บทความการบริหารสถานศึกษาสู่ความเป็นเลิศ


ผู้นำสถานศึกษากับการสร้างโรงเรียนแห่งการเรียนรู้

 

ผู้นำสถานศึกษากับการสร้างโรงเรียนแห่งการเรียนรู้

หัวใจของการปฏิรูปการศึกษาก็คือ  การปฏิรูปการเรียนรู้ของผู้เรียนและครูผู้สอนเป็นสำคัญ  และกลไกที่สำคัญมากประการหนึ่ง ซึ่งช่วยให้การปฏิรูปการเรียนรู้ดังกล่าวประสบความสำเร็จก็คือ  ต้องมีการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการบริหารจัดการสถานศึกษาจากแนวทางดำเนินการแบบเดิมดังที่เคยผ่านมา  ไปสู่การพัฒนาสถานศึกษาให้มีความเป็น  “โรงเรียนแห่งการ   เรียนรู้  หรือ  The Learning School”โดยจัดให้มี  “ชุมชนแห่งวิชาชีพ  หรือ  Professional  Community”  ขึ้นภายในโรงเรียนรูปแบบใหม่ดังกล่าว  ทั้งนี้เพื่อให้เป็นเวทีที่มีบรรยากาศและวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้สำหรับสมาชิกทุกคน  ได้ทำการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และประสบการณ์ระหว่างกัน  รวมทั้งการสร้างความรู้ใหม่ ตลอดจนนวัตกรรมที่เหมาะสมสอดคล้องกับการจัดการเรียนการสอนสมัยใหม่  อีกทั้งเป็นเวทีที่ช่วยสร้างพลังขับเคลื่อนให้การปฏิรูปการเรียนรู้ประสบผลสำเร็จตามเจตจำนงค์ของการปฏิรูปการศึกษา

หลักการ (หรือวินัย) 5 ประการของการเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ 

          Senge  เสนอแนะว่า  หัวใจของการสร้างองค์การแห่งการเรียนรู้อยู่ที่การเสริมสร้างหลักการหรือวินัยที่สำคัญ  5  ประการให้เกิดผลจริงจังในรูปของการนำไปปฏิบัติ  (practice)  ทั้งนี้คำว่า  “วินัย  (disciplines)”  หมายถึง  ตัวทฤษฎีหรือเทคนิควิธีที่จำเป็นต้องศึกษาใคร่ครวญให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้  จนสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างคล่องแคล่วมีประสิทธิผล  หลักการหรือวินัย  5  ประการ  ได้แก่  1)  ความรอบรู้แห่งตน  (Personal  mastery)    2)  แบบแผนความคิดอ่าน  (Mental  model)    3)  วิสัยทัศน์ร่วม  (Shared  vision)    4)  การเรียนรู้ของทีม  (Team  learning)    และ  5)  การคิดอย่างเป็นระบบ  (Systems  thinking)  ในที่นี้จะกล่าวถึงการประยุกต์ใช้หลักการทั้ง 5 ประการเพื่อสร้างโรงเรียนแห่งการเรียนรู้  (Learning  school)  ตามกรอบแนวคิดของ  Senge  ดังนี้

หลักการที่  1  :  ต้องพัฒนาความรอบรู้แห่งตน  (Personal  mastery)  ของสมาชิก

                    ความรอบรู้แห่งตน  หมายความว่า  ทุกคนที่อยู่ในโรงเรียนที่เป็นองค์การแห่งการเรียนรู้จะต้องเข้าใจว่า  ตนมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อการสร้างผลงานหรือความสำเร็จของโรงเรียนโดยรวม  ครูแต่ละคนจะต้องตระหนักว่า  ตนต้องปฏิบัติงานในฐานะเป็นสมาชิกของทีมงานที่จะต้องร่วมกันนำพาและยกระดับผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน  ตลอดจนความสำเร็จของผู้ปกครองและของชุมชนให้สูงขึ้น  ความรอบรู้แห่งตน  จึงหมายความว่า  ครูทุกคนจะต้องมีพันธะผูกพันต่อการประกอบวิชาชีพครูของตนเยี่ยงมืออาชีพ  และต้องเป็นสมาชิกที่ดี  เพื่อช่วยเหลือให้ทีมงานของตนมีผลงานระดับสูงยิ่งขึ้นเท่าที่จะทำได้  ครูแต่ละคนจะต้องมีความผูกพันต่อเพื่อนร่วมงานด้วยการสร้างบรรยากาศที่ดีของที่ทำงาน  และร่วมมือร่วมใจกันยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนของนักเรียนให้ดีที่สุด  การสร้างความรอบรู้แห่งตนของครูก็คือ  การร่วมการเรียนรู้ไปกับนักเรียน  ครูจึงมีบทบาทต้องเป็นผู้เรียนรู้  (Teachers  as  learners)  ในขณะที่ปฏิบัติงานสอนอีกด้วย

หลักการที่  2  :  ต้องมีแบบแผนความคิดอ่าน  (Mental  model)

                    แบบแผนความคิดอ่าน  หมายถึง  ความเชื่อที่ฝังลึกอยู่ภายในบุคคล  (unconscious  assumptions)  ที่มีต่อสิ่งต่างๆ  จึงเป็นปทัสถานที่มีลักษณะไม่เป็นคำพูด  (unspoken  norms)  แต่มีอิทธิพลในการกำหนดว่าโรงเรียนของตนจะดำเนินการต่อภารกิจต่างๆ  อย่างไร  เช่น  แบบแผนความคิดอ่านของคนที่เป็นนักการศึกษา  จะต้องตอบตนเองให้ได้ว่า  ในฐานะที่เป็นมืออาชีพตนจะมีหลักคิดและวิธีการจัดกิจกรรมด้านการเรียนรู้  การสอน  การบริหารพฤติกรรมบุคคลในโรงเรียน  ตลอดจนการใช้ภาวะผู้นำได้อย่างไร  เป็นต้น  เนื่องจากแบบแผนความคิดอ่านเหล่านี้มักไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาว่ามีความเหมาะสมเพียงไร  มีอะไรบ้างที่โรงเรียนได้ทำ  หรือมีอะไรบ้างที่ควรทำแต่ยังไม่ได้ทำ  ดังนั้นถ้าเป็นโรงเรียนแห่งการเรียนรู้แล้ว  ประเด็นต่างๆ ที่เป็นแบบแผนความคิดอ่านดังกล่าวเหล่านี้  จะถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาตรวจสอบร่วมกัน ของทุกฝ่ายที่มีส่วนได้เสีย  (Stakeholders)  เช่น  สิ่งที่โรงเรียนเชื่อและใช้เป็นแนวทางจัดการศึกษาอยู่นั้น สอดคล้องกับสิ่งที่เป็นวิสัยทัศน์ของโรงเรียนซึ่งทุกฝ่ายร่วมกำหนดขึ้นหรือไม่  หรือนักเรียนได้รับการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพหรือไม่  และสอดคล้องกับความคาดหวังของผู้ปกครองและชุมชนเพียงไร   ตลอดจนกฎเกณฑ์  ระเบียบปฏิบัติ  และวิธีการต่างๆ  ที่โรงเรียนใช้ดำเนินการอยู่นั้น  มีความสอดคล้องหรือขัดแย้งกับความเชื่อ  วิถีชีวิต  และวิสัยทัศน์ที่สังคมคาดหวังต่อโรงเรียนหรือไม่เพียงไร  เป็นต้น

หลักการที่  3  :  ต้องสร้างวิสัยทัศน์ร่วม  (Shared  vision)  ของโรงเรียน

                    วิสัยทัศน์ร่วม  หมายถึง  ภาพในอนาคตของโรงเรียนที่ทุกคนร่วมกันวาดฝัน  และปรารถนาที่จะให้เกิดขึ้นจริงกับโรงเรียนของตน  วิสัยทัศน์ร่วมจึงทรงพลังที่ช่วยยึดเหนี่ยวทุกคนให้เกิดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวขึ้น  และมีความรู้สึกร่วมในเป้าหมายที่จะต้องก้าวไปให้ถึง  ดังนั้นวิสัยทัศน์ร่วมจึงเป็นพลังขับเคลื่อน ให้ภารกิจทุกอย่างของโรงเรียนมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกัน  วิสัยทัศน์ร่วมมิได้เกิดขึ้นหรือเป็นของผู้หนึ่งผู้ใดโดยเฉพาะ  วิสัยทัศน์ร่วมที่ดีควรมีความชัดเจนทั้งเป้าหมายและแนวทางที่สามารถบรรลุได้จริง  และไม่ควรเป็นเพียงแต่ข้อความสั้นๆ  ที่กระชับชัดเจนดึงดูดใจเท่านั้น  แต่ควรมีพลังในการกำกับพฤติกรรมของบุคคลให้ปฏิบัติงานสอนได้ตรงกับความคาดหวัง  อย่างมีความหวังและมีความเต็มใจที่จะปฏิบัติภารกิจทั้งของส่วนตนและของทีมงานโดยเต็มความสามารถ  โดยยึดหลักการทำเพื่อส่วนรวมร่วมกัน

หลักการที่  4  :  ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้แบบทีม  (Team  learning)

                    การเรียนรู้แบบทีมเป็นปัจจัยที่สำคัญสำหรับโรงเรียนแห่งการเรียนรู้  เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า  ผลงานที่เกิดจากการทำงานร่วมกันแบบทีมย่อมมากกว่าผลรวมของงานที่แต่ละคนทำ ซึ่งเรียกว่าเป็นการได้  “พลังทวีคูณ  หรือ  Synergy”ขึ้น  ทั้งนี้เพราะการเรียนรู้ที่สมาชิกแต่ละคนได้ระหว่างทำงานแบบทีม  ทำให้ได้เพิ่มทักษะและศักยภาพเฉพาะตนมากยิ่งขึ้น  ย่อมส่งผลให้ทักษะและศักยภาพโดยรวมของทีมสูงขึ้นตามไปด้วย

                    Senge  เสนอแนวปฏิบัติสำหรับโรงเรียน  เพื่อสร้างการเรียนรู้แบบทีม  ได้โดยการใช้วิธีเสวนา  (Dialogue)  และวิธีอภิปรายถกปัญหา  (Discussion)  โดยทีมงานอาจประกอบด้วย ผู้บริหารครูผู้สอน และผู้ปกครอง  มาร่วมกันถกปัญหาในประเด็นต่างๆที่โรงเรียนดำเนินการอยู่ เช่น วิธีการจัดชั้นเรียน  (Classroom  structure)  การจัดตารางสอน  เทคนิควิธีสอน  วิธีวัดผลประเมินผล  วิธีจูงใจให้นักเรียนมีนิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียน  ตลอดจนการบริหารจัดการโรงเรียนในด้านต่างๆ  เป็นต้น  Senge  เชื่อว่า  กิจกรรมการจัดเสวนาหรือการอภิปราย  นอกจากสามารถช่วยสร้างการเรียนรู้ของทีมแล้ว  ยังเป็นกิจกรรมเพื่อการพัฒนาบุคลากรโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน (School-based staff development) ซึ่งเป็นวิธีการพัฒนาองค์การหนึ่งที่มีประสิทธิผล  และเป็นการสร้างภาวะผู้นำให้แก่ทุกคนที่ร่วมอยู่ในทีม  ดังนั้นโรงเรียนแห่งการเรียนรู้  จึงควรมีกิจกรรมต่างๆ  ให้สมาชิกของทีมได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลตลอดจนความคิดเห็นต่างๆระหว่างกัน  โดยผ่านกระบวนการเสวนาและการอภิปรายร่วมกันอย่างต่อเนื่องอยู่เป็นเนืองนิตย์  จนกลายเป็นวัฒนธรรมขององค์การไปในที่สุด

หลักการที่  5  :  พัฒนาการคิดอย่างเป็นระบบ  (System  thinking)

                    การคิดอย่างเป็นระบบ  หมายถึง  ความสามารถของสมาชิกในองค์การแห่งการเรียนรู้  ที่สามารถมองเห็นองค์การในลักษณะของภาพรวมซึ่งประกอบขึ้นจากองค์ประกอบย่อยต่างๆ  (See  the  forest  for  the  trees)  กล่าวคือ  ในโรงเรียนแห่งการเรียนรู้ครูจะมีแนวโน้มที่เห็นว่า  การปฏิบัติงานของแต่ละคนก็ดีหรือกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นก็ดี  ล้วนมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงต่อการดำเนินภารกิจโดยรวมทั้งหมดของโรงเรียน  การคิดอย่างเป็นระบบของโรงเรียนแห่งการเรียนรู้ก็คือ  สมาชิกจะมีทักษะในการพิจารณาเห็นความสัมพันธ์ของส่วนย่อยที่มีต่อองค์รวมของโรงเรียน  และให้การยอมรับว่าถ้าการดำเนินงาน  ณ จุดใดจุดหนึ่งเกิดปัญหาขึ้น ก็จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของจุดอื่นด้วย  ตัวอย่างเช่น  ถ้าการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ในชั้นเรียนหนึ่งเกิดปัญหา  ย่อมส่งผลกระทบต่อการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ของนักเรียนตามมา  หรือถ้าการเรียนการสอนให้นักเรียนมีทักษะคอมพิวเตอร์และภาษาอังกฤษเกิดปัญหา ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อการจัดการเรียนการสอนแบบ  E – learning  ของนักเรียน  เป็นต้น   กล่าวโดยสรุป  การคิดอย่างเป็นระบบเป็นวิธีการคิดของบุคคล  ในการมองสิ่งต่างๆ  ในลักษณะของความสัมพันธ์ระหว่างส่วนย่อยกับส่วนรวม  (Part – whole  relationship)  ทำให้แต่ละคนมองภาพรวมของโรงเรียนขณะปฏิบัติงานได้ชัดเจน

                    อย่างไรก็ตามการใช้หลักการหรือวินัย  5  ประการที่เป็นองค์ประกอบขององค์การแห่งการเรียนรู้  มาประเมินโรงเรียนต่างๆ  ในสหรัฐแล้วทำให้   Senge  (1990)  ได้ภาพอย่างกว้างๆ  ว่า  โรงเรียนเท่าที่มีอยู่ในขณะนี้  ส่วนใหญ่ยังห่างไกลต่อความเป็นโรงเรียนแห่งการเรียนรู้  ถ้าเทียบกับนิยามที่ว่า  “องค์การแห่งการเรียนรู้คือ  องค์การที่คนทุกระดับร่วมกันพัฒนาศักยภาพซึ่งกันและกันให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง  เพื่อที่จะได้ช่วยกันสร้างสิ่งใหม่ที่พวกตนปรารถนา”  แต่ข้อเท็จจริงที่ได้จากการสอบถามนักการศึกษาจำนวนมาก  ได้ความเห็นที่สอดคล้องกันว่า  ครูส่วนใหญ่รู้สึกว่าตนยังอยู่ในภาวะถูกกดดันให้ต้องอยู่ภายใต้ระเบียบ  กฎเกณฑ์  เป้าหมายและวัตถุประสงค์ต่างๆ  มากมายที่ผู้อื่นกำหนดให้ปฏิบัติ  ทั้งที่หลายอย่างนั้นตนก็ไม่เห็นด้วย  และไม่มีความเชื่อเช่นนั้นก็ตาม  นอกจากนั้นยังพบว่า  ครูผู้สอนส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีโอกาสได้ทำงานร่วมกันในลักษณะที่เป็นกลุ่มก้อน  จึงขาดความรู้สึกถึงความจำเป็นต่อการเรียนรู้ร่วมกัน  ซึ่งมีปรากฏให้เห็นอยู่ในโรงเรียนทั่วไป  ซึ่งก็สอดคล้องกับการค้นพบของ  Ernest  Boyer  (1983)  ที่ระบุว่า  ในโรงเรียนมัธยมของสหรัฐส่วนใหญ่  ครูยังมีความรู้สึกโดดเดี่ยวในการปฏิบัติงาน  ทั้งนี้เพราะโครงสร้างการจัดห้องเรียนมีสภาพที่เบ็ดเสร็จทุกอย่างในตัวเอง  (self – contained  classroom)  ตลอดจนการต้องมีชั่วโมงสอนมากจึงเป็นอุปสรรคสำคัญ ที่ทำให้ครูไม่มีโอกาสที่จะพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อปัญหาที่ตนพบเห็นในชั้นเรียนกับเพื่อนร่วมงาน  จึงทำให้พลอยขาดการได้มุมมองทางวิชาการที่แตกต่างในวิชาชีพตนจากผู้อื่น  ในภาวะดังกล่าว ความคาดหวังที่จะให้ครูมีส่วนร่วมสร้าง  “วิสัยทัศน์ร่วมหรือ  Shared  vision”  ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อความเป็นโรงเรียนแห่งการเรียนรู้  จึงพลอยขาดหายไปด้วย

                    จากสภาวะดังกล่าว  Senge  แนะนำว่า  เราจึงจำเป็นต้องหาหนทางให้ครูได้ทำงานร่วมกันอย่างแท้จริง  จำเป็นต้องสร้างสภาวะแวดล้อมที่จูงใจให้ครูได้สะท้อนถึงการปฏิบัติงานของตนให้เพื่อนคนอื่นทราบซึ่งกันและกัน  ช่วยทำให้ครูได้ประโยชน์จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างการทำงานแบบทีมกับเพื่อนร่วมงาน  ซึ่งนำไปสู่การขยายการเรียนรู้มากยิ่งขึ้น  ปัญหาที่เกิดขึ้น  Senge  อธิบายว่า  ส่วนหนึ่งมาจากการจัดโครงสร้างความรู้ ที่ต้องสอนแบบแยกส่วนมอบให้ครูแต่ละคนแยกรับผิดชอบสอนไปตามความถนัดเฉพาะวิชา  (specialization)  ของตน  จึงขาดความเชื่อมโยงสัมพันธ์ต่อกันให้เกิดภาพรวม   ตลอดจนขาดการบูรณาการเนื้อหาเข้าด้วยกันภายใต้วิสัยทัศน์ของยุทธศาสตร์การสอนเดียวกันให้เกิดขึ้น    ดังนั้น ในโรงเรียนแห่งการเรียนรู้การปฏิบัติงานสอนของครูจึงควรทำในลักษณะทีมงาน  คล้ายกับทีมแพทย์ผ่าตัดของสถานพยาบาล  โดยยึดเข็มมุ่งเพื่อการยกระดับการเรียนรู้ของนักเรียนให้สูงขึ้นเป็นจุดหมายปลายทางเป็นที่สำคัญ

                    นอกจากนี้  Senge  และคณะ  (2000  :  55)  ยังได้เสนอแนะเพิ่มเติมว่า  ถ้าจะพัฒนาให้สถานศึกษาเป็นโรงเรียนแห่งการเรียนรู้นั้น  จำเป็นต้องปรับภายในโรงเรียนในประเด็นต่อไปนี้

  1. 1.     การเรียนการสอนของโรงเรียนต้องเน้นการยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ  (learner – contered)  มากกว่ายึดผู้สอนเป็นศูนย์กลาง  (teacher – contered)
  2. 2.     ในการดำเนินงานต้องกระตุ้นและให้การยอมรับถึงความสำคัญของความหลากหลาย  (diversity)  แทนการทำแบบเดียวกัน  (homogeneity)  เช่น  การจัดทำหลักสูตรและการจัดกิจกรรมต่างๆของโรงเรียน  จึงต้องยึดหลักการของทฤษฏีพหุปัญญา  (multiple  intelligences)   เป็นต้น
  3. 3.     สร้างความเข้าใจและยอมรับว่า  ในการเปลี่ยนแปลงนั้น ทุกองค์ประกอบจะต้องเกี่ยวพันและส่งผลกระทบต่อกันตลอดเวลา  ดังนั้นการจัดการเรียนรู้ให้นักเรียน จะต้องละเว้นการสอนแบบที่มุ่งเน้นความจำ ข้อเท็จจริง หรือการให้ผู้เรียนพยายามค้นหาเฉพาะคำตอบที่ถูกต้องเพียงคำตอบเดียวเท่านั้น
  4. 4.     ต้องช่วยกันให้ทุกคนร่วมกันเรียนรู้เพื่อแสวงหาและค้นคว้าทดลองหาทฤษฎีใหม่ๆ ที่สามารถนำมาใช้ในทางการศึกษาได้อย่างเหมาะสม และอย่างกว้างขวางโดยสมาชิกของโรงเรียน
  5. 5.     ต้องบูรณาการการจัดการศึกษาของโรงเรียน เข้ากับเครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคม  ตัวอย่างเช่น  เชื่อมโยงโรงเรียนเข้ากับครอบครัว  ตลอดจนหน่วยงานต่างๆ  ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐที่ประกอบเป็นชุมชนโดยรวม  เป็นต้น

 

                    นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการอื่นที่พยายามศึกษาเปรียบเทียบลักษณะขององค์การแห่งการเรียนรู้ทั่วไป  กับคุณลักษณะของการเป็นโรงเรียนแห่งการเรียนรู้   กล่าวคือ

                Marquardt  (1996)  ได้สรุปผลการวิจัยของศูนย์ศึกษาองค์การแห่งการเรียนรู้  แห่งสถาบัน  MIT  สหรัฐอเมริกา  ซึ่งระบุถึงคุณลักษณะสำคัญ  10  ประการขององค์การที่ประสบความสำเร็จในการเรียนรู้  และสามารถประยุกต์เป็นคุณลักษณะเชิงยุทธศาสตร์ของโรงเรียนแห่งการเรียนรู้

 

ที่มา http://suthep.cru.in.th/leader31.doc

เรียบเรียงโดย นางเพชรฤทัย  อกนิษฐ์

 

หมายเลขบันทึก: 429347เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2011 17:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 23:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผมไม่ทราบว่าเขาใช้อะไรมาวัดว่าคนไทยอ่านหนังสือวันละกี่หน้า เพราะขณะนี้เดี๋ยวนี้การอ่านหนังสือไม่จำเป็นต้องอ่านตำราเรียนเหมือนเมื่อก่อน การอ่านไม่จำเป็นต้องอ่านจากหนังสือ แต่เป็นการข้อความ ที่เป็นตัวหนังสือ จากบทความต่างๆเหล่านี้ซึ่งสามารถใช้ในการทำวิจัยหรือเก็บสถิติจากการเข้าชมได้ แต่ทั้งนี้ก็อาจคลาดเคลื่อนได้เพราะการเข้าชมก็ไม่ได้หมายความว่าได้อ่านแล้วหรือไม่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท