ประวัติพระครูวินัยรสสุนทร (รส ปญฺญาพโล) อดีตเจ้าอาวาสวัดสุปัญญาราม-วัดมิ่งเมือง


                                             

                                                            

ประวัติหลวงพ่อพระครูวินัยรสสุนทร  (รส ปญฺญาพโล) อดีตเจ้าอาวาสวัดสุปัญญาราม  และวัดมิ่งเมือง  เจ้าคณะอำเภอเสลภูมิ (ธรรมยุต) จังหวัดร้อยเอ็ด

 

 ชาติภูมิ

     หลวงพ่อพระครูวินัยรสสุนทร นามเดิม “รส”  นามฉายา  “ปญฺญาพโล” นามสกุล  “โพธิจักร”  เกิดในสกุลชาวนา  ตำบลขวาว อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด วันพฤหัสบดี  แรม  ๑  ค่ำ  เดือน  ๗   ปีมะแม ตรงกับวันที่  ๒๕  กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๐  โยมบิดาชื่อ  หนู  โยมมารดาชื่อ  ทา  มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๙ คน คือ

๑.     นางไข    โพธิจักร   (ถึงแก่กรรมแล้ว) 

๒.   นายไหล่   โพธิจักร   (ถึงแก่กรรมแล้ว)

๓.   พระครูวินัยรสสุนทร   (รส ปญฺญาพโล)

๔.   นางตา      โพธิจักร    (ถึงแก่กรรมแล้ว) 

๕.   นายอ้วน   โพธิจักร    (ถึงแก่กรรมแล้ว) 

๖.    นายสวน   โพธิจักร

๗.    นางจวน   สารพล

๘.   นางนวล   (บุ้ม)   โพธิจักร

๙.     นางลี      โพธิจักร

 

 เยาว์วัยก่อนบรรพชาอุปสมบท

            หลวงพ่อเป็นคนไม่ชอบเล่า   ได้รับฟังจากผู้เฒ่าว่า   ท่านเป็นเด็กที่มีร่างกายสมบูรณ์  สุขภาพดี     หน้าตาดี   กิริยามารยาทเรียบๆ ไม่ชอบการทะเลาะวิวาท   ขยันทำงานช่วยบิดามารดาดี   เพื่อนฝูงรักใคร่   ผู้ใหญ่เมตตาและเอ็นดู   ได้รับการศึกษาจากโรงเรียนวัดบ้านขวาวในหมู่บ้าน   สอบไล่ได้ชั้นประถมบริบูรณ์   และเป็นนักเรียนรุ่นแรกของโรงเรียน   เมื่อเรียนจบก็ย่างเข้าวัยหนุ่มรุ่นได้ไปร่วมทำการค้ากับนายกัณหา  ไชยพิศ อดีตครูใหญ่โรงเรียนบ้านผักกาดหญ้าและอยู่ประจำจนบรรพชาอุปสมบท    หลวงพ่อท่านเป็นคนมัธยัสถ์    รู้จักเก็บ   จึงมีเงินเหลือส่งให้พ่อ-แม่  ช่วยเหลือครอบครัวสม่ำเสมอ

 

บรรพชาอุปสมบท

            เมื่อปี  พ.ศ.  ๒๔๗๐  อายุครบบวช   จึงได้บรรพชาอุปสมบท ณ  พัทธสีมาวัดบ้านผักกาดหญ้า   ร่วมรุ่นกับหลวงพ่อเจ้าคุณพระราชสิทธาจารย์   (บุญเรือง ปภสฺสโร)   โดยมีพระครูอุตตานุรักษ์  (อินทร)  เจ้าคณะแขวงเสลภูมิ   เป็นพระอุปัชฌาย์   พระสมุห์พิมพ์ เป็นกรรมวาจาจารย์   และใบฎีกาพิมพ์    เป็นอนุสาวนาจารย์          เมื่อบรรพชาอุปสมบทแล้วก็จำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านผักกาดหญ้า  ได้ศึกษาเรียนอักษรพื้นเมือง   คืออักษรธรรมและอักษรไทยน้อย    จนชำนาญทั้งอ่าน  และเขียน    กับได้เรียนท่องสวดมนต์น้อยสวดมนต์กลางคลองมุงคุลตามฮีตของสงฆ์อีกด้วย   ในพรรษากาลท่านได้เรียนนักธรรมชั้นตรี    และสอบไล่ได้ในปีนั้นสังกัดสำนักเรียนคณะจังหวัดร้อยเอ็ด

           

          ปี  พ.ศ.  ๒๔๗๑   อาจารย์ที่เป็นสมภารวัดลาสิกขา   พระรุ่นเดียวกันลาสิกขาบ้าง   ไปอยู่ที่อื่นบ้าง      ต้องรับเป็นสมภารวัดนั้น ในปีนั้นได้พาญาติโยมสร้างศาลาการเปรียญก่ออิฐถือปูน   หลังคามุงสังกะสีสำเร็จ   ๑   หลัง   ศาลานี้ยังได้ใช้ประโยชน์ดีตลอดมา    เพิ่งรื้อเสียเมื่อต้นปี  ๒๕๓๐   นี้เอง

           

          ปี   ๒๔๗๔   ท่านอาจารย์พรหม   สุปญฺโญ   เจ้าอาวาสวัดเกตการาม   จังหวัดสมุทรสงคราม   บูรพาจารย์   ผู้มีสายตากว้างไกล ได้เป็นผู้นำพากุลบุตรชาวเสลภูมิและท้องที่ใกล้เคียง   ไปศึกษาเล่าเรียนในกรุงเทพฯ    เป็นจำนวนมาก   รับภาระในการหาที่พักอาศัย เอาใจใส่ให้ความอุปการะดูแลด้วย    นับว่าเป็นผู้มีพระคุณยิ่งแก่ท้องถิ่น    และได้ทำประโยชน์แก่ประเทศชาติท่านหนึ่ง    (ภายหลังได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่พระครูพรหมจริยาภิรมย์   และลาสิกขาถึงแก่กรรมที่จังหวัดยโสธร)    มาชักชวนเข้าไปเรียนในกรุงเทพฯ ตกลง    ไปพร้อมกับหลวงพ่อเจ้าคุณพระราชสิทธาจารย์    และเพื่อนรุ่นเดียวกันอีกสององค์ ได้ทำทัฬหีกรรมที่พระอุโบสถวัดปทุมวนาราม   จังหวัดพระนคร    โดยมีเจ้าคุณพระปัญญาภิศาลเถร   (หนู) เจ้าอาวาสวัดปทุมวนารามเป็นพระอุปัชฌาย์    พระครูเชษฐคุณาจารย์   (บุญมี)   เป็นกรรมวาจาจารย์ และพระปลัดบัว     เป็นอนุสาวนาจารย์  ในวันที่  ๑๐   พฤษภาคม   ๒๔๗๔   และเดินทางไปอยู่จำพรรษาที่วัดเกตการาม   อำเภอบางคณฑี   จังหวัดสมุทรสงคราม   อยู่ที่นั้นได้เรียนทั้งบาลีและนักธรรมสอบนักธรรมชั้นโทได้ในปีนั้น

           

          ปี   ๒๔๗๕   อาจารย์ให้ย้ายมาอยู่วัดสัมพันธวงศาราม กรุงเทพฯ   สังกัดปกครองของท่านมหาเฉย ยโส   ป.๗   (ต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ครั้งสุดท้ายที่พระเทพปัญญามุณี   และดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดนั้นจนมรณภาพ)   มาอยู่วัดนี้เรียนแต่บาลีอย่างเดียว   โดยมุ่งจะสอบเป็นเปรียญให้ได้    และได้ศึกษาสำเหนียกระเบียบแบบแผนการปกครองของสงฆ์ที่ดี   รวมทั้งการปรับปรุงพัฒนาวัด   เพื่อจะได้นำไปปฏิบัติในถิ่นกำเนิดต่อไป   ได้เข้าสอบประโยค  ๓  ในสนามหลวง  ปี  ๒๔๗๖  ผลปรากฏว่าตก  ไม่ได้เป็นเปรียญในปีนั้น   ท่านอาจารย์พรหมปรึกษาคณะศิษย์ทุกองค์รวมทั้งหลวงพ่อเจ้าคุณพระราชสิทธาจารย์   ขณะนั้นเป็นพระอันดับจำพรรษาที่วัดเกตการาม   ปรารภเรื่องจะเปลี่ยนแปลงวัดเหนือบ้านผักกาดหญ้า   เป็นวัดสังกัดธรรมยุตติกนิกายต่างเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ จึงพร้อมกันเตรียมวางแผนงาน    กะทำงานภายในเดือนเมษายน  ๒๔๗๗   เมื่อสอบบาลีเสร็จก็ยกขบวนมาพร้อมกัน    ดำเนินงานตามระเบียบ   ได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่าย   แม้เจ้าคณะฝ่ายมหานิกายก็เห็นชอบมาร่วมงานอย่างพร้อมเพรียง   เปลี่ยนชื่อวัดเหนือ เป็น   วัดสุปัญญาราม   ตามนามฉายาของท่านอาจารย์พรหม   สุปญฺโญ   ผู้เป็นประธานในการริเริ่มและอุปถัมภ์   หลวงพ่อเจ้าคุณพระราชสิทธาจารย์   และหลวงพ่อพระครูวินัยรสสุนทร   ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้กำกับการวัด   ช่วยกันจัดปรับปรุงพัฒนาทุกด้าน    ทั้งการศึกษาอบรมเผยแผ่   การก่อสร้างเสนาสนะ   ฯลฯ   พระเณรในปีแรกมีมากราว  ๙๐  รูป   เปิดเรียนทั้งบาลีและนักธรรม   นับว่าเป็นสำนักใหญ่ในจังหวัดร้อยเอ็ดแห่งหนึ่งในครั้งนั้น   การก่อสร้างกุฎีมีขนาดสามห้อง   ใต้ถุนสูง   หลังคามุงสังกะสี  ๑๐  หลัง  มีหอสวดมนต์และหอฉันอยู่กลาง  มีชานระเบียงเชื่อมเดินถึงกันทุกหลัง   สร้างเสร็จในเวลา  ๒  ปี  ผลิตนักศึกษาธรรมและบาลีได้ปีละไม่น้อย   ต่อมาทุกท่านได้เป็นกำลังในการพระศาสนาเป็นอย่างดี  หลวงพ่อเจ้าคุณฯ   ได้รับตำแหน่งรองเจ้าคณะแขวงเสลภูมิ   หลวงพ่อพระครูฯ   รับตำแหน่งรองเจ้าอาวาส   และเจ้าสำนักเรียนวัดสุปัญญาราม  ปี ๒๔๘๐  เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์   (ติสฺโส อ้วน)   ขณะนั้นดำรงสมณศักดิ์ที่พระพรหมมุนี   ตำแหน่งเจ้าคณะมณฑล  นครราชสีมา  ได้บัญชาให้เปลี่ยนแปลงวัดกลางเสลภูมิ   เป็นวัดสังกัดคณะธรรมยุตฯ  ประทานนามใหม่ว่า   วัดมิ่งเมือง   บัญชาสั่งให้หลวงพ่อเจ้าคุณพระราชสิทธาจาจารย์   (บุญเรือง ปภสฺสโร)   มาเป็นสมภารวัดมิ่งเมือง และดำรงตำแหน่งเจ้าคณะแขวงเสลภูมิด้วย   หลวงพ่อพระครูฯ    จึงรับตำแหน่งเจ้าอาวาสและ   เจ้าสำนักเรียนวัดสุปัญญาราม   ตั้งแต่นั้นมาจนปี   ๒๕๐๘   จึงย้ายมาอยู่วัดมิ่งเมือง    จนมรณภาพ

           

          ปี  ๒๕๐๙  รับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมิ่งเมือง   และเจ้าสำนักเรียนวัดมิ่งเมืองด้วย   ตลอดเวลาที่มาอยู่วัดมิ่งเมือง   หลวงพ่อได้ปรับปรุงพัฒนาต่อจากหลวงพ่อเจ้าคุณฯ   เช่น   สร้างโรงเรียนปริยัติธรรม   รื้อกุฎีไม้ที่เก่าทรุดโทรม   เปลี่ยนเป็นตึกคอนกรีตหลายหลังดังปรากฏอยู่นี้   ด้านการศึกษาก็คงมีทั้งบาลีและนักธรรม   และได้จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมของชาติและพื้นบ้าน   โดยออกเผยแผ่ในพรรษกาลตามตำบลหมู่บ้านต่าง  ๆ   ในท้องที่อำเภอเสลภูมิ   และอำเภอใกล้เคียงต่อเนื่องทุกปีตลอดมา   กรมการศาสนา   ได้ให้การสนับสนุนโดยให้ทุนช่วยเหลือเป็นประจำทุกปี   ศูนย์นี้หลวงพ่อเป็นผู้อุปถัมภ์และผู้อำนวยการมาแต่ต้นจนมรณภาพ   หลวงพ่อท่านมีฝีมือทางช่าง   การก่อสร้างท่านกะรูปแบบและควบคุมด้วยตนเอง   ทุกอย่างจึงแข็งแรงและถาวร   พูดน้อยทำมาก   ขยันเอาใจใส่ในกิจวัตรของสงฆ์    ลงทำวัตรสวดมนต์เช้าเย็นไม่เว้นว่าง   ทางธุคงควัตรท่านก็ปฏิบัติเป็นประจำ   เป็นที่เกิดศรัทธาปสาทะของพุทธมามกะที่ได้พบเห็น   การก่อสร้างที่สำเร็จได้นี้   นอกจากทุนที่หลวงพ่อเจ้าคุณได้สะสมไว้ก่อนมรณภาพแล้ว    ต้องเพิ่มอีกเป็นจำนวนมากมายได้อาศัยแรงศรัทธาปสาทะอันเกิดจากปฏิปทาคุณธรรมของหลวงพ่อท่านทั้งสิ้น   ท่านไม่เคยออกปากขอใครที่ไหน แต่ได้มาเหมือนน้ำบ่อทราย

 

ตำแหน่งหน้าที่ที่ได้รับ

  1. พ.ศ.  ๒๔๗๗-๒๔๘๐  ตำแหน่งรองเจ้าอาวาสและรองเจ้าอาวาสสำนักเรียนวัดสุปัญญาราม บ้านผักกาดหญ้า

  2. พ.ศ.  ๒๔๘๐-๒๕๐๘  ตำแหน่งเจ้าอาวาสและเจ้าสำนักเรียน  วัดสุปัญญาราม บ้านผักกาดหญ้า

  3. พ.ศ.  ๒๔๘๐  ตำแหน่ง  กรรมการ  ตวรจธรรมสนามหลวง

  4. พ.ศ.  ๒๔๙๕  ตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอเสลภูมิ  ธวัชบุรี  อาจสามรถ (ธ)  ต่อมาแยกออกเหลือ  อ.เสลภูมิ

  5. พ.ศ.  ๒๔๙๘  ตำแหน่ง  พระอุปัชฌาย์  ในคณะธรรมยุต ฯ

  6. พ.ศ.  ๒๕๐๙-๒๕๓๐  ตำแหน่งเจ้าอาวาสและเจ้าสำนักเรียน  วัดมิ่งเมือง

  7. พ.ศ.  ๒๕๒๑  ตำแหน่งผู้อุปถัมภ์  และผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาและงัฒนธรรมวัดมิ่งเมือง

  8. พ.ศ.  ๒๕๒๗  ตำแหน่งพระธรรมทูตภายในประเทศประจำจังหวัดร้อยเอ็ด

 

สมณศักดิ์ที่ได้รับ

  1. พ.ศ.  ๒๔๘๗  รับพระราชทานที่พระครูวินัยธรฐานานุกรม  ของเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสฺโส  อ้วน)  วัดบรมนิวาส

  2. พ.ศ.  ๒๔๙๘  รับพระราชทานสมณศักดิ์  ที่พระครูวินัยรสุนทร  เจ้าคณะอำเภอชั้นโท

  3. พ.ศ.  ๒๕๐๙  รับพระราชทานเลื่อนเป็นพระครูชั้นเอก

  4. พ.ศ.  ๒๕๑๑  รับพระราชทานเลื่อนเป็นพระครูเจ้าคณะอำเภอชั้นพิเศษ

 

อาพาธและมรณภาพ

          หลวงพ่อเป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงมาตั้งแต่เป็นเด็กดังกล่าวจึงไม่เคยป่วยมีอาการร้ายแรงมาก่อนเลย   ป่วยเป็นหวัด  ปวดหัวตัวร้อนธรรมดานั้นเป็นบ้าง  อีกอย่างท่านพูดน้อยและเกรงใจผู้อื่น  ไม่อยากรบให้ผู้อื่นพลอยลำบาก   จึงไม่มีใครทราบว่าป่วยมากน้อยอย่างไร  แม้แต่พระเณรที่ปฏิบัติก็ไม่ทราาบ   หากมีอาการป่วยบ้าง  ครั้นเรียนถามท่านก็มักตัดบทว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา   สังขารร่างกายจะห้ามไม่ให้มันเจ็บป่วยได้อย่างไร   ปล่อยวางเสียบ้างเถอะ  ญาติโยมเล่าอาการให้หมอฟัง   เขาจัดยามาถวายให้ฉันท่านก็เป็นปกติ   จึงไม่ปรากฎว่าท่านไปโรงพยาบาล   หรือให้หมอมารักษาเป็นกิจจลักษณะเลย    หลังจากทำบุญอายุครบ   ๘๐   ปีแล้ว    รู้สึกว่าท่านซูบลง   ได้ยินบ่นว่าเหนื่อยและหน้ามืดเป็นบางครั้ง    และพูดคล้ายเป็นลางสังหรณ์ว่า   ร่างกายใช้มันมานานจนครบ   ๘๐   ปีแล้ว   คงจะทนอยู่ได้ไม่นาน   ก็ต้องเหลือวิสัยที่จะเยียวยาได้    เวลานี้ไม่อยากทำอะไรหรือรับรู้อะไร    ให้พากันหมั่นเข้าวัดมาดูแล    ถ้ามีข้อบกพร่องก็ปรึกษาหารือกันแก้ไขหรือป้องกันให้ด้วย    พวกเราชาวศิษยานุศิษย์และทายกทายิกาก็เฝ้าดู    ให้ช่วยแพทย์ที่เคยดูแลท่านหายามาถวายเป็นประจำ    เรียนถามท่านก็บอกว่าจะเอาแน่อะไรกับคนแก่    มันก็เป็น  ๆ   หาย  ๆ    ยังไม่ตายมันก็เป็นอยู่อย่างนี้แหละ  เมื่อวันที่   13   เดือนตุลาคม    บ้านกิจไพฑูรย์เรียนท่านว่าจะพาไปโรงพยาบาลยโสธร    อ้อนวอนจนท่านตกลงไป    รุ่งช้ารถรับท่านไป    พวกเราติดรถไปด้วยหลายคน  สายหน่อยพอได้ยินว่า  หลวงพ่อไปโรงพยาบาลก็ตกใจเหมารถบัส  1  คัน ตามไปกันแน่น  พอไปถึงโรงพยาบาลรอหมอตรวจ  รู้สึกว่าท่านป่วยเอาจริง ๆ  อาการอ่อนเพลียมากถึงต้องพยุง  ซึ่งท่านไม่เคยเป็นเช่นนั้น  เขาวัดความดันโลหิตปรากฎว่าความดันสูงถึงสองร้อยเศษ  เข้าเขตอันตรายหมอหาทางช่วย  เมื่อหมอตรวจและเอ๊กซเรย์ปรากฎว่าความดันสูงมาก  เส้นโลหิตใหญ่ในช่องท้องพอง  จะต้องผ่าตัดใหญ่ด่วน  แต่เมื่อปรึกษากันแล้วโรงพยาบาลไม่มีเครื่องมือพอ  จึงทำเรื่องไปโรงพยาบาลศรีนครินทร์ขอนแก่น  นายแพทย์ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเสลภูมิ  ได้กรุณาจัดรถของพยาบาลพร้อมด้วยเครื่องมือฉุกเฉินนำส่งโรงพยาบาลศรีนครินทร์  นับเป็นพระคุณและขออนุโมทนาอย่างยิ่ง  ถึงโรงพยาบาลศรีนครินทร์  22  น. เศษ  โรงพยาบาลรับเข้าห้องฉุกเฉิน  ตรวจเบี้องต้นผลก็ตรงกันและเห็นเข้าขั้นอันตราย  จึงส่งเข้าห้อง  ไอ.ซี.ยู.  พวกเราไม่มีโอกาสเข้าได้  พยาบาลแจ้งว่าพรุ่งนี้เช้ามาถามอาการหน้าห้องได้  เข้าเยี่ยมได้  12  นาฬิกา  ก็พากันหาที่พักรอเวลาเช้าตรู่ไปถามอาการ  พยาบาลบอกว่ายังมีอาการทรงอยู่  เที่ยงเข้าเยี่ยมเห็นหายใจ  ท่านทักทายคำแรกว่า  เอามาไว้อย่างไรกันนี่  รู้สึกว่าท่านอึดอัดไม่สบายใจ  เพราะในห้องนั้นมีแต่นางพยาบาลที่เป็นสตรี  มีนายแพทย์หัวหน้าคนเดียวที่เป็นชาย  หลวงพ่อท่านถือเคร่งครัดการปฏิบัติเกี่ยวกับสตรีตลอดเวลา  60-61 ปี  ในเพศพรหมจรรย์  ท่านไม่สุงสิงและมีผู้หญิงถูกต้องกาย  ท่านคงไม่สบายใจในเรื่องนี้  จึงเรียนท่านว่า  มันเป็นระเบียบปฏิบัติของโรงพยาบาลและหมอเขา  เราจะเอาแต่ใจเราไม่ได้  ลูกหลานไม่มีทางแก้  ขอหลวงพ่อได้โปรดตัดกังวลชั่วกาลเวลา  รักษาความบริสุทธิ์ทางใจไว้เถิด  แล้วก็กราบขออภัยท่านด้วยน้ำตา  ดูสีหน้าท่านหายเครียดลง  ท่านอยู่ในห้องนั้น  3-4  วัน  ก็ย้ายไปห้องรวมพิเศษตึก  3 ก.  เราได้ร้องขอเช่าห้องพิเศษที่ตึกนั้นในนามของหลวงพ่อ  พอให้ได้อยู่ใกล้ดูแลท่าน  และกรณีที่ไม่จำเป็นเราก็ทำเองไม่ต้องร้อนถึงนางพยาบาล  ทางโรงพยาบาลก็ใจดีอนุญาตตามประสงค์  ทั้งนี้อาศัยหลานสาวที่เป็นนางพยาบาลช่วยประสานงาน  จึงขอขอบคุณและขอบใจอย่างยิ่งท่านผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบ ฯ  (คุณบุญช่วย  ศรีสารคาม)  ได้ทราบด้วยความเป็นห่วง  จึงโทรบอกท่านผู้ว่า ฯ  ขอนแก่น (คุณศักดา  อ้อพงศ์)  ทราบ  ท่านได้กรุณาไปเยี่ยมหลวงพ่อด้วยตนเอง  รู้สึกเป็นบุญและขอบพระคุณทั้งสองท่าน  หลายวันต่อมาก็ย้ายเข้ามาอยู่ห้องพิเศษ  ตลอดเวลาที่อยู่โรงพยาบาล  นายแพทย์  และพยาบาลได้เอาใจใส่ดูแลอย่างใกล้ชิด  ตรวจแล้วตรวจอีกอย่างละเอียดรอบคอบ  ขอขอบพระคุณทุกท่าน  พวกเราศิษยานุศิษย์และทายกทายิกามาเยี่ยมมาเฝ้าไม่ขาด  ที่สุดวันแตกดับแห่งสังขารของหลวงพ่อก็มาถึงซึ่งไม่มีใครจะสกัดกั้นห้ามได้  คือวันที่ 9  เดือนพฤศจิกายน  เวลา  21.00  น.  หลวงพ่อก็หยุดหายใจ  ไม่มีอาการทุรนทุรายหยุดหายใจด้วยอาการสงบเหมือนนอนหลับ  อันที่จริงการป่วยของหลวงพ่อเข้าใจว่าต้องเจ็บปวดมาก  ต้องมีเวทนาอย่างหนัก  แต่ท่านไม่เคยร้องหรือครางให้ปรากฏเลยท่านคงใช้อธิวาสนขันติหนัก  บางครั้งเราก็อดที่จะน้ำตาไหลไม่ได้ด้วยความสงสารท่าน  หลวงพ่อจากพวกเราไปแล้วแต่คุณธรรมที่หลวงพ่อได้ปฏิบัติต่อพวกเรา  ชาวศิษยานุศิษย์และชาวพุทธทั่วไปนั้น  ไม่มีวันจะสูญดังพุทธภาษิตว่า  “รูปํ  ชีรติ  มจฺจานํ  นามโคตฺตํ  น ชีรติ”  หรือต้องตามพระนิพนธ์ ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปรมานุชิตชิโนรส วัดพระเชตุพนฯ  ว่า 

