1. แนวคิดของรัฐไทยในการจัดทำทะเบียนประวัติตามกฎหมายทะเบียนราษฎรไทย 1.3 ความมั่นคงเชิงประชากร


1.3 ความมั่นคงเชิงประชากร

 

            สำหรับแนวคิดในเรื่องของความมั่นคงเชิงประชากรนั้น เป็นแนวคิดที่ทำให้ประชากรภายในรัฐมีความมั่นคง และมีความสามารถในการเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ได้ และสิทธิประการที่แรกที่จะทำให้มนุษย์มีความสามารถที่จะเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ได้ นั่นก็คือ “สิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย” (Right to Recognition of Legal Personality) โดยรัฐ เพราะสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายนั้น เป็นสิทธิประการแรกที่จะทำให้มนุษย์นั้นได้รับการรับรองจากรัฐอันเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคลว่ามีตัวตน และมีสถานะทางกฎหมายในสายตาของรัฐ ซึ่งจะทำให้มนุษย์สามารถที่จะดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ สำหรับการดำรงชีวิต และสามารถที่จะพัฒนาศักยภาพได้อย่างเต็มความรู้ความสามารถ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป

            เมื่อมนุษย์ไม่ได้รับการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายโดยรัฐแล้ว มนุษย์ผู้นั้นก็จะตกเป็นคนไร้รัฐ คือไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐใด ๆ เลย ทำให้ไม่มีความคุ้มครองจากรัฐใดเลย และทำให้เกิดความด้อยโอกาสทางสังคม และในทางกฎหมาย ถูกถือเป็นคนผิดกฎหมายในทุกประเทศของโลก ส่งผลให้คนไร้รัฐอาจถูกจับกุมได้ตลอดเวลา และไม่มีสิทธิอาศัยในรัฐใด ๆ เลยในโลก และนำมาซึ่งปัญหาหลายประการ เพราะว่าความไร้รัฐทำให้มนุษย์ไม่สามารถที่จะเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน และปัญหาการเข้าไม่ถึงสิทธิในการพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ เพราะว่าในหลายสถานการณ์ที่บุคคลจะต้องแสดงตนในการเข้าถึงสิทธิ แต่บุคคลผู้นั้นมิอาจที่จะเข้าสู่สิทธิได้ หรือมิอาจที่จะเป็นผู้ทรงสิทธิได้ อันจะมีผลต่อการดำรงชีวิตประจำวันของมนุษย์ผู้ไร้รัฐ ทำให้คุณภาพชีวิตของคนไร้รัฐด้อยไป กลายเป็นคนด้อยโอกาสในสังคมยุคปัจจุบัน ไม่สามารถที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อไม่สามารถเข้าถึงสิทธิในการพัฒนาตนเองได้ก็ทำให้มนุษย์ไม่พัฒนา แล้เมื่อมนุษย์ไม่พัฒนา ประเทศชาติก็ไม่พัฒนาด้วยเช่นกัน

          และเมื่อชีวิตไม่มีคุณภาพแล้ว ก็จะต้องเผชิญกับปัญหาต่อไปที่ตามมาอย่างเป็นธรรมชาติ ก็คือ ความอยุติธรรมทางสังคม เพราะคนไร้รัฐย่อมเผชิญกับความต่างจากคนที่มีรัฐให้การรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย ทำให้คนรู้สึกว่าตนด้อยโอกาสกว่าคนอื่น ๆ ในสังคม เป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม และเป็นการสร้างความแตกแยกจนอาจทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในในประเทศชาติได้ นำไปสู่ความไม่มั่นคงในชีวิตของมนุษย์ และส่งผลกระทบต่อความไม่มั่นคงของรัฐ

             สรุปได้ว่า ปัญหาความไร้รัฐเป็นปัญหาที่สร้างความไม่มั่นคงให้กับมนุษย์หลายประการ ดังนั้น เพื่อที่จะทำให้มนุษย์มีความมั่นคง จึงจะต้องมีการขจัดความไร้รัฐ ทำให้มีรัฐรับรองความเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคล และการบันทึกคนไว้ในระบบการทะเบียนราษฎร และการมีเอกสารแสดงการรับรองสิทธิในความเป็นบุคคลตามกฎหมาย (Right to legal Personality) ของมนุษย์ ย่อมที่จะทำให้คนไม่ไร้รัฐ เป็นคนมีรัฐเจ้าของตัวบุคคล ซึ่งการบันทึกคนไว้ในระบบการทะเบียนราษฎร และการจัดทำเอกสารแสดงการรับรองสิทธิในความเป็นบุคคลตามกฎหมาย (Right to legal Personality) ของมนุษย์ ในรูปแบบของทะเบียนประวัตินั้น ก็เป็นกลไกหนึ่งที่ขจัดความไร้รัฐ และรัฐได้รับรองความเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคลผ่านทะเบียนประวัติ และคุ้มครองมนุษย์ดังกล่าวในทุกสถานการณ์ตลอดเวลา และเป็นการกระทำของรัฐที่คุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อันเป็นการสร้างความมั่นคงให้กับประชากรภายในรัฐ

            เนื่องจากว่าการยอมรับให้สถานะคนสัญชาติ และสถานะคนเข้าเมืองแก่คนที่ยังมิอาจจะพิสูจน์จุดเกาะเกี่ยวได้โดยไม่มีเงื่อนไขนั้น จึงอาจนำมาซึ่งปัญหาความมั่นคงของรัฐ ในขณะเดียวกัน การยอมรับให้สถานะราษฎร (civilian or citizen) ย่อมเป็นไปได้ และเป็นผลดีในการสร้างความมั่นคงเชิงประชากร (population security) เพราะการบันทึกประชากรในทะเบียนของรัฐย่อมหมายถึงทั้ง (1) ประสิทธิภาพในการควบคุมประชากร และ (2) ประสิทธิภาพในการส่งเสริมและคุ้มครองประชากร[1]

                และเมื่อมนุษย์ได้รับสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย (Right to Recognition of Legal Personality) โดยการบันทึกในทะเบียนประวัติแล้ว ก็จะทำให้ประชากรภายในรัฐที่เคยประสบปัญหาสถานะบุคคล ได้มาซึ่งสิทธิขั้นพื้นฐาน และสิทธิในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ทำให้ประชาชนภายในรัฐสามารถดำรชีวิตประจำวันได้อย่างปกติสุข มีความมั่นคงในชีวิตก็สามารถที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาตนเองได้อย่างมีศักยภาพ เต็มความรู้ความสามารถ

               รวมทั้งเป็นเครื่องประกันว่ามนุษย์ผู้ที่ได้รับการรับรองสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายนี้จะไม่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ทำให้คนไม่รู้สึกว่าด้อยโอกาส เป็นการลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมทำให้คนผสมกลมกลืนกับสังคม เป็นแนวคิดเชิงป้องกันมิให้เกิดปัญหาความขัดแย้งของคนมีอยู่อย่างหลากหลายในสังคม เมื่อประชาชนภายในประเทศมีคุณภาพแล้วก็จะทำให้ประเทศมีความเจริญก้าวหน้าพัฒนาต่อไป

             นอกจากนี้ การบันทึกมนุษย์ทุกคนที่อาศัยอยู่จริงภายในประเทศ จะทำให้ประเทศได้ทราบจำนวนประชากรทั้งหมดที่แน่นอน อันจะเป็นฐานข้อมูลประชากรที่เป็นจริง ทำให้สามารถจัดการประชากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถที่จะกำหนดยุทธศาสตร์ในการบริหาร และการพัฒนาประเทศ รวมทั้งวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และทำให้การจัดสรรงบประมาณ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงรัฐสวัสดิการ และสาธารณูปโภคภายในรัฐสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง รวมทั้งรัฐสามารถที่จะทราบจำนวนผู้ที่มีปัญหาสถานะบุคคล สภาพปัญหาที่เกิดขึ้น และสามารถดำเนินนโยบายในการจัดการแก้ไขปัญหาได้

           ดังนั้น การจัดทำทะเบียนประวัติจึงเป็นการสร้างความมั่นคงเชิงประชากร (population security) และเมื่อประชากรภายในรัฐมีความมั่นคง ก็จะนำไปสู่ความมั่นคงของประเทศ (State Security) หรือความมั่นคงเชิงดินแดน (Territorial Security) และนำไปสู่ความมั่นคงของภูมิภาค (Regional Security) หรือความมั่นคงต่อการรวมกลุ่มเศรษฐกิจ



[1] พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, “การจำแนกปัจเจกชนที่เป็นบุคคลธรรมดา...จากคนไร้รัฐ/คนมีรัฐ...สู่คนไร้สัญชาติ/คนมีสัญชาติ,” <http://learners.in.th/blog/arhanwell-and-right2legal-personality/385518>.

หมายเลขบันทึก: 429612เขียนเมื่อ 5 มีนาคม 2011 11:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 เมษายน 2012 22:25 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีค่ะ แวะมาอ่านชอบมาก แต่ทะเบียนประวัติต้องสามารถตรวจสอบได้ด้วย เพราะบางครั้งเดินไปตามห้างสรรพสินค้ามีประชากรเพื่อนบ้านเต็มไปหมดทำอย่างไรจึงจะรู้ได้เพราะเขากับเราดูแล้วไม่แตกต่างกัน จึงมองไปที่การบริโภคอาหาร เครื่องใช้ต่างๆในครัวเรือน การใช้ยานพาหนะ เพราะจุดนี้มีความเป็นอิสระมากใครมีเงินก็ซื้อได้ ดังนั้นคนในท้องที่ควรต้องใช้เป็นบัตรทั้งเครดิต หรือเดบิต การ์ดของห้างหรือสถาบันการเงิน ซึ่งต้องมีหมายเลขบัตรประชาชนของแต่ละคนอยู่แล้ว ห้าง ร้านค้าต่างๆในท้องที่จะต้องสนใจว่าลูกค้าของตนเองมาจากไหน? อยู่ที่ไหน? รวมทั้งคนจากต่างถิ่นต่างเมืองที่มีบัตรเครดิตหรือเดรบิตของสถาบันการเงินต่างๆด้วย ที่เหลือจะเป็นคนต่างถิ่นหรือต่างเมืองที่ไม่มีบัตรที่จะต้องใช้เงินสดซื้อ ในการซื้อหรือใช้บริการควรต้องแสดงบัตรประจำตัวหรือพาสพอร์ตด้วยว่ามาจากที่ใด? ส่วนยานพาหนะน่าจะมีจุดขายตั๋วเพื่อการควบคุมเช่นกัน ซึ่งน่าจะเป็นตั๋วที่ขึ้นได้ทุกสายเป็นรายวัน รายเดือน ก็สุดแล้วแต่ประเภท พนักงานเก็บเงินบนรถฯควรจะทำหน้าที่ตรวจตั๋วและบริการจัดที่นั่งที่ยืน การขึ้นลงรถโดยสารมากกว่า ที่สำคัญแหล่งที่มาของเงิน คือการเข้มงวดเรื่องแลกเปลี่ยนเงินตราของประเทศ หน่วยงานต่างๆในแต่ละท้องที่ก็รับผิดชอบดูแลท้องที่ของตัวเอง มีเจ้าหน้าที่ออกเยี่ยมประชาชน รู้จักประชาชนในท้องที่ 2-4 ปี ในตำแหน่งน่าจะพอสำหรับการทำความรู้จัก ต้องขอโทษด้วยถ้าไม่ตรงกับความคิด เป็นเพียงแนวคิดและสิ่งที่อยากจะให้มี รายละเอียดอาจจะเขียนในบันทึกของตนเองต่อไปค่ะ

งง ... ต้องการจะสื่ออะไรครับ ยังไม่สามารถที่จะจับประเด็นได้เลย

ตอนนี้ ผมต้องกลับมาอ่ืานงานของโอ๊ตอีกครั้ง เพราะกำลังเตรียมคดี เรื่องจนท.รัฐไม่ยอมขึ้นทะเบียนประวัติให้กับบุตรซึ่งเป็นผู้ติดตามแรงงานต่างด้าว เมื่ือกลางปี ๒๕๕๔

ขอบใจที่งานยังมี และช่วยได้เยอะ

ยินดีมากๆเลยครับ ขอบคุณพี่ด้วยที่ระลึกถึงผลงานชิ้นนี้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท