โรงเรียนจิ๋วแต่แจ๋ว


โรงเรียนขนาดเล็กต้องปรับเปลี่ยนหรือเปลี่ยนแปลงวิธีสอนของครูและวิธี เรียนของนักเรียนเสียใหม่ เพื่อแก้ปัญหาครูไม่ครบชั้นเรียนและยกระดับผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนให้สูงขึ้น และปีการศึกษา 2552 ปรากฏว่าค่าเฉลี่ยในภาพรวมของโรงเรียนขนาดเล็กสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ นั่นย่อมแสดงว่าผู้บริหารและคณะครูได้มีการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพ โรงเรียนขนาดเล็กอย่างต่อเนื่อง

           โรงเรียนแต่ละแห่งย่อมมีจำนวนนักเรียนที่แตกต่างกัน โรงเรียนในตัวอำเภอหรือในเมืองจะเป็นที่นิยมเข้าเรียนของนักเรียน บางแห่งมีนักเรียนจากทั่วสารทิศไปสมัครสอบเข้าเรียนเกินกว่าจำนวนที่ต้องการมากมายหลายเท่าเป็นประเภทโรงเรียนยอดนิยมที่ใครๆก็ใฝ่ฝันอยากจะไปเข้าเรียน แต่ก็มีโรงเรียนอีกประเภทหนึ่งที่อยู่แถบชานเมือง รอบนอกของอำเภอหรือในท้องถิ่นที่ห่างไกลจากชุมชนอาศัยเด็กในท้องถิ่นนั้นๆเป็นกลุ่มเป้าหมายในการรับเข้าเรียน ไม่มีนักเรียนที่มาจากนอกเขตบริการมาเข้าเรียน บางปีอาจจะไม่มีนักเรียนที่อยู่ในช่วงอายุเข้าเรียน  และไม่มีนักเรียนที่ย้ายตามผู้ปกครองมาทำมาหากินในท้องถิ่นนั้นๆ เนื่องจากการคุมกำเนิดทำให้ประชากรเกิดน้อยลง ประกอบกับผู้ปกครองบางส่วนที่พอมีฐานะก็ได้ส่งบุตรหลายไปเข้าเรียนในโรงเรียนในเมืองหรือในตัวจังหวัด แม้ว่าโรงเรียนนั้นจะอยู่ห่างไกลจากบ้านหลายสิบกิโลเมตร ด้วยการเดินทางที่สะดวกสบายมีทั้งรถรับส่งประจำหรือรถประจำทางในการเดินทางไปโรงเรียน ทำให้ปัญหาอุปสรรคในการเดินทางไปเรียนในโรงเรียนไกลๆ หมดปัญหาไป และอีกประการหนึ่งผู้ปกครองจะได้ไม่ต้องกังวลในการรับส่งนักเรียนด้วยตนเอง

           เมื่อประชากรเกิดน้อยลงและความนิยมของผู้ปกครองบางส่วนส่งบุตรหลานไปเรียนในโรงเรียนในเมืองหรือในตัวจังหวัด ทำให้โรงเรียนในท้องถิ่นหลายแห่งจำนวนนักเรียนลดลงทุกปี จนกลับกลายเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก การที่บ่งบอกว่าโรงเรียนใดเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มิได้วัดกันด้วยตัวอาคารหรือพื้นที่โรงเรียน แต่อยู่ที่จำนวนนักเรียนในโรงเรียนนั้นๆ หากโรงเรียนที่เปิดสอนระดับก่อนประถมและประถมศึกษามีจำนวนนักเรียนน้อยกว่า 120 คนลงมา ถือว่าโรงเรียนนั้นเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนขนาดเล็กนี้มีอยู่ในทุกเขตพื้นที่การศึกษา ยกเว้นเขตพื้นที่การศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 1-3  โรงเรียนเหล่านี้นับวันมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้น จนบางเขตพื้นที่การศึกษามีโรงเรียนขนาดเล็กเกินครึ่งของโรงเรียน  สำหรับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจันทบุรี เขต 1 ดูแลรับผิดชอบการจัดการศึกษาในอำเภอเมือง อำเภอท่าใหม่ อำเภอนายายอาม และอำเภอแก่งหางแมว มีโรงเรียนขนาดเล็กกระจายอยู่ตามอำเภอต่างๆ จำนวน 41 โรงเรียน จากจำนวนโรงเรียนทั้งหมด 99 แห่งคิดเป็นร้อยละ 41.41 

               ด้วยข้อจำกัดของโรงเรียนขนาดเล็กในด้านครูไม่ครบชั้นเรียน ตลอดจนการขาดแคลนงบประมาณ เป็นปัญหาหนักที่ยากจะแก้ไข เพราะตามหลักเกณฑ์การจัดสรรอัตรากำลังและการจัดสรรงบประมาณ ขึ้นอยู่กับจำนวนนักเรียนเป็นสำคัญ เช่น มีการกำหนดนักเรียน 17 คน ต่อครู 1 คน หากโรงเรียนมีนักเรียน 100 คน ก็จะมีครู 6 คน ข้อเท็จจริงโรงเรียนมีการเปิดการเรียนการสอนระดับอนุบาล 2 ชั้น ระดับประถมศึกษา 6 ชั้น รวมเป็น 8 ชั้นเรียน แต่โรงเรียนนี้มีครูเพียง 6 คนตามเกณฑ์ที่กำหนด หรือการจัดสรรงบประมาณก็ใช้จำนวนนักเรียนเป็นเกณฑ์ในการคำนวณ แต่โรงเรียนขนาดเล็กได้รับสิทธิพิเศษ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2551 เป็นต้นมา ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายหัวเพิ่มอีกหัวละ 500 บาท

                ถึงแม้จะมีอุปสรรคสักเพียงใดผู้บริหาร คณะครูและบุคลากรก็มิได้ย่อท้อที่จะพัฒนาคุณภาพนักเรียนต่อไป เมื่อประมาณปลายเดือนพฤษภาคม 2553 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจันทบุรี เขต 1 ได้จัดกิจกรรมระดมความคิดเห็นในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก โดยสรุป โรงเรียนขนาดเล็กสามารถเลือกแนวทางการพัฒนาคุณภาพได้  2  รูปแบบ   คือ

                1.  การเปลี่ยนแปลงภายในโรงเรียน ต้องมีการปรับวิธีเรียน เปลี่ยนวิธีสอน โดยอาจจะมีการจัดการเรียนการสอนแบบคละชั้น (Multigrade  Learning) โดยการนำนักเรียนที่อยู่ต่างชั้นมาเรียนรวมในห้องเดียวกัน โดยใช้แผนการสอนแบบบูรณาการ ซึ่งนักเรียนสามารถเรียนรู้ร่วมกันเป็นกลุ่ม รู้จักหรือสามารถทำงานเป็นกลุ่มได้ การสอนแบบคละชั้นนี้สามารถแก้ปัญหาครูมีไม่ครบชั้นได้ และยังสามารถยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนให้สูงขึ้นอีกด้วย

                  2. การเปลี่ยนแปลงระหว่างโรงเรียน ซึ่งเกิดจากโรงเรียนขนาดเล็กตั้งแต่สองแห่งขึ้นไปมาร่วมกันจัดทำสัญญาหรือข้อตกลงในการจัดการเรียนการสอนแบบคละชั้น เช่น โรงเรียน ก เปิดสอนระดับอนุบาลจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ส่วนโรงเรียน ข. จัดการเรียนการสอนชั้นประถมศึกษา 4 – 6  ทำให้โรงเรียนหนึ่งๆจำนวนชั้นลดลง แต่จำนวนครูคงที่ แต่ทั้งนี้ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองนักเรียน และผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือย้ายนักเรียนไปเรียนรวมในโรงเรียนใดโรงเรียนหนึ่งที่มีความพร้อมในด้านอาคารสถานที่ ส่วนครูก็ต้องย้ายตามไปสอนด้วย และโรงเรียนเดิมยังไม่ยุบ หรืออีกกรณีหนึ่งนำนักเรียนไปเรียนรวมหรือร่วมกิจกรรมเป็นครั้งคราวที่โรงเรียนใกล้เคียงที่มีความพร้อมในบางกลุ่มสาระ นักเรียนจะไม่รู้สึกเบื่อและมีแต่ความสนุกสนาน

                  โดยสรุปโรงเรียนขนาดเล็กต้องปรับเปลี่ยนหรือเปลี่ยนแปลงวิธีสอนของครูและวิธีเรียนของนักเรียนเสียใหม่ เพื่อแก้ปัญหาครูไม่ครบชั้นเรียนและยกระดับผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนให้สูงขึ้น และปีการศึกษา 2552 ปรากฏว่าค่าเฉลี่ยในภาพรวมของโรงเรียนขนาดเล็กสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ นั่นย่อมแสดงว่าผู้บริหารและคณะครูได้มีการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กอย่างต่อเนื่อง

สวัสดีครับ

หมายเลขบันทึก: 429508เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2011 17:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

มีผลงานการวิจัยกับโรงเรียนขนาดเล็กจำนวนไม่น้อย

ที่มีนวัตกรรมที่สามารถนำมาใช้บริหารจัดการด้านวิชาการได้เป็นอย่างดี

จริงๆแล้วโรงเรียนขนาดเล็กเป็นโรงเรียนในฝันสำหรับครูหลายคน เนื่องจากจำนวนนักเรียนในแต่ละห้องมีไม่มาก ซึ่งทำให้ครูสามารถดูแลนักเรียนได้อย่างทั่วถึง และสามารถจัดการเรียนรู้ตามความสนใจของนักเรียนแต่ละคนได้ เนื่องจากนักเรียนมีน้อยการสนองตอบต่อความต้องการในการเรียนรู้ของนักเรียนจึงทำได้ง่าย...

  • ตามมาอ่านครับ
  • โรงเรียนแถวจันทบุรี
  • จัดการเรียนการสอนได้ดีนะครับ
อัจฉรา สนคีรีวัฒน์

อ่านทุกบทความของ ท่านผอ.แล้วโดนใจมาก ขออนุญาตนำไปเผยแพร่นะคะ เพราะเป็นเรื่องที่ครู ผู้บริหาร และผู้มีส่วนร่วมต้องรู้ ช่วยทุ่นแรงได้มากเลยค่ะ ไม่ต้องไปสืบค้นที่ไหน บทความของท่านช่วยได้มากเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท