กระบวนการทางปัญญา


กระบวนการศึกษาครูผู้สอนและผู้เรียนจะร่วมมือกันทำอย่างไรให้เกิดสิ่งที่ เป็นประโยชน์ต่อผู้เรียน และสามารถถ่ายทอดสิ่งนั้นๆ ไปสู่สังคมในทางสร้างสรรค์

                การศึกษาเป็นการสร้างและให้เกิดสติปัญญาแก่ผู้เรียน ท่านผู้อ่านจะพิจารณาเห็นว่ามีคำว่า สติกับปัญญา ที่คู่กัน หมายถึง จะต้องมีสติก่อนปัญญาจึงจะเกิดตามมา หลายท่านกล่าวว่า สติมาปัญญาเกิด สติเตลิดจะเกิดปัญหา หากเกิดสติปัญญา ก็จะเกิดสิ่งดีๆ ตามมาในชีวิตผู้เรียน ทั้งในด้านความรู้ ความสามารถและความคิด สามารถวิเคราะห์และแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้อง และการศึกษาต้องเป็นกระบวนการทางปัญญา โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนารอบด้านทั้งด้านความรู้ ความคิด ทักษะและเจตคติ สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2553 ในมาตรา 6 ที่มุ่งพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้และคุณธรรม ซึ่ง ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี กล่าวไว้มี 10 ขั้นตอน ดังนี้

1. ฝึกสังเกต  สังเกตในสิ่งที่เราเห็นหรือสิ่งแวดล้อม เช่น ไปดูนก ดูผีเสื้อ หรือในการทำงาน การฝึกสังเกตทำให้เกิดปัญญามาก  โลกทรรศน์ และวิธีคิด สติ-สมาธิ จะเข้าไปมีผลต่อการสังเกตหรือสิ่งที่สังเกต

2. ฝึกบันทึก  เมื่อสังเกตอะไรแล้ว ควรบันทึก โดยจะวาดรูปหรือบันทึกข้อความ ถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอ ละเอียดมากน้อยตามวัยและตามสถานการณ์ การบันทึกเป็นการพัฒนาทางปัญญา

3. ฝึกการนำเสนอ  ต่อที่ประชุมกลุ่มเมื่อมีการทำงานกลุ่ม เราไปเรียนรู้อะไรมา บันทึกอะไรมา จะนำเสนอให้เพื่อนหรือครูรู้เรื่องได้อย่างไร ก็ต้องฝึกการนำเสนอ การนำเสนอได้ดีจึงเป็นการพัฒนาปัญญาทั้งของผู้นำเสนอและของกลุ่ม

4. ฝึกการฟัง  ถ้ารู้จักฟังคนอื่นก็จะทำให้ฉลาดขึ้น โบราณเรียกว่าเป็นพหูสูต บางคนไม่ได้ยินคนอื่นพูด เพราะหมกมุ่นอยู่ในความคิดของตนเองหรือมีความฝังใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งจนเรื่องอื่นเข้าไม่ได้ ฉันทะ สติ สมาธิ จะช่วยให้ฟังดีขึ้น

5. ฝึกปุจฉา-วิสัชนา  เมื่อมีการนำเสนอและการฟังแล้ว ฝึกปุจฉา-วิสัชนา หรือถามตอบ ซึ่งเป็นการฝึกโดยใช้เหตุผลวิเคราะห์ สังเคราะห์ ทำให้เกิดความแจ่มแจ้งในเรื่องนั้นๆ ถ้าเราฟังครู โดยไม่ถาม-ตอบ ก็ไม่แจ่มแจ้ง

6. ฝึกตั้งสมมติฐานและคำถาม  เวลาเรียนรู้อะไรไปแล้ว เราสามารถตั้งคำถามได้ว่าสิ่งนี้คืออะไร สิ่งนั้นเกิดจากอะไร อะไรมีประโยชน์ ทำอย่างไรจะสำเร็จประโยชน์อันนั้น และมีการฝึกตั้งคำถาม ถ้ากลุ่มช่วยกันคิดคำถามที่มีคุณค่าและมีความสำคัญ ก็อยากได้คำตอบ

7. ฝึกการค้นหาคำตอบ  เมื่อมีคำถามแล้ว ก็ควรไปค้นหาคำตอบจากหนังสือ จากตำรา จากอินเตอร์เน็ต หรือไปคุยกับคนเฒ่าคนแก่ แล้วแต่ธรรมชาติของคำถาม การค้นหาคำตอบต่อคำถามที่สำคัญจะสนุกและทำให้ได้ความรู้มาก ต่างจากการท่องหนังสือโดยไม่มีคำถาม บางคำถามเมื่อค้นหาคำตอบทุกวิถีทางจนหมดแล้วก็ไม่พบ แต่คำถามยังอยู่และมีความสำคัญ ต้องหาคำตอบต่อไปด้วยการวิจัย

8. การวิจัย  การวิจัยเพื่อหาคำตอบเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ทุกระดับ การวิจัยจะทำให้ค้นพบความรู้ใหม่ ซึ่งทำให้เกิดความภูมิใจ สนุกและมีประโยชน์มาก

9. เชื่อมโยงบูรณาการ  ให้เห็นความเป็นทั้งหมดและเห็นตัวเอง ธรรมชาติของสรรพสิ่งล้วนเชื่อมโยง เมื่อเรียนรู้อะไรมา อย่าให้ความรู้นั้นแยกเป็นส่วนๆ แต่ควรจะเชื่อมโยงเป็นบูรณาการให้เห็นความเป็นทั้งหมด ในความเป็นทั้งหมดจะมีความงามและมีมิติอื่นผุดบังเกิด (Emerge) ออกมาเหนือความเป็นส่วนๆ และในความเป็นทั้งหมดนั้นมองไม่เห็นตัวเอง เกิดการรู้ตัวเองตามความเป็นจริง ว่าสัมพันธ์กับความเป็นทั้งหมดอย่างไร จริยธรรมอยู่ที่ตรงนี้ คือ การเรียนรู้ตัวเองตามความเป็นจริง ว่าสัมพันธ์กับความเป็นทั้งหมด ดังนั้น ไม่ว่าการเรียนรู้อะไรๆ ก็มีมิติทางจริยธรรมในนั้นเสมอ มิติทางจริยธรรมในความเป็นทั้งหมดนั่นเอง ต่างจากการเอาจริยธรรมไปเป็นวิชาๆ หนึ่งแบบแยกส่วน แล้วไม่ค่อยได้ผล ในการบูรณาการความรู้ที่เรียนรู้มาให้รู้ความเป็นทั้งหมดและเห็นตัวเองนี้ จะนำไปสู่อิสรภาพและความสุขอันล้นเหลือ เพราะหลุดพ้นจากความบีบคั้นของความไม่รู้ การไตร่ตรองนี้จะโยงกลับไปสู่วัตถีประสงค์ของการเรียนรู้ที่ว่าลดตัวกู-ของกู  และเพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสันติ อันจะช่วยกำกับให้การแสวงหาความรู้เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว มิใช่เป็นไปเพื่อความกำเริบแห่งอหังการ-มมังการ และเพื่อรบกวนการอยู่ร่วมกันด้วยสันติ

10. ฝึกการเขียน  เรียบเรียงทางวิชาการ ถึงกระบวนการเรียนรู้และความรู้ใหม่ที่ได้มา การเรียบเรียงทางวิชาการเป็นการเรียบเรียงความคิดให้ประณีตขึ้น ทำให้ค้นคว้าหาหลักฐานที่มาที่อ้างถึงของความรู้ให้ถี่ถ้วนแม่นยำขึ้น การเรียบเรียงทางวิชาการจึงเป็นการพัฒนาทางปัญญาของตนเองอย่างสำคัญ และเป็นประโยชน์ในการเรียนรู้ของผู้อื่นในวงกว้างออกไป

           โดยสรุป กระบวนการศึกษาครูผู้สอนและผู้เรียนจะร่วมมือกันทำอย่างไรให้เกิดสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้เรียน และสามารถถ่ายทอดสิ่งนั้นๆ ไปสู่สังคมในทางสร้างสรรค์

สวัสดีครับ

หมายเลขบันทึก: 429591เขียนเมื่อ 5 มีนาคม 2011 09:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • บ้านเม่ค่อยได้ฝึกการเขียนครับ
  • เลยไม่ค่อยได้บันทึกอะไร
  • มาเขียนอีกนะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท