ประวัติเมืองสงขลา (11) ศาลาทุ่งลุ่ง


เหตุใดชื่อสถานีรถไฟจึงเป็นศาลาทุ่งลุ่ง มีไม้เอกที่คำว่าลุ่ง ในขณะที่บ้านทุ่งลุง ไม่มีไม้เอก ยังไม่มีใครอธิบายได้ชัดเจนนัก แต่ผมสังเกตว่า คนใต้เมื่อออกเสียงคำว่า ลุง ที่หมายถึง พี่ชายของพ่อแม่ คนภาคอื่นจะฟังเป็น ลุ่ง

ศาลาทุ่งลุ่ง อาจจะเป็นชื่อที่ไม่คุ้นหูนักสำหรับคนต่างถิ่น หรือแม้แต่ชาวอำเภอหาดใหญ่เอง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่อายุน้อยกว่า 30 ปี เพราะเป็นชื่อของอดีตสถานีรถไฟแห่งหนึ่งที่เดี๋ยวนี้ถูกยุบเลิกไปไม่มีให้เห็นแล้ว

สถานีรถไฟศาลาทุ่งลุ่ง สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 พร้อมๆ กับการสร้างทางรถไฟสายใต้ไปปาดังเบซาร์ เปิดใช้เมื่อปี พ.ศ. 2461 เพื่อเชื่อมต่อกับทางรถไฟของมลายูหรือมาเลเซียในปัจจุบัน

ตัวอาคารสถานี ตั้งอยู่กลางตลาดทุ่งลุง ระหว่างทางรถไฟกับทางหลวงสายหาดใหญ่-สะเดา-ด่านนอก หรือถนนกาญจนวนิช

ปัจจุบันไม่มีอาคารสถานีให้เห็นอีกแล้ว บริเวณรอบๆ ถูกปรับปรุงให้เป็นสวนสุขภาพ และมีศาลาหลังคาหกเหลี่ยมที่พอจะสื่อให้เห็นความเป็นศาลาพักผ่อนหย่อนใจของชาวทุ่งลุง

ทุกครั้งที่นั่งรถเมล์แดงสายหาดใหญ่-สะเดา-ปาดังเบซาร์ผ่านบ้านทุ่งลุง ผมอดไม่ได้ที่จะมองไปทางซ้ายมือ นึกถึงเมื่อครั้งยังมีอาคารสถานีรถไฟตั้งโดดเด่นให้เห็นอยู่

เส้นทางรถไฟสายนี้เมื่อออกจากหาดใหญ่แล้ว จะเลียบไปกับทางหลวง มองเห็นได้เป็นระยะๆ ไม่ทิ้งห่างกันมากนัก ผ่านสถานีบ้านพรุ ศาลาทุ่งลุง คลองแงะ จากนั้นทางรถไฟจะหนีห่างทางรถยนต์ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ไปยังสถานีคลองรำ บ้านท่าข่อย และข้ามชายแดนไทย-มาเลเซียเข้าสู่สถานีปาดังเบซาร์ ซึ่งเป็นสถานีร่วมของสองประเทศ

เหตุใดชื่อสถานีรถไฟจึงเป็นศาลาทุ่งลุ่ง มีไม้เอกที่คำว่าลุ่ง ในขณะที่บ้านทุ่งลุง ไม่มีไม้เอก ยังไม่มีใครอธิบายได้ชัดเจนนัก แต่ผมสังเกตว่า คนใต้เมื่อออกเสียงคำว่า ลุง ที่หมายถึง พี่ชายของพ่อแม่ คนภาคอื่นจะฟังเป็น ลุ่ง

อีกปริศนาคือ เหตุใดต้องเติมคำว่า ศาลา เข้าไปในชื่อบ้านทุ่งลุง เพื่อเป็นชื่อสถานี แต่แม้จะไม่รู้ที่มาที่ไป ผมกลับชอบชื่อสถานีนี้มาก เพราะฟังดูไพเราะ ให้ความรู้สึกพักผ่อนหย่อนใจ

จินตนาการนึกไปถึงการเดินทางผ่านทุ่งกว้างๆ มาไกลแสนไกล แล้วเจอศาลาให้พักผ่อนสักพัก ก่อนเดินทางต่อไป

สถานีรายทางระหว่างหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ยุบเลิกไปกว่ายี่สิบปีแล้ว พอยกเลิกขบวนรถไฟธรรมดาหวานเย็นไป ก็ไม่มีความจำเป็นต้องใช้สถานีเหล่านี้อีก คงไว้เพียงสถานีคลองแงะที่อยู่ถัดไปทางปาดังเบซาร์ ใช้สับหลีกรถโดยสาร รถสินค้า และอำนวยความสะดวกให้ชาวคลองแงะและสะเดาขึ้นลงรถไฟไปกรุงเทพหรือไปมาเลเซียด้วยขบวนรถด่วนพิเศษระหว่างประเทศ

ส่วนขบวนรถไฟธรรมดา จอดทุกสถานีรายทางในอดีต ที่ถูกยกเลิกไปก็ด้วยปัญหาการขนของหนีภาษีของบรรดากองทัพมด ที่เรารู้จักกันดี

วันนี้ทุ่งลุงเป็นเมืองเล็กๆ ริมทางหลวงสายหลักของประเทศ ยังคงเห็นห้องแถวเรือนไม้เก่าแก่เรียงรายไว้ให้นึกถึงวันเก่าๆ และอาคารพาณิชย์ใหม่ๆ ที่สร้างขึ้นภายหลังตามการพัฒนาที่เกิดขึ้นตามกาลเวลา

ทุ่งลุง ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลพะตง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา แม้จะเป็นเพียงทางผ่านสำหรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและมาเลเซียที่จะเดินทางไปมาระหว่างสองประเทศ และไม่มีอะไรโดดเด่นสะดุดตาให้สนใจเป็นพิเศษ

แต่ข้าวมันไก่ทุ่งลุงก็มีชื่อเสียง มีให้เลือกหลายเจ้า อยู่ทางขวามือเมื่อมุ่งหน้าไปสะเดา น่าลองแวะรับประทานดูเติมพลังก่อนเดินทางต่อไป

ป้ายอดีตสถานีรถไฟศาลาทุ่งลุ่ง

ป้ายสถานีรถไฟศาลาทุ่งลุ่ง

บรรยากาศหลังสถานีรถไฟศาลาทุ่งลุ่ง

หลังสถานีศาลาทุ่งลุ่ง

หมายเลขบันทึก: 429005เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2011 11:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2016 06:42 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • ดีใจที่อาจารย์มีข้อมูลเรื่องรถไฟมากเลย
  • จำได้ว่า เคยเห็น web รถไฟที่คุณหมอรักพงษ์บอก
  • รออ่านอีกครับ

บันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น

ทุกแห่งความมีครับ

ขอบคุณมากครับอาจารย์โสภณและอาจารย์ขจิตที่แวะเข้ามาให้กำลังใจครับ

ทุ่งส่ง => ทุ่งสง

ทุ่งลุ่ง => ทุ่งลุง

ผมอยากทราบว่า ชุมชนทุ่งลุง มีสื่ิใดบ้างครับ ประวัติความเป็นมา บทบาทหน้าที่ แนวโน้มการพัฒนาและการใช้สื่อนั้นๆ ในชุมชน มีความเป็นมาอย่างไรบ้างครับ

เรียนคุณทศพร เอียดสีทอง
ขอบคุณมากครับที่แวะเข้ามาอ่าน สำหรับคำถามเรื่องภาพถ่ายสถานีรถไฟศาลาทุ่งลุ่งในอดีตนั้น ผมยังไม่เคยเห็นเลยครับ หายากจริง ๆ
ปี 2528 เคยมีการถ่ายหนังเรื่อง ผีเสื้อและดอกไม้ ที่นี่ด้วยครับ เสียดายที่มีแต่บรรยากาศรอบ ๆ ไม่มีภาพตัวอาคารสถานีครับ
http://portal.rotfaithai.com/modules.php?name=Forums&file=viewtopic&p=242754

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท