เรียนรู้จิตสำนึกด้านความปลอดภัยและระเบียบวินัยจากหนังเรื่อง “Unstoppable : ด่วนวินาศ หยุดไม่อยู่”


ไม่มีเหตุผลทางธุรกิจอื่นใดจะสำคัญไปกว่าความปลอดภัย

 

หนังเรื่องนี้เป็นหนังที่เกี่ยวข้องกับชีวิตการทำงานที่ผมทำงานอยู่อย่างเต็มๆ  ตั้งแต่ผมเขียนบันทึกเกี่ยวกับภาพยนต์มา เพราะก่อนหน้านี้หนังที่ผมเขียนถึงจะเป็นการจุดประกายเหนี่ยวนำเชื่อมโยงความรู้ เป็นแรงบันดาลใจ อุปมาอุปไมย เปรียบเทียบ ไปยังองค์ความรู้ที่เชื่อมโยงอื่นๆ แต่สำหรับหนังเรื่องนี้แล้ว เนื้อหาของมันเป็นเรื่องของชีวิตการทำงานตรงๆ เลยทีเดียว ซึ่งหนังเรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำงานควบคุมขบวนรถไฟที่เน้นเรื่องความปลอดภัยและระเบียบวินัยในการทำงาน ผมคิดว่าพนักงานในส่วนปฏิบัติการเดินรถทุกคนควรจะได้ดูหนังเรื่องนี้ เพราะความละเลยเรื่องความปลอดภัยและระเบียบวินัยในการทำงานจนเป็นเหตุทำให้เกือบจะเกิดความเสียหายร้ายแรง ทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน (อ่านรายละเอียดเรื่องย่อได้ที่ http://movie.mthai.com/movie-profile/new-movie/59936.html)

 

ภาพจาก http://movie.mthai.com/movie-profile/new-movie/59936.html

 

ในชีวิตการทำงานจริงๆ ของพนักงานควบคุมขบวนรถสำหรับรถไฟฟ้าบีทีเอสทำผมทำงานอยู่ในองค์กรนี้ ต้องยึดนโยบายความปลอดภัยสูงสุด คือ “ไม่มีเหตุผลทางธุรกิจอื่นใดจะสำคัญไปกว่าความปลอดภัย” หนังเรื่องนี้สะท้อนแนวคิดนโยบายนี้ได้เป็นอย่างดี จากเนื้อหาในเรื่อง พนักงานทำงานด้วยความเคยชิน และคิดว่าคงไม่เป็นอะไรมาก หลายครั้งอุบัติการณ์ (Incident) ที่เกิดขึ้นเกิดจากทัศนคติที่ไม่พึงประสงค์เหล่านี้ เพราะทำทุกวันจนเคยชิน และก็ไม่เห็นเป็นไรเลย คำว่า “ไม่เป็นไรหรอก นิดเดียวเอง” คำนี้เป็นคำที่ต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ความเชื่อให้ได้ เพราะผลที่ตามมามันเสียหายร้ายแรงกว่าที่คิด การสร้างจิตสำนึกให้พนักงาน ต้องให้พนักงานมีส่วนร่วมในการคิด ผมคิดว่าการอบรมและการบังคับด้วยกฏระเบียบไม่ใช่ปัจจัยหลักในการสร้างจิตสำนึกและระเบียบวินัยของพนักงาน การสร้างสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากการที่มีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ มาสอนด้วยทฤษฎีหรือการปฏิบัติในห้องเรียนแล้วกลับไปทำงาน จะทำให้พนักงานมีจิตสำนึกด้านความปลอดภัยและระเบียบวินัยเลยทันที สิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลาปลูกฝังให้เป็นวัฒนธรรม และให้พนักงานสร้างองค์ความรู้และเกิดการเรียนรู้เพื่อให้เกิดความซาบซึ้งด้วยตัวเอง และหน่วยงานต้นสังกัดต้องมีการประเมินผลและติดตามผลอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง

 

การวัดและประเมินทัศนคตินี้ทำได้ค่อนข้างยาก เราไม่สามารถวัดได้จากการทำข้อสอบหรือการฝึกภาคปฏิบัติ ถามว่ารู้มั้ย  คำตอบคือ “รู้” ถามว่าทำได้มั้ย คำตอบคือ “ทำได้” แล้วทำไมไม่ทำ คำตอบคือ “ไม่อยากทำ” ดังนั้นหลังจากที่มีการอบรมและสร้างองค์ความรู้ด้านความปลอดภัยด้วยตัวพนักงานเองแล้ว การวัดและการประเมินผลขั้นต่อไปคือ หน่วยที่เกี่ยวข้องต้องมีการสังเกตพฤติกรรมและติดตามผลอย่างใกล้ชิด โดยไม่ให้พนักงานรู้ตัวว่ากำลังถูกประเมินอยู่ โดยต้องทำอย่างต่อเนื่อง Maintent ไว้อย่าให้ขาดตอน ส่งเสริมให้พนักงานได้มีส่วนร่วมในการเสนอแนะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการทำงานให้ดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของความปลอดภัย 

 

ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยมีหลายสิบวิธี แต่ละวิธีก็มีขั้นตอนวิธีการที่แตกต่างกันไป ผมคิดว่าวิธีการที่จะได้มาซึ่งเรื่องของการมีจิตสำนึกด้านความปลอดภัยที่พึงประสงค์นั้น ไม่สำคัญว่าจะเป็นวิธีใด เพราะทุกวิธิก็ล้วนมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน แต่สำคัญอยู่ที่ความจริงใจและเอาจริงเอาจังในการดำเนินการ อย่างต่อเนื่อง หนึ่งในวิธีการที่ผมอยากเสนอในการสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยและระเบียบวินัยนี้ คือ การนำเอาหนังเรื่องนี้มาใช้เป็นตัวต้นเรื่องในการสร้างองค์ความรู้ร่วมกัน ตามทฤษฎีแนวคิดของ LOKM คือ ให้พนักงานได้ร่วมกันทำ BAR (Before Action Review) โดยให้แต่ละคนแสดงและบันทึกความคาดหวังว่าก่อนที่จะดูหนังเรื่องนี้ร่วมกันแต่ละคนมีความคาดหวังว่าจะได้อะไรกับหนังเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรู้สึก เนื้อหา และการนำไปใช้งาน จากนั้นให้ทุกคนได้ร่วมกันรับชมหนังเรื่องร่วมกันด้วยบรรรยากาศที่ผ่อนคลาย จัดห้องอบรมให้คล้ายหรือเหมือนกับโรงหนัง มีของว่างขนมขบเคี้ยว (Snack) ให้กลมกลืนกับบรรยากาศ หลังจากที่ดูหนังจบแล้ว ก็ให้แต่ละคนได้ร่วม Share สิ่งที่ได้ตามแนวทาง AAR (After Action Review) ตามหัวข้อเหล่านี้คือ รู้สึกอย่างไรกับหนังเรื่องนี้ ได้อะไรจากหนังเรื่องนี้ จะนำสิ่งที่ได้จากหนังเรื่องนี้ไปใช้ในการทำงานในหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง และให้ทุกคนได้ร่างปฏิณญาร่วมกันว่านำสิ่งที่ได้จากหนังเรื่องเรื่องนี้ไปใช้ในการทำงานได้เมื่อไหร่ อย่างไร

 

ความจริงสิ่งที่เป็นตัวต้นเรื่องไม่จำเป็นต้องเป็นหนังก็ได้ อยู่ที่ว่าเราจะเลือกใช้กิจกรรมอะไร ขึ้นอยู่กับบริบท วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ก่อนหน้านี้ผมก็เคยใช้ คาราโอเกะเป็นตัวต้นเรื่องในการทำกิจกรรมเหล่านี้ (ดูรายละเอียดได้ที่ http://gotoknow.org/blog/attawutc/320250) วิธีการเหล่านี้น่าจะนำไปประยุกต์ใช้ได้กับเรื่องอื่นๆได้ เช่น การสร้างจิตสำนึกด้านการบริการ ด้านระเบียบวินัย คุณธรรม จริยธรรม ภาวะผู้นำ ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เป็นต้นเรื่อง และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จาก BAR/AARอยากให้ลองนำไปปรับประยุกต์ใช้กันดูครับ

 

ภาพจาก http://movie.mthai.com/movie-profile/new-movie/59936.html

หมายเลขบันทึก: 429519เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2011 18:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท