให้ชาวบ้านมองข้ามความจำเป็นเร่งด่วนไปอย่างน่าเสียดาย เช่น ไม่รู้จัก ไม่เข้าใจ เรื่องการรวมกลุ่ม การใช้เกษตรอินทรีย์ การจัดตั้ง ศูนย์เรียนรู้ชุมชน การจัดการกับปัญหาการเกษตร ฯลฯ ดังนั้น ความจำเป็นหรือความต้องการในสิ่งเหล่านี้จึงถูกมองข้ามไป
4. ไม่เข้าใจในการวางแผนป้องกัน ดังนั้น เมื่อเกิดโรคระบาด เกิดภัยแล้ง หรือ ราคาพืชผลตกต่ำ จึงขาดการประสานความร่วมมือในการแก้ไขโดยเร่งด่วน
5. ผู้นำชุมชนขาดการประสานงาน และการสร้างความเข้าใจในเรื่องของแผนชุมชน กับชาวบ้าน
6. เมื่อชุมชนเกิดการแตกแยก การเสนอความต้องการ จึงกลายเป็นการหักล้างเพื่อเอาชนะกัน
7. การไม่เชื่อมต่อของหน่วยงานที่รับผิดชอบกับชุมชน การขาดข้อมูลพื้นฐานที่เป็นสารสนเทศที่แท้จริงของชุมชน ทำให้การสนับสนุนไม่ตรงกับความต้องการ
8. การทำงานระหว่างหน่อยงานที่รับผิดชอบกับชุมชน ที่เหมือน "ต่างคนต่างอยู่" ทำให้ความคุ้นเคย หรือความกล้าแสดงความคิดเห็นของชาวบ้าน ลดน้อยลง (สังเกตว่าคนที่จะเสนอความคิดเห็นมีอยู่สองสามคน นอกนั้นนั่งเฉย ๆ - นั่งหลับ)
คุณมะเดื่อเข้าร่วมประชุมมา 2 หมู่บ้านแล้ว ได้ข้อสังเกตมาตามที่บอกนั้นเหมือน ๆ กัน จึงถึงบางอ้อ...! ว่า ทำไมจึงมีคำพูดว่า..."อบต.ทำทาง..สร้างถนนได้เยอะดี" ก็เพราะความต้องการของหมู่บ้านมีแต่ ทำทาง สร้างถนน เป็นอันดับ 1 นั่นเอง แต่รายการที่จะส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ เกือบจะไม่มีให้เห็นเลย (ถ้าไม่กระตุ้นให้เสนอ)
ทำให้ คุณมะเดื่อคิดว่า หากผู้ที่มีหน้าที่ในการดูแล พัฒนา ส่งเสริม กิจกรรมปากท้องของคนในชุมชน ไม่ใช้กลยุทธ์ " เข้าถึง..เข้าใจ..ให้ความรู้ " กับบุคคลในพื้นที่แล้วไซร้...งบประมาณจากโครงการที่จะจัดสรรให้กับหมู่บ้านในคราวต่อ ๆ ไป ก็คงจะต้องจัดให้กับโครงการทำทางสร้างถนน วนเวียนอยู่อย่างนี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องคงต้องลงไปคลุกคลีกับชาวบ้านอย่าง "เข้าถึง" วิถีชีวิตของชาวบ้าน และ "เข้าใจ" ถึงความจำเป็นความต้องการของชาวบ้าน และที่สำคัญต้อง "ให้ความรู้" กับชาวบ้าน ในกลยุทธ์หรือวิธีการตลอดจนเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการประกอบอาชีพของชาวบ้าน อย่างจริงจัง อย่าคิดว่า " สิ่งที่เขาบอก คือเขาต้องการ" เพราะมีอีกมากที่เขายังไม่รู้ ยังมีอีกมากที่เขาอยากบอก ยังมีอีกมากที่เขาต้องการ แต่...เขาบอกไม่ถูก เพราะ ความไม่รู้ และไม่กล้า...ทำให้ต้องนั่งเงียบ ถึง นั่งหลับ นั่นเอง..
................................................