 

                 “พฤษภกาสร           อีกกุญชรอันปลดปลง

                 โททนต์เสน่งคง       สำคัญหมายในกายมี

                 นรชาติวางวาย        มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ 

                 สถิตทั่วแต่ชั่วดี        ประดับไว้ในโลกา”   

  

  ฉะนั้น ประวัติของหลวงพ่อ  ได้เรียบเรียงขึ้นตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่า  เพราะท่านไม่เคยเล่าให้ลูกศิษย์ฟัง  และเรียงตามความจำที่เห็นเคยได้ยิน  เพราะอยู่ใกล้ท่านมาบ้างอาจมีผิดพลาดคลาดเคลื่อน  ผู้เรียบเรียงขอกราบประทานอภัยจากดวงวิญาณของหลวงพ่อ  และขออภัยจากท่านผู้อ่านทุกท่าน  ไว้  ณ  ที่นี้ด้วย.

                                                                                

*อ้างอิงจากหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พระครูวินัยรสสุนทร  อดีตเจ้าอาวาสวัดสุปัญญาราม -วัดมิ่งเมือง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด

 

หมายเลขบันทึก: 429683เขียนเมื่อ 5 มีนาคม 2011 20:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 กันยายน 2013 16:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

กราบนมัสการพระคุณเจ้าครับ

และพิจารณามรณานุสสติครับ

ขอบคุณอาจารย์ที่แวะมาอ่าน มาให้กำลังใจ

      ผมเป็นลูกศิษย์วัด มิ่งเมื่องคนหนึ่งครับ ประมาณ ปี 32-35   อยู่ตั้งแต่ ม.1 (หลังเขียว)จนจะขึ้น ม.4 ได้ประสบการณ์เยอะเลย พระครูเอกุตตรสตาธิคุณ(พระอาจารย์สายัณห์ ปญฺญาวชิโร ตอนนั้น ยังเจ้าคณะอำเภอฝ่ายธรรมยุติ)ตอนนี้ท่านเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชปริยัติวิมล  ท่านได้สอนผมหลายๆอย่าง แต่ผมก็จะออกนอกลู่นอกทางทางประจำ(อิอิอิ) จำได้ว่ามีหลวงปู่โชติฯ เป็นรักษาการเจ้าอาวาส เพราะท่านพระอาจารย์สายัณห์ ไปศึกษาต่อที่อินเดีย หลวงปู่ทอง หลวงปู่เที่ยง หลวงพี่บล หลวงพี่เกษม เยอะครับจำไม่หมด เป็นบุญของผมครับที่ได้เป็นลูกศิษย์วัดมิ่งเมื่อง

ขออนุโมทนากับคุณโยม อลงกรณ์ ที่เคยเป็นลูกศิษย์วัดมิ่งเมือง ขอให้เจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน

ผมก็เป็นอีกคนหนึ่งครับที่เป็นลูกศิษย์หลวงตาวินัย ผมเคยเป็นเด็กวัดมิ่งเมืองปี2514-2519(หลังแดงป.5-7หลังเขียวมศ.1-3) และพักอยู่ที่กุฏีของหลวงตามาโดยตลอด6ปีเต็มยามใดที่หลวงตาปวดเมื่อยท่านจะชอบเรียกผมนวดให้อยู่บ่อยๆหลวงตาท่านจะชอบเรียกชื่อผมว่าขุนไสว ไสวแสนยากร ต่อมาท่านก็จะเรียกผมสั้นๆว่า ขุนและผมก็ได้ชื่อ ขุน เป็นชื่อที่2ที่หลวงตาตั้งให้ครับและผู้ที่เรียกชื่อขุนตามหลวงตา อีกองค์ก็คือหลวงปู่มา วัดสันติวิเวก บ.โนนคำ ซึ่งท่านก็เป็นหลวงปู่ที่เกี่ยวพันกับผมมากอีกองค์ ส่วนที่เรียกชื่อนี้อีกองค์ก็คือเจ้าคุณเอ เจ้าวาสวัดมิ่งเมือง(องค์ปัจจุบัน)หรือพี่เณรยันต์ของผมสมัยกะโน้นซึ่งท่านก็เกี่ยวพันกับผมมากในปํจจุบัน ก่อนอื่นผมต้องขอกราบนมัสการขอบพระคุณพระมหาวินัย(ชื่อเหมือนหลวงตาผมเปรี๊ยบเลย)ที่รวบรวมประวัติของหลวงตาให้ผมได้อ่านแม้จะไม่สมบูรณ์บ้างก็ตาม ขอกราบนมัสการครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